×

เตือนสัปดาห์นี้ ‘บาทผันผวน’ ลุ้นผลเลือกตั้งสหรัฐฯ-ดอกเบี้ย Fed

04.11.2024
  • LOADING...
บาทผันผวน

นักวิเคราะห์เตือน ‘เงินบาท’ สัปดาห์นี้อาจผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ รวมถึงผลการประชุม FOMC และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ส่วนอีกปัจจัยในประเทศไทยที่ต้องจับตาคือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในสัปดาห์นี้

 

วันนี้ (4 พฤศจิกายน) กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.30-34.50 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.90 บาทต่อดอลลาร์ นับเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือน ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.87 บาทต่อดอลลาร์ 

 

ขณะที่ พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 33.30-34.50 บาทต่อดอลลาร์ พร้อมเตือนว่าควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ รวมถึงผลการประชุม FOMC และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

 

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท กรุงไทยประเมินว่า เงินบาทเสี่ยงผันผวนสูงจากช่วงก่อนหน้า และทิศทางจะขึ้นกับผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ อนึ่ง เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุน หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ และนอกเหนือจากทิศทางเงินดอลลาร์และราคาทองคำ ควรจับตาทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) และฟันด์โฟลวนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทได้เช่นกัน

 

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น กรุงไทยมองว่า ทิศทางเงินดอลลาร์จะขึ้นกับผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อบ้าง ในกรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง แต่อาจอ่อนค่าลงได้พอสมควรหาก คามาลา แฮร์ริส คว้าชัยชนะ ตามการ Unwind Trump Trades ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจเคลื่อนไหวไปตามมุมมองของตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางหลักด้วยเช่นกัน โดยต้องรอลุ้นทั้งผลการประชุม BOE และ FOMC

 

เปิดฉากทัศน์ผลเลือกตั้งสหรัฐฯ ต่อค่าเงินบาท

 

“ในฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ อย่างเร็วสุดในช่วงสายถึงบ่ายของวันที่ 6 พฤศจิกายน ตามเวลาประเทศไทย” พูนกล่าว

 

กรณีทรัมป์ชนะ

 

กรุงศรีระบุว่า ในช่วงเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนปรับสถานะเพื่อรับชัยชนะของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ โดยหากทรัมป์คว้าชัยและพรรครีพับลิกันคุมเสียงในสภาคองเกรส (Red Sweep) เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จะ ‘ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง’ สะท้อนการผลักดันนโยบายต่างๆ เช่น การเพิ่มอัตราศุลกากร และการกีดกันผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งจะสร้างแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระยะกลาง

 

สอดคล้องกับกรุงไทยที่มองว่า ในช่วงก่อนหน้าผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อาจคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมกับการครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสของพรรครีพับลิกัน (Republican Trifecta) ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเพิ่มสถานะการถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับธีม Trump Trade เช่น Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น)

 

กรณีแฮร์ริสชนะ

 

อย่างไรก็ตาม กรุงศรีระบุว่า กรณีทรัมป์ชนะแต่ไม่เกิด Red Sweep หรือกรณีพลิกโผเป็นแฮร์ริสชนะ เงินดอลลาร์จะ ‘เผชิญแรงขายทำกำไร’ จากการระบาย Trump Trade ทิ้ง 

 

เช่นเดียวกับกรุงไทยที่มองว่าก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้พอสมควร ตามการปรับลดสถานะถือครองสินทรัพย์ในธีม Trump Trade (Unwinding Trump Trade)

 

จับตาผลประชุม Fed-ปัจจัยในประเทศไทย

 

นอกจากนี้กรุงศรียังมองว่า ตลาดจะติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) วันที่ 7 พฤศจิกายน ซึ่งคาดว่าจะลดดอกเบี้ยลง 25 bps เป็น 4.50-4.75% หลังตัวเลขจ้างงานเดือนตุลาคมน่าผิดหวัง แม้จะเป็นผลจากสภาพอากาศและการประท้วงผละงานก็ตาม แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจยังคงชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

ด้านกรุงไทยประเมินผลการประชุม FOMC ของ Fed โดยมองว่าแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่อง กอปรกับทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่จะทยอยเข้าสู่เป้าหมายของ Fed จะทำให้ Fed สามารถทยอยลดดอกเบี้ย 25 bps สู่ระดับ 4.50-4.75%

 

ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการส่งสัญญาณของ Fed ต่อแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต ซึ่งผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน ราว 1 ครั้ง หรือ 25 bps และนอกเหนือจากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ และผลการประชุม FOMC ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้เช่นกัน  

 

สำหรับปัจจัยในประเทศ กรุงศรีระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังเห็นร่วมกันว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2568 ที่ 1-3% มีความเหมาะสมและไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังต้องการเห็นเงินเฟ้อขึ้นไปที่ระดับ 2% พร้อมให้ ธปท. ไปจัดทำข้อตกลงในการดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ

 

ขณะที่กรุงไทยระบุว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนตุลาคม ที่อาจกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ได้ นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาฟันด์โฟลวนักลงทุนต่างชาติ หลังนักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยขายสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแรงขายสินทรัพย์ไทยดังกล่าวมีส่วนกดดันค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา

 

“เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติมอย่าง Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward” พูนกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising