×

ย้อน 92 ปีกับจุดเริ่มต้นจักรวาล CHANEL High Jewelry ที่งดงามและแตกต่างไม่เหมือนใคร

27.02.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • Gabrielle Chanel เผยโฉมคอลเล็กชัน High Jewelry ในชื่อ Bijoux de Diamants ในรูปแบบนิทรรศการครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 1932 ที่บ้านของเธอ ณ Rue du Faubourg Saint-Honoré โดยคนมีชื่อเสียงในสังคมชั้นสูงทั่วโลกต่างมาเยี่ยมชม เช่น Pablo Picasso, Baron Édouard de Rothschild และ Condé Nast
  • Bijoux de Diamants ได้ถูกยกย่องให้เป็นคอลเล็กชัน High Jewelry แรกของโลก เพราะ Gabrielle Chanel เป็นดีไซเนอร์คนแรกที่นำเสนอผลงานในรูปแบบคอลเล็กชันที่มีธีมครอบแบบชัดเจนเหมือนกับคอลเล็กชันเสื้อผ้า Haute Couture ของเธอในแต่ละซีซัน
  • ในปี 1993 ทาง CHANEL ก็ได้ขยายธุรกิจด้วยการเปิดแผนก Fine Jewelry และมีแผนก CHANEL Watches and Fine Jewelry Patrimoine ที่เป็นหน่วยดูแลจัดการและเฟ้นหาผลงานเครื่องประดับและนาฬิกาที่ Gabrielle Chanel เคยดีไซน์ไว้ เพื่อนำมาเก็บในคลังอาร์ไคฟ์และนำมาศึกษาต่อ เพื่อสืบทอดมรดกและเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคอลเล็กชันต่อๆ ไป
  • ตอนนี้แผนก CHANEL Watches and Fine Jewelry Patrimoine มีไอเท็มจากคอลเล็กชัน Bijoux de Diamants เพียง 2 ชิ้น ซึ่งได้แก่ เข็มกลัด ‘ขนนก’ ที่ปัจจุบันอยู่ในคอลเล็กชันส่วนตัวของนักสะสมท่านหนึ่ง และเข็มกลัดรุ่นออริจินัล ‘Comète’ ที่ CHANEL ได้กลับคืนมาหลังชนะการประมูลที่กรุงเจนีวาในปี 2000

หากพูดถึงเครื่องประดับของแบรนด์ CHANEL เชื่อได้ว่าหลายคนคงนึกถึงโฆษณาล่าสุดของ Jennie Kim สำหรับคอลเล็กชัน Coco Crush ที่เคลื่อนไหวไปกับเพลง It’s So Good ของ Jamie xx หรือจะเป็น Costume Jewelry ที่เฉิดฉายบนรันเวย์แต่ละซีซัน ดีไซน์โดย Virginie Viard แต่ถ้าขยายและศึกษาลึกลงไป ก็ยังมีอีกหนึ่งจักรวาลภายใต้ CHANEL ที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก และเปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างและคอมพลีตความงดงามของ CHANEL ที่เราเห็นกันทุกวันนี้ นั่นก็คือเครื่องประดับชั้นสูง CHANEL High Jewelry

 

โดยเรื่องราวประวัติความเป็นมาของ CHANEL High Jewelry ที่ต้องย้อนกลับไปไกล 92 ปีก็ถือว่าแตกต่างไม่เหมือนใคร และเป็นอีกหนึ่งโมเมนต์สำคัญที่ Gabrielle Chanel ได้พลิกและขับเคลื่อนวงการลักชัวรีแบบไม่เคยเห็นมาก่อน พร้อมกับเป็นการดันบาร์และเซ็ตมาตรฐานใหม่ที่น่ายกย่องเป็นอย่างยิ่ง ซึ่ง THE STANDARD POP จะมาเล่าให้ฟัง

 

จากซ้าย: Gabrielle Chanel ขณะดีไซน์เครื่องประดับ, ภาพวาด Gabrielle Chanel โดย Christian Bérard และ Gabrielle Chanel ถ่ายภาพที่โรงแรม The Ritz กับพื้นหลังเป็น Place Vendôme

 

ปี 1929 ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในปีที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะโลกได้เจอภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ The Great Depression โดยในตอนนั้นวงการอัญมณีก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน เพื่อช่วยฟื้นฟูการค้าขาย ในปี 1932 หน่วยงาน London Diamond Corporation เลยตัดสินใจชวน Gabrielle Chanel ให้มาดีไซน์ไอเท็มเครื่องเพชร เพราะในตอนนั้นเธอก็ได้ปฏิวัติวงการลักชัวรี และฉีกกฎเกณฑ์ด้านเสื้อผ้าแฟชั่นที่เธอดีไซน์ ซึ่งเธอก็ตอบตกลง 

 

ต่อมาผลงานคอลเล็กชัน High Jewelry ครั้งแรกของแบรนด์ CHANEL ในชื่อ Bijoux de Diamants ก็ได้ถูกเผยโฉมครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 1932 นานสองสัปดาห์ในรูปแบบนิทรรศการ ซึ่งแน่นอนก็ต้องเริ่มวันที่ 5 เพราะ 5 เป็นเลขโปรดของ Gabrielle Chanel โดยเธอไม่ได้เลือกโชว์ผลงานที่ร้าน 31 Rue Cambon แต่กลับเป็นที่อพาร์ตเมนต์ของเธอ ณ Rue du Faubourg Saint-Honoré กรุงปารีสแทน

 

หุ่นขี้ผึ้งที่ Gabrielle Chanel ใช้แสดงผลงาน CHANEL High Jewelry คอลเล็กชัน Bijoux de Diamants 

 

แต่เพราะ Gabrielle Chanel เป็นคนมักมองไปข้างหน้าและไม่อยากตามเกมใคร แทนที่เธอจะเสนอผลงานคอลเล็กชันเครื่องประดับชั้นสูง Bijoux de Diamants ให้นางแบบมาเดินสวมใส่ หรือจัดวางในเคสแก้วธรรมดาทั่วไปตามธรรมเนียม เธอกลับโชว์แต่ละชิ้นบนหุ่นขี้ผึ้งเสมือนคนจริงที่เธอแต่งหน้าทำผมให้เอง ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนศิลปิน Christian Bérard และ Jean Cocteau พร้อมได้ผู้กำกับระดับตำนานจากประเทศฝรั่งเศส Robert Bresson มาถ่ายภาพสำหรับ Press Kit ที่แจกสื่อ โดยแค่สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เห็นว่า ทำไมทุกวันนี้สำหรับแบรนด์ CHANEL การร่วมงานกับวงการศิลปะและภาพยนตร์ยังคงสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่ Gabrielle Chanel ปลูกฝังและทำมาตลอด

 

Bijoux de Diamants ได้ถูกยกย่องให้เป็นคอลเล็กชัน High Jewelry แรกของโลก เพราะ Gabrielle Chanel เป็นดีไซเนอร์คนแรกที่นำเสนอผลงานในรูปแบบคอลเล็กชันที่มีธีมครอบแบบชัดเจนเหมือนกับคอลเล็กชันเสื้อผ้า Haute Couture ของเธอในแต่ละซีซัน โดยสำหรับ Bijoux de Diamants ทาง Gabrielle Chanel ได้ใช้ธีม Celestial กับเรื่องราวบนท้องฟ้ามาเป็นแรงบันดาลใจหลัก ซึ่งถูกเสนอผ่านชิ้นงานกว่า 50 ชิ้น ที่นำสัญลักษณ์ดาว ฝนดาวตก พระจันทร์ และพระอาทิตย์ มาเล่นบนเพชรสีขาวและสีเหลือง พร้อมมีสัญลักษณ์พู่ (Fringe) ริบบิ้น และขนนกอีกด้วย

 

Press Kit คอลเล็กชัน Bijoux de Diamants ที่ Gabrielle Chanel ให้เพื่อนศิลปิน Robert Bresson มาถ่ายให้

 

โดยความตั้งใจของ Gabrielle Chanel กับคอลเล็กชัน Bijoux de Diamants คืออยากสร้างอิสรภาพให้แก่ผู้หญิงเหมือนกับเสื้อผ้าที่เธอดีไซน์ สามารถสวมใส่ได้ตั้งแต่เช้าจรดเย็นแบบแยกชิ้นได้หมด ไม่จำเป็นต้องใส่เป็นเซ็ต พร้อมกับเป็นไอเท็ม High Jewelry ที่แฝงด้วยเรื่องนวัตกรรมแบบ Adjustable และ Transformable เพื่อให้ผู้หญิงใส่แต่ละชิ้นในสไตล์ของตัวเอง เช่น เอาสร้อยคอมาใส่เป็นกำไลหรือเข็มกลัดได้หมดตามใจชอบ โดยแต่ละชิ้นของคอลเล็กชันนี้ก็ไร้ตะขอ (Clasp) และมีความพลิ้วไหวที่ขยับตามเรือนร่างของผู้สวมใส่

 

เพียงสองวันหลังจากคอลเล็กชัน Bijoux de Diamants จัดแสดง หุ้นของหน่วยงาน London Diamond Corporation ก็กระโดดขึ้นทันที และนิทรรศการก็ได้คนมีชื่อเสียงในสังคมชั้นสูงทั่วโลกมาเยี่ยมชม เช่น Pablo Picasso, Baron Édouard de Rothschild และ Condé Nast ผู้ก่อตั้งบริษัทสื่อในชื่อเดียวกันที่เป็นเจ้าของนิตยสาร Vogue จนถึงทุกวันนี้ โดยทุกคนที่มาชมก็ต้องเสียค่าเข้า 20 ฟรังก์ เพราะ Gabrielle Chanel อยากนำเงินไปช่วยเหลือสององค์กรการกุศล Société de la Charité Maternelle de Paris และ Assistance Privée à la Classe Moyenne

 

แต่แน่นอนการเป็น Disruptor ของ Gabrielle Chanel ในยุคสมัยนั้นก็ถูกต่อต้านทันที และเหล่าบรรดาพ่อค้าเพชรพลอยในย่าน Place Vendôme ของกรุงปารีสก็ได้รวมตัวต่อว่า London Diamond Corporation ที่ได้เลือกให้แฟชั่นดีไซเนอร์มารังสรรค์คอลเล็กชัน High Jewelry พร้อมนิยามเหตุการณ์นี้ว่า ‘The CHANEL Affair’ และได้เรียกร้องให้เมื่อนิทรรศการคอลเล็กชัน Bijoux de Diamants จบลง ทุกชิ้นต้องถูกรื้อถอน และอัญมณีต้องถูกส่งกลับหมด ซึ่ง London Diamond Corporation ก็ต้องยอม และจนถึงทุกวันนี้ทำให้คนคาดเดาว่าที่ Gabrielle Chanel เคยดีไซน์ High Jewelry เพียงแค่คอลเล็กชันเดียวก็เพราะเธอเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้เธอจะยังคงดีไซน์เครื่องประดับกลุ่ม Fashion & Costume Jewelry ให้ลูกค้าจนถึงปี 1971 ก่อนที่เธอจะเสียชีวิต ณ โรงแรม The Ritz 

 

จากซ้าย: ด้านหน้าร้าน 18 Place Vendôme, ห้องแผนก CHANEL Watches and Fine Jewelry Patrimoine ที่ 18 Place Vendôme และสร้อยคอขนนกจากคอลเล็กชัน Bijoux de Diamants

 

มาในปี 1993 ทาง CHANEL ก็ได้ขยายธุรกิจด้วยการเปิดแผนก Fine Jewelry เป็นครั้งแรก และ 4 ปีต่อมาก็ได้เปิดร้านสุดไอคอนิก 18 Place Vendôme ใจกลางกรุงปารีส สำหรับสินค้านาฬิกาและไฟน์จิวเวลรี ภายในร้านตกแต่งโดย Peter Marino ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Vendôme Column หรือเสาที่ตั้งอยู่ใจกลางจัตุรัสด้านหน้าร้าน ภายในร้านไม่เพียงแต่จะเป็นสถานที่ขายสินค้าและที่ทำงานของ Patrice Leguéreau ผู้อำนวยการสตูดิโอสร้างสรรค์ไฟน์จิวเวลรี และ Arnaud Chastaingt ผู้อำนวยการสตูดิโอสร้างสรรค์นาฬิกา ที่จะร่วมทำงานกับช่างศิลป์นับร้อย แต่ที่ 18 Place Vendôme ยังมีแผนก CHANEL Watches and Fine Jewelry Patrimoine ที่เป็นหน่วยดูแลจัดการและเฟ้นหาผลงานเครื่องประดับและนาฬิกาที่ Gabrielle Chanel เคยดีไซน์ไว้ เพื่อนำมาเก็บในคลังอาร์ไคฟ์ และนำมาศึกษาต่อเพื่อสืบทอดมรดกและเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคอลเล็กชันต่อๆ ไป

 

ตอนนี้แผนก CHANEL Watches and Fine Jewelry Patrimoine มีไอเท็มในอาร์ไคฟ์เกิน 800 ชิ้นแล้ว ซึ่ง 39 ชิ้นเป็นไอเท็มที่ Gabrielle Chanel ได้ดีไซน์เอง แต่สำหรับคอลเล็กชัน Bijoux de Diamants ก็ถือว่าท้าทายสุด เพราะอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า หลังคอลเล็กชันจัดแสดงเสร็จแล้ว Gabrielle Chanel ต้องรื้อถอนและส่งอัญมณีกลับไปยัง London Diamond Corporation โดยในบรรดาผลงาน 47 ชิ้นที่มีภาพถ่ายหรือมีการพูดถึงในสื่อในปี 1932 มีเพียง 2 ชิ้นเท่านั้นที่ปรากฏให้เห็นอีกครั้ง ซึ่งได้แก่ เข็มกลัด ‘ขนนก’ ที่ปัจจุบันอยู่ในคอลเล็กชันส่วนตัวของนักสะสมท่านหนึ่ง และเข็มกลัดรุ่นออริจินัล ‘Comète’ ที่ CHANEL ได้กลับคืนมาหลังชนะการประมูลที่กรุงเจนีวาในปี 2000 

 

จากบน: สร้อยคอริบบิ้นจากคอลเล็กชัน Bijoux de Diamants และสร้อยคอ Constellation du Lion

 

มาวันนี้ CHANEL Watches and Fine Jewelry Patrimoine ก็ยังคงเดินหน้าศึกษาคอลเล็กชัน Bijoux de Diamants ต่อไปเรื่อยๆ จากกว่า 340 บทความที่มีการตีพิมพ์ในสื่อ ตลอดจนภาพถ่ายนิทรรศการ บัตรเชิญ และภาพยนตร์ข่าว Pathé แบบร่วมสมัย โดยตั้งแต่ปี 1993-2015 ทีมสตูดิโอไฟน์จิวเวลรีของ CHANEL ก็ได้รังสรรค์ไอเท็ม 36 ชิ้นขึ้นมาใหม่จากคอลเล็กชันต้นฉบับ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจความสำคัญของ Bijoux de Diamants มากยิ่งขึ้น ส่วน Patrice Leguéreau ก็ได้นำเอาแรงบันดาลใจจากความทันสมัยของ Bijoux de Diamants มาใช้ในหลายผลงานที่เขาต้องนำเสนอทุกปี โดยเฉพาะในคอลเล็กชัน ‘1932’ ที่รังสรรค์ขึ้นในโอกาสครบรอบปีที่สำคัญในปี 2012 และ 2022 ซึ่งทุกวันนี้ CHANEL ก็ได้สร้างสรรค์เครื่องประดับ High Jewelry แล้ว 132 ชิ้น โดยล้วนแล้วยังคงนำสัญลักษณ์และสิ่งที่ Gabrielle Chanel ชื่นชอบมาเล่นเสมอ เช่น รวงข้าวสาลี ผ้าทวีด ฉากกั้นเคลือบโคโรแมนเดล หรือจะเป็นสิงโตที่ในปี 2012 ได้มีการสร้างสรรค์สร้อยคอเพชรสีเหลืองน้ำหนัก 32 กะรัต ‘Constellation du Lion’ ซึ่งเป็น High Jewelry ชิ้นแรกที่อุทิศแด่สัญลักษณ์ประจำจักรราศีของผู้ก่อตั้ง 

 

หรือจะเป็นสร้อยคอชื่อ ‘55.55’ ที่รังสรรค์ขึ้นในปี 2021 เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของน้ำหอม CHANEL N°5 ซึ่งชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะนี้ประดับด้วยเพชร D-FL Type IIa อันไร้ที่ติที่นำมาเจียระไนแบบเฉพาะให้มีน้ำหนัก 55.55 กะรัต โดยรูปทรงแปดเหลี่ยมนั้นสะท้อนถึงฝาปิดขวดน้ำหอม N°5 โดยชิ้นนี้ที่จัดแสดงให้เห็นที่ร้าน 18 Place Vendôme ทาง CHANEL ก็เลือกที่จะไม่ขาย แต่ให้หน่วย CHANEL Watches and Fine Jewelry Patrimoine จัดเก็บในคลังสมบัติ 

 

สร้อยคอ ‘55.55’ เฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของน้ำหอม CHANEL N°5 ซึ่งได้ Marion Cotillard แบรนด์แอมบาสเดอร์มาสวมใส่ในแคมเปญ

 

ถ้าให้สรุปเรื่องราวจักรวาล CHANEL High Jewelry ก็พูดได้ว่าทุกไอเท็มที่ถูกดีไซน์ให้เราเห็นทุกวันนี้ล้วนแล้วมี ‘เหตุ’ และ ‘ผล’ ที่เชื่อมโยงกลับไปที่รากฐาน ความชอบ และแนวคิดของ Gabrielle Chanel ตั้งแต่แรกเริ่ม เหมือนกับจักรวาลเสื้อผ้า บิวตี้ นาฬิกา หรือแม้แต่โปรเจกต์วัฒนธรรมต่างๆ ที่ CHANEL สนับสนุนมาตลอด โดยแน่นอน แม้ Gabrielle Chanel จะดีไซน์คอลเล็กชันเครื่องประดับชั้นสูงแค่ครั้งเดียวกับ Bijoux de Diamants แต่ก็น่าชื่นชมที่แบรนด์ไม่ได้คิดที่จะลบเลือนคอลเล็กชันนี้และให้คนลืมๆ ไป แต่สิ่งที่แบรนด์ยังคงทำคือนำเรื่องราวมาตีความใหม่และต่อยอดอยู่เสมอ เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้เข้าใจว่าทำไม CHANEL High Jewelry ไม่เหมือนใคร และมีคุณค่ามากแค่ไหนต่อความสำเร็จของแบรนด์ ที่ต่อให้ผ่านไปกี่ทศวรรษก็ยังคงครองใจคนทั่วทุกมุมโลก

 

 

ภาพ: CHANEL

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X