กางจดหมายเปิดผนึกจากอดีตพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยจำนวนนี้รวมถึงอดีตผู้บริหารระดับรองผู้ว่าการ 4 คน และผู้ช่วยผู้ว่าการขึ้นไป 12 คน ถึงคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ด ธปท. เกี่ยวกับจรรยาบรรณที่พึงมี โดยเนื้อหาในจดหมายซึ่งลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 มีดังนี้
ตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. อีก 2 ท่าน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากคณะศิษย์หลวงตามหาบัว กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งรวมถึงอดีตผู้ว่าฯ ธปท. ถึง 4 ท่าน ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีความสุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เข้าดำรงตำแหน่ง เพื่อให้ ธปท. สามารถดำเนินพันธกิจของธนาคารกลางตามที่กำหนดไว้นั้น
พวกเราในฐานะอดีตพนักงาน ธปท. ขอเรียนยืนยันว่าคณะกรรมการ ธปท. มีความสำคัญอย่างยิ่งในการวางกรอบและกำหนดนโยบายของ ธปท. โดย ธปท. ถือเป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบองค์กรที่ต้องปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินที่มีเสถียรภาพต่อเนื่องในระยะยาว และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 227 นักวิชาการ-กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม แถลงการณ์คัดค้านการครอบงำ ธปท. โดยกลุ่มการเมือง
- จับตาประชุม 4 พ.ย. นี้ เคาะชื่อ ‘กิตติรัตน์’ นั่งประธานบอร์ดฯ คนใหม่
แม้ว่าคณะกรรมการ ธปท. จะไม่มีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการเงินและนโยบายรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินโดยตรง แต่พระราชบัญญัติ ธปท. ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาฯ ให้พิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน คณะกรรมการระบบการชำระเงิน และแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งตั้งแต่ผู้ช่วยผู้ว่าการขึ้นไป และที่สำคัญคือมีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และกำกับดูแลการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองระหว่างประเทศ
ด้วยบทบาทหน้าที่ของประธานและกรรมการ ธปท. ข้างต้น บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งต้องไม่เพียงแต่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด แต่ต้องปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณขั้นสูงสุดที่เป็นข้อบังคับ ธปท. ว่าด้วยจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อ 4.5 ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม ข้อ 4.7 พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม เป็นกลางทางการเมือง และไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และข้อ 4.11 พึงเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงตน รักษาชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ ธปท.
พวกเราจึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ใช้วิจารณญาณพิจารณาด้วยความรอบคอบ รอบด้าน และโปร่งใส อย่างเป็นอิสระในการสรรหาประธาน ธปท. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีประวัติและพฤติกรรมที่ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณที่ระบุไว้ เป็นที่ประจักษ์ในสังคมและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 80 ปีของการก่อตั้ง ธปท. คณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องใช้ความพยายามและความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างสูง เพื่อรักษาอธิปไตยและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของไทยไว้ โดยป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงทางการเมือง
เล้ง ศรีสมวงศ์ ผู้ว่าฯ ธปท. คนแรกที่ทำงานเต็มเวลาที่ ธปท. ได้กล่าวในการเข้าร่วมประชุมกรรมการธนาคารเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2490 ว่า “ในฐานะที่ ธปท. เป็นนายธนาคารกลาง ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง และจะดำเนินการอย่างอิสระ ตลอดจนทำหน้าที่ในการเหนี่ยวรั้งรัฐบาลในกิจการที่ธนาคารเห็นว่าจะเกิดความเสียหายแก่ประเทศเป็นส่วนรวม…”
โดยในจดหมายดังกล่าวรวมรายชื่ออดีตผู้บริหารระดับรองผู้ว่าการ 4 คน และผู้ช่วยผู้ว่าการขึ้นไป 12 คน ดังนี้
อดีตรองผู้ว่าการ
- ทองอุไร ลิ้มปิติ
- รณดล นุ่มนนท์
- ฤชุกร สิริโยธิน
- วชิรา อารมย์ดี
อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการ
- กฤช ฟอลเล็ต
- จันทวรรณ สุจริตกุล
- นพมาศ มโนลีหกุล
- นวอร เดชสุวรรณ
- ผุสดี หมู่พยัคฆ์
- เพิ่มสุข สุทธินุ่น
- ศิริชัย สาครรัตนกุล
- สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา
- สุภาวดี ปุณศรี
- เสาวณี สุวรรณชีพ
- อมรา ศรีพยัคฆ์
- อรุณศรี ติวะกุล