ปี 2561 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT จะมีอายุงานก้าวสู่ขวบปีที่ 7
ถึงเวลานี้คงไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยินชื่อองค์กรดังกล่าว โดยเฉพาะภารกิจที่เรียกว่า ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ซึ่งในปัจจุบันได้รับการขานรับจากภาคประชาชน ด้วยความตื่นตัวและความร่วมมือที่นำไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือการต่อต้านการทุจริตคดโกง
ดังตัวอย่างเช่น กรณีหมู่บ้านป่าแหว่งในจังหวัดเชียงใหม่ การก่อสร้างอาคารเรียนกว่า 44 ล้านในจังหวัดชัยภูมิ และกรณีขนมจีนกับน้ำปลาของนักเรียนในโรงเรียนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
และในโอกาสที่องค์กรนี้ได้ก้าวสู่ปีที่ 7 ของการทำงาน จึงได้จัดให้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนชี้แจงถึงการดำเนินงานที่ผ่านมา นำโดย ประมนต์ สุธีวงศ์ ในฐานะประธานองค์กร
ท่ามกลางการจับตามองจากหลายส่วนของสังคมรวมทั้งสื่อมวลชนว่า ACT เป็นเสือกระดาษ หรือเสือที่กัดจริง กัดทุกฝ่ายที่ได้ชื่อว่า ‘โกง’ โดยไม่ละเว้นหรือไม่
จากปณิธาน ดุสิต นนทะนาคร สู่การก่อรูปองค์กร
สำหรับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เริ่มภารกิจครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2554 ในชื่อ ‘ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน’ บนแนวคิดริเริ่มของ ดุสิต นนทะนาคร ประธานหอการค้าไทยในสมัยนั้น ที่เล็งเห็นว่าประเทศชาติต้องสูญเสียผลประโยชน์ไปมหาศาลกับการคอร์รัปชันในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งนับวันจะมีวิธีการที่ซับซ้อนและมีมูลค่าความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ
ดุสิต นนทะนาคร
ในยุคก่อตั้งภาคีฯ มีการระดมความเห็นครั้งแรกต่อการค้นหา ‘แนวทางความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันจากทุกภาคส่วน’ นับเป็นความพยายามครั้งแรกของภาคเอกชนที่ต้องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอันเลวร้ายและบั่นทอนการพัฒนาประเทศมาอย่างยาวนาน มีองค์กรจากภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วม 23 แห่ง โดยได้จัดงานสัมมนา ‘ต่อต้านคอร์รัปชัน: จุดเปลี่ยนประเทศไทย’ ขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 ณ โรงแรมพลาซ่าแอทธินี
จากปณิธานอันแรงกล้าของ ดุสิต นนทะนาคร ได้รับการสานต่อจากเหล่าสมาชิกโดยการนำของ ประมนต์ สุธีวงศ์ ผู้เข้ามารับตำแหน่งประธานภาคีฯ หลังจากการเสียชีวิตของดุสิต โดยในปี พ.ศ. 2555 ภาคีฯ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิในปี พ.ศ. 2557 ปัจจุบันมีภาคีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 51 องค์กร
คนไทย 99% ไม่ยอมรับรัฐบาลเก่งแต่โกง
ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนวันนี้ ประมนต์กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้ประชาชนคนไทย ร่วมเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน
จากการสำรวจของหอการค้าไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในการแถลงดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยล่าสุดพบว่า ทัศนคติและจิตสำนึกต่อการทุจริตคอร์รัปชันของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป ไม่ยอมรับคอร์รัปชันโดยสิ้นเชิง โดยร้อยละ 99 เห็นว่าคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องไกลตัวและไม่ยอมรับรัฐบาลที่เก่ง มีผลงานดีเด่นแต่ทุจริต
ประมนต์อธิบายการทำงานด้วยว่า ช่วงแรกระหว่างปี พ.ศ. 2554-2557 พบปัญหาและอุปสรรคเรื่องความร่วมมือจากภาครัฐยังน้อย ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถผลักดันการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการและการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ได้ กิจกรรมหลักในช่วงนั้นจึงเป็นการปลุกกระแสผ่านโครงการต่างๆ อาทิ คัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม การจัดอบรม ‘หมาเฝ้าบ้าน’, การจัดทำพิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ, การริเริ่มข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการต่อต้านคอร์รัปชันเสนอต่อคสช., การจัดทำหลักสูตร ‘โตไปไม่โกง’ การร่วมจัดทำดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI) และการจัดทำสารคดีสั้น ‘ปลูกจิตสำนึกต่อต้านคอร์รัปชัน’ เป็นต้น
สำหรับช่วงที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2557-2560 สถานการณ์คอร์รัปชันสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก จากการขับเคลื่อนขององค์กรฯ ภาคีเครือข่าย และความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยใช้ยุทธศาสตร์ทำงานร่วมกับรัฐบาล มีผู้แทนเข้าร่วมเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ
ชูรัฐธรรมนูญปราบโกง-ข้อตกลงคุณธรรม ผลงานชิ้นโบแดง
จากการทำงานในะระยะที่ 2 ส่งผลให้ภาครัฐมีความจริงใจและให้ความร่วมมือ ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากกว่าที่ผ่านมา นำไปสู่การออกนโยบาย กฎหมาย ที่เอื้อต่อการปราบคอร์รัปชันได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบยิ่งขึ้น อาทิ ร่วมกับกระทรวงการคลัง ร่าง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กำหนดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ผ่านโครงการข้อตกลงคุณธรรม และโครงการเพื่อความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ, พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกในการพิจารณาขออนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
การผลักดันให้มีบทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง พ.ศ. 2560 มีบทบัญญัติให้ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบภาครัฐ และต้องได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย
องค์กรอิสระที่ต่อต้านคอร์รัปชันอย่าง ป.ป.ช. ต้องไปแก้กฎหมายใหม่ ไม่ให้ทำงานล่าช้า เพราะที่ผ่านมาบางเรื่องหลายปีกว่าจะส่งฟ้องได้ ทำให้ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์และเกรงกลัว
สุดท้ายคือขอให้มีการบรรจุถึงมาตรการในการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ได้รับการบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ขณะที่ผลงานอีกอย่างคือการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรม มีการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้ตัดสินนักโทษหนีคดีโดยไม่หมดอายุความ และการมีบทลงโทษเอกชนและประชาชนที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ
ผลจากการที่องค์กรและภาคีเครือข่ายร่วมผลักดันกฎหมายดังกล่าวอย่าง พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐผ่านโครงการข้อตกลงคุณธรรม นับตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบันพบว่า
โครงการข้อตกลงคุณธรรมมีหน่วยงานเข้าร่วม 73 โครงการ มูลค่ารวม 875,428 ล้านบาท มีการลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้ว จำนวน 45 โครงการ มูลค่ารวม 103,839 ล้านบาท ช่วยประหยัดงบประมาณให้รัฐได้สูงถึง 25,128 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.20 นับเป็นความสำเร็จที่เกิดจากทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันทำให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้าง เกิดความโปร่งใสยุติธรรมและมีการแข่งขันมากขึ้น
แต่ยังพบปัญหาเกี่ยวกับระบบบริหารราชการแผ่นดินและการใช้อำนาจรัฐเปิดช่องทางการรับสินบน หน่วยงานราชการไม่ตอบสนองต่อการต่อต้านคอร์รัปชันเท่าที่ควร การบังคับใช้กฎหมายไม่เสมอภาค เกิดความเสื่อมศรัทธาในหมู่ประชาชนบ้าง
ยก พล.อ. ประยุทธ์ เต็มที่ 100% ร่วมปราบโกง-ถ้าแก้รัฐธรรมนูญแตะเรื่องโกง ไม่อยู่นิ่ง
“ตลอด 7 ปีที่องค์กรและภาคีเครือข่ายได้ผนึกกำลังต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยหลายประการ ได้แก่ เกิดเครือข่ายคนไทย ทั้งประชาชน นักธุรกิจ นักวิชาการสื่อมวลชน และข้าราชการ ร่วมมือต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีพลังและต่อเนื่อง รวมทั้งช่วยปลุกกระแสให้เห็นถึงความเลวร้ายของการโกงชาติ และได้ร่วมผลักดันให้เกิดกฎหมาย เปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมและระบบราชการที่รวดเร็ว เอื้อต่อการต้านโกงและเอาผิดคนโกง ที่สำคัญคือทำให้คนไทยไม่ยอมทน กล้าออกมาเปิดโปงการทุจริตและการโกงมากขึ้น” ประมนต์ระบุ
และเมื่อสื่อมวลชนถามถึงนโยบายของพรรคการเมืองที่มีข้อเสนอจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ประมนต์ระบุว่า อนาคตยังไม่รู้ว่าจะแก้หรือไม่ แต่การเลือกตั้งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ และหากมีการแก้ในส่วนของการปราบทุจริตก็คงไม่อยู่นิ่ง แต่ถึงอย่างไรก็ต้องติดตามว่ารัฐบาลหน้าจะให้การสนับสนุนและสร้างความมั่นใจในเรื่องนี้อย่างไร เพราะรัฐบาลปัจจุบันให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ประมนต์ยังได้ให้คะแนน 100% ในด้านการให้ความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วย
แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่ายังมีคนรอบตัวนายกฯ ที่ยังเป็นปัญหา เนื่องจากถูกสังคมตั้งข้อสงสัย โดยเฉพาะกรณีคดีนาฬิกาหรูและคดียืมเงิน 300 ล้านบาทของ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร.
ประมนต์ชี้แจงด้วยว่า ข้อกังวลของการตรวจสอบในสองกรณีดังกล่าวนั้น ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวทาง ACT ได้ยื่นหนังสือทวงถามไปยัง ป.ป.ช. และคาดว่าขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา อย่างไรก็ดี ป.ป.ช. ซึ่งมีหน้าที่ในการตอบเรื่องดังกล่าว และเชื่อว่ากระแสสังคมและสื่อมวลชนจะมีส่วนกดดันให้ ป.ป.ช. มีความคืบหน้าผลการตรวจสอบปมคดีดังกล่าว
วรัญชัย โชคชนะ นักกิจกรรมทางการเมืองได้สอบถามความคืบหน้าโครงการโรงพักร้างและโครงการทุจริตในรัฐบาลอื่นๆ ว่ามีการเร่งรัดหรือติดตามอย่างไร ประมนต์ชี้แจงว่า “หลายเรื่องเราก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะติดตามได้หมด จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยกันด้วย”
ในตอนท้ายของการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ประมนต์กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในหลายโครงการ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ทาง ACT ได้ส่งตัวแทนซึ่งเป็นบุคลากรที่มีความรู้และเชื่อถือได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์แล้ว โดยคิดเป็นมูลค่าโครงการรวมประมาณ 9 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณให้รัฐได้ด้วยเช่นเดียวกัน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า