×

ดร.โกร่ง-ดร.สุรชาติ กับ 8 ข้อเสนอปลดชนวนระเบิดการเมืองไทย ในยุคเสนาธิปไตย และแฟลชม็อบ

05.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตัดสินยุบพรรคการเมืองล่าสุด ได้กลายเป็นเชื้อไฟที่เร่งสถานการณ์ทางการเมืองให้ร้อนแรงขึ้น นักเรียน นิสิต นักศึกษา ออกมาชุมนุมทั่วประเทศ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต่างรุมเร้าเขย่าเสถียรภาพรัฐบาล พร้อมๆ กับเกมการเมืองในสภา
  • ดร.โกร่ง-ดร.สุรชาติ ชวนคนไทยมองปรากฏการณ์ดังกล่าว ผ่านแว่นขยายทางเศรษฐกิจและการเมือง เพื่อหาโอกาสจากสิ่งที่เกิดขึ้น และเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง

วันนี้ (5 มีนาคม) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนาวิชาการวงปิด เรื่อง ‘อนาคตทางการเมืองไทยหลังยุบพรรคในยุค Covid-19’ โดยมีวิทยากร คือ ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข  อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

 

 

ดร.วีรพงษ์ มองวิกฤตเศรษฐกิจจะลุกลามสู่ปัญหาการเมือง

ดร.วีรพงษ์ เริ่มต้นการเสวนาว่า วิกฤตการณ์ที่ไทยต้องเผชิญเวลานี้ คือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักร และถูกซ้ำเติมด้วยนโยบายสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมี เป็นเหตุการณ์เพิ่มขึ้นมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจธรรมดา โดยสาเหตุมาจากเหตุผลทางการเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องทำอะไรสักอย่างให้มีผลทางการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลเสียอย่างมหาศาล 

 

ทั้งหมดนี้กระทบต่อไทย เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญอย่างมากของไทย เราส่งออกสินค้าโดยตรงไปยังจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งคิดเป็น 20% ของรายได้ทั้งหมด

 

ดร.วีรพงษ์ กล่าวอีกว่า การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นโดยเร็วเป็นไปได้ยาก ซึ่งเดิมภาวะเศรษฐกิจก็ตกต่ำตามวัฏจักรอยู่แล้ว กรณีวิกฤตการณ์น้ำมันในปี 2520 เวลานั้น พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ถูกยังเติร์กเอาออก แล้ว พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นมาแทน สินค้าแทบทุกอย่างตกต่ำมาก จนต้องมีนโยบายปิดไฟ ถอดปลั๊ก ครั้งนั้นใช้เวลาเกือบ 10 ปีถึงจะฟื้นคืนมา ครั้งนี้ก็ไม่ต่างกัน แต่ต่างกันตรงที่เรามีทุนสำรองที่แข็งแรงกว่า

 

ขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้นกับภาคการเงินที่ใช้สินเชื่อ เครดิต และคาดว่าจะลามไปสู่ปัญหาเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งเหลืออยู่แต่ภาคธนาคารพาณิชย์ ปัญหาคือธนาคารแห่งประเทศไทยจะเอาอยู่หรือไม่ ถ้าหากว่าเกิดปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ วิกฤตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา มีสัญญาณที่เริ่มจากภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่ากำลังขาลง ตามมาที่สถาบันการเงิน และลงมาที่ภาคครัวเรือน 

 

“คำถามคือเราจะหยุดสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ เพราะประเทศไทยผลิตเกินต้องการที่ใช้ถึง 70% เนื่องจากที่เหลือต้องส่งออกเป็นหลัก และเมื่อมีปัญหาทำให้ได้รับผลกระทบ สิ่งที่จะทำได้คือต้องลดค่าเงินบาท เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกได้เงินชดเชยจากการตกต่ำของราคาตลาดโลก แต่บังเอิญเรามีธนาคารแห่งประเทศไทยที่ผมขอใช้คำว่าโง่เขลา ที่ไม่เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจภายในและภายนอก กับความสำคัญของการส่งออก” ดร.วีรพงษ์ กล่าว

 

ดร.วีรพงษ์ เปิดเผยอีกว่า เมื่อไม่เห็นทางออกด้านเศรษฐกิจ ก็จะลามมาที่ปัญหาการเมือง เพราะเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานของพฤติกรรมทางการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่ ในระยะยาวเราหนีไม่พ้นการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ระยะสั้นคือเราอยู่ในภาวะการหยุดชะงักของระบอบประชาธิปไตยที่นานมาก เวลานี้ลามไปที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการที่เขารู้สึกถูกกดดันเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพราะเขาเห็นประเทศอื่นๆ ที่มีความเจริญในทางการเมือง สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาอิจฉา และมีปมด้อยที่เป็นนักเรียนนักศึกษาของประเทศไทย ที่ถูกกด ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ มีผู้นำประเทศมาก่นด่าประชาชนทุกวัน

 

สิ่งเหล่านี้ถึงจุดที่ว่าถ้าไม่รีบถอยออกไปอีกปีสองปีจะระเบิดออกมา ตนเองคิดว่านายกฯ คือตัวปัญหาของประเทศ ที่เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด ตราบใดที่นายกฯ ซึ่งไม่มีความชอบธรรมในการอยู่ในตำแหน่ง ทั้งที่มาและกลไกต่างๆ โดยใช้การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรม ส่วนการลงประชามติที่ใช้กลไก ซึ่งรู้ผลของประชามติก่อนแล้ว แบบนี้เป็นเหมือนคำกล่าวของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่เคยพูดว่า เหมือนปลากระป๋องที่เอาไปตั้งไว้บนไฟ แล้วไม่ได้เจาะรู้ให้มันหายใจ วันหนึ่งมันก็ระเบิด 

 

ดร.วีรพงษ์ กล่าวอีกว่า เวลานี้เศรษฐกิจไม่มีใครแก้ไขได้ ตัวที่จะขับเคลื่อนคือการส่งออกและการท่องเที่ยว อุปสรรคคือการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ผู้ส่งอออกแข่งขันกับเขาได้ ไม่ต้องตั้งราคาสูงกว่าคนอื่น คือทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง ซึ่งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เข้าใจ จึงตัดไปได้เลยว่าจะดำเนินการ 

 

การส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญที่รัฐบาล ในแง่ปัจจัยทางการเมือง เขารังเกียจรัฐบาลเผด็จการ บางประเทศเขาไม่ยอมให้วีซ่ากับเผด็จการที่จะเดินทางไปเจรจาได้ ลองนึกดูว่าห้องประชุมที่ป้ายข้างหน้าเขียนว่านายพล มาเจรจาการค้า การที่เรายังมีรัฐบาลทหารอยู่เป็นอุปสรรคสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะทำให้เราเจรจาการค้ากับต่างประเทศ เมื่อทำไม่ได้ ก็เสียเปรียบคู่เเข่ง เพราะฉะนั้น เรื่องที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวยังมองไม่เห็นทาง แถมเงินบาทเราแข็งที่สุดในโลก แสดงถึงความไม่เข้าใจของคนที่ดำเนินนโยบาย

 

 

ดร.สุรชาติ ชวนผู้นำเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เสี่ยงเซียมซีการเมือง แนะ 8 ข้อปลดชนวนระเบิดสังคมไทย

ด้าน ดร.สุรชาติ กล่าวว่า ถ้ามองโจทย์หลังยุบพรรค คือสิ่งที่กำลังพูดถึง ‘การเมืองยุคหลังประยุทธ์’ ซึ่งจะเริ่มจริงๆ เมื่อใดยังไม่ชัด แต่อย่างน้อยเห็นความชัดเจน เมื่ออนาคตใหม่ถูกยุบพรรค การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และกรณีไวรัส ซึ่งความชัดเจนคือรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ความไร้ขีดความสามารถของรัฐบาลอยู่ในระดับที่ประชาชนระดับเรามองเห็น การเมืองจากนี้หากเปรียบเป็นภาพยนตร์ ก็คือ จากนี้จะตื่นเต้นและเร้าใจ

 

ผลสืบเนื่องจากการยุบพรรค เป็นเสมือนการจุดไม้ขีดแล้วโยนเข้ากองไฟ กองเชื้อเพลิง ที่ผ่านมาอาจมีการก่อตัวอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เราเห็นอาการติดคือ การเคลื่อนของนิสิต นักศึกษา นักเรียน อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งไม่เคยเห็นมานานมาก ไม่ใช่แค่ระดับมหาวิทยาลัย เราเห็นไปจนถึงระดับมัธยมปลาย ถ้าทั้งหมดนี้ออกมาด้วยกันคือกำลังเกิด ‘ฮ่องกงโมเดล’ ในสังคมไทย 

 

ดร.สุรชาติ เปรียบเทียบลักษณะการเมืองเหมือนกีฬา ‘มวย’ คือ มวยระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งชกไม่ครบ 12 ยก อาจมีการยึดเวทีหลังจากชกแล้วเพลี่ยงพล้ำ ขณะที่วันนี้เราไม่มีกรรมการมวย ไม่มีกรรมการการเมืองไทย คือกรรมการไปเป็นนักมวยบนเวทีอีกฝ่ายหนึ่ง กลายเป็นคู่ชก 

 

สิ่งที่น่ากลัวคือ ถ้านักมวยเพลี่ยงพล้ำแล้ว นักมวยกับกรรมการอาจไล่คนดูออกจากสนาม เรียกว่าการยึดอำนาจ หรือเพลี่ยงพล้ำแล้วกรรมการก็ช่วย โดยการประกาศไล่นักมวยอีกฝ่ายลงเวที โดยการยุบเวที นั่นคือการเลือกตั้งใหม่ 

 

หรือตัดสินใจว่าสู้ไม่ไหว การโยนผ้ายอมแพ้แล้วลงจากเวที ที่ผ่านมาท่านผู้นำก็บ่นเหนื่อยมาก แต่ไม่มีสื่อถาม 

 

หรือสุดท้ายตัดสินใจยื้อต่อ คือวิ่งรอบสนาม ให้กรรมการตัดสินใจให้ โดยอาศัยเงื่อนไขของการได้เปรียบ โดยการยึดเวที หากตัดสินใจแบบนี้แล้วอยู่นาน แสดงว่าวันนี้นักมวยฝ่ายรัฐบาลหมัดตก รออย่างเดียวคือจะน็อกบนเวทีเมื่อไร แบบนี้คนดูมวยคงมีความรู้สึกเยอะ หลายปีมานี้เราดูการเมืองไทยแบบดูมวย คือเวทีนี้ไม่เป็นธรรม เพราะไม่ได้ชกแบบเสรีและเป็นธรรม

 

ดร.สุรชาติ กล่าวว่า วันนี้ผู้นำทางทหาร หรือผู้มีอำนาจอาจจะไม่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อกลับไปดูอาจจะมีคำตอบก็ได้ หากมองประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของผู้นำทางทหารในการเมืองไทย จะขอเปรียบเทียบว่าเหมือนเสี่ยงเซียมซี ขอเรียกว่าเป็น ‘เซียมซีเสี่ยงรัก’

 

เซียมซีที่ 1: ชื่อ ‘นิราศต่างแดน’ เป็นยุคต้นๆ ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เชื่อว่าโกงแล้วสามารถนำตนเองไปเป็นรัฐบาลได้ พาตัวเองเป็นรัฐบาลเข้มแข็งได้ในสภา ผลที่ได้คือนำไปสู่การเลือกตั้งสกปรก และในปี 2500 เป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหว จนต่อมามีรัฐประหาร และจอมพล ป. ต้องลี้ภัยไปต่างแดน

 

เซียมซีที่ 2: ชื่อ ‘สุขก่อนตาย’ เซียมซีแผ่นนี้บันทึกอายุขัยของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งขึ้นสู่อำนาจด้วยรัฐประหาร มีความสุขด้วยการคอร์รัปชัน สะสมความมั่งคั่ง ขณะเดียวกันก็ใช้อำนาจปราบปรามประชาชน เมื่อป่วยแล้วขึ้นสู่อำนาจรัฐประหารตัวเอง ก่อนจะเสียชีวิตสิ้นยุคสฤษดิ์

 

เซียมซีที่ 3: ชื่อ ‘นิราศสามชาย’ คือ เซียมซียุคจอมพล ถนอม คือสองจอมพล หนึ่งพันเอก อยากคุมอำนาจทางการเมือง ที่อยู่บนฐานความไม่พอใจของประชาชน ในช่วงยุคปลายเศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะเศรษฐกิจวิกฤต นำมาซึ่งการชุมนุมครั้งใหญ่ของสังคมไทย คือเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 

 

เซียมซีที่ 4: ชื่อ ‘ป๋าพอแล้ว’ ยุค พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นทหารที่อยู่ในอำนาจนาน หลังยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่ออยู่นานก็ถูกภาวะกดดัน แต่ในภาวะแบบนี้ตัดสินใจลงจากอำนาจเมื่อรู้จังหวะทางการเมือง ตัดสินใจลงจากเวทีเอง รอดจากการประท้วงใหญ่และรัฐประหาร ทำให้ พล.อ. เปรม ดำรงสถานะทางการเมืองอย่างมาก

 

เซียมซีที่ 5: ชื่อ ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ ยุค พล.อ. สุจินดา คราประยูร ที่รู้สึกว่าทำอะไรก็ได้ภายใต้เงื่อนไขอำนาจทางทหาร การออกมาเคลื่อนไหวของนักศึกษาในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และเปิดการปราบปรามนักศึกษา 

 

ถ้าให้ผู้นำเลือกเสี่ยงเซียมซี ไม่รู้ว่าใจเขาอยากได้แบบไหน ชะตากรรมแบบไหน หรือท่านคิดว่าท่านมีเซียมซีแผ่นที่ 6 เหมือน 6 ตุลาคม 2519 ที่ปราบนักศึกษาแล้วชนะ ด้วยเห็นความเปลี่ยนแปลงแล้วกลัว แล้วขึ้นสู่อำนาจ แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน ถูกรัฐประหารเช่นกัน

 

ดร.สุรชาติ กล่าวอีกว่า ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีบทเรียนให้เรียนรู้เยอะ หลังรัฐประหารปี 2549 และ ปี 2557 ภาพสะท้อนที่เราเห็นคือ การปกครองในประเทศไทยเวลานี้คือ ‘ระบอบเสนาธิปไตย ประชาธิปไตยเป็นของต้องห้าม’ แม้อ่านหนังสือต้องห้ามอาจถูกจับกุมได้ ในการปกครองระบอบนี้ รัฐบาลปกครองด้วยอำนาจปืน อำนาจรัฐเกิดจากกระบอกปืน และเขาเชื่อว่าปืนเท่านั้นที่ปกครองไทยได้ 

 

วันหนึ่งเมื่อเปลี่ยนเข้าสู่การเลือกตั้ง ตนคิดว่ารัฐบาลหลังเดือนมีนาคม 2562 จะใช้ว่ารัฐบาลเลือกตั้ง หรือรัฐบาลสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่การเลือกตั้งแบบเสรี และเป็นธรรมในมาตรฐานสากล มีการใช้สถาบันทางกฎหมายเข้ามามีบทบาททางการเมือง สิ่งที่เราเห็นเรียกว่า ‘ตุลาการธิปไตย’ เพราะคำว่า ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ตนเองยังเห็นว่าเป็นคำเชิงบวกมากกว่า และคิดว่าสังคมไทยไม่มีสิ่งนี้ แต่มี ‘ตุลาการธิปไตย’ คือใช้อำนาจของสถาบันทางกฎหมายจัดการกับฝ่ายที่ตนเองไม่ชอบ ล้มรัฐบาลหรือจัดการฝ่ายตรงข้ามที่เป็นผู้เห็นต่าง 

 

ดร.สุชาติ มองอีกว่า ในการเมืองระบบเปิด การใช้ตุลาธิปไตย เป็นเงื่อนไขที่ดีที่สุด ทำให้ภาพลักษณ์ฝ่ายบริหารไม่ถูกมองว่าเป็นเผด็จการเต็มรูป คำถามคือแล้วตกลงนิติธรรมที่ควรมีในกฎหมายไทยอยู่ตรงไหน 

 

ในด้านหนึ่งรัฐบาลทหารมีอำนาจมาก บนเงื่อนไขของอำนาจปืน บวกกับอำนาจตุลาการ และการผนวกอำนาจเข้ากับระบบเศรษฐกิจ เวลานี้ทุนขุนศึกในศตวรรษที่ 21 ได้ผนวกกับอำนาจทหาร เข้ากับทุนผูกขาด ซึ่งไม่ใช่ทุนนิยมแบบปกติ รัฐประหารทั้งสองครั้งมีบทบาทของกลุ่มทุนเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ทราบมูลค่าว่าเท่าไรในปี 2549 และ 2557

 

การผนวกอำนาจที่เพิ่มมากขึ้น คือการขยายบทบาทของกองทัพอย่างมาก โดยเฉพาะรัฐประหาร 2557 โดยเฉพาะคำสั่ง คสช. ที่ขยายอำนาจ กอ.รมน. แทบจะเทียบเท่ากระทรวง แม้ทหารออกจากการเมือง แต่ยังมีมรดกทางการเมืองทิ้งไว้ อย่าง กอ.รมน.

 

ดร.สุรชาติ ย้ำอีกว่า ทั้งหมดเกิดขึ้นบนความเชื่อว่า รัฐบาลทหารที่เกิดขึ้นจากอำนาจเหล่านั้น รวมถึงแรงสนับสนุนชนชั้นกลางปีกอนุรักษ์นิยม ที่เล่นบทบาทเป็นผู้ปกป้องอำนาจนิยม เมื่อเห็นการขยายตัวของไม้ขีดที่เริ่มถูกจุด โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา คำถามคือการชุมนุมเหล่านี้จะออกนอกรั้วมหาวิทยาลัยหรือไม่ เพราะเมื่อชนชั้นกลางที่รู้สึกว่าเราอยู่กับรัฐบาลที่สิ้นหวัง เมื่อชนชั้นกลางปีกประชาธิปไตยลงถนนเมื่อไร หรือในทางกลับกันนิสิตนักศึกษาลงถนน ทั้งสองฝ่ายก็จะลงถนนด้วยกัน

 

อย่างไรก็ตาม นักรัฐศาสตร์ไม่ใช่หมอดูที่จะตอบว่าจะออกมาเมื่อไร หรือชนชั้นกลางจะลงเมื่อไร แต่ยิ่งนานวันการเมืองชุดนี้ยิ่งมีปัญหา เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่รอการระเบิดครั้งใหญ่

 

ดร.สุรชาติ มองว่า ถ้าเราจะรั้งไม่ให้เกิดการระเบิดออกมาจะทำอย่างไร หากลองพลิกโอกาสเพื่อถอดชนวน ‘ระเบิด’ การเมืองลูกใหญ่นี้มี 8 ข้อคือ

 

1.แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ยกร่างในกรอบ 90 วัน โดยองค์กรอิสระและวุฒิสภา ต้องถูกยุบตาม รธน. เป็นจุดเริ่มต้นวิกฤตการเมืองไทย ใช้ รธน .ปี 2540 เป็นฐาน 

 

2.องค์กรอิสระต้องเป็นหลักที่จะไม่ทำให้การเมืองจะไม่ถูกแบ่งฝ่าย ไม่เป็นตุลาการธิปไตยที่ตรวจสอบไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้ จะกลายเป็นองค์กรที่สร้างปัญหาให้การเมืองไทย

 

3.ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะรัฐบาลไม่ได้ทำ ทำไม่ได้ วันนี้ถ้ามีคนลุกขึ้นฟ้องร้องรัฐบาลเจ้าของยุทธศาสตร์ ศาลจะรับคำฟ้องหรือไม่

 

4.วันนี้ผู้นำต้องพิจารณาตนเอง เพราะเป็นรัฐบาลที่มุ่งสืบทอดอำนาจ

 

5.หยุดกระบวนการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ต้องมีหลักนิติธรรมรองรับ เมื่อใดที่กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือฝ่ายตรงข้ามวันนั้นก็ระเบิด

 

6.รัฐบาลเลิกเป็นเบี้ยล่างทุนใหญ่ หันมามองทุนระดับล่าง 

 

7.ถึงเวลาล้างและสะสางคดีการเมืองได้แล้ว 

 

8.หากเราเห็นกองทัพเป็นปัญหาทางการเมือง ถึงเวลาแล้วต้องตั้ง ‘คณะกรรมการกลางเพื่อการปฏิรูปกองทัพ’ เหมือนตัวแบบอย่างเยอรมนี ต้องลดบทบาททางการเมืองของทหารออกจากการเมือง ปรับคำสั่ง คสช. ยุติบทบาทเสนาพาณิชย์นิยมในกองทัพ กองทัพต้องไม่ใช่ที่ประกอบธุรกิจหากินของนายทหารระดับสูง ต้องเอาทหารออกจากบอร์ดของรัฐวิสาหกิจ โจทย์ข้อนี้เคยทำมาแล้วในอดีต วันนี้กลับมาอีกแล้ว และสุดท้ายต้องยุติการซื้ออาวุธของกองทัพไทยชั่วคราว เพราะเกิดวิกฤตปัญหาเศรษฐกิจ ที่มีระดับขนาดใหญ่เท่ากับต้มยำกุ้ง

 

ในด้านต่างประเทศ หากเราสร้างการเมืองใหม่ได้ ต้องปรับระดับความสัมพันธ์ทางอำนาจ โดยไทยไม่เป็นเบี้ยล่างรัฐมหาอำนาจ ต้องปรับภาพลักษณ์ของไทยในสายตาโลกใหม่ ในระยะเวลาไม่ถึงสิบปีเรามีรัฐประหารถึงสองครั้ง เพราะทำลายอำนาจในการต่อรองของไทยที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ต้องสร้างขีดความสามารถในการต่อรองบนเวทีโลก ไทยไม่ใช่รัฐอารักขาของประเทศใด ยกเลิกโปรเจกต์ที่เกิดจากสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เหมือนเมื่อครั้งรัตนโกสินทร์ ที่เกิดจากสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงต้องยุติ

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising