×

นพดลแจงรายละเอียด MOU 2544 ไม่ได้ทำให้ไทยเสียดินแดน วอนหยุดบิดเบือนจุดกระแส หวังผลทางการเมือง

โดย THE STANDARD TEAM
01.11.2024
  • LOADING...

วันนี้ (1 พฤศจิกายน) นพดล ปัทมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกระแสการบิดเบือนว่าประเทศไทยจะเสียเกาะกูด และบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทย-กัมพูชาเกี่ยวกับการอ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย พ.ศ. 2544 (MOU 2544) อาจนำไปสู่การเสียเกาะกูดว่า ข้อเท็จจริงคือเกาะกูดเป็นของประเทศไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสมานานแล้ว และไม่มีใครสามารถยกเกาะกูดให้ประเทศกัมพูชาได้ คนไทยไปเที่ยวได้ตลอด ตนไม่เคยได้ยินว่าประเทศกัมพูชาเรียกร้องสิทธิเหนือเกาะกูด จึงขอเรียกร้องให้เลิกปั่นกระแสประเทศไทยเสียเกาะกูดในขณะนี้เพราะเป็นความเท็จ 

 

“รัฐบาลนี้รักประเทศชาติ ไม่มีใครจะทำให้ไทยเสียดินแดน ส่วนที่มีการบิดเบือนว่า MOU 2544 จะทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนนั้น เห็นว่า MOU 2544 ที่ลงนามโดย สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเสียเกาะกูด มันเป็นกรอบในการเจรจาเรื่องพื้นที่ทางทะเลและพื้นที่พัฒนาร่วม เนื่องจากทั้งประเทศไทยและประเทศกัมพูชาอ้างสิทธิในเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกัน 2 ประเทศเลือกวิธีเจรจาทางการทูต จึงเป็นที่มาของ MOU 2544 เพื่อวางกรอบในการเจรจาบนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ”

 

นอกจากนั้นระบุชัดเจนว่าเนื้อหาของ MOU 2544 และการเจรจาจะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของทั้งประเทศไทยและประเทศกัมพูชา อีกทั้งการเจรจาจะต้องกระทำโดยคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) คนอื่นไปเจรจาไม่ได้ แม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ก็เคยใช้การเจรจาตามกรอบของ MOU 2544 มาก่อน

 

นพดลกล่าวต่อว่า ตนไม่อยากให้นำเรื่องดินแดนมาบิดเบือนใส่ร้ายอย่างเช่นที่ตนเคยถูกกระทำในอดีต ในสมัยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตนถูกใส่ร้ายว่าเป็นคนยกปราสาทพระวิหารให้ประเทศกัมพูชา ทั้งๆ ที่ประเทศไทยยกปราสาทพระวิหารให้ประเทศกัมพูชาตามคำตัดสินของศาลโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 ที่มี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี 

 

ดังนั้นการใส่ร้ายว่าตนยกเขาพระวิหารให้ประเทศกัมพูชาจึงเป็นความเท็จโดยสิ้นเชิง ซึ่งในเรื่องนี้ตนถูกฟ้อง แต่ศาลฎีกาก็พิพากษายกฟ้องตน และในคำพิพากษาก็ระบุว่าสิ่งที่ตนทำถูกต้องและประเทศจะได้ประโยชน์ ซึ่งถ้าไม่จุดกระแสคลั่งชาติเพื่อหวังผลทางการเมืองในขณะนั้น ประเทศไทยจะรักษาได้ทั้งดินแดนและความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศกัมพูชา 

 

แต่เสียดายที่การจุดกระแสด้วยความเท็จทำให้มีการปะทะตามแนวชายแดน มีทหารเสียชีวิต และทำให้ในปี 2554 ประเทศกัมพูชากลับไปศาลโลกอีกครั้งหนึ่งเพื่อยื่นตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 จนมีคำตัดสินตีความคดีปราสาทพระวิหารเดิมออกมาในปี 2556 ซึ่งในคำพิพากษาก็ระบุชัดเจนว่าประเทศกัมพูชาไม่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกรวมพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรตามที่ตนปกป้องไว้ 

 

“คนไทยไม่ว่าเสื้อสีอะไรรักชาติเท่ากัน อย่านำประเด็นเรื่องดินแดนมาทำเป็นประเด็นการเมืองเพื่อหวังบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลเลย ถ้ารักชาติจริงต้องเอาความจริงและข้อกฎหมายมาพูดกัน นอกจากนั้นการเจรจาตามกรอบ MOU 2544 จะต้องกระทำโดยคณะกรรมการ JTC ซึ่งที่ผ่านมาประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงาน กองทัพ และกระทรวงการต่างประเทศ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่จากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ซึ่งรักชาติและมืออาชีพ เป็นไปได้อย่างไรที่บุคคลเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน” นพดลกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X