วันนี้ (5 ตุลาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังประชุมพิจารณาควบคุมการครอบครองการพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุน และสิ่งเทียมปืน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมการปกครอง
อนุทินกล่าวว่า ที่ประชุมได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมอาวุธปืน เครื่องกระสุน และสิ่งเทียมปืน โดยแบ่งเป็นมาตรการระยะสั้น ดังนี้
- ให้นายทะเบียนอาวุธปืนทั่วประเทศ (นายอำเภอในต่างจังหวัดและอธิบดีกรมการปกครองใน กทม.) งดการออกใบอนุญาตให้สั่ง นำเข้า หรือค้า ซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืนทุกชนิดสำหรับผู้รับใบอนุญาตรายเดิมที่จะสั่งนำเข้าเพิ่มเติม และไม่อนุญาตให้รายใหม่ขออนุญาตเป็นผู้ค้า สั่งนำเข้า สิ่งเทียมอาวุธปืนเพิ่มอีก
- ขอให้ผู้ครอบครองแบลงค์กัน (Blank Guns), บีบีกัน (BB Gun) หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่อาจจะดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ ให้นำแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนของตนที่ครอบครองอยู่ ไปแสดงและทำบันทึกต่อนายทะเบียนอาวุธปืนตามภูมิลำเนาซึ่งตนมีทะเบียนบ้านอยู่
- ให้กรมศุลกากรตรวจสอบการนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบลงค์กันและบีบีกัน ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้อย่างเข้มงวด ให้มีการกวดขันและตรวจสอบทั่วประเทศ
- ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งกำกับดูแลสนามยิงปืนที่ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬา ระเบียบการกีฬาแห่งประเทศไทย เช่น นักกีฬายิงปืนทีมชาติ
4.1 ห้ามผู้มีอายุไม่เกิน 20 ปีเข้าสนามยิงปืน ยกเว้นได้รับการอนุญาตและนักกีฬาทีมชาติ
4.2 อาวุธปืนที่ใช้ต้องมีทะเบียนถูกต้องและตรงตัวกับผู้มาใช้บริการ ยืมใครมาไม่ได้
4.3 ห้ามนำกระสุนปืนออกภายนอกสนามเด็ดขาด
4.4 สำหรับกรณีสนามยิงปืนในการกำกับดูแลของส่วนราชการ ขอให้ดำเนินการ กวดขัน ตรวจสอบ และให้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการและข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน ซึ่งหมายถึงต้องฝากอาวุธไว้ที่สนามยิงปืน จะนำออกไปภายนอกไม่ได้
- ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติงดออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว
- กระทรวงมหาดไทยไม่มีนโยบายดำเนินการโครงการอาวุธปืนสวัสดิการให้กับประชาชนทั่วไป แต่จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความจำเป็นต้องใช้สามารถพกได้คนละหนึ่งกระบอกและห้ามโอนต่อ และหากเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นเจ้าของปืนเสียชีวิต ปืนดังกล่าวจะตกเป็นของทายาทต่อไป
- ให้นายทะเบียนงดการออกใบอนุญาต สั่งนำเข้าอาวุธปืนของร้านค้าอาวุธปืนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งหมายถึงจะไม่อนุญาตให้เปิดร้านขายปืนรายใหม่เกิดขึ้น เพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชน และลดการเข้าถึงอาวุธปืนของประชาชนให้มากที่สุด
อนุทินกล่าวเพิ่มเติมว่า ดังนั้นต่อไปจะมาอ้างเรื่องอันตรายและขอพกอาวุธปืนก็จะไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะการอนุญาตให้คนพกอาวุธปืนได้ก็เหมือนเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอันตรายมากยิ่งขึ้น
- ขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปราบปราม และปิดเว็บไชต์ เพจออนไลน์ซื้อ-ขายอาวุธปืนเถื่อนและสิ่งเทียมอาวุธปืนดัดแปลงเป็นอาวุธปืน โดยขอให้รายงานผลการปฏิบัติให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุก 15 วัน
อนุทินกล่าวว่า สำหรับมาตรการระยะยาวจะมีการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490
(1) ต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ที่รับรองเรื่องสุขภาพจิตและภาวะทางจิตใจ ที่ผู้ขออนุญาตซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนต้องใช้ประกอบในการยื่นคำขอ
(2) ความหมาย บทนิยาม ของคำว่าสิ่งเทียมอาวุธปืน ไม่ให้หมายความรวมถึงแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนอื่น ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ง่าย
(3) กำหนดให้ผู้ที่จะซื้อสิ่งเทียมอาวุธปืนที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ ต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนอาวุธปืน
(4) ผู้ครอบครองอาวุธปืนทั่วประเทศทั้งรายเดิมที่มีอยู่แล้วและรายใหม่ที่อาจจะมีเพิ่มขึ้น จะต้องนำอาวุธปืนมายิงทดสอบเก็บข้อมูลหัวกระสุนทุกกระบอก ทุกราย
(5) ให้ใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืน (ป.4) ที่มีอายุของใบอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้วจะต้องนำอาวุธปืนมารายงานตัวกับนายทะเบียนในทุก 5-10 ปี เพื่อพิจารณาต่ออายุใบอนุญาต เช่นเดียวกับใบขับขี่รถยนต์
อนุทินกล่าวต่ออีกว่า จะเห็นได้ว่าวันนี้เราพยายามใช้กฎหมายที่กระทรวงมหาดไทยดูแลอยู่ เพื่อบังคับใช้อย่างเต็มที่ ในส่วนที่อยู่นอกเหนือกระทรวงมหาดไทย เช่น การแก้ไขกฎหมายหรือตรากฎหมายใหม่ๆ เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ก็จะเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการระยะสั้น 8 ข้อดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อใด อนุทินกล่าวว่า อธิบดีกรมการปกครองจะไปร่างหนังสือสั่งการ เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด
และเมื่อถามว่า ปืนที่มีการครอบครองอยู่อย่างแพร่หลายในขณะนี้จนทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะมีกวาดล้างอย่างไร อนุทินกล่าวว่า ในส่วนปืนที่มีทะเบียนอยู่เราก็ทราบว่าเป็นของใคร ส่วนบีบีกันก็ขอให้มาขึ้นทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ ต่อไปเราก็จะทราบว่ามีอาวุธปืนและสิ่งเทียมปืนอยู่จำนวนเท่าไรและเป็นของใคร หากมีการเปลี่ยนมือและเกิดปัญหาขึ้นมา เจ้าของปืนก็ต้องรับผิดชอบ รวมถึงคนที่มีบีบีกัน หากไม่มาขึ้นทะเบียนตามกรอบเวลาที่กรมการปกครองจะต้องไปออกระเบียบ ก็จะถือว่าผิดกฎหมายด้วย
“คนที่พกปืนในที่สาธารณะถือว่าผิดกฎหมายทั้งนั้น ประชาชนในประเทศนี้ไม่สามารถที่จะพกปืนไปไหนมาไหนได้ตามสะดวก โดยอ้างว่าป้องกันตัว ถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และเมื่อตนฟังจากรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คนที่มีใบอนุญาตหรือใบพกปืนไม่เคยมีใครทำผิด คนที่ก่อเหตุหรือก่อเรื่องก่อราวคือคนที่ทำผิดกฎหมายทั้งนั้น ปืนก็ไม่ใช่ของตัวเอง อาทิ ปืนเถื่อน ซึ่งถือว่าเป็นคนที่ตั้งใจทำผิดกฎหมาย”
เมื่อถามว่า กรณีคนที่พกปืนมากกว่า 1 กระบอกจะทำอย่างไร อนุทินกล่าวว่า ตอนนี้คือห้ามพกพา ห้ามเอาไปไหนมาไหน และห้ามซื้อใหม่ ใครมีก็เก็บไว้ที่บ้านและเก็บไว้ดีๆ ก็แล้วกัน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หากนำไปใช้ เจ้าของปืนก็จะมีความผิด