×

หุ้นญี่ปุ่นที่ประกาศแตกพาร์ปีนี้กว่า 80 แห่ง สร้างผลตอบแทนได้เหนือกว่าตลาด

12.07.2023
  • LOADING...

ข้อมูลจาก Bloomberg พบว่าบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นกว่า 80 แห่ง รวมถึงบริษัทผู้ผลิตชิปอย่าง ROHM และ Shin-Etsu Chemical Co. ได้แตกพาร์ในปีนี้ และผลตอบแทนกำลังเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากปีก่อนหน้าและเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี

 

แม้ว่าการแบ่งส่วนของผู้ถือหุ้นออกเป็นจำนวนหุ้นมากขึ้นไม่ควรส่งผลกระทบต่อมูลค่ารวมของหุ้น แต่ตามหลักแล้วการแตกพาร์เป็นการลดราคาต่อหุ้น ทำให้นักลงทุนที่มีเงินสดมากสามารถซื้อได้ในราคาย่อมเยา ความต้องการที่เพิ่มขึ้นมักจะช่วยเพิ่มราคาหุ้นเช่นกัน และทำให้นักลงทุนมีแรงจูงใจเพิ่มเติมในการนำเงินไปลงทุนในหุ้นที่แตกพาร์ออกมา

 

เป็นความจริงที่บริษัทญี่ปุ่นมากกว่าครึ่งที่แตกพาร์ในปีนี้มีผลประกอบการดีกว่าดัชนี TOPIX ของญี่ปุ่นประมาณ 5% ในระยะหนึ่งเดือนหลังจากประกาศแตกพาร์ ยิ่งไปกว่านั้นหุ้นที่ถูกแบ่งออกมามีแนวโน้มที่จะมีการเคลื่อนไหวของราคาที่รุนแรงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของตลาด 

 

การแตกพาร์ที่เพิ่มขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันของทางการญี่ปุ่นเพื่อดึงดูดนักลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น ส่วนหนึ่งทำให้การซื้อขายหลักทรัพย์ง่ายขึ้น ในขณะที่ดัชนีหุ้นของญี่ปุ่นพุ่งสู่ระดับที่เทียบเท่าเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว นักลงทุนในประเทศต่างมองหาวิธีการทำกำไรเพิ่มเติมภายในตลาด เช่น กรณีการวางแผนลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นเมื่อเข้าร่วม Nippon Individual Savings Account หรือ NISA ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ครัวเรือนลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

 

Chizuru Morishita นักวิจัยจากสถาบันวิจัย NLI กล่าวว่า การแตกพาร์หุ้นควรเป็นปัจจัยที่เป็นกลางสำหรับราคาหุ้น แต่การวิเคราะห์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่ามีแนวโน้มที่ราคาจะสูงขึ้นหลังจากการประกาศดังกล่าว นอกจากนี้ ราคาที่เพิ่มขึ้นของหุ้นส่วนหนึ่งอาจเกิดขึ้นจากความคาดหวังของนักลงทุนในสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น

 

หุ้น ROHM เป็นตัวอย่างของหุ้นที่ทำกำไรเพิ่มขึ้นหลังการแตกพาร์ โดยราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 10% หลังจากประกาศแตกพาร์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน แซงหน้าดัชนีตลาด TOPIX ที่เพิ่มขึ้น 1.1% ในเวลาดังกล่าว ในขณะเดียวกัน หุ้นของบริษัท โอเรียนเต็ล แลนด์ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจรีสอร์ต พุ่งขึ้นถึง 44% นับตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าดัชนี TOPIX ที่ปรับตัวขึ้น 17% ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งบริษัทก็ได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการอ่อนค่าของเงินเยน ทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เป็นจำนวนมาก

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่หุ้นทุกตัวที่แตกพาร์ออกมาแล้วเป็นผลดี ตัวอย่างเช่น หุ้นของ Nippon Telegraph & Telephone Corp. ลดลง 1.9% หลังจากที่บริษัทประกาศการแตกหุ้น 25 ต่อ 1 ในวันที่ 12 พฤษภาคม

 

การเติบโตอย่างรวดเร็วของการแตกพาร์หุ้นเกิดขึ้นเมื่อตลาดหุ้นของญี่ปุ่นค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเองเข้าสู่เวทีโลกมากขึ้น นักลงทุนที่เข้ามาได้เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ เลิกใช้ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งในอดีต นั่นคือบริษัทต่างๆ ถือหุ้นไขว้ในหุ้นของกันและกัน ซึ่งแม้จะทำให้ตลาดมีเสถียรภาพ แต่มีแนวโน้มที่จะจำกัดการซื้อขายเช่นกัน

 

ขณะที่หุ้นไทยที่ประกาศแตกพาร์ในปีนี้นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแตกพาร์โดยที่ไม่ได้ลดหรือเพิ่มทุนจดทะเบียน มีทั้งหมด 4 บริษัท ได้แก่ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA แตกพาร์จาก 1 บาท เป็น 0.10 บาท, บมจ.เมคทูวิน โฮลดิ้ง หรือ MTW แตกพาร์จาก 1 บาท เป็น 0.50 บาท, บมจ.นิวซิตี้ (กรุงเทพฯ) หรือ NC แตกพาร์จาก 10 บาท เป็น 1 บาท และ บมจ.ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล 1969 หรือ SCAP แตกพาร์จาก 5 บาท เป็น 1 บาท

 

ทั้งนี้ ราคาหุ้นของ DELTA, MTW และ NC ต่างปรับตัวขึ้นได้หลังจากวันที่การแตกพาร์มีผล โดยราคาหุ้น DELTA เพิ่มขึ้น 38.8% ราคาหุ้น MTW เพิ่มขึ้น 2.3% และราคาหุ้น NC เพิ่มขึ้น 546.1% ส่วนราคาหุ้น SCAP ปรับตัวลดลง 13%

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising