×

จับตา ‘7 เทรนด์’ เปลี่ยนโลกธุรกิจบริการทางการเงิน

11.11.2020
  • LOADING...
ธุรกิจบริการทางการเงิน

เป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้วที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นทั่วโลก และไม่มีทีท่าว่าจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ซึ่งวิกฤตการแพร่ระบาดที่ยาวนานครั้งนี้ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะติดลบ 4.4% ขณะที่ล่าสุด องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD รายงานว่า  GDP ไตรมาส 2/20 ของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในกลุ่ม G20 ติดลบ 6.9% ซึ่งเป็นการหดตัวที่มากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2009

 

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน (Financial Services) ที่แม้ว่าจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ ผ่านมาตรการช่วยเหลือทางการเงินต่างๆ ในยามที่รายได้ของประชาชนและภาคธุรกิจหดหาย แต่ภาพรวมของอุตสาหกรรมเองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะคุณภาพเครดิตของลูกค้าที่ลดลง พร้อมๆ กับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาลง ย่อมส่งผลกระทบต่อยอดหนี้สงสัยจะสูญและเงินสำรองของธนาคาร ยิ่งไปกว่านั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยและพักชำระหนี้ เพื่อสอดรับกับนโยบายให้ความช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจของภาครัฐและธนาคารกลาง ก็อาจส่งผลต่อรายได้จากการดำเนินงานอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก 

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

แต่วิกฤตในครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับอุตสาหกรรมบริการทางการเงินในระยะกลางถึงระยะยาวเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว อุตสาหกรรมยังต้องเผชิญกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางการเมือง การออกมาตรการและกฎหมายใหม่ๆ ที่จะเข้ามาพลิกโฉมสถาบันการเงิน และการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น สอดคล้องกับรายงาน Securing your tomorrow, today ของ PwC ที่ได้ชี้ให้เห็นถึง 7 แนวโน้มในเชิงมหภาค (Macro Trends) ที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบริการทางการเงิน ดังนี้

 

1. ภาวะอัตราดอกเบี้ยขาลงยังดำเนินต่อไป

 

ผลพวงจากนโนบายและการแทรกแซงของภาครัฐและธนาคารกลาง จะยังคงส่งผลต่อการสร้างรายได้ของกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน ด้วยเหตุนี้ สถาบันการเงินจะต้องเพิ่มแนวทางการลงทุนเพื่อลดต้นทุน ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ และปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อรักษาขีดความสามารถในการทำกำไร เช่นเดียวกับธุรกิจประกันภัย ที่จะต้องควบคุมต้นทุน และขยายบริการสู่ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์และความมั่งคั่ง อาจได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะนักลงทุนต้องการผู้ช่วยในการปรับพอร์ตการลงทุน เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงิน

 

2. ความสามารถในการรับความเสี่ยงลดลง

 

มรสุมโควิด-19 และการด้อยค่าของสินทรัพย์ ย่อมส่งผลให้ธุรกิจมีความเปราะบาง และมีความสามารถในการรับความเสี่ยงลดลงตามไปด้วย เราเชื่อว่า ในระยะถัดไปจะเห็นผู้ให้บริการทางการเงินเสาะหาทางเลือกในการลงทุนที่ยิ่งมีความหลากหลายมากขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มทุนในตลาดทุน หรืออาจจัดหาแหล่งเงินทุนทางเลือกผ่านตัวกลางในระบบการเงินอื่นๆ เช่น ธนาคารเงา (Shadow Banking) 

 

3. แหล่งเงินทุนทางเลือกจะมีความสำคัญมากขึ้น

 

แม้ว่าธนาคารกลางจะได้ร่วมกับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ ในการออกมาตรการเยียวยา เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เพื่อลดผลกระทบโควิด-19 แต่เราคาดว่า ผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องการแหล่งเงินทุนมากขึ้น เพราะ SMEs เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะมีสายป่านสั้นกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ในขณะเดียวกัน SMEs ถือได้ว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ก่อให้เกิดการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้เชื่อว่า แหล่งเงินทุนที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือนอนแบงก์จะเพิ่มมากขึ้น 

 

4. การบังคับใช้กฎหมายและมาตรการทางการเงินสะดุดเพียงระยะสั้น

 

แม้วิกฤตโควิด-19 อาจจะช่วยยืดระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย มาตรการ หรือข้อบังคับบางอย่างเพื่อลดผลกระทบ แต่ก็แค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น เช่น ในสหรัฐอเมริกา เราจะเห็นว่ามีการเริ่มใช้ข้อบังคับหลายอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านการฟอกเงินผ่านการรู้จักตัวตนของลูกค้า, แนวปฏิบัติของมาตรฐานบัญชี IFRS 17 และ การยุติการใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง LIBOR เป็นต้น ดังนั้น ผู้ให้บริการทางการเงินต้องไม่ชะล่าใจในการเตรียมความพร้อม และศึกษามาตรการต่าง ๆ ที่กำลังจะออกมา รวมถึงหาแนวทางในการรับมือ

 

5. ผู้ให้บริการทางการเงินหันมาเน้นการทำธุรกิจภายในประเทศ-พื้นที่ใกล้เคียงมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาจากภายนอก

 

เพื่อจำกัดความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ โดยไม่พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากจนเกินไป เป็นการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization)

 

6. แรงกดดันในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจและแรงงานไปสู่ดิจิทัลจะเพิ่มมากขึ้น

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับองค์กร เราคาดว่า จะเห็นผู้ให้บริการทางการเงินเร่งยกระดับการใช้งานระบบ AI, การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง, เทคโนโลยีคลาวด์ รวมไปถึงกระแสของการใช้คราวด์ซอร์สซิ่ง (Crowdsourcing) เพื่อหาวิธีการในการแก้ปัญหาต่างๆ จากกลุ่มคนอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ การยกระดับทักษะ (Upskilling) ของแรงงานให้รองรับการทำงานในภาวะความปกติใหม่จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

7. เกิดแพลตฟอร์มและระบบนิเวศทางการเงินใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

 

อุตสาหกรรมบริการทางการเงินจะอยู่ในแพลตฟอร์มที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น และมีการใช้เงินทางกายภาพลดลง เช่น การใช้งานสกุลเงินดิจิทัลจะมากขึ้น ฉะนั้น ผู้ให้บริการทางการเงินจำเป็นที่จะต้องสร้างพันธมิตรกับฟินเทค (Fintech) และบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยี (Big Tech) อื่นๆ มากขึ้น เพื่อต่อยอดขีดความสามารถทางธุรกิจของตัวเอง 

 

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นเทรนด์ในภาพใหญ่ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ แต่เชื่อว่า ในทุกๆ วิกฤตย่อมนำมาซึ่งโอกาส ซึ่งสำหรับอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน วิกฤตในครั้งนี้ให้โอกาสผู้ประกอบการและผู้บริหารในการคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อสรรหาทางออก และโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆ ที่จะช่วยเหลือลูกค้า และพัฒนาธุรกิจของตัวเองในทางที่สร้างสรรค์และยั่งยืนมากขึ้น วิกฤตในครั้งนี้สอนให้เราเข้าใจที่จะกำหนดกลยุทธ์ในการจัดสรรเงินทุน เพิ่มความสามารถในการรับความเสี่ยง รองรับการให้เครดิตกับลูกค้า รวมถึงการหาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและพัฒนาทักษะแรงงาน

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X