ผู้แทนจากรัฐบาลและกองทัพไทย คณะทูตานุทูตและผู้แทนจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทย เข้าร่วมงานรำลึกครบรอบ 70 ปี อนุสัญญาเจนีวา ฉบับปี พ.ศ. 2492 ที่หอประชุมกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และกรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม ภายใต้หัวข้อ ‘อนุสัญญาเจนีวา: ความเป็นจริงและความสอดคล้อง สัมพันธ์ในโลกร่วมสมัยอันหลากหลายมิติ’
ทั้งนี้ งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานรำลึกครบรอบ 70 ปี อนุสัญญาเจนีวา ที่ได้จัดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกตลอดทั้งปีที่ผ่านมา
สำหรับอนุสัญญาเจนีวา ฉบับปี พ.ศ. 2492 ถือเป็นรากฐานสำคัญของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) อนุสัญญาฉบับนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดโศกนาฏกรรมอันโหดร้าย และน่าสะพรึงกลัวซ้ำรอยดังเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อนุสัญญาฉบับนี้ได้ระบุถึงกฎ และข้อปฏิบัติสำคัญที่ช่วยปกป้องชีวิตมนุษย์ ก่อกำเนิดความหวัง และให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการหาจุดสมดุลระหว่างความจำเป็นทางการทหารกับหลักการด้านมนุษยธรรม
หลายปีที่ผ่านมา ICRC และประชาคมโลก ได้พบเห็นการละเมิดหลักการด้านมนุษยธรรมรูปแบบใหม่ๆ มากมาย
“แม้ว่าเทคโนโลยีจะล้ำหน้าไปมากเพียงใด หรือจะมีการนำพัฒนาการรูปแบบใหม่ๆ มาใช้ในการขัดกันทางอาวุธ เช่น สงครามไซเบอร์ ซึ่งสร้างสนามรบรูปแบบใหม่ แต่หลักการของ IHL ยังคงเดิม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนที่จะช่วยกันปกป้องชีวิตและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วยการปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” คริสตอฟ ซุตแตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ กล่าว
สำหรับประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนอนุสัญญาเจนีวา และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมาโดยตลอด ในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยซึ่งขณะนั้นยังใช้ชื่อว่า สยาม ได้ให้การรับรองหลักการของอนุสัญญาเจนีวา พ.ศ. 2407 และตามมาด้วยการรับรองสัตยาบันสนธิสัญญาเจนีวา พ.ศ. 2449 และ พ.ศ. 2472 จนนำมาสู่การรับรองอนุสัญญาเจนีวาฉบับ พ.ศ. 2492 ของประเทศไทยใน พ.ศ. 2497 เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงการยึดมั่นต่อหลักการมนุษยธรรม
พล.อ. ประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์ เจ้ากรมพระธรรมนูญ กล่าวว่า การเผยแพร่ความรู้ เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศให้กับพลเรือนและพลรบ ถือเป็นภารกิจสำคัญของนายทหารพระธรรมนูญทุกนาย
แม้ว่าจะผ่านมา 70 ปีแล้ว แต่อนุสัญญาเจนีวายังคงมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ทุกคนบนโลก ซึ่งการจัดงานรำลึกครบรอบ 70 ปี อนุสัญญาเจนีวานี้ไม่เพียงแต่จะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของกฎหมายมนุษยธรรม แต่ยังตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการสนับสนุน และปกป้องหลักการด้านมนุษยธรรมอีกด้วย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์