วันนี้ (24 มิถุนายน) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี แถลงคำประกาศ ‘๙๐ ปีประชาธิปไตยไทย กระดุมเม็ดแรกที่กลัดผิด’ จากนั้นได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ตนขอทำความเข้าใจกับประชาชน เนื่องจากเป็นการกลัดกระดุมเม็ดแรกที่ผิดของคณะราษฎรในปี 2475 โดยต้องการที่จะผลักดันรูปแบบการปกครองประชาธิปไตยของประเทศเป็นแบบ Republic หรือสาธารณรัฐ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว บนโลกใบนี้ยังมีรูปแบบการปกครองประชาธิปไตยที่เรียกว่า Kingdom หรือ Constitutional Monarchy ซึ่งคำแปลที่ถูกต้องควรจะใช้คำว่า ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ วันนี้เราจึงต้องประกาศให้ประชาชนมั่นใจและเห็นภาพว่า ประเทศไทยของเราต้องเดินหน้าการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยแบบ Kingdom ไม่ใช่แบบสาธารณรัฐที่มีคณะราษฎรและคณะบุคคลบางกลุ่มพยายามผลักดันให้เป็น
เมื่อถามถึงประเด็นของ 90 ปี รัฐธรรมนูญมีอะไรเดินหน้าหรือถอยหลังอย่างไร นพ.วรงค์กล่าวว่า เป็นการบ่งบอกให้เห็นว่าล้มเหลวมาโดยตลอด ตนถามว่าอำนาจเป็นของประชาชนเป็นใหญ่ อธิปไตยเป็นของปวงชน ขอถามว่าประชาชนชาวไร่ชาวนาเป็นใหญ่ที่ไหน ถามจริงๆ ว่าวันนี้คนที่อยู่ในสภาเป็นใคร คนที่อยู่ในสภาที่อ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชนก็กลายเป็นตัวแทนของทุนสามานย์ทั้งสิ้น
“ถ้าประชาชนเป็นใหญ่จริง วันนี้ความเหลื่อมล้ำต้องไม่เกิดขึ้น ชาวไร่ชาวนาต้องมีรายได้ของข้าวที่ราคาสูง ไม่ใช่ปล่อยให้มีการกดขี่จากนายทุน วันนี้ทุกอย่างเกิดจากการครอบงำของทุนสามานย์ทั้งสิ้น ทุนสามานย์เข้ามาครอบงำผ่านพรรคการเมือง แม้บางช่วงทุนสามานย์ก็เข้ามาครอบงำผ่านเผด็จการทหารด้วย นี่จึงไม่ใช่โจทย์ที่เป็นการแก้ปัญหาของประเทศ” นพ.วรงค์กล่าว
นพ.วรงค์กล่าวต่อไปว่า ตนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับปรุงบางสิ่งบางอย่าง เพราะการปรับปรุงบางสิ่งบางอย่างนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในประเทศที่ปกครองในระบอบราชอาณาจักรหรือราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญอย่างเช่น ประเทศอังกฤษ ประเทศนอร์เวย์ ประเทศสวีเดน ที่สถาบันพระมหากษัตริย์มีโอกาสได้พูดคุยกับคณะรัฐมนตรี เพื่อรับฟังปัญหา เสนอแนะ หรือให้กำลังใจ ตนเชื่อว่าถ้าเกิดภาพนี้ขึ้นมาสังคมไทยจะสงบสุขขึ้น การแบ่งปันผลประโยชน์ควรจะถึงมือชาวไร่ชาวนา คนยากคนจนมากกว่านี้ แต่วันนี้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่คือ นายทุนรวยขึ้น แต่คนจนนั้นจนเหมือนเดิม
สำหรับคำประกาศของพรรคไทยภักดีมีดังนี้ คำประกาศ ๙๐ ปีประชาธิปไตยไทย กระดุมเม็ดแรกที่กลัดผิด เมื่อคณะราษฎร 2475 ได้ปฏิวัติสยาม เป็นการแย่งชิงพระราชอำนาจจากสถาบันฯ ซึ่งเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ มาสู่พวกพ้องของตนเอง
สร้างระบอบคณาธิปไตย (Oligarchy) หาได้เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็หาไม่ ระบอบคณาธิปไตยดังกล่าวไม่ได้ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎรแต่ประการใด
และเป็นแค่การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นครองอำนาจของคณะบุคคลคณะใดคณะหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหาร หรือนักการเมืองทุนสามานย์เผด็จการรัฐสภา
เป็นเพียงสมบัติผลัดกันชม ทำให้ประชาธิปไตยของไทยไร้การพัฒนา เนื่องจากมีจุดเริ่มต้นที่กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด และยังคงผิดมาจนถึงปัจจุบัน ระบอบการเมืองการปกครองของประเทศไทยหาได้ดำเนินไปตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้กับประเทศไทยก็หาไม่
ด้วยทรงต้องการให้ประเทศไทยมีการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พระประมุขแบบราชอาณาจักรที่เรียกว่า Constitutional Monarchy หาใช่แบบสาธารณรัฐ ทำไม Constitutional Monarchy ซึ่งชื่อที่ควรเรียกคือ ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ และราชประชาสมาสัยจะเป็นคำตอบของระบอบการเมืองการปกครองของประเทศไทย
ประการแรก ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญและราชประชาสมาสัยจะช่วยป้องกันวงจรอุบาทว์คณาธิปไตยอันเป็นสมบัติผลัดกันชม ระหว่างเผด็จการทหารและนักการเมืองทุนสามานย์เผด็จการรัฐสภา
เพราะราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญจะเป็นการทรงใช้พระราชอำนาจอธิปไตยผ่าน 3 สถาบันหลักของประเทศคือ นิติบัญญัติ ตุลาการ และบริหาร ซึ่งเป็นไปตามหลัก The King Can Do No Wrong โปรดเกล้าฯ ให้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการบริหารราชการแผ่นดิน
ในขณะที่ราชประชาสมาสัยอันหมายถึงการอาศัยกันอย่างเท่าเทียมระหว่างพระราชากับประชาชน จะช่วยให้ประชาชนได้มีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดินร่วมกันอย่างเท่าเทียม เคียงบ่าเคียงไหล่ในการพัฒนาชาติบ้านเมือง อันเป็นปัจจัยป้องกันไม่ให้คณะบุคคลใดๆ ลุแก่อำนาจ โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชน
ประการที่สอง ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญและราชประชาสมาสัยจะเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ ป้องกันความแตกแยกทางความคิดที่อาจจะเกิดจากคณะบุคคลหลายฝ่ายยุยงให้แผ่นดินแตกแยก ด้วยความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน
การมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมดวงใจและศรัทธา จะช่วยคลี่คลายความแตกแยกทางความคิดเห็นทางการเมืองให้สามารถหลอมรวมประสานเป็นหนึ่งเดียวได้ ภายใต้ศูนย์รวมดวงใจและศรัทธาที่เป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ ดังที่เคยเป็นมาแล้วในอดีต
ประการที่สาม ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญและราชประชาสมาสัย สามารถทำให้เกิดการใช้พระราชอำนาจพิเศษหรือ Royal Prerogative ซึ่งเป็นสิ่งที่มีตามปกติอยู่แล้ว อันได้แก่ พระราชอำนาจในการให้กำลังใจ พระราชอำนาจในการตักเตือน พระราชอำนาจในการยับยั้งรัฐบาล
โดยที่รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีต้องเข้าประชุมถวายรายงานการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการให้พระมหากษัตริย์ทรงรับทราบเป็นประจำ ดังเช่นอังกฤษ นอร์เวย์ หรือสวีเดน
เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ทรงใช้ Royal Prerogative ในการให้กำลังใจ ตักเตือน และยับยั้งการบริหารราชการแผ่นดินที่อาจจะพลาดพลั้งหรือที่ยังไม่สมควร มิให้เกิดผลร้ายต่อบ้านเมืองและประชาชน
“พรรคไทยภักดีขอแถลงคำประกาศสนับสนุนราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ราชประชาสมาสัย และพระราชอำนาจพิเศษ (Royal Prerogative) เพื่อพัฒนาระบอบการปกครองบ้านเมืองและราชอาณาจักรไทยสู่ความเป็นประชาธิปไตยอันแท้จริงคือ ประชาราษฎรเป็นผู้มีสิทธิมีเสียงในการปกครองบ้านเมือง ให้บ้านเมืองเกิดความวัฒนาสถาพร ยั่งยืนราบรื่นเรียบร้อยต่อไปในอนาคตกาล” ส่วนหนึ่งของคำประกาศของพรรคไทยภักดีระบุ