วันนี้ (28 เมษายน) ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครว่า กรุงเทพมหานครเตรียมออกมาตรการผ่อนปรน ผ่อนคลายล็อกดาวน์ มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายนนี้ โดยคำนึกถึง 2 หลักการสำคัญ คือ ความเสี่ยงในการดำเนินกิจกรรมและความจำเป็นในการดำรงชีวิต ซึ่งพิจารณาแล้วได้มีการเสนอแนวทางผ่อนปรน 8 ประเภทกิจกรรมที่ให้สามารถเปิดได้ โดยต้องทำตามมาตรการที่กำหนด ซึ่งยังไม่ได้มีการแถลงอย่างเป็นทางการ เพราะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อของกรุงเทพมหานคร ที่จะมีแพทย์และนักวิชาการที่จะให้ความเห็นเพิ่มเติมในวันพรุ่งนี้ ซึ่งจะไม่ได้กลับมาทำได้ 100% ตามปกติ แต่เป็นการผ่อนปรนตามมาตรฐานและหลักการ ได้แก่
1. ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม โดยหลักการคือให้เปิด ซึ่งนั่งทานที่ร้านได้ แต่ต้องจัดให้มีการเว้นระยะห่างที่นั่งห่างกัน 1.5-2 เมตร และอาจต้องมีการหันหน้าไปทิศทางเดียวกัน ห้ามมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่สามารถสั่งกลับบ้านได้
2. ตลาดและตลาดนัด ปัจจุบันเปิดขายได้เป็นบางอย่าง โดยต่อไปจะควบคุมให้เข้มข้นมากขึ้น และจะให้เปิดเต็มรูปแบบ คือให้ขายสินค้าได้ทุกประเภท
3. สถานที่ออกกำลังกาย เป็นประเภทที่มีระยะห่างกัน เช่น สนามแบดมินตัน เทนนิส เทเบิลเทนนิส เป็นต้น โดยรายละเอียดจะชัดเจนในวันพรุ่งนี้
4. สวนสาธารณะ มีมาตรการเข้มข้นการเข้า-ออก เว้นระยะห่างให้เข้าใช้ออกกำลังกายเท่านั้น ห้ามจับกลุ่มสังสรรค์
5. ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย อนุญาต 3 อย่าง เฉพาะตัด สระ ไดร์เท่านั้น และต้องเปิดเป็นรอบ เพื่อหยุดทำความสะอาดฆ่าเชื้อ และต้องมีการให้จองคิวเข้ารับบริการ ไม่ให้มีการนั่งรอในร้าน ช่างใส่หน้ากาก และ Face Shield ด้วย
6. ร้านตัดขนสัตว์และคลินิก หรือโรงพยาบาลสัตว์ นำสัตว์เข้าร้านได้ 1 คน ต่อ 1 ตัว เท่านั้น และหยุดทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกๆ 2 ชั่วโมง
7. โรงพยาบาล คลินิก และสถานพยาบาล จะมีการเปิดพร้อมมาตรการ ไม่รวมคลินิกควบคุมน้ำหนักและคลินิกเสริมความงาม
8. สนามกอล์ฟ เป็นกิจกรรมที่ห่างกันและมีลูกจ้างจำนวนมาก
ทั้งนี้ทั้ง 8 ประเภทสถานที่จะต้องมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด ให้มีการวัดอุณหภูมิ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลก่อนเข้า และจัดระยะห่างระหว่างบุคคล 1.5-2 เมตร
โดยกรุงเทพมหานครได้เสนอมาตรการดังกล่าวนี้ต่อรัฐบาลแล้ว และจะนำเข้าประชุมในคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครในวันพรุ่งนี้ (29 เมษายน) รายละเอียดจะชัดเจน โดยจะไปแถลงที่ ศบค. โดยคำสั่งจะให้เปิดวันใดนั้น ให้รอฟังทางคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: