×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 : คามาลา แฮร์ริส จากอัยการหญิงแกร่ง สู่เส้นทางชิงเก้าอี้ผู้นำทำเนียบขาว

29.10.2024
  • LOADING...

คามาลา แฮร์ริส มีโอกาสก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 และสร้างประวัติศาสตร์เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรก หากเอาชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกันได้

 

โดยหากชนะการเลือกตั้ง เธอยังมีภารกิจท้าทายในการผลักดันนโยบายหลักต่างๆ ตามที่หาเสียงไว้ ทั้งกฎหมายควบคุมผู้อพยพเข้าเมือง การควบคุมอาวุธปืน และความพยายามปกป้องสิทธิในการทำแท้ง ท่ามกลางความคาดหวังของชาวอเมริกัน

 

แฮร์ริสเติบโตมาในชุมชนหลากหลายวัฒนธรรม และกลายเป็นผู้หญิงผิวดำและเป็นบุตรสาวของผู้อพยพคนแรกที่สามารถสร้างสถิติดำรงตำแหน่งระดับสูงต่างๆ ของสหรัฐฯ ทั้งอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย วุฒิสมาชิก และรองประธานาธิบดีในรัฐบาล โจ ไบเดน

 

นี่คือเรื่องราวเส้นทางชีวิตและช่วงเวลาสำคัญที่ผ่านมาของแฮร์ริส ซึ่งกำหนดตัวตนของเธอในแวดวงการเมืองมาจนถึงวันนี้

 

ลูกสาวผู้อพยพ

 

คามาลา เทวี แฮร์ริส เกิดที่เมืองโอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 1964 โดยชื่อของเธอคือคามาลา หรืออ่านแบบชาวเอเชียคือ ‘กมลา’ เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่าดอกบัว อันเป็นสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญในวัฒนธรรมอินเดีย

 

ขณะที่เธอเป็นชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายทั้งแอฟริกันและอินเดีย โดยบิดาคือ โดนัลด์ เจ. แฮร์ริส (Donald J. Harris) อพยพจากจาเมกามายังสหรัฐฯ เพื่อศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเมืองเบิร์กลีย์ (ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด)

 

ส่วนมารดาของเธอคือ ชยามาลา โกปาลัน แฮร์ริส (Shyamala Gopalan Harris) อพยพจากตอนใต้ของอินเดียมายังสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1950 และจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านโภชนาการและต่อมไร้ท่อที่มหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ ก่อนจะกลายเป็นนักวิจัยด้านมะเร็งเต้านมที่มีชื่อเสียง

 

พ่อและแม่ของเธอพบกันในปี 1962 และแต่งงานกันในปีถัดมา โดยแฮร์ริสเคยเขียนถึงทั้งคู่ว่า “ตกหลุมรักกันที่มหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ ในระหว่างที่เข้าร่วมขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมือง”

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่หย่าร้างกันช่วงที่แฮร์ริสและมายา น้องสาวของเธอยังเด็ก

 

แฮร์ริสยกย่องมารดาของเธอว่าเป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่งและมีความมั่นใจ และหล่อหลอมให้เธอกลายเป็นหญิงสาวที่ภาคภูมิใจในมรดกของวัฒนธรรมอินเดียและการเป็นชาวผิวดำ

 

“แม่ของฉันเข้าใจดีว่าเธอกำลังเลี้ยงลูกสาวผิวดำสองคน เธอรู้ว่าบ้านเกิดที่เธอรับเลี้ยงจะมองว่ามายาและฉันเป็นเด็กหญิงผิวดำ และเธอตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำให้แน่ใจว่าเราจะเติบโตเป็นผู้หญิงผิวดำที่มีความมั่นใจและภาคภูมิใจ”

 

ความฝันเป็นอัยการ สู่สถิติ ‘คนแรก’

 

แฮร์ริสเข้าเรียนปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาวเวิร์ด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับคนผิวดำในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในปี 1982

 

แฮร์ริสตัดสินใจไล่ตามความฝันในการเป็นอัยการด้วยการศึกษาต่อในสาขานิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เฮสติงส์ ในนครซานฟรานซิสโก ซึ่งที่นั่นเธอได้รับหน้าที่เป็นประธานสมาคมนักศึกษากฎหมายผิวดำ (Black Law Students Association)

 

แรงผลักดันที่ทำให้แฮร์ริสอยากเป็นอัยการส่วนหนึ่งมาจากเรื่องราวในวัยเด็ก โดยเพื่อนสนิทคนหนึ่งเปิดเผยต่อเธอว่าเคยถูกพ่อเลี้ยงล่วงละเมิดทางเพศและทำร้ายร่างกาย ทำให้เธอตัดสินใจชวนเพื่อนมาอยู่ที่บ้าน ซึ่งกลายมาเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอต้องการเป็นอัยการเพื่อปกป้องคนที่อ่อนแอแบบเพื่อนของเธอ

 

“อเมริกามีประวัติศาสตร์อันมืดมนและยาวนานเกี่ยวกับผู้คนที่ใช้อำนาจอัยการเป็นเครื่องมือแห่งความอยุติธรรม แต่ฉันรู้ว่าสิ่งที่ผิดพลาดในระบบไม่จำเป็นต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และฉันต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้น” ข้อความหนึ่งจากบันทึกความทรงจำของแฮร์ริสระบุ

 

หลังจบการศึกษาด้านนิติศาสตร์ แฮร์ริสใช้เวลากว่าสามทศวรรษในฐานะอัยการ โดยดำรงตำแหน่งรองอัยการเขตอลาเมดา (Alameda County) ในโอ๊กแลนด์ และได้รับเลือกเป็นอัยการเขตของซานฟรานซิสโกในปี 2004 โดยถือเป็นชาวผิวดำคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ และดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง 2 สมัยจนถึงปี 2007

 

ระหว่างดำรงตำแหน่งอัยการ เธอยังมีบทบาทผลักดันให้มีการประกันตัวสำหรับจำเลยในคดีอาญาให้มากขึ้น และได้ก่อตั้งหน่วยงานรับมืออาชญากรรมจากความเกลียดชัง ซึ่งมุ่งเน้นไปที่เหตุอาชญากรรมจากความเกลียดชังต่อเด็กและวัยรุ่นในกลุ่ม LGBTQIA+ ในโรงเรียน

 

ในปี 2010 แฮร์ริสได้รับเลือกเป็นอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยสร้างสถิติทั้งการเป็นผู้หญิงคนแรก เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันคนแรก และชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียคนแรกในประวัติศาสตร์ของรัฐ ที่ได้รับตำแหน่งนี้ ซึ่งเธอดำรงตำแหน่ง 2 สมัยจนถึงปี 2017

 

อย่างไรก็ดี ประวัติของแฮร์ริสในฐานะอัยการและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายระดับสูงของรัฐแคลิฟอร์เนีย เคยตกเป็นเป้าการตรวจสอบในระหว่างที่เธอลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2020

 

โดยนักเคลื่อนไหวสายก้าวหน้าและผู้สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตั้งคำถามถึงการตัดสินใจหลายอย่างที่เธอทำในช่วงดำรงตำแหน่ง รวมถึงจุดยืนของเธอที่ต่อต้านโทษประหารชีวิต

 

จากอัยการสู่นักการเมือง

 

ในปี 2015 แฮร์ริสตัดสินใจชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกรัฐแคลิฟอร์เนียแทนที่ บาร์บารา บ็อกเซอร์ วุฒิสมาชิกรัฐแคลิฟอร์เนียขณะนั้น ที่ดำรงตำแหน่งมายาวนาน

 

โดยเธอได้แรงสนับสนุนจากทั้ง บารัก โอบามา และ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีในตอนนั้น ซึ่งบันทึกความทรงจำของเธอเขียนถึงคืนวันเลือกตั้งในปี 2016 ว่าเป็นเรื่อง ‘เหนือจริง’ ด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ใช่แค่เพราะเธอได้รับชัยชนะเท่านั้น แต่เธอยังเป็นผู้หญิงผิวดำคนแรกจากรัฐแคลิฟอร์เนีย และคนที่สองในประวัติศาสตร์ของประเทศที่ได้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก

 

บทบาทในฐานะสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ แฮร์ริสได้ทำหน้าที่ในคณะกรรมการตุลาการของวุฒิสภา รวมถึงคณะกรรมการข่าวกรองพิเศษ

 

ต่อมาในปี 2019 เธอตัดสินใจลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยมีเป้าหมายเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ซึ่งคู่แข่งภายในพรรคของเธอในปีนั้นรวมถึงไบเดน ที่ต่อมาได้เลือกเธอให้เป็นคู่หูชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี โดยไบเดนเคยอธิบายว่า การเลือกแฮร์ริสนั้นเป็น ‘การตัดสินใจที่ดีที่สุด’ ของเขา

 

ในวันที่ 20 มกราคม 2021 แฮร์ริสได้เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และกลายเป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรก รองประธานาธิบดีคนแรกที่เป็นคนผิวดำและเป็นชาวเอเชียใต้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X