×

รู้จัก 7 คีย์แมนในโปลิตบูโรจีน สะท้อนอะไรบ้างในเกมรวบอำนาจสีจิ้นผิง

23.10.2022
  • LOADING...

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ที่เพิ่งปิดฉากไปนั้นได้บทสรุปซึ่งมีทั้งผิดคาดและเป็นไปตามคาดหมาย โดยสีจิ้นผิงได้รับการต่ออายุให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการและเบอร์ 1 ของพรรคอีกสมัย กรุยทางสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองจีนกับการนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีจีนสมัยที่ 3 ในปีหน้า

 

แต่ประเด็นที่น่าจะเป็นไฮไลต์สำคัญและอาจอยู่เหนือความคาดหมายของใครหลายคนอยู่ที่รายชื่อคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) ซึ่งทำให้เราพอจะจับสัญญาณอะไรได้บางอย่างเกี่ยวกับทิศทางหรือนโยบายก้าวต่อไปของสีจิ้นผิง

 

ใครเป็นใครในกลุ่มสมาชิกถาวรโปลิตบูโรชุดใหม่

ภายหลังการประกาศรายชื่อคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ (Central Committee) เมื่อวานนี้ (22 ตุลาคม) ซึ่งไม่ปรากฏชื่อของหลี่เค่อเฉียง วังหยาง ลี่จ้านซู และ หานเจิ้ง นั้น ทำให้ตำแหน่งคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองว่างลง 4 ที่นั่งโดยอัตโนมัติ เพราะผู้ที่จะดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจีนชุดนี้ได้จะต้องเป็นสมาชิกคณะกรรมการกลางด้วย (มีทั้งหมด 205 คน)

 

การเปิดตัวสมาชิกถาวรโปลิตบูโรในวันนี้ถือว่าผิดไปจากที่นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ไว้ โดย หูชุนหัว ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวเต็งนายกฯ นั้นหลุดโผ โดย 4 คนที่เข้ามาใหม่ ประกอบด้วย หลี่เฉียง, ไช่ฉี, ติงเซวียเสียง และ หลี่ซี ขณะที่สมาชิกเก่าที่ยังอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ มี 3 คน คือ สีจิ้นผิง, จ้าวเล่อจี้ และ หวังฮู่หนิง

 

เมื่อเรียงลำดับจากใหญ่ไปเล็กสุดคือ สีจิ้นผิง, หลี่เฉียง, จ้าวเล่อจี้, หวังฮู่หนิง, ไช่ฉี, ติงเซวียเสียง และ หลี่ซี

 

เราไปทำความรู้จักกันทีละคนกับ 7 คีย์แมนจีนที่จัดว่าเป็นกลไกทรงอิทธิพลสูงสุดที่กำหนดทิศทางก้าวต่อไปของจีนตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า

 

สีจิ้นผิง – 习近平 (69 ปี): ชายผู้ได้ชื่อว่าทรงอำนาจที่สุดในโลก ได้รับการต่ออายุให้นั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคสมัยที่ 3 ตามความคาดหมาย ซึ่งจะกรุยทางสู่การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนสมัยที่ 3 ในปีหน้า และเตรียมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการเมืองจีนกับการเป็นผู้นำที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดต่อจาก เหมาเจ๋อตุง ในยุคที่ปกครองด้วยรัฐบาลคอมมิวนิสต์

 

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สีจิ้นผิงชูนโยบายขจัดความยากจนให้หมดไปจากประเทศ และได้ประกาศชัยชนะในการนำพาจีนก้าวข้ามเส้นความยากจนสุดขีดตามเกณฑ์ของธนาคารโลกเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้ขีดเป้าหมายสำคัญในการสร้างสังคมที่กินดีอยู่ดี (小康社会) ในปีดังกล่าว

 

สำหรับนโยบายและผลงานที่ถือเป็น ‘ซิกเนเจอร์’ ของสีจิ้นผิงนั้น คือนโยบายสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า ‘สีโคโนมิกส์’ โดยหนึ่งในเมกะโปรเจกต์ที่สีริเริ่มขึ้นเพื่อสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจคือโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ Belt and Road อย่างไรก็ตามโครงการนี้ถูกวิจารณ์จากชาติตะวันตกและหลายประเทศว่าเป็นเครื่องมือในการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน 

 

หมุดหมายถัดไปของสีจิ้นผิงคือการนำพาประเทศก้าวขึ้นไปเป็นชาติที่พัฒนาในทุกมิติในปี 2049 ซึ่งตรงกับช่วงครบรอบ 100 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างไรก็ตามเขามีความท้าทายมากมายรออยู่ เช่น ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก ปัญหาสิทธิมนุษยชนในจีน รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคไปสู่เป้าหมายของจีนทั้งสิ้น

 

หลี่เฉียง – 李强 (63 ปี): ถือเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของสีจิ้นผิง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมหานครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งที่ผ่านมาเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากการใช้นโยบายล็อกดาวน์ศูนย์กลางทางการเงินของจีนอย่างเข้มงวดเป็นเวลา 2 เดือนจนเกิดความวุ่นวายและทำให้เศรษฐกิจสะดุด

 

การวางตัวหลี่เฉียงเป็นเบอร์ 2 ของโปลิตบูโร หมายความว่าเขามีโอกาสสูงที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจีนคนใหม่ในต้นปีหน้า แทนที่หลี่เค่อเฉียงที่ก้าวลงจากตำแหน่ง หลังอยู่ครบ 2 วาระ 

 

จ้าวเล่อจี้ – 赵乐际 (65 ปี): ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบวินัยพรรค ซึ่งเป็นกลไกปราบคอร์รัปชันที่ทรงอิทธิพลที่สุด โดยที่ผ่านมาเขารับนโยบายของสีจิ้นผิงในการกวาดล้างเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต ขณะที่สื่อตะวันตกมองว่า ศัตรูทางการเมืองของสีจิ้นผิงหลายคนมักตกเป็นเป้าหมายการตรวจสอบ

 

เป็นที่คาดหมายว่า จ้าวเล่อจี้จะได้รับการวางตัวเป็นประธานสภาประชาชนคนใหม่ ซึ่งถือเป็นผู้นำเบอร์ 3 ของจีน ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังตอกย้ำด้วยว่า สีจิ้นผิงยังคงให้ความสำคัญกับการปราบคอร์รัปชันในประเทศ

 

หวังฮู่หนิง – 王沪宁 (67 ปี): เป็นนักทฤษฎีคนสำคัญของพรรคที่เขียนนโยบายให้ทั้ง สีจิ้นผิง, หูจิ่นเทา และ เจียงเจ๋อหมิน ซึ่งเป็นผู้นำจีนรุ่นที่ 5, 4 และ 3 ตามลำดับ  

 

ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า หวังฮู่หนิง ถือเป็นมันสมองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และได้รับสมญานามจากผู้สังเกตการณ์เรื่องจีนว่า China’s Kissinger ซึ่งการที่เขาสามารถทำงานให้กับผู้นำสามรุ่นได้นั้่นถือว่าไม่ธรรมดา 

 

ไช่ฉี – 蔡奇 (66 ปี): เป็นเลขาธิการพรรคประจำกรุงปักกิ่ง และเป็นหนึ่งในคนที่สีจิ้นผิงไว้เนื้อเชื่อใจมากที่สุด โดยเขาเคยทำงานร่วมกับสีจิ้นผิงในฐานะรองเลขาธิการพรรคประจำมณฑลเจ้อเจียงในช่วงที่สีเป็นเลขาธิการพรรคประจำมณฑลดังกล่าว

 

ติงเซวียเสียง – 丁薛祥 (60 ปี): เป็นอีกหนึ่งพันธมิตรคนสำคัญของสีจิ้นผิง ดร.ปิติมองว่า ติงเป็นหนึ่งในผู้นำชุดใหม่ที่น่าจับตา เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนและมีบทบาทในพรรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในวันที่จีนต้องการเป็นผู้นำเรื่องวิทยาศาสตร์ในเวทีโลก

 

หลี่ซี – 李希 (66 ปี): ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) และเป็นอีกคนที่ถือเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของสีจิ้นผิง โดยหลี่ได้รับการวางตัวให้เป็นประธานคณะกรรมการกลางตรวจสอบวินัยพรรค ที่จะควบคุมกลไกการปราบคอร์รัปชันของพรรคคนต่อไป 

 

หลี่เฉียง ผงาดเป็นเบอร์ 2 ตอกย้ำสีจิ้นผิงรวบอำนาจเด็ดขาด

การก้าวขึ้นมาของหลี่เฉียงถือว่าสวนทางกับที่นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ไว้ เพราะก่อนหน้านี้มีการจับตา วังหยาง, หานเจิ้ง และ หูชุนหัว ว่าจะมีคนใดคนหนึ่งขึ้นมาเป็นนายกฯ โดยแคนดิเดตเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นบุคคลที่อยู่ขั้วตรงข้ามสีจิ้นผิง ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติในอดีตที่ผ่านมา จีนมักแบ่งสรรอำนาจที่อยู่บนสุดในลักษณะที่สร้างความสมดุล โดยหลี่เค่อเฉียงเป็นหนึ่งในตัวอย่าง ซึ่งเขาเริ่มต้นถนนสายการเมืองจากสันนิบาตยุวชนพรรคคอมมิวนิสต์ ต่างจากสีจิ้นผิงที่เป็นลูกหลานของอดีตผู้นำ

 

ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว บุคคลที่มีอายุ 68 ปีขึ้นไปในช่วงสมัยการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จะเกษียณอายุก้าวลงจากเก้าอี้ในโปลิตบูโรอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งลี่จ้านซูและหานเจิ้งที่อยู่ในคณะกรรมการถาวรกรมการเมืองนั้นมีอายุ 72 ปี และ 68 ปีตามลำดับ แต่สำหรับหลี่เค่อเฉียงและวังหยางที่อายุ 67 ปีทั้งคู่ การก้าวลงจากเก้าอี้ก่อนกำหนดถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างผิดคาด โดยเฉพาะวังหยาง ซึ่งได้รับการจับตามองว่าอาจเป็นว่าที่นายกฯ คนถัดไปด้วย

 

ดังนั้นการวางตัวหลี่เฉียงเป็นเบอร์ 2 จึงเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งชี้ว่าสีจิ้นผิงกำลังกระชับอำนาจมากขึ้น และเมื่อพิจารณาจากรายชื่อกรรมการถาวรในโปลิตบูโรทั้งหมด จะเห็นว่าคนที่รายล้อมสีจิ้นผิงล้วนแล้วแต่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดหรือคนสนิทของสีจิ้นผิงทั้งสิ้น

 

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ด้านกฎหมายและการเมืองระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า การวางตัวกรรมการถาวรกรมการเมืองรอบนี้ ถือว่าตอกย้ำชัดเจน 100% ว่าสีจิ้นผิงรวบอำนาจอย่างเด็ดขาด เพราะประกอบด้วยขั้วการเมืองหรือพรรคพวกของสีจิ้นผิงทั้งหมด

 

ดร.อาร์มยกตัวอย่างว่า แต่เดิมผู้คนคิดว่าหลี่เฉียงน่าจะไม่ได้รับโอกาส เพราะเกิดปัญหาการล็อกดาวน์ขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ ดังนั้นการขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 จึงสะท้อนว่าสีจิ้นผิงให้ความสำคัญกับความใกล้ชิดและทำงานเข้าขากัน เพราะหลี่เฉียงเคยเป็นหัวหน้าทีมเลขาของสีจิ้นผิงในอดีต 

 

นอกจากนี้หลี่เฉียงยังเป็นนักการเมืองคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่เคยบริหารมณฑลเศรษฐกิจ (และเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจ) ที่สำคัญครบทั้ง 3 แห่งคือ เจ้อเจียง, เจียงซู และเซี่ยงไฮ้ แต่ก็ถือว่าฉีกธรรมเนียมปฏิบัติของการเมืองจีน เพราะเขาไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานในส่วนกลางเลย และไม่เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีมาก่อน เหมือนกับนายกรัฐมนตรีคนก่อนๆ ด้วย

 

ไร้เงาทายาทการเมือง 

ดร.อาร์มเคยวิเคราะห์ไว้ว่า การดูว่าจีนวางตัวทายาทการเมืองหรือไม่นั้น อาจพิจารณาได้จากประสบการณ์การบริหารมณฑลสำคัญและอายุของผู้ที่เข้ามาอยู่ในกรรมการถาวร หากมีอายุห่างจากคนอื่นๆ หลายปี ก็อาจบ่งบอกได้ว่าคนคนนั้นอาจได้รับการวางตัวเป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการเมือง

 

อย่างไรก็ตาม จากการเปิดตัวกรรมการถาวรโปลิตบูโรรอบนี้ ดร.อาร์มมองว่าจีนไม่มีการวางตัวทายาทการเมืองของสีจิ้นผิง ไม่ว่าจะมองในเรื่องของอายุหรือคุณสมบัติของกรรมการชุดนี้

 

ดร.อาร์มระบุว่า ทายาทการเมืองจำเป็นต้องมีประสบการณ์หรือผ่านงานด้านการบริหารมณฑลมาก่อน ไม่ใช่คนที่ทำงานเฉพาะเพียงด้านเดียว เมื่อพิจารณาจากเกณฑ์นี้จะเห็นว่ากรรมการบางคน แม้ดูอายุน้อยกว่าคนอื่น แต่ก็ยังไม่ผ่านคุณสมบัติ  

 

และการที่ไม่มีทายาทการเมือง ก็สะท้อนว่าสีจิ้นผิงไม่ต้องการให้มีใครขึ้นมาท้าทายอำนาจของตนในช่วงเวลานี้

 

ชัยชนะของสีจิ้นผิง

ก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งนี้จะเริ่มต้นขึ้น มีนักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ไว้ว่า กลุ่มผู้นำจีนอาจมีการต่อรองเชิงอำนาจ และสีจิ้นผิงอาจมีท่าทีประนีประนอมมากขึ้น สืบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวอย่างหนักอันเป็นผลพวงจากนโยบายควบคุมโควิดที่เข้มข้น (Zero-COVID) ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อแนวทางของสีจิ้นผิง

 

อย่างไรก็ตาม จากรายชื่อคีย์แมน 7 คนในโปลิตบูโรที่ออกมา ตอกย้ำว่าสีจิ้นผิงยังคงมีอำนาจสูง และไม่มีใครในพรรคขึ้นมาท้าทายได้ 

 

ดร.อาร์มกล่าวว่า หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่สร้างความประหลาดใจให้กับนักสังเกตการณ์ทั่วไปคือ หูชุนหัว ที่เคยได้รับการจับตาว่าอาจขึ้นมาเป็นนายกฯ คนใหม่และเป็นขั้วการเมืองตรงข้ามนั้น ไม่มีชื่อแม้กระทั่งในคณะกรรมการกรมการเมือง 24 คนด้วยซ้ำ 

 

ที่น่าสังเกตอีกอย่างคือกรรมการโปลิตบูโรที่ควรจะมี 25 คน มาคราวนี้ก็ลดลงเหลือเพียง 24 คนเป็นครั้งแรก และไม่มีสมาชิกหญิงอยู่เลย ซึ่งก็ถือว่าฉีกธรรมเนียมปฏิบัติของการเมืองจีนเช่นกัน (กรรมการถาวรกรมการเมือง 7 คนมาจากคณะกรรมการกรมการเมืองที่มีสมาชิก 24 คน)

 

ดร.อาร์มมองว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นถือเป็นฉากทัศน์ที่สีจิ้นผิงรวบอำนาจอย่างเด็ดขาดชัดเจน

 

จากนี้ไปทิศทางของจีนจึงน่าจะเป็นการสร้างความต่อเนื่องของนโยบายที่สำคัญๆ ในช่วง 10 ปีแรกของสีจิ้นผิง ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย Dual Circulation หรือยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน

 

แม้ว่าการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ปิดฉากลงแล้ว แต่การเมืองบทใหม่ของคณะผู้นำชุดใหม่เพิ่งเริ่มต้น ซึ่งแต่ละก้าวย่างหลังจากนี้ย่อมส่งแรงกระเพื่อมไปยังมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และการทหาร ซึ่งเราต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

 

ภาพ: Kevin Frayer / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X