วันนี้ (28 ตุลาคม) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นำโดย สนั่น อังอุบลกุล ประธาน กกร. และประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย, เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และ สุธีร์ สธนสถาพร ผู้อำนวยการสำนักงาน กกร.
ทั้งนี้ ก่อนเริ่มหารือสนั่นมอบสมุดปกขาวซึ่งเป็นข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่จัดทำโดย กกร. ให้กับนายกรัฐมนตรี
ขณะที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ดีใจที่ได้เจอที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง เพราะได้เจอครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยก่อนแถลงนโยบายรัฐบาล ก็อยากพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเนื่องจากครั้งที่แล้วถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก อย่างที่ทราบกันว่าประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี และผลกระทบนี้ส่งผลถึงประชาชนทำให้มีหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า เราไม่สามารถพูดได้ว่าแค่การปรับโครงสร้างหนี้อย่างเดียวที่เป็นปัญหา แต่ต้องมีการหารายได้ใหม่เข้าสู่ประเทศซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจโตได้
อยากให้ภาครัฐและภาคเอกชนพูดคุยร่วมมือกันเพื่อสร้างความมั่นใจและโอกาสใหม่ๆ ให้กับประชาชน เพราะเอกชนคือภาคสำคัญที่จะทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มและสนับสนุนประชาชนด้วย วันนี้รัฐบาลพร้อมที่จะซัพพอร์ตรับฟังจากภาคเอกชนเพื่อปรับให้เข้านโยบายของรัฐบาลต่อไป
ด้านสนั่นกล่าวว่า เชื่อมั่นว่ารัฐบาลภายใต้การนำของแพทองธาร นายกรัฐมนตรี และสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายและปัญหาหลากหลายมิติ กกร. จึงระดมความคิดเห็นจากภาคธุรกิจในสาขาต่างๆ จัดทำเป็นสมุดปกขาวเสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีทั้งหมด 4 ประเด็น ได้แก่ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ, การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs), การบริหารจัดการน้ำ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
เช่น ระยะเร่งด่วน เสนอมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ลดต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งการควบคุมราคาสินค้าพื้นฐานและบริการที่จำเป็น ตรึงราคาค่าไฟ น้ำมันดีเซล เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการ และลดภาระประชาชน รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยเอกชนขอให้เป็นไปตามกลไกของคณะอนุกรรมการไตรภาคี
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรแยกวิธีให้เหมาะสมและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเป้ากระตุ้นไปยังกลุ่มเปราะบาง ถือเป็นสิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลดำเนินการไปแล้ว ขณะที่ประชาชนกลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อสามารถดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะโครงการคูณสอง เพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณมาก สำหรับกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงสามารถออกมาตรการดึงการจับจ่ายใช้สอยให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น เช่น มาตรการทางภาษีที่รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณเลย