ในแวดวงแฟชั่นคงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ Anna Wintour บรรณาธิการผู้บริหารของนิตยสารแฟชั่นชั้นนำของโลกอย่าง Vogue เวอร์ชันอเมริกัน และยังควบตำแหน่ง Global Editorial Director ของบริษัทสิ่งพิมพ์ Condé Nast ซึ่งทำให้เธอต้องเข้ามาช่วยดูแลทิศทางของนิตยสารในเครืออีกหลายเล่ม ไม่แปลกเลยที่เธอจะกลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกแฟชั่น เพราะเธอนั้นคือผู้กำหนดทิศทางแฟชั่นที่มีมูลค่าสูงกว่าล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ!
ในปี 2006 ชื่อเสียงของเธอโด่งดังระดับวงกว้างจากภาพยนตร์ดัดแปลงของหนังสือขายดี The Devil Wears Prada ที่เขียนขึ้นโดยอดีตผู้ช่วยของเธอนั่นเอง นำแสดงโดยนักแสดงเจ้าบทบาท Meryl Streep และ Anne Hathaway รวมถึงภาพยนตร์สารคดี The September Issue ที่เจาะลึกให้ทุกคนได้เห็นตัวตนและวิธีทำงานของเธอมากขึ้น ช่วยล้างภาพจำนางมารแวร์ Prada สุดร้ายให้เหลือไว้แค่ภาพลักษณ์ของหญิงแกร่งผู้เข้าใจหน้าที่การงานของตัวเอง
ช่วงแฟชั่นวีคคอลเล็กชัน Fall/Winter 2023 คงไม่มีใครเหมาะกว่า Anna Wintour ที่เราอยากพาผู้อ่าน THE STANDARD POP ไปทำความรู้จักหญิงแกร่งทรงอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นว่าทำไมเธอจึงเป็น ‘ตัวแม่’ ของอุตสาหกรรมนี้
EDITOR-IN-CHIEF OF AMERICAN VOGUE
Anna Wintour เกิดและโตที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เธอถูกปูพื้นฐานการเป็นเอดิเตอร์มาจากพ่อของเธอ Charles Wintour ซึ่งเขาทำงานตำแหน่งบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ London Evening Standard และ Sunday Express เธอเริ่มจับงานสิ่งพิมพ์ครั้งแรกในตำแหน่งเลขากองให้กับนิตยสาร Harpers & Queen ก่อนย้ายไปนิวยอร์กเพื่อทำงานให้กับ Harper’s Bazaar และ Viva บทบาทบรรณาธิการเริ่มต้นขึ้นที่ Vogue เวอร์ชันอังกฤษ ที่นั่นเองทำให้เธอได้เจอกับ Grace Coddington บรรณาธิการแฟชั่นและสไตลิสต์คู่ใจของเธอ ก่อนจะบินกลับมารับตำแหน่งบรรณาธิการผู้บริหาร Vogue อเมริกาในเวลาต่อมา
แค่ปกแรกของ Vogue อเมริกาโดย Anna Wintour ก็ฉีกทุกกฎเกณฑ์ เมื่อเธอเลือกนางแบบ Michaela Bercu ขึ้นปก สวมเสื้อของ Christian Lacroix ราคากว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ แมตช์กับกางเกงยีนส์ Guess โดยไร้เมกอัพหรือแต่งผมเวอร์ๆ แบบที่ Vogue เล่มอื่นชอบทำกัน การมิกซ์แอนด์แมตช์ระหว่างไฮแฟชั่นและไฮสตรีทของปกนี้ สร้างกระแส Street Style ขึ้นมาในยุคนั้น แม้หลายคนจะตราหน้าว่าเธอไม่มีเทสต์เลย แต่นิตยสารเล่มนี้กลับได้รับกระแสตอบรับดีอย่างล้นหลามจากผู้อ่าน และมียอดพิมพ์สูงกว่า 1.3 ล้านฉบับ จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าเธอนั้นเข้าใจผู้บริโภคแฟชั่นว่าต้องการอะไร
QUEEN OF THE MET GALA
นอกจากนิตยสารแล้วนั้น Anna Wintour ยังเป็นตัวแปรสำคัญช่วยผลักดันงาน Met Gala หรือ Costume Institute Gala ให้กลายเป็นอีเวนต์สำคัญประจำปี Met Gala ที่หลายคนรู้จักคืองานระดมทุนช่วยเหลือด้านหน่วยงานและบูรณาการสถาบันเครื่องแต่งกาย The Costume Institute ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ The Metropolitan Museum of Art ในมหานครนิวยอร์ก ซึ่งเริ่มจัดกันมาตั้งแต่ปี 1948 โดยลักษณะงานจะเป็นอีเวนต์เล็กๆ ที่จัดขึ้นสำหรับชนชั้นสูง จนกระทั่งการมาของ Diana Vreeland อดีตบรรณาธิการของ Vogue ได้ปรับโฉมใหม่ให้ตัวงานมีความเป็นแฟชั่นที่โอ่อ่าหรูหรามากขึ้น
ในปี 1995 เป็นปีที่ Anna Wintour เข้ามารับช่วงต่อในการเป็นแม่งาน การเข้ามาของเธอสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล เธอยกระดับให้งานอีเวนต์เล็กๆ เฉพาะกลุ่มกลายเป็นอีเวนต์แฟชั่นใหญ่ยักษ์ประจำปีที่คนให้ความสนใจไม่แพ้งานประกาศรางวัลออสการ์ จนหลายคนขนานนามอีเวนต์นี้ว่า The Super Bowl of Fashion หรือ The Oscars of Fashion ทุกปี Met Gala จะมาพร้อมธีมการแต่งกายให้เหล่าคนดังได้สนุกในการนำเสนอตัวเองบนพรมแดง ไม่หมดเท่านั้น Anna Wintour ยังสร้างปรากฏการณ์กับยอดระดมทุนสูงเป็นประวัติศาสตร์ถึง 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาแล้ว
MOTHER ROLE
นอกจากบทบาทบรรณาธิการตัวแม่แล้วนั้น Anna Wintour ยังมีด้านที่อ่อนโยนมากๆ โดยเฉพาะกับลูกๆ ของเธอ ซึ่งมีลูกทั้งหมดสองคน Charles และ Bee Shaffer โดยเฉพาะลูกสาวที่เรามักเห็นเธอออกงานคู่กับ Anna บ่อยครั้ง Bee เคยพูดในสารคดี The September Issue ว่าเธอไม่อยากทำงานในวงการแฟชั่นแบบแม่ เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะ แต่กระนั้นเธอเคารพบทบาทของแม่เธอเป็นอย่างมาก เห็นเด็ดขาดแบบนี้แต่ Anna Wintour กลับไม่เคยบังคับลูก ปล่อยให้เขาทั้งสองเลือกทางและสายอาชีพของตัวเอง โดย Bee เลือกไปสายโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ ส่วน Charles ดำรงอาชีพเป็นหมอ เมื่อไม่อยู่ในหน้าที่ของบรรณาธิการ Anna คือคุณแม่ใจกว้างที่พร้อมสนับสนุนลูกของตัวเองในทุกบทบาท เธอเองยังเคยให้สัมภาษณ์ในสารคดีดังกล่าวเช่นกันว่า จุดอ่อนของเธอก็คือลูกๆ เป็นขุ่นแม่ทั้งนอกจอและในจอของจริง
PUTTING CELEBRITIES ON THE COVER
อีกหนึ่งผลงานชิ้นโบแดงของ Anna Wintour เกิดขึ้นในปี 1989 เมื่อเธอตัดสินใจเลือกคนดังมาขึ้นปกนิตยสารแทนนางแบบเป็นครั้งแรก ซึ่งคนที่เธอเลือกนั่นก็คือ Madonna การตัดสินใจครั้งนี้สร้างความปวดหัวให้กับทีมงานรวมถึง Vogue ฉบับอื่นๆ เป็นอย่างมาก เพราะนิตยสารนี้ไม่เคยใช้คนดัง ไม่ว่าจะมาจากสาขาใดเลยก็ตามขึ้นปก ยกเว้นนางแบบเท่านั้น การพลิกเกมครั้งนี้ของ Anna Wintour เปลี่ยนทิศทางของอุตสาหกรรมแฟชั่นไปตลอดกาล จนท้ายที่สุดนิตยสาร Vogue เดือนพฤษภาคมปี 1989 ก็มีภาพของซูเปอร์สตาร์แห่งยุค 80 ขึ้นปก และแน่นอนว่าเสียงตอบรับดีเกินกว่าที่ทุกคนคาด แฟนคลับของศิลปินดังต่างตามซื้อ รวมถึงวัยรุ่นก็เริ่มหันมาสนใจใน Vogue มากขึ้น จนกระทั่งในปี 2002 ที่ Vogue อเมริกาตัดสินใจใช้คนดังขึ้นปกทั้งหมด 12 เดือน โมเดลการทำงานนี้กลายเป็นรากฐานสำคัญให้นิตยสารเล่มอื่นๆ ทำตามกันจนเป็นธรรมเนียมในปัจจุบัน
CREATING THE CFDA/VOGUE FASHION FUND
เหตุการณ์ 9/11 สร้างความสะเทือนขวัญให้กับชาวอเมริกันอย่างมาก ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง New York Fashion Week ส่งผลให้โชว์ทั้งหมดต้องหยุดชะงัก ดีไซเนอร์หลายคนเสียค่าใช้จ่ายจากงานนี้เป็นจำนวนมากโดยที่ไม่มีโอกาสได้โชว์หรือขายผลงานด้วยซ้ำ นั่นจึงเป็นที่มาของ CFDA/Vogue Fashion Fund การร่วมกันระหว่าง Council for Fashion Designers of America และนิตยสาร Vogue โดยมีเงินทุนให้มากกว่า 4 แสนดอลลาร์สหรัฐ พร้อมคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและดีไซเนอร์ชั้นนำช่วยสร้างโชว์และสร้างผลงาน โปรเจกต์นี้ยังเป็นพื้นที่สำหรับดีไซเนอร์หน้าใหม่อีกหลายคน โดยเฉพาะดีไซเนอร์ชาวอเมริกัน แสดงให้เห็นว่าเธอมีความตั้งใจอยากผลักดันและช่วยเหลือให้ Gen ใหม่สามารถสร้างอาชีพในสายดีไซน์ได้ ในช่วงปี 2020 เธอยังร่วมจัดตั้งโปรเจกต์ ‘A Common Thread: CFDA/Vogue Fashion Fund for COVID-19 Relief’ เพื่อช่วยเหลือบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่นในช่วงวิกฤตโควิด เน้นการให้ทุนและใช้แฟลตฟอร์มของ Condé Nast ในการช่วยกระจายผลงานของดีไซเนอร์ให้มากที่สุด
ALWAYS WEARING BLACK SUNGLASSES
นอกจากผมบ๊อบที่เธอไม่เคยเปลี่ยนเลย อีกหนึ่งซิกเนเจอร์ลุคของ Anna Wintour คือการสวมแว่นตากันแดดสีดำของ CHANEL ตลอดเวลา โดยเฉพาะยามเธอต้องไปดูโชว์นั่งฟรอนต์โรว์ เรามักจะเห็นเธอสวมแว่นตากันแดดอยู่ตลอด หลายครั้งเธอให้สัมภาษณ์ว่านอกจากการผ่าตัดตาแล้วนั้น การสวมแว่นตาดำช่วยให้เธอหลบเลี่ยงสายตาจากผู้คนที่มักจ้องมองเธอ และยังช่วยเก็บอารมณ์ของเธอได้อย่างแยบยล โดยเฉพาะเวลาที่เธอง่วง เบื่อ หรือเซ็งกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แว่นตาสามารถช่วยเธอให้อยู่ตรงนั้นจนจบได้ เพราะมันช่วยปกปิดสายตาของเธอที่แสดงอาการได้อย่างมิดชิดแบบไม่มีใครรู้
LEADERSHIP STYLE
ในช่วงแรกที่ Anna Wintour เข้ามารับตำแหน่งบรรณาธิการ หลายคนให้ฉายาเธอว่า Nuclear Anna ด้วยความคิดหัวก้าวหน้าทำให้เธอมีความคิดที่ค้านกับคนส่วนใหญ่ ตั้งแต่การเลือกคนดังมาขึ้นปก ความไม่สนใจเสียงรอบข้าง และเลือกที่จะทำตามสัญชาตญาณ เพราะเธอคิดถึงภาพใหญ่ของนิตยสารว่าสามารถสร้างความแตกต่างและสะท้อนสังคมตอนนั้นได้อย่างไรบ้าง Anna Wintour ยังมีส่วนสำคัญในการทำให้แฟชั่นสามารถเข้าถึงคนหมู่มากได้ เธอมักนึกถึงการนำเสนอแฟชั่นในมุมมองที่เข้าถึงได้มากกว่าแฟนตาซีที่จับต้องไม่ได้ เธอขานรับกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป แต่ไม่เคยอ่อนข้อต่อปัญหาที่ควรย้ำเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เช่น การขึ้นปกของสตรีหมายเลขหนึ่ง ที่เน้นย้ำเรื่องการเมืองและจุดยืนของผู้หญิง รวมถึงปกอื่นๆ ที่หลายครั้งเธอยอมแหกกฎเพื่อให้เกิดข้อถกเถียงทั้งในแง่ดีและแง่ลบ แต่สุดท้ายนิตยสารยังถูกพูดถึงอยู่ดี Anna Wintour ยังเคยพูดใน MasterClass คลาสเรียนออนไลน์ในหัวข้อ ‘Creativity and Leadership’ ว่า “จำไว้ว่าไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยกับคุณ และจะมีช่วงเวลาที่คุณถูกวิจารณ์และทำให้เจ็บปวด อย่าแสร้งว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น จงรับฟัง เพราะหลายๆ ครั้งฉันเรียนรู้จากมัน แต่ในขณะเดียวกันคุณต้องคงวิสัยทัศน์ของคุณไว้อย่างแน่วแน่”