×

70 คณาจารย์นิติศาสตร์ ออกแถลงการณ์ชี้ข้อกำหนดห้ามเสนอข่าวที่อาจทำให้หวาดกลัวขัดรัฐธรรมนูญ สุ่มเสี่ยงใช้ กม. ตามอำเภอใจ

โดย THE STANDARD TEAM
31.07.2021
  • LOADING...

วันนี้ (30 กรกฎาคม) คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย​ต่างๆ ร่วมลงชื่อเพื่อออกแถลงการณ์ จำนวน 70 คน โดยมีรายละเอียดระบุว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 นั้น

 

​คณาจารย์นิติศาสตร์ในสถาบันต่างๆ รวม 70 คน ดังรายนามปรากฏท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ เห็นว่า ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้รัฐสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ แต่ก็ไม่สามารถระงับการใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างสิ้นเชิง การจำกัดสิทธิต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ภายใต้หลักความได้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่มีสภาพบังคับเป็นโทษทางอาญา​ และเห็นว่าข้อกำหนดดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างแจ้งชัด ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

​1. การห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มี ‘ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว’ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 มาตรา 35 และมาตรา 29 ประกอบมาตรา 26 เนื่องจาก

 

​​1.1 ความดังกล่าวมีลักษณะ ‘คลุมเครือ ไม่ชัดเจน’ วิญญูชนหรือบุคคลทั่วไปไม่อาจคาดหมายได้ว่า ข้อความใด ‘อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว’

 

​​ในช่วงวิกฤตนี้ ความหวาดกลัวย่อมเป็นปฏิกิริยาปกติของประชาชนทั่วไปต่อข่าวสารในทางลบ การเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความจริง เพื่อให้ภาครัฐหรืออาสาสมัครเข้าช่วยเหลือผู้ป่วย หรือเพื่อเตือนบุคคลอื่นให้หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรค และการรายงานข่าวตามความเป็นจริงเพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง หากเป็นข่าวสารในแง่ลบ ก็อาจถูกตีความได้ว่าเป็น ‘ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว’ และเป็นความผิดตามกฎหมายได้

 

​​การออกข้อกำหนดที่มีเนื้อหาเช่นนี้ เท่ากับเป็นการห้ามประชาชนมิให้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก และห้ามสื่อมวลชนมิให้ใช้เสรีภาพในการนำเสนอข่าว เพราะบุคคลดังกล่าวย่อมไม่แน่ใจว่า คำพูด การแสดงออก หรือการนำเสนอข่าวสาร จะผิดกฎหมายหรือไม่ ส่งผลให้ประชาชนและสื่อมวลชนส่วนหนึ่งอาจเลือกที่จะไม่แสดงออกหรือไม่นำเสนอข่าวเลย (Chilling Effect) ทั้งๆ ที่ข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ด้วยเกรงผลทางกฎหมายที่จะตามมา ดังนั้น ข้อกำหนดนี้จึงมิใช่มาตรการที่เหมาะสมแต่อย่างใด

 

​​1.2 การฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสองปี จึงเป็นกรณีการกำหนดความผิดและโทษทางอาญา โดยบทบัญญัติที่ ‘คลุมเครือ’ (Vagueness) และ ‘มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง’ (Indefinite/Non Specificity) ถึงขนาดที่วิญญูชนไม่อาจรู้และเข้าใจได้ว่า ข้อความใดสามารถเผยแพร่ได้ ข้อความใดไม่อาจเผยแพร่ได้ ขัดต่อหลัก ‘ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ’ (No Crime, No Punishment without Law)

 

​​แม้คำว่า ‘หวาดกลัว’ เคยปรากฏในกฎหมายไทย แต่กฎหมายดังกล่าวก็บัญญัติองค์ประกอบความผิดข้ออื่นไว้อย่างชัดเจน และมีบทยกเว้นความผิดด้วย อาทิ  

 

​- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 ต้องมีการกระทำที่เป็นความผิด เช่น ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อความเสียหายแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยมีความมุ่งหมาย…เพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน จึงจะเป็นความผิดฐานก่อการร้าย ที่สำคัญกว่านั้น กฎหมายยังบัญญัติชัดว่า ‘การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิด’

 

​​​- ปว. ฉบับที่ 17 พ.ศ. 2501 หรือ ปร. ฉบับที่ 42 พ.ศ. 2519 ก็ห้ามเผยแพร่เฉพาะ ‘ข้อความซึ่งเป็นเท็จในลักษณะที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตกใจหรือวิตกกังวลหรือเกิดความหวาดกลัว’

 

​การลงโทษทางอาญานั้นดูที่เจตนาเป็นหลัก ผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล ให้การส่งข้อความของตน ส่งผลเสียหายต่อบุคคลหรือสังคมส่วนรวม การกำหนดโทษที่ตัวข้อความ โดยมิได้พิเคราะห์ถึงเจตนาของผู้ส่งสาร ย่อมขัดต่อหลักดังกล่าว และเป็นการกำหนดความผิดอาญาที่เกินความจำเป็น (Overcriminalization)  

 

​​1.3 เมื่อพิเคราะห์ถึงความเหมาะสม ความจำเป็น และประโยชน์ที่ได้จากการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าว เปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดจากการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน และประโยชน์สาธารณะที่จะได้จากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ตลอดจนความเสี่ยงที่รัฐบาลอาจใช้มาตรการนี้ ปิดกั้นการแสดงออกซึ่งความเห็นต่าง หรือปกปิดข้อความจริงที่เป็นผลลบต่อรัฐบาล กรณีนี้จึงเห็นได้ชัดว่า ข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อหลักความได้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุ

 

​​1.4 แม้ข้อกำหนดนี้ คัดลอกถ้อยคำมาจากมาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 ก็ตาม แต่ก็เห็นได้ชัดว่า บทบัญญัติมาตรา 9 (3) อันเป็นกฎหมายแม่บท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง เช่นนี้ สมควรให้มีการเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามช่องทางที่เหมาะสมต่อไป

 

​​อนึ่ง แม้เคยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 แต่ก็เป็นข้อวินิจฉัยในมาตรา 9 (2) มาตรา 11 (1) และมาตรา 16 [คำวินิจฉัยที่ 9/2553 และคำวินิจฉัยที่ 10-11/2553] มิใช่มาตรา 9 (3)

 

​​1.5 แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐบางท่านยืนยันว่า การเสนอข่าวตามความจริงไม่เป็นความผิด แต่นั่นก็เป็นความเห็นของท่านเพียงลำพัง มิได้ผูกพันเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตำรวจ อัยการ และศาล ข้อกำหนดที่ ‘คลุมเครือ ไม่ชัดเจน’ เช่นนี้ ยังคงสุ่มเสี่ยงต่อการตีความและบังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจได้​

 

​​2. การกำหนดให้สำนักงาน กสทช. แจ้งผู้รับใบอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตตรวจสอบ IP Address และให้แจ้ง สนง. กสทช. ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ IP Address ที่เผยแพร่ข่าวสารซึ่งมีลักษณะต้องห้ามในทันที เป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 มาตรา 36 ประกอบมาตรา 26 เนื่องจาก

 

​​2.1 เจ้าหน้าที่ของรัฐจะจำกัดเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ อันได้แก่ เสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกัน และเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นมุมกลับของเสรีภาพในการแสดงออกได้นั้นต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือเทียบเท่า ให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้ง

 

​​การสั่งระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ IP Address ใด ย่อมกระทบต่อเสรีภาพสองประการดังกล่าว ดังนั้น หากนายกรัฐมนตรี และ สนง. กสทช. ต้องการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต ท่านก็ต้องมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจท่านไว้ด้วย

 

​​2.2 เมื่อพิจารณาความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่นายกรัฐมนตรีใช้ในการออกข้อกำหนดดังกล่าว กลับไม่พบข้อความใดๆ ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดหรือประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ‘สั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสาร’ หรืออีกนัยหนึ่งคือ การสั่งระงับการให้บริหารอินเทอร์เน็ต ได้เลย ​​อำนาจดังกล่าวปรากฏอยู่ในมาตรา 11 (5) แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548

 

​​อย่างไรก็ดี การใช้อำนาจตามมาตรา 11 (5) นี้ นายกรัฐมนตรีจะใช้ได้ ก็ต่อเมื่อมี ‘การประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง’ ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่งแล้วเท่านั้น

 

​​นับแต่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน (ประกาศฉบับที่ 29 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2564) นายกรัฐมนตรียังไม่เคยประกาศยกระดับสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็น ‘สถานการณ์ที่มีความร้ายแรง’ แต่อย่างใด

 

​​2.3 เมื่อมาตรา 9 มิได้บัญญัติให้อำนาจในการสั่งระงับการติดต่อสื่อสารไว้ และยังมิได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามมาตรา 11

 

​​​- นายกรัฐมนตรีย่อมไม่อาจออกข้อกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาต ‘ให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ IP Address’ ที่เผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารที่ต้องห้ามได้

 

​​​- สนง. กสทช. ย่อมไม่อาจอาศัยอำนาจตามความในข้อกำหนดนี้ สั่งการให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ IP Address ใดๆ ได้

 

​​​- ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ IP Address ใด ตามข้อกำหนดหรือตามคำสั่งของ สนง. กสทช. ย่อมเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายด้วยเช่นกัน

 

​​2.4 เมื่อพิจารณากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรา 31 และมาตรา 44/5 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 หรือมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 ย่อมเห็นได้ว่า กรณีตามข้อกำหนดนี้ไม่เข้าเงื่อนไขในการใช้อำนาจออกคำสั่งของสำนักงาน กสทช. ต่อผู้รับใบอนุญาต

 

​​2.5 ปัจจุบันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยที่ห้า จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การระงับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยปราศจากเหตุผลที่แน่ชัด จึงเท่ากับเป็นการลงโทษที่เกินสัดส่วน เป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร

​ด้วยเหตุนี้ ข้อกำหนดดังกล่าวทั้งสองข้อ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

​ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกหรือแก้ไขข้อกำหนดดังกล่าวเสียใหม่

 

​โปรดสังวรด้วยว่า มาตรา 17 แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 ยกเว้นความรับผิดทางกฎหมายให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เฉพาะแต่กรณีที่กระทำโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นเท่านั้น

 

รายนามคณาจารย์นิติศาสตร์

 

  1. เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. รศ.อรพรรณ พนัสพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. ผศ.ดร.จารุประภา รักพงษ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. ผศ.ธีรวัฒน์ ขวัญใจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

  1. พัชราภรณ์ ตฤณวุฒิพงษ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. พิทักษ์ ธรรมะ คณบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

 

  1. สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. ผศ.ดร.ศารทูล สันติวาสะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. อ.ดร.ภาวัฒน์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. ณัฏฐพร รอดเจริญ อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

  1. อำนาจ ตั้งคีรีพิมาน อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์ อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

  1. ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

  1. ผศ.ทวีศักดิ์ เอื้ออมรวนิช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำหมวดวิชากฎหมายมหาชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. ดร.ปราโมทย์ เสริมศีลธรรม อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. ณัฐดนัย นาจันทร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 

  1. ปารีณา ศรีวนิชย์ อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. ฐิตินันท์ เต็งอำนวย อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. ผศ.ดร.นัทมน คงเจริญ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

  1. ผศ.ดร.สุพัตรา แผนวิชิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

 

  1. รศ.ดร.ชัชพล ไชยพร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. ผศ.ดร.ศุภศิษฏ์ ทวีแจ่มทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. ผจญ คงเมือง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

  1. ผศ.ดร.ลลิล ก่อวุฒิกุลรังษี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. อรณิชา สวัสดิชัย อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

 

  1. ฉัฏฐเมษ ภิรมย์พานิช อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

  1. ศุภสิทธิ์ ศิริวงศ์ ที่ปรึกษากฎหมาย

 

  1. ปภาวดี ธโนดมเดช อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. ผศ.สุรินรัตน์ แก้วทอง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

  1. ณัฐวุฒิ คล้ายขำ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

  1. ผศ.ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

  1. ผศ.พงษ์พันธ์ บุปเก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

  1. นพร โพธิ์พัฒนชัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. นาฏนภัส เหล็กเพ็ชร อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. จันตรี สินศุภฤกษ์ ศาสตราจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. สิพิม วิวัฒนวัฒนา อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

  1. กัญจน์ศักดิ์ เพชรานนท์ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. ปรีญาภรณ์ อุบลสวัสดิ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. ดร.ปีดิเทพ อยู่ยืนยง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

  1. นัษฐิกา ศรีพงษ์กุล อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. ดวงเด่น นาคสีหราช รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

  1. ชาคริต ขันนาโพธิ์ รองศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

  1. นวพร เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา อาจารย์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

  1. ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสยาม

 

  1. มนัชญา ญาณกิตติกุล Regional Project Officer

 

  1. มัญชุพร แสงสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. กรัณย์ กาญจนรินทร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

  1. ฉัตรดนัย สมานพันธ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. ภีชญา จงอุดมการณ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย

 

  1. ผศ​.ดร.อัคคกร​ ไชยพงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย​นวัตกรรมและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฏร์ธานี

 

  1. พัชร์​ นิยม​ศิลป​ อาจารย์​จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. กรรภิรมย์ โหมลทรชุน อาจารย์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

 

  1. ผศ.ดร.นิสิต อินทมาโน ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม

 

  1. ดร.รวินท์ ลีละพัฒนะ อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. กีระเกียรติ พระทัย อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. ดามร คำไตรย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย

 

  1. วิชัย ศรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising