×

คุมตัว 2 แม่ลูก ‘นัทตี้ ไดอารี่’ ดำเนินคดีฐานหลอกลงทุนหุ้นกว่า 6,000 ราย เสียหาย 2,000 ล้านบาท

โดย THE STANDARD TEAM
25.10.2024
  • LOADING...

วันนี้ (25 ตุลาคม) พล.ต.ท. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย ร.ต.อ. วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แถลงข่าวปฏิบัติการจับกุม 2 แม่ลูก ‘นัทตี้ ไดอารี่’ ที่ประเทศอินโดนีเซีย หลังมีพฤติการณ์หลอกประชาชนร่วมลงทุนหุ้นกว่า 6,000 ราย เสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท

 

สืบเนื่องจากเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 มีผู้เสียหายจำนวนมากเข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ศูนย์แจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และสถานีตำรวจทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับเน็ตไอดอล ชื่อ สุชาตา หรือ นัทตี้ ไดอารี่ ยูทูเบอร์ชื่อดัง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท และมีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อกว่า 6,000 ราย ซึ่งในเวลาต่อมาจำนวนผู้เสียหายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับ สุชาตา หรือ นัทตี้ มีชื่อเสียงมาจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เคยเป็นอดีตศิลปินมีผลงานเพลงในประเทศเกาหลีใต้ ก่อนผันตัวเป็นยูทูเบอร์ ต่อมาเริ่มมีการลงโฆษณาและชักชวนประชาชนลงทุนผ่านแอปพลิเคชัน Instagram และแพลตฟอร์มอื่นๆ เพื่อรับฝากเทรดหุ้นและอนุพันธ์ของหุ้น

 

มีการโพสต์โชว์ผลกำไรและอ้างตัวเป็นโค้ชเทรดหุ้นว่ามีใบอนุญาตรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต สามารถสอนนักเรียนเทรดหุ้นได้ และยังกล่าวอ้างว่ามีการจัดตั้งบริษัท สุชาดา จำกัด ทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท และได้รับใบอนุญาตการลงทุนจาก ก.ล.ต. อีกด้วย

 

ต่อมากลุ่มผู้ต้องหาให้ผู้หลงเชื่อเข้าพูดคุยผ่านกลุ่ม LINE ที่มีสมาชิกกว่า 3,000 ราย มีการอัปเดตและลงข้อมูลชวนเชื่ออย่างต่อเนื่อง ทำให้เหยื่อที่เข้าร่วมกลุ่มเชื่อว่าผู้ประกอบธุรกิจนี้มีการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด เช่น มีการซื้อคอนโดที่พัทยาหลายห้อง ซื้อโรงงาน คลินิก ที่ดิน รถยนต์หรู และใช้ชีวิตอย่างหรูหรา

 

ซึ่งภาพลักษณ์ดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตัดสินใจร่วมลงทุน ในส่วนรูปแบบการลงทุน กลุ่มผู้ต้องหาเปิดให้ลงทุนขั้นต่ำเป็นจำนวน 5,000 บาท สูงสุดไม่เกินจำนวน 5,000,000 บาทต่อ 1 บิล โดยแต่ละคนจะมีกี่บิลหรือกี่แนบท้ายสัญญาก็ได้

 

โดยระยะเวลาในการได้รับกำไรจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน นับจากวันที่ระบุในสลิปโอนเงิน ในส่วนกำไรจากการเทรดจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำสัญญา เช่น สัญญา 3 เดือน มีอัตรากำไร 25% ของเงินทุน, สัญญา 6 เดือน มีอัตรากำไร 30% ของเงินทุน และสัญญา 12 เดือน มีอัตรากำไร 35% ของเงินทุน ซึ่งรับเงินจากกำไรที่ได้จากการเทรดทุกเดือนตามข้อตกลงในการทำสัญญา โดยจะให้ผู้เสียหายโอนเงินพร้อมส่งข้อมูลและสลิปโอนเงินผ่านทางแอปพลิเคชัน LINE

 

จากการที่เหยื่อลงทุน กลุ่มผู้ต้องหาไม่ได้ระบุว่าจะนำเงินที่ได้รับฝากนั้นไปลงทุนในหุ้นบริษัทใด สุดท้ายเมื่อถึงเวลารับเงินปันผล ผู้ที่หลงเชื่อลงทุนกลับไม่ได้รับเงินปันผล และไม่สามารถขอรับเงินลงทุนคืนได้แต่อย่างใด คาดว่ามีผู้เสียหายทั่วประเทศรวมกันกว่า 6,000 ราย สร้างความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท โดยมีผู้เข้าแจ้งความดำเนินคดีแล้วจำนวน 475 ราย

 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดรวบรวมพยานหลักฐาน จนสามารถขออำนาจศาลทั่วประเทศออกหมายจับ สุชาตา อายุ 31 ปี ได้ทั้งสิ้น จำนวน 13 หมายจับ และหมายจับ ธานิยา อายุ 66 ปี (มารดาของนัทตี้) ได้ทั้งสิ้นจำนวน 2 หมายจับ และอยู่ระหว่างดำเนินการออกหมายจับเพิ่มเติมอีกหลายคดี ซึ่งต่อมา DSI มีมติรับคดีสุชาดา หรือนัทตี้ เป็นคดีพิเศษ

 

จากการสืบสวนทราบว่า ผู้ต้องหาทั้ง 2 รายหลบหนีออกนอกประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติไปก่อนหน้านี้แล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงแจ้งไปยัง INTERPOL และตำรวจในประเทศต่างๆ เพื่อสืบสวนหาข่าวนำผู้ต้องหาทั้ง 2 รายมาดำเนินคดีในประเทศไทย เนื่องจากเป็นคดีที่สำคัญและสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในวงกว้าง

 

และจากการสืบสวนทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศต่างๆ จนท้ายที่สุดพบว่าผู้ต้องหาทั้ง 2 รายหลบหนีไปยังประเทศอินโดนีเซีย เจ้าหน้าที่ตำรวจอินโดนีเซียจึงจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 2 รายได้ที่เมืองดูไม จังหวัดรีเยา บนเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567

 

ทั้งนี้ จากการสืบสวนเบื้องต้นทำให้ทราบว่า ทั้ง 2 รายหลบหนีไปพำนักอยู่ในประเทศมาเลเซียเป็นเวลานาน โดยไม่มีทั้งหนังสือเดินทางและบัตรประจำตัวประชาชนของประเทศไทย ต่อมาลักลอบเข้าประเทศอินโดนีเซียผ่านเกาะบาตัม ซึ่งเป็นเกาะและเมืองแห่งหนึ่งในจังหวัดเกอปูเลาวันรีเยา ก่อนเดินทางต่อไปยังเมืองดูไม จึงถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวและนำไปสู่การขยายผลจับกุมธานิยา (มารดาของนัทตี้) ได้ในที่สุด จากนั้นเพิกถอนวีซ่าของผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ประสานสถานทูตไทยในอินโดนีเซีย และตำรวจชุดจับกุมเพื่อยืนยันตัวบุคคลและผลักดันผู้ต้องหากลับประเทศไทย

 

พล.ต.ท. ธัชชัย กล่าวว่า การติดตามจับกุมคนร้ายในคดีนี้เกิดขึ้นได้จากความสัมพันธ์อันดี และการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างตำรวจไทย ตำรวจอินโดนีเซีย และตำรวจประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลก ทำให้สามารถติดตามจับกุมคนร้ายได้เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายและเยียวยากลุ่มผู้เสียหาย ซึ่งเป็นสัญญาณให้ทุกคนรู้ว่า ใครที่คิดจะทำความผิดและหลบหนีไปต่างประเทศก็จะไม่รอดพ้นตำรวจไทยในการติดตามตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising