×

‘ใครได้ประโยชน์-สร้างหนี้ระยะยาว’ เปิด 8 ข้อเสนอ ป.ป.ช. ต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

โดย THE STANDARD TEAM
17.01.2024
  • LOADING...

ดิจิทัลวอลเล็ตกลายเป็นประเด็นร้อนของรัฐบาลเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง เมื่อมีเอกสาร ‘ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต’ ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลุดเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (16 มกราคม) 

 

เนื้อหาดังกล่าวรวบรวมเอกสาร คำแถลงนโยบาย บทสัมภาษณ์ ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ 

 

แต่ที่เป็นจุดสำคัญคือ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลตามมาตรา 32 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งมีสาระสำคัญ 8 ข้อ ดังนี้

 

▪ ศึกษาให้ชัด ใครได้ประโยชน์

 

  1. ในการดำเนินโครงการฯ รัฐบาลต้องศึกษาและวิเคราะห์ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง หรือบุคคลรายใดรายหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย และบุคคลที่มิได้เป็นคนจนหรือมิใช่กลุ่มเปราะบางที่แท้จริง พร้อมกับต้องมีขั้นตอน / วิธีการ ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อให้โครงการฯ สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึง


 

แนะ กกต. ตรวจสอบตรงกับที่หาเสียงหรือไม่ 

 

  1. ในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ต่อเมื่อพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลและได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 สำหรับโครงการดังกล่าวมีความแตกต่างกัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาประกอบการพิจารณา มิฉะนั้นจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองที่สามารถหาเสียงไว้อย่างไรก็ได้ เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม 


 

ไทยยังไม่วิกฤต ควรกระตุ้นโครงสร้างเศรษฐกิจมากกว่า

 

  1. จากตัวเลขภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้จากการศึกษา ตัวทวีคูณทางการคลัง รวมทั้งตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตของธนาคารโลกและ IMF ปรากฏว่า อัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่เข้าข่ายประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนจำเป็นต้องพิจารณาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การบริโภค ภาคเอกชน อัตราการว่างงาน การใช้จ่าย การลงทุนภาครัฐ และการเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน เป็นต้น 


 

กู้เงิน 5 แสนล้านบาท สร้างภาระหนี้ระยะยาว

 

  1. การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบและภาระทางการเงินการคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส, การถ่วงดุล, การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง และความคล่องตัว ซึ่งโครงการนี้มีผลเสียมากกว่าผลดี กล่าวคือต้องกู้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 การกู้เงินเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้เป็นระยะเวลา 4-5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ 


 

พิจารณาความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ

 

  1. การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต คณะรัฐมนตรีและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (มาตรา 172), พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (มาตรา 53), พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา 4, 5, 6) ตลอดจนกฎหมายคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย 

แนะประเมินความเสี่ยงก่อน ระหว่าง และหลัง ทำโครงการ

 

  1. คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตอย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยงและการป้องกันการทุจริต ตลอดจนมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการดำเนินโครงการ ซึ่งอาจพิจารณานำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องการบูรณาการและป้องกันการทุจริตของโครงการภาครัฐ (โดยการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต สามารถดำเนินการได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง 


 

ควรช่วยกลุ่มเปราะบางอย่างแท้จริง

 

  1. การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุดที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริงภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 


 

ใช้งบพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ แต่แจกเพียงครั้งเดียว 

 

  1. ในการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้กับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลาและงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นการแจกเงินเพียงครั้งเดียว โดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน การพิจารณาใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังจะเป็นประโยชน์และเหมาะสมกว่า 

 

พฤษภาคมไม่ทัน แต่ดิจิทัลวอลเล็ตยังมีอยู่

 

แม้เอกสารที่หลุดมายังเป็นแค่ตัวร่างที่รัฐบาลก็รอฉบับทางการ แต่สื่อหลายสำนักก็หยิบมารายงาน รวมถึงฝ่ายการเมืองก็จับตาจนกลายก็เป็นปมร้อนระอุ ทำให้ตัวแทนรัฐบาลอย่าง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์​ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวง​การคลัง​ ต้องออกมาชี้แจงว่า จากเดิมที่รัฐบาลรับปากดิจิทัลวอลเล็ตจะถึงมือประชาชนในเดือนพฤษภาคมคงจะต้องเลื่อนออกไปก่อน แต่ยืนยันว่าโครงการยังมีอยู่ ไม่ล้มหายไปอย่างแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X