×

13 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนคดีตากใบหมดอายุความ รัฐสภาร่วมหารือคืนความยุติธรรมและหาทางออกของปัญหา ก่อนส่งข้อเสนอถึงรัฐบาล

โดย THE STANDARD TEAM
25.10.2024
  • LOADING...

วันนี้ (25 ตุลาคม) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 35 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1) ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ญัตติด่วนด้วยวาจา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สืบเนื่องจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมตากใบ ก่อนจะหมดอายุความในเวลา 00.00 น. 

 

  1. รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เสนอขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาผลกระทบของการขาดอายุความคดีตากใบ รวมทั้งข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐและการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

  1. กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส. นราธิวาส พรรคประชาชาติ เสนอขอให้สภาผู้แทนราษฎรร่วมกันพิจารณาหาทางออกกับสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีการสลายการชุมนุมเหตุการณ์ตากใบที่จะขาดอายุความในวันนี้

 

ใช้ ‘ปาก-หู’ แทนเสียงปืน-ระเบิด คืนความยุติธรรมตากใบ

 

รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า นับจากวินาทีนี้เป็นต้นไปจนกระทั่งถึงเที่ยงคืน 13 ชั่วโมง 15 นาที ก่อนที่อายุความของคดีอาญาร้ายแรงที่เป็นผลมาจากโศกนาฏกรรมเมื่อ 20 ปีก่อน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมตากใบที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 85 คน และมีคดีอาญา 2 สำนวนที่ประชาชนฟ้องเองในศาลจังหวัดนราธิวาส มีจำเลย 7 คน แต่ยังไม่พบตัวและไม่สามารถนำจำเลยมาที่ศาลได้ รวมทั้งคดีที่อัยการสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาก็ยังไม่ถูกจับกุมและไม่มีการมอบตัว ทั้ง 14 คนยังไม่ปรากฏตัวต่อศาล 

 

รอมฎอนกล่าวว่า นี่คือปัญหาในวินาทีนี้ ซึ่งเหตุการณ์ตากใบเป็นส่วนหนึ่งในหลายเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นในชายแดนภาคใต้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมามีคนเสียชีวิตมากกว่า 7,000 คน แต่เหตุการณ์ตากใบเป็นปมสำคัญ เป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนผ่านความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นความทรงจำ เป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ที่ต้องชำระสะสางอย่างมีวุฒิภาวะ เพื่อที่เราจะสามารถเดินหน้าต่อไปในการสร้างสันติภาพและหาข้อยุติจากความขัดแย้งนี้ได้ เราต้องการทางออกทางการเมือง 

 

“เรื่องนี้เรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของรัฐ เป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นเรื่องหลักการสำคัญที่ยึดโยงให้รัฐเราเป็นรัฐเรา คือหลักนิติธรรม และเราต้องการเหตุและผลในการใช้วุฒิภาวะเพื่อรับมือกับปัญหานี้” รอมฎอนกล่าว

 

รอมฎอนกล่าวต่ออีกว่า ที่ตนเองต้องเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา นอกจากอายุความกำลังจะหมด จำเลยและผู้ต้องหาไม่มาที่ศาลแล้ว ตอนนี้เราพบว่ากระบวนการยุติธรรมภายในประเทศกำลังถูกท้าทาย หลายเดือนที่ผ่านมานี้ฝ่ายนิติบัญญัติใช้กลไกกรรมาธิการในการพยายามเปิดความจริง ขณะที่ฝ่ายตุลาการก็พยายามถึงที่สุดที่พยายามหาความจริงและให้ความยุติธรรมบังเกิดขึ้น 

 

ในขณะเดียวกันก็เกิดคำถามขึ้นมาในแวดวงระหว่างประเทศว่า ประเทศเรายังปกครองอยู่ภายใต้หลักนิติธรรมหรือไม่ หลายเรื่องที่เคยเกิดขึ้น ทั้งวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่ยังมีอยู่ และความรับผิดชอบที่ต้องมีจากเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำต่อประชาชนนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ เรากำลังเผชิญกับข้อพิสูจน์ที่ว่ารัฐไทยไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้จริงหรือไม่ นี่คือคำถามใหญ่ที่เราต้องระดมกำลังสมองต่างๆ เพื่อแสวงหาทางออกกับภาวะเสื่อมถอยนี้ 

 

สุดท้ายเราจะโอบอุ้มความรู้สึกของญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บที่กำลังรอคอยความจริงและความยุติธรรมนี้ได้อย่างไร นี่เป็นหน้าที่ของเราที่จะนำเรื่องยากและท้าทายแบบนี้มาคุยกันในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ในฐานะผู้แทนของประชาชนชาวไทย เพื่อหาทางออกร่วมกัน

 

รอมฎอนกล่าวเพิ่มเติมว่า เราจำเป็นต้องใช้ปากของเราพูดและใช้หูของเราฟังความคิดเห็นต่าง แทนที่จะปล่อยให้เสียงปืน เสียงระเบิด เสียงของความรุนแรง ผูกขาดความจริง ผูกขาดคำอธิบายต่างๆ และแทนที่จะใช้ความเงียบหลบหนีปัญหา เราต้องเผชิญหน้าอย่างมีวุฒิภาวะ ความยุติธรรมที่เราต้องการอาจไม่ใช่แค่การดำเนินคดีในชั้นศาลเท่านั้น แต่อาจหมายถึงการเปิดเผยความจริง การเยียวยาฟื้นฟู และการปฏิรูปเชิงสถาบันต่างๆ เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์ที่มีคนใช้อำนาจรัฐฆ่าประชาชนเกิดขึ้นอีก

 

คดีตากใบอาจเป็นเงื่อนไขใหม่ของปัญหาชายแดนภาคใต้ที่ไม่มีวันจบสิ้น

 

ขณะที่ กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส. นราธิวาส พรรคประชาชาติ อภิปรายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ นำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีของครอบครัวผู้เสียชีวิต 48 คน และจะขาดอายุความในวันนี้ว่า เป็นเรื่องของทุกคนในฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องแสดงความเห็นไปยังฝ่ายบริหาร เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

พรรคประชาชาติเห็นว่าคดีตากใบอาจเป็นเงื่อนไขใหม่ หากเรื่องนี้ถูกปล่อยผ่านและไม่มีการดำเนินการอย่างใส่ใจ กรณีดังกล่าวถูกตั้งคำถามมากมาย ประชาชนที่ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมถูกใส่ร้ายว่าเป็นแนวร่วมฯ มีการเบี่ยงประเด็นหลายประเด็น อาทิ ทำไมเพิ่งมาฟ้องร้อง แต่ความจริงเรื่องนี้มันสุมอยู่ในอกของครอบครัวผู้สูญเสียมาโดยตลอด แม้จะรับเงินเยียวยาไปแล้ว แต่ในแง่กฎหมายนั้นคดีอาญาไม่ได้ถูกระงับไปด้วย ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหา โดยเฉพาะความรู้สึกของคนในพื้นที่และความรู้สึกของครอบครัวผู้สูญเสียอย่างไม่มีวันจบสิ้น 

 

กมลศักดิ์กล่าวอีกว่า นี่คือประวัติศาสตร์ของพี่น้องชาวมลายูในพื้นที่ที่ลุกขึ้นต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม และเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกที่อดีตแม่ทัพ อดีตผู้บัญชาการทหาร และผู้บริหารระดับสูง ถูกออกหมายจับจากกรณีทำให้ประชาชนในพื้นที่เสียชีวิต ดังนั้นสภาแห่งนี้ต้องสะท้อนให้ผู้ปฏิบัติงานปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รู้กฎหมาย การที่เขาหันหน้ามาต่อสู้โดยไม่ได้จับปืนต่อต้านอำนาจรัฐตามกระบวนการที่ถูกต้องของรัฐธรรมนูญ อย่าไปใส่ความเขาว่าเป็นโจรหรือว่าเป็นแนวร่วมฯ 

 

“ตราบใดที่ยังมีความรู้สึกเช่นนี้ ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่มีวันจบสิ้น แม้จะทุ่มงบประมาณแค่ไหนก็ไม่สามารถทำได้ เงินเยียวยาจะเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง และยืนยันว่าพรรคประชาชาติไม่ได้นิ่งนอนใจ” 

 

ส่วน ซาการียา สะอิ สส. นราธิวาส พรรคภูมิใจไทย ขอบคุณที่มีการยื่นญัตติด้วยวาจาในวันนี้ ตนเองในฐานะ สส. จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ตากใบ แต่เป็นคนที่ถูกโดนชักชวนให้เข้าร่วมการชุมนุม โดยคนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นไม่มีใครทราบว่าตัวเองจะโดนอะไร ผู้เข้าร่วมการชุมนุมและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ในวันนั้นล้วนเป็นผู้บริสุทธิ์

 

ในช่วงที่ผ่านมา 1-2 สัปดาห์ก่อนที่คดีจะหมดอายุความ ก็เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนเองก็หวังที่จะให้พื้นที่นั้นมีความสันติสุข มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นเพื่อหาทางออก สร้างความยุติธรรมให้คนในพื้นที่ แต่กลับไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง 

 

จากโควตภรรยาผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ระบุว่า “แม้คดีดังกล่าวจะหมดอายุความแล้ว เราต้องจับมือกัน เราต้องกล้า ยังมีความยุติธรรมสำหรับชาวบ้าน จะสู้ได้ไหมจนถึงวินาทีสุดท้าย ไม่อยากดูว่าเป็นคนผิด คนอื่นมองว่าเราผิดที่ไปชุมนุม จึงอยากลบล้างสิ่งนี้ด้วยความยุติธรรม”

 

คำพูดดังกล่าวนี้ชาวบ้านไม่ได้ฟ้องร้องเพื่อเอาอะไร แต่ต้องการฟ้องร้องเพื่อสร้างความบริสุทธิ์ จึงขอเรียกร้องจำเลยในคดีให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตนเองในฐานะคนในพื้นที่ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาความยุติธรรมเป็นสิ่งที่เกิดได้ยากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกแบ่งแยกจนเกิดความหดหู่ เมื่อเกิดเหตุการณ์ อาทิ น้ำท่วม คนในพื้นที่อื่นได้รับการเยียวยา แต่คนจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้อะไร เหตุใดรัฐบาลจึงปฏิบัติกับคนพื้นที่ชายแดนภาคใต้อย่างไม่เท่าเทียมกัน

 

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ, หัวหน้าพรรคประชาชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อภิปรายสนับสนุนการพิจารณาหาทางออกกับสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เรื่องความยุติธรรมของการอยู่ร่วมกันตลอด 20 ปี ทุกภาคส่วนก็โหยหาที่จะหาทางออก ซึ่งวันนี้เราเชื่อว่าเราพบทางออกแล้ว เพียงแต่ยังไม่พบข้อยุติปัญหา หากสรุปข้อยุติได้สักหนึ่งประโยคก็คือ การส่งเสริมให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

 

กรณีที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ความรู้สึกของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่วันนี้เหตุการณ์ตากใบเป็นความรู้สึกของคนทั้งประเทศ และที่สำคัญเป็นความรู้สึกของรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอโทษตนในฐานะที่เป็นรัฐบาล เราไม่เคยพูดว่าจะมีการช่วยเหลือผู้ที่ถูกออกหมายจับเลย พูดเพียงแต่ว่าจะส่งเสริมตำรวจและหน่วยงานความมั่นคงติดตามจับกุม เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ทันเวลาก่อนหมดอายุความ และขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่

 

พ.ต.อ. ทวี กล่าวต่ออีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดต่อเหตุการณ์ภาคใต้คือ จะทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมให้สังคมเกิดความยุติธรรมให้ได้ การส่งเสริมคงหนีไม่พ้นการเปลี่ยนผ่านที่ให้ประชาชนมาเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเราสามารถเอาประชาชนมาเป็นศูนย์กลางได้ จึงเอา สส. มาเป็นตัวแทน ฉะนั้นการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาผลกระทบต่อการขาดอายุความคดีตากใบที่เป็นความไม่เป็นธรรมกับประชาชน และเห็นว่าเป็นหนทางหนึ่งที่เราจะร่วมกันพยายามทำให้เกิดขึ้น รวมทั้งสร้างทางใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม แต่สำหรับวันนี้คือเรื่องใหญ่ คือเรื่องของการขาดอายุความ และเรามีกฎหมายอยู่แล้ว อาทิ พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่ไม่มีอายุความ และเราควรจะเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเยียวยาจิตใจและจิตวิญญาณของผู้ที่โหยหาความยุติธรรม

 

ขณะที่ รังสิมันต์ โรม สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า สิ่งที่เรากำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้มีถ้อยคำที่สำคัญคือความจริงใจ ซึ่งตนเชื่อว่าความจริงใจนี้จะเป็นหัวใจสำคัญ ไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะในกรณีตากใบเท่านั้น แต่รวมไปถึงการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

 

ช่วงเวลาที่ผ่านมาตนเคยมีโอกาสตั้งกระทู้ถามต่อ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปแล้ว ซึ่งท่าทีและคำตอบหลักๆ คือ การวิพากษ์วิจารณ์ต่อคุณลักษณะหรือท่าทีของการถามเท่านั้น เราแทบไม่ได้รับคำตอบและไม่เห็นถึงความจริงใจอะไรเลยของรัฐบาลนี้ในการแก้ปัญหาดับไฟใต้อย่างจริงจัง ในการทวงความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายและผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบแม้แต่น้อย

 

“การกระทำสำคัญกว่าคำพูด แต่ไม่ได้หมายความว่าคำพูดคือสิ่งที่ไม่มีความสำคัญเลย ถ้าเราดูในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะพบว่าการพูดเรื่องคดีตากใบจากรัฐบาลนี้ในหลายโอกาสนั้น อย่างคำพูดของภูมิธรรมที่บอกว่าตากใบไม่สำคัญ น้ำท่วมสำคัญกว่า ตนเข้าใจดีว่าเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญ แต่เราไม่ควรเลือกว่าเหตุการณ์ใดสำคัญกว่าเหตุการณ์ใด เพราะสำหรับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ แล้ว สิ่งที่เขากำลังเจอล้วนสำคัญ รัฐบาลมีการส่งสัญญาณถึงความจริงใจบ้างหรือไม่

 

“เพราะตราบใดที่เราไม่สามารถสร้างความหวังและความจริงใจให้ประชาชนรู้สึกได้ ไฟใต้ก็มีแต่โหมกระพือ และสิ่งที่ท่านพูดในเวลาที่ผ่านมามันได้จุดไฟนั้นอีกครั้ง ขอให้ใช้โอกาสนี้แก้ไขในสิ่งที่ผิด อย่าปล่อยให้ไฟใต้ต้องเป็นแบบนี้อีกต่อไป”

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการอภิปราย เนื่องจากสมาชิกมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่ประชุมจึงมีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน พิจารณาศึกษาตามข้อบังคับพรรค รวมถึงเสนอให้ส่งต่อให้รัฐบาลด้วย โดยกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาศึกษาทั้งสิ้น 90 วัน

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising