หลังจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ หากดูรายละเอียดที่เศรษฐาร่างคำแถลงนโยบายบริหารและพัฒนาประเทศไว้ จะมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูเครื่องยนต์เศรษฐกิจ 3 กรอบหลัก ได้แก่
- กรอบระยะสั้น กระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง
- กรอบระยะกลางและระยะยาว เสริมขีดความสามารถของประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตประชาชน
ผ่านนโยบายเศรษฐกิจสำคัญที่จะทำในทันที
- เริ่มจากกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศ ด้วยการใช้กระเป๋าเงินดิจิทัล ‘Digital Wallet 10,000 บาท’ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท
- ลดราคาพลังงาน ราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้า
- สร้างรายได้ด้วยการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ปลดล็อกฟรีวีซ่าเพื่อดึงนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซัน โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายชาวจีน ให้กลับมาเที่ยวตามเป้าหมาย 5 ล้านคน รวมถึงอินเดีย
- เจาะตลาดใหม่ๆ เช่น ตะวันออกกลางและอเมริกาใต้ พร้อมเปิดประตูเจรจาการค้า เร่งอัดฉีด GDP ให้ขยายตัว 5%
- แก้หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงถึง 90% ของ GDP โดยหนี้ก้อนใหญ่เป็นภาคเกษตรกรที่มีอยู่ถึง 40% ของประชากร ซึ่งมีรายได้เพียง 8% ของ GDP รวมถึงการยกระดับ SMEs
บรรยากาศวันนี้แต่ละรัฐมนตรีเริ่มเข้าทำงานตามกระทรวงกันอย่างคึกคัก แต่ก่อนที่จะไปถึงวันที่จะแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการต่อรัฐสภาสัปดาห์หน้า (11 กันยายน)
THE STANDARD WEALTH ชวนส่องดีกรี 9 รัฐมนตรี ‘กระทรวงเศรษฐกิจ’ ในรัฐบาลเศรษฐา 1 วันนี้ใครเป็นใคร มีประสบการณ์การทำงานด้านใดกันมาบ้าง
1. เศรษฐา ทวีสิน
- อายุ 61 ปี
- นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
- ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ ปริญญาโทบริหารธุรกิจด้านการเงิน บัณฑิตวิทยาลัยแคลร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา
- ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง เริ่มทำงานบริษัทเอกชนในบริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (Procter & Gamble) บริษัทข้ามชาติรายใหญ่ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) และเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดบริษัท P&G หลังจากนั้นจึงผันตัวมาเป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ขึ้นแท่นซีอีโอรายใหญ่ของไทย ด้วยบทบาทประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)
2. ภูมิธรรม เวชยชัย
- อายุ 69 ปี
- รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- จบการศึกษาปริญญาตรี และปริญญาโทจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เริ่มต้นบนเส้นทางการเมืองจากพรรคประชาธรรม หลังจากยุบพรรคได้เริ่มทำงานกับ ทักษิณ ชินวัตร และเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกพรรคไทยรักไทย ดูแลคณะทำงานกองทุนหมู่บ้าน เคยทำงานด้านกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
3. พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
- อายุ 64 ปี
- รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
- จบการศึกษาปริญญาโทด้านกฎหมายเปรียบเทียบ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา
- เป็นนักกฎหมายและอดีตผู้พิพากษา กระทั่งผันตัวมาเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และลาออกมาเป็นที่ปรึกษา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ
4. ปานปรีย์ พหิทธานุกร
- อายุ 66 ปี
- รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- จบปริญญาเอกด้านการบริหารจัดการภาครัฐ มหาวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาแคลร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา
- เริ่มจากเป็นข้าราชการสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และบริหารงานในหลายรัฐบาล เริ่มตั้งแต่สมัย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นอดีตผู้แทนการค้าไทย ประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เชี่ยวชาญด้านการเจรจาการค้า ด้านเศรษฐกิจ และการต่างประเทศ เคยเป็นทูตหลายประเทศ อยู่ในแวดวงการเมืองมานานจนได้รับบทบาทรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
5. สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
- อายุ 69 ปี
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
- จบคณะวิศวกรรมอุตสาหการ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา
- ทำงานในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมในเครือไทยซัมมิท และเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองมานานกว่า 25 ปี เคยเป็นเลขาธิการพรรคไทยรักไทยในสมัยทักษิณ ชินวัตร และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยหลายกระทรวง เช่น อุตสาหกรรม คมนาคม และพาณิชย์
6. ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า
- อายุ 58 ปี
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- จบการศึกษาระดับปริญญาเอก รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
- ก่อนเข้าสู่เส้นทางนักการเมือง เคยทำธุรกิจหลากหลาย ในบทบาทประธานบริษัทเครือธรรมนัส กรุ๊ป และเริ่มต้นงานการเมืองจากพรรคไทยรักไทย เป็นผู้ดูแลยุทธศาสตร์การเลือกตั้งทั้งกรุงเทพมหานครและพื้นที่ภาคเหนือ กับบทบาท สส. จังหวัดพะเยา เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ
7. ประเสริฐ จันทรรวงทอง
- อายุ 63 ปี
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
- เข้าสู่เส้นทางการเมืองจากการเป็น สส. จังหวัดนครราชสีมา เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทยในปี 2563
8. สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล
- อายุ 41 ปี เป็นที่รู้จักในนาม ‘ลูกสาวกำนันป้อ’
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
- จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- มีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจของครอบครัว คือ บริษัท แป้งมันเอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด อยู่ในแวดวงการเมืองท้องถิ่น เริ่มโดดเด่นและเป็นที่สนใจของสื่อมวลชน หลังปรากฏตัวร่วมคณะนายกรัฐมนตรีเศรษฐาลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อหารือด้านการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซัน
9. พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
- อายุ 43 ปี
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
- จบการศึกษาปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ก่อนจะลงสนามการเมืองเคยทำธุรกิจ บริษัท วอเตอร์เทสท์ จำกัด หลังจากนั้นได้รับบทบาท สส. จังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ชนะเลือกตั้งมาทุกสมัย กระทั่งย้ายมาอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยเป็นแกนหลักประสานงานระหว่างท้องที่ ท้องถิ่น จัดหางบประมาณ ผลักดันการก่อสร้างฝาย แก้ไขปัญหาทรัพยากรทางทะเล เป็นผู้นำแนวคิด ‘วาระเมืองสิชล’
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
FYI
พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช
- อายุ 69 ปี (หมอมิ้ง)
- เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
- แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, Fellowship in Public Administration From Ottawa University and Carleton University Canada, National Health Administration, Japan
- หวนกลับสู่ทำเนียบรัฐมนตรีในรอบ 17 ปี โดดเด่นและอยู่ในแวดวงการเมืองมานานตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เคยเป็นเลขาธิการนายกฯ ในสมัยทักษิณ ชินวัตร ทั้งรัฐบาลทักษิณ 1 และทักษิณ 2 และเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก่อนมาสู่บทบาทผู้ดูแลนโยบายยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย
งบประมาณปี 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท
5 อันดับกระทรวงที่ใช้งบประมาณมากที่สุด
- กระทรวงมหาดไทย 351,985.3 ล้านบาท
- กระทรวงศึกษาธิการ 330,512.3 ล้านบาท
- กระทรวงการคลัง 313,822.0 ล้านบาท
- กระทรวงกลาโหม 198,562.9 ล้านบาท
- กระทรวงคมนาคม 183,950.0 ล้านบาท
- กระทรวงสาธารณสุข 170,369.2 ล้านบาท