×

เปิด 8 ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงกว่า 8 ปีของ ‘รัฐบาลประยุทธ์’ สำเร็จ หรือ ล้มเหลว?

10.04.2023
  • LOADING...

เปิด 8 ตัวเลขเศรษฐกิจในยุครัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงกว่า 8 ปีที่ผ่านมา โดย THE STANDARD WEALTH พบว่าความสำเร็จที่เห็นผ่านตัวเลขเหล่านี้คือ อัตราว่างงานและความเหลื่อมล้ำ (ผ่านดัชนี Gini) ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้เผชิญการระบาดของโควิด

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทย กลับโตต่ำสุดเมื่อเทียบกับหลายประเทศในอาเซียน

 

ขณะที่หนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะของไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แตะระดับสูงสุดในรอบหลายปี ท่ามกลางการแข็งค่าของเงินบาท

 

GDP ไทยโต ‘ต่ำ’ เทียบ 4 ประเทศอาเซียน

 

 

จากข้อมูลจะเห็นว่าอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญคือ การติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางในระดับสูง (Upper Middle-Income) มาเป็นเวลานาน เนื่องจากไม่สามารถผลักดันประเทศไปสู่การบริการที่มีค่าตอบแทนสูง (High-Paying Service) หรือการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Manufacturing) ได้ โดยการเติบโตของ GDP ไทยไม่ถึง 5% มานับตั้งแต่ปี 2555 

 

ขณะที่ในปี 2565 การเติบโตของ GDP ไทยยังต่ำที่สุดอยู่ที่ 2.6% เท่านั้น เมื่อเทียบกับ 4 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย

 

ไทย’ ดึงดูดเงินลงทุน (FDI) แพ้อินโดนีเซีย-เวียดนาม

 

 

ตามข้อมูลจากกองสถิติอาเซียน (ASEANstats) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานภายใต้แผนกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Department) ของสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) แสดงให้เห็นว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2558 (ซึ่งเป็นปีหลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 24 สิงหาคม 2557) ค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับ 4 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย

 

โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่สามารถดึงดูด FDI ได้เกิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2560 และเวียดนามที่เห็นการเติบโตของ FDI ได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถดึงดูด FDI ได้มากกว่าไทยตั้งแต่ปี 2557

 

ทั้งนี้ตามข้อมูลจากสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในประเทศไทยทั้งปี 2564 อยู่ที่ 280,670 ล้านบาท ขณะที่เดือนมกราคม-มิถุนายนปี 2565 อยู่ที่ 130,083 ล้านบาท

 

อัตราว่างงานไทย ‘ต่ำสุด’ เทียบ 4 ประเทศอาเซียน

 

 

ตามข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงให้เห็นว่าอัตราว่างงานของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำมาตลอด โดยนับตั้งแต่ปี 2558-2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.21% เท่านั้น ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับ 4 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลอัตราว่างงานประเทศไทยของ IMF และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) มีความแตกต่างกัน โดยสภาพัฒน์ระบุว่าอัตราว่างงานของไทยอยู่ที่ 1.32% ในปี 2565 เทียบกับ 1% ของ IMF ขณะที่อัตราว่างงานไทยปี 2564 ของสภาพัฒน์อยู่ที่ 1.96% เทียบกับ 1.5% ของ IMF

 

หนี้ครัวเรือนไทยปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 8 ปี

 

 

ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าหนี้ครัวเรือนต่อ GDP หรือเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อ GDP (ซึ่งคำนวณจากเงินที่ภาคครัวเรือนกู้ยืมจากสถาบันการเงิน หารด้วยผลรวมของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ราคาประจำปี (QGDP) 4 ไตรมาสย้อนหลัง โดยเริ่มนับจากไตรมาสที่อ้างถึง) แสดงให้เห็นว่ามูลหนี้ของครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี

 

โดยข้อมูลล่าสุดหรือในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 แสดงให้เห็นว่าหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 15,092,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 14,576,844 ล้านบาทในไตรมาส 4/64

 

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 4/65 อยู่ที่ 86.9% ชะลอตัวจาก 90.2% ในไตรมาส 4/64

 

หนี้สาธารณะไทยพุ่งสู่อันดับ 2 ในภูมิภาค

 

 

ตามข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงให้เห็นว่าในช่วงก่อนการระบาดของโควิด หนี้โดยรวมทั่วไปของรัฐบาลไทย (General Government Gross Debt) อยู่ที่ราว 40% ต้นๆ เท่านั้น 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ หนี้โดยรวมทั่วไปของรัฐบาลไทยก็พุ่งขึ้นแตะระดับ 49.5% ในปี 2563 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 58.4% ในปี 2564 สอดคล้องกับหลายประเทศในภูมิภาค

 

และเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 61.5% ในปี 2565 สูงเป็นอันดับที่ 2 เมื่อเทียบกับ 4 ประเทศอาเซียน เป็นรองเพียงมาเลเซียเท่านั้น จากอันดับ 3 ในช่วงก่อนโควิด

 

จากข้อมูลยังแสดงให้เห็นอีกว่าแนวโน้มหนี้โดยรวมทั่วไปของรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งเคยใกล้เคียงกับไทยในช่วงก่อนโควิด (ปี 2562) ซึ่งของเวียดนามอยู่ที่ 41.3% ต่อ GDP กลับลดลงอย่างต่อเนื่องสวนทางกับไทย 

 

โดยหนี้โดยรวมทั่วไปของรัฐบาลเวียดนามในปี 2565 ลดลงเหลือเพียง 40.2% ต่อ GDP เท่านั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากมูลค่า GDP ของเวียดนามที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

 

ทั้งนี้ตามข้อมูลล่าสุดของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) พบว่าหนี้สาธารณะคงค้าง ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 10,724,775.89 ล้านบาท คิดเป็น 61.13% ต่อ GDP 

 

เปิดอัตราเงินเฟ้อไทยในรอบ 8 ปี จากยุค ‘เสี่ยงเงินฝืด’ สู่ ‘ยุคข้าวยากหมากแพง’?

 

 

ตามข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดค่าครองชีพและระดับราคาสินค้าและบริการทั่วไปเฉลี่ยของไทยในปี 2558 อยู่ที่ติดลบ 0.9% ต่ำสุดเทียบกับ 4 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย และอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำมาตลอดในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด

 

โดยในจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 7 มกราคม 2559 ของ ธปท. ชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2558 ติดลบ 0.9% (ออกนอกกรอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงิน) ว่ามีปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงานและอาหารสดที่ลดลงมาก 

 

และนอกจากจดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าว ธปท. ยังออกจดหมายเปิดผนึกชี้แจงอีกเรื่อยๆ รวม 6 ฉบับ (ฉบับสุดท้ายในเดือนกรกฎาคม 2564) เพื่ออธิบายว่าทำไมอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจึงต่ำกว่าหรือใกล้เคียงขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินของ ธปท. รวมถึง ธปท. มีแนวทางจะดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้ามาอยู่ในกรอบได้อย่างไร สะท้อนถึงความกังวลกับปัญหาเงินเฟ้อต่ำและความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเงินฝืด 

 

อย่างไรก็ตาม ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 กลับก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 เทียบกับ 4 ประเทศอาเซียน หลังเกิดการระบาดของโควิด

 

โดยเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ธปท. ได้ออกจดหมายเปิดผนึกอีกครั้ง เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ไตรมาส 2/65-1/66) สูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน เนื่องมาจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน (Cost-Push Shocks) ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ ก่อนที่วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ธปท. ได้ออกจดหมายชี้แจงอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2564 – กันยายน 2565) และประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ไตรมาส 4/65-3/66) ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมาย

 

ทั้งนี้การดูแลให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพด้านราคา หรืออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งหมายถึงการมีอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ระดับต่ำและไม่ผันผวน (Low and Stable Inflation) เป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของ ธปท.

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสามารถเข้าแทรกแซงหรือควบคุมราคาได้ เช่น การกำหนดราคาขั้นต่ำ การเพิ่มหรือลดภาษีจากผู้ผลิต นโยบายการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ และนโยบายประกันราคาหรือพยุงราคา เป็นต้น

 

ยุคลุงตู่เงินบาทแข็งโป๊ก พุ่ง 14% ในช่วงกว่า 8 ปี

 

 

ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงให้เห็นว่าดัชนีเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการเคลื่อนไหวของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย ในช่วงกว่า 8 ปีแข็งค่าขึ้น 13.9906% (จากเดือนสิงหาคม 2557 ซึ่งเป็นเดือนที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ารับตำแหน่ง NEER เฉลี่ยอยู่ที่ 104.57 ถึงข้อมูลล่าสุดคือเดือนมีนาคม 2566 NEER เฉลี่ยอยู่ที่ 119.2) โดยค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นแสดงถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้น

 

ทั้งนี้ NEER ถือเป็นเครื่องชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ดีกว่าการพิจารณาค่าเงินบาทโดยเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเพียงสกุลเดียวในลักษณะของ Bilateral Exchange Rate เนื่องจากการเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเพียงสกุลเดียวไม่เพียงพอสำหรับการหาความสามารถในการส่งออก และไม่สามารถสะท้อนภาพรวมความเคลื่อนไหวและผลกระทบของค่าเงินบาทได้อย่างครบถ้วนมากนัก เนื่องจากยังขาดมิติในเรื่องการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเงินสกุลสำคัญอื่นๆ 

 

ขณะที่ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate: REER) ซึ่งจะรวมเอาปัจจัยด้านอัตราแลกเปลี่ยน และปัจจัยด้านระดับราคาหรืออัตราเงินเฟ้อของแต่ละประเทศเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย ที่จะช่วยให้การประเมินความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของประเทศมีความครบถ้วนมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 (103.49) ถึงข้อมูลล่าสุดคือเดือนกุมภาพันธ์ 2566 (105.19) แข็งค่าขึ้น 1.64267%

 

ทั้งนี้การแข็งค่าของเงินบาทถือเป็นผลเสียต่อผู้ส่งออกที่นำรายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง ผู้ที่ทำงานต่างประเทศ และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินสกุลต่างประเทศ ที่นำรายได้มาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง

 

ในทางกลับกันการแข็งค่าของเงินบาทถือเป็นประโยชน์ต่อผู้นำเข้า ประชาชนที่ซื้อสินค้าและบริการต่างประเทศ ผู้ลงทุนที่นำเข้าสินค้าทุนได้ถูกลง และผู้ที่เป็นหนี้ต่างประเทศก็มีภาระหนี้ลดลง เพราะใช้เงินบาทชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศได้มากขึ้น

 

ความเหลื่อมล้ำไทย 8 ปี ‘ลดลง’ และต่ำสุดใน 5 ประเทศอาเซียน

 

 

ตามข้อมูล Gini Index ของธนาคารโลก ซึ่งใช้วัดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และรายจ่ายของบุคคลหรือครัวเรือน พบว่าแนวโน้มสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยในช่วงกว่า 8 ปีที่ผ่านมาดีขึ้นเล็กน้อย โดยค่า Gini ในปี 2564 อยู่ที่ 35.1 จาก 37 ในปี 2557 นอกจากนี้ค่าดัชนี Gini ล่าสุดของประเทศไทยยังดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ 4 ประเทศอาเซียน

 

ทั้งนี้ดัชนีดังกล่าวสร้างขึ้นจากค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) ซึ่งจะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-1 (ดัชนีจะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100) โดยหากค่าดัชนี Gini มีระดับต่ำจะแสดงถึงการกระจายรายได้และรายจ่ายอยู่ในระดับดีกว่าค่า Gini ที่มีค่าสูง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X