×

สว. เป็นผู้แทนใคร? เปิด 7 ปัญหาเลือก สว. ไทย

01.07.2024
  • LOADING...
เลือก สว.

ในโอกาสที่บางคนกำลังยินดีที่การ เลือก สว. ระดับประเทศเพิ่งผ่านพ้นไป ซึ่งหมายความว่าคนไทยจะได้เห็นหน้าค่าตา สว. ชุดใหม่ตามกลไกของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในไม่ช้า

 

ผู้เขียนคิดว่า มีเรื่องที่สังคมไทยต้องหยุดคิดทบทวนว่า การได้มาซึ่ง สว. ที่ผ่านการ ‘เลือก’ (Select) ตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ประกอบกฎหมายลูกซึ่งขยายรายละเอียดนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรมและเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตยจริงหรือ

 

ในเบื้องต้นเราจะเห็นได้ว่า การได้มาซึ่ง สว. ในหนนี้เป็นการได้มาโดยการ ‘เลือก’ ไม่ได้ใช้คำว่า ‘เลือกตั้ง’ (Elect) น้ำหนักในเรื่องคุณค่าต่อการได้มาซึ่งผู้แทนในระบอบประชาธิปไตยแตกต่างกันโข เพราะในขณะที่สังคมโลกค่ายที่สมาทานอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นใหญ่นั้น พยายามเชิดชูการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึง เสรี และเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้มาซึ่งผู้แทน (Representative) ของประชาชน ที่แม้กระทั่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องยึดถือและปฏิบัติตาม ก็ได้บัญญัติไว้ในข้อ 25 เกี่ยวกับสิทธิและโอกาสของประชาชนในการมีผู้แทนและการเลือกตั้งในสายตามาตรฐานสากล นั่นคือ ‘เป็นการทั่วไป เสมอภาค ลับ และเสรี’

 

ความสำคัญของผู้แทน

 

เวลาที่เรากล่าวถึง ‘ผู้แทน’ ย่อมหนีไม่พ้นจากคำถามว่า ‘แทนใคร’? การตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวทำให้ต้องถามต่อว่า เรากำลังพูดถึงผู้แทนในอุดมการณ์ความคิดแบบใดหรือระบอบการเมืองการปกครองรูปแบบไหน

 

ถ้าเราเชื่อในระบอบประชาธิปไตยว่า อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง การพูดถึง ‘ผู้แทน’ ย่อมต้องหมายถึงผู้แทนประชาชน ซึ่งเป็นตำแหน่งของผู้ที่ได้รับภารกิจให้ทำหน้าที่แสดงความต้องการและตัดสินใจในนามประชาชนและจะมีความชอบธรรมในฐานะเช่นนั้นได้ กระบวนการทำให้ได้มาซึ่งผู้แทนนั้นก็ต้องมีมาตรฐานที่รับประกันได้ว่า ประชาชนมีสิทธิและโอกาสที่จะได้มาซึ่งผู้แทนของพวกเขาอย่างเสรี ทั่วถึง และเป็นธรรม

 

เช่นนี้จึงมักมีคำถามย้อนกลับว่า ใครเล่าจะเป็น ‘ประชาชน’ ที่จะมี ‘ผู้แทน’ ของตนได้

 

คำถามนี้ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิด ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองทั่วโลกสะท้อนให้เห็นว่า การมีสถานะที่จะเป็นประชาชนในสายตาของกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีผู้แทนเป็นของตนเองได้นั้น เป็นเรื่องที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนาน

 

ในอดีตไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นประชาชนซึ่งจะมีผู้แทนเป็นปากเป็นเสียงของตนได้ ดังจะเห็นได้จากการต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งเพื่อมีผู้แทนของคนผิวดำและผู้หญิง การต่อสู้ของสามัญชนเพื่อให้ยกเลิกกติกาว่าต้องเสียภาษีจำนวนมากเท่านั้นเท่านี้ถึงจะมีสิทธิเลือกตั้ง (เพราะการวางเงื่อนไขดังกล่าวส่งผลให้คนรวยหรือชนชั้นสูงเท่านั้นที่จะมีสิทธิมีผู้แทน) รวมถึงการลดอายุของการเป็นผู้มีสิทธิเลือกผู้แทน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนมาจากประชาชนในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

 

แต่ระบบการได้มาซึ่ง สว. ในครั้งนี้หนีไม่พ้นต่อการตั้งคำถามเรื่องการเป็นผู้แทนว่า พวกเขาที่จะมาเป็น สว. นั้นเป็นผู้แทนใคร เนื่องจากเมื่อพิจารณากลไกและการดำเนินการที่เกิดขึ้น ผู้เขียนพบปัญหา 7 ประการ จึงขอหยิบยกมาดังนี้

 

1. การแบ่งกลุ่มที่มา

 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจัดแบ่งกลุ่มดีแล้วและเกลี่ยอย่างเหมาะสม

 

รัฐธรรมนูญปี 2560 วาดฝันว่า ประชาชนจะมี สว. จากการแบ่งกลุ่มผู้คนในสังคมที่มีความหลากหลาย แต่ไม่ได้บอกว่าแบ่งกี่กลุ่มและเกลี่ยแบ่งอย่างไร เพราะโยนไปในกฎหมายลูก ซึ่งตอนทำประชามติรับรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังไม่มีกฎหมายลูก จึงไม่มีใครเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในรายละเอียด

 

กฎหมายลูกได้ทำหน้าที่แบ่งกลุ่มและกำหนดจำนวนกลุ่ม สว. ออกเป็น 20 กลุ่ม หมายความว่า ระบบนี้พยายามที่จะสื่อสารออกมาว่าเป็นระบบที่ได้ผู้แทนตามกลุ่มของผู้คน

 

หนีไม่พ้นประเด็น ‘การเมืองเรื่องแบ่งกลุ่ม’ เพราะการแบ่งกลุ่มย่อมเป็นการขีดวงว่าใครจะอยู่หรือไม่อยู่ในวงใด รวมทั้งวงที่ขีดนั้นจะครอบคลุมผู้คนแค่ไหน และใช้ฐานคิดอะไร

 

สิ่งที่ผู้เขียนไม่เห็นคือการสำรวจความหลากหลายในสังคมไทยว่า เหตุใดกฎหมายลูกจึงแบ่งออกมาเป็น 20 กลุ่ม

 

อีกทั้งฐานคิดในการแบ่งกลุ่มยังสะเปะสะปะและสร้างความทับซ้อนของการลงไปอยู่ในกลุ่มอย่างน่าฉงน เช่น บางกลุ่มที่ปรากฏใช้ฐานคิดเรื่องอาชีพ เช่น กลุ่มอาชีพทำสวนแยกต่างหากจากกลุ่มอาชีพทำนา แต่บางกลุ่มก็เป็นกลุ่มที่ใช้ฐานคิดเรื่องงานและความสนใจในเรื่องนั้นๆ เช่น กลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มอื่นๆ ซึ่งหมายความว่าหลักคิดไม่อยู่แค่เรื่องกลุ่มอาชีพเท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มในลักษณะอื่นด้วย

 

แม้กระนั้น ท่ามกลางการที่มีกลุ่มในลักษณะที่ไม่ใช่กลุ่มอาชีพผสมเข้ามากับกลุ่มอาชีพ กลุ่มดังกล่าวเองก็จัดแบ่งได้อย่างประหลาด เนื่องจากบางกลุ่มจัดกลุ่มย่อยอื่นๆ ยัดเข้าไปในกลุ่มนั้นอีก ในขณะที่อีกกลุ่มไม่ได้มีความซับซ้อนของกลุ่มย่อย ซึ่งหมายความว่า บางกลุ่มที่จัดกลุ่มย่อยย่อมจะต้องมีการเบียดกันของผู้คนต่างที่มา ตัวอย่างนี้ก็คือ กลุ่มที่ 15 ‘กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน’ ที่เมื่อต้องเทียบกับกลุ่มที่ 14 ก็จะเห็นความต่าง เพราะกลุ่มที่ 14 ‘กลุ่มสตรี’ เป็นชื่อกลุ่มก้อนที่ไม่มีการแบ่งซอยให้ซับซ้อนเบียดเสียด

 

ยิ่งไปกว่านั้น การตั้งกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ 20 ว่าเป็น ‘กลุ่มอื่นๆ’ ก็มีปัญหาว่า กลุ่มที่ทำหน้าที่รับจบแบบกวาดกองนี้คือที่เทรวมบุคคลที่ไม่อาจจะมีคุณสมบัติเข้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทั้งหมดได้ ซึ่งเข้าใจว่ากลุ่มดังกล่าวถูกสร้างเป็นเบาะรองสุดท้ายเผื่อเอาไว้

 

อย่างไรก็ตาม คำถามหัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือ ตกลงแล้วคนจากกลุ่มนี้เป็นผู้แทนของใคร จะบอกว่าเป็นผู้แทนของใครก็ได้ที่ไม่ถูกจัดกลุ่ม ก็ดูจะเป็นการตอบที่ง่ายดายและดูเบาที่มาของคน ทั้งยังย้อนแย้งสวนทางกับความพยายามในการจัดคนลงกรอบตามกลุ่ม เพราะสุดท้ายคือการยอมแพ้ในตัวว่า จะมีกลุ่มที่ไม่ถูกชูให้ชัดเจน หรือจะมีคนที่เข้ากลุ่มไหนไม่ได้ (ซึ่งมีเท่าไรก็ไม่รู้) ต้องมารวมกันอยู่ที่กลุ่มนี้

 

ความน่าเวียนหัววุ่นวายเช่นนี้ ท้ายสุดเป็นเพราะความพยายามที่จะจัดแบ่งคนเป็นประเภทๆ ทั้งที่สังคมและมนุษย์มีความสลับซับซ้อนในตัวเองและในแง่ผลประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น คนมีอาชีพทำประมงในกลุ่มที่ 6 อาจจะขับเคลื่อนสิทธิสตรีที่อยู่ในกลุ่มที่ 14 และสิทธิคนพิการในกลุ่มที่ 15 ไปพร้อมกัน ฯลฯ

 

การออกแบบกลไกการได้มาของ สว. หนนี้จึงสร้างตำแหน่งแห่งที่ของคนที่เป็น สว. ด้วยการออกแบบบนฐานคิดว่า คนมีวิธีคิดและผลประโยชน์แตกต่างกันตามที่มา และคงคิดว่าจะต้องสะท้อนการเป็นตัวแทนจากฐานที่มาที่จัดแบ่งให้ แต่กลับกลายเป็นว่าการแบ่งแบบนี้หลบหนีความเป็นจริงของความซับซ้อนหลากหลายที่มีอยู่ในสังคมไม่พ้น

 

2. ไม่อยากเป็นผู้แทน แต่แค่อยากเลือกผู้แทน ก็ไม่ได้

 

ปัญหานี้ต้องบอกว่าเป็นความประหลาดพิลึกของระบบการได้มาซึ่ง สว. รอบล่าสุด เพราะการนำเอาเรื่องการอยากเลือกผู้แทนกับการอยากเป็นผู้แทนไปผูกกัน กล่าวคือ ประชาชนที่อยากเลือก สว. ต้องเอาตัวเองไปสมัครเป็นผู้ชิงตำแหน่ง สว.

 

ระบบนี้ไม่ได้คิดเหมือนกลไกการเลือกผู้แทนตามปกติที่ ‘ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้แทน’ กับ ‘ผู้มีความประสงค์เลือกผู้แทน’ แยกพิจารณากันเป็นคนละเรื่อง พูดภาษาง่ายๆ คือ ‘ถ้าผู้เขียนอยากเลือก สว. ทำไมต้องบังคับผู้เขียนให้ลงสมัครอาสาไปเป็น สว. ด้วย’ หรือ ‘ผู้เขียนไม่ได้อยากเป็น สว. ผู้เขียนแค่เลือก สว. เท่านั้น ไม่ได้หรือ’

 

คำตอบที่ระบบนี้มอบให้คือ ไม่ได้ เพราะความผสมปนเปของวิธีคิดที่สร้างภาระให้กับประชาชนและเป็นการทำลายโอกาสของประชาชนในการที่จะมีผู้แทนโดยไม่จำเป็น นวัตกรรมที่เกิดขึ้นครั้งแรกนี้เป็นระบบที่ทำลายเจตจำนงของประชาชนอย่างหนัก

 

3. อายุ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่จะมีสิทธิมีผู้แทน

 

สืบเนื่องจากปัญหาข้อก่อนหน้านี้ มีประเด็นที่น่าตกใจคือ กลไกระบบนี้เปิดช่องให้ผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้นมีสิทธิสมัครเป็น สว. และผู้สมัคร สว. เท่านั้นที่จะมีสิทธิเลือก สว. (อย่างที่ได้กล่าวว่า ถ้าไม่สมัครก็ไม่มีสิทธิเลือก) ทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ บุคคลที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่จะมีสิทธิมีผู้แทน

 

ดูเหมือนว่าวิธีคิดแบบนี้เป็นการมองประชาชนไม่เท่ากันอยู่ในตัว เพราะเป็นการให้สิทธิเฉพาะประชาชนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่จะเข้ามาสู่สนามการเลือกผู้แทน กรณีดังกล่าว ประชาชนที่อายุต่ำกว่านั้นหมดสิทธิ และเมื่อเทียบกับอายุโดยทั่วไปที่จะมีสิทธิในการเลือกตั้งที่ผ่านมาคือ 18 ปี ผลลัพธ์คือ ประชาชนชาวไทยที่มีอายุ 18-39 ปี ไม่มีโอกาสที่จะมีผู้แทนในครั้งนี้

 

ข้อนี้ต้องสำรวจแล้วครับว่า สิทธิพลเมืองไทยตกหล่นหายไปกี่ล้านคน

 

วิธีคิดที่ส่งผลต่อการขีดเส้นแบ่งคนด้วยอายุที่ 40 ปี จึงดูเหมือนกับว่าระบบดังกล่าวมองวุฒิภาวะทางการเมืองของคนไม่เท่ากัน โดยเลือกที่จะให้ผู้มีอาวุโสตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่จะมีสิทธิมี สว. และโดยนัยนี้จึงเท่ากับว่า คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปจึงมีโอกาสที่จะมี สส. และ สว. ในขณะที่คนที่อายุต่ำกว่าลงมามีโอกาสที่จะมี สส. ได้เท่านั้น แสดงว่าชนชั้นผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไปในสังคมไทยมีโอกาสที่จะมีผู้แทนได้มากกว่า จึงสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคในการมีผู้แทนของประชาชน เมื่อมองจากประเด็นเรื่องการแบ่งโอกาสของอายุผู้คนไม่เท่ากัน

 

ปัญหานี้ ผู้เขียนไม่นึกว่าจะเกิดขึ้นในสังคมไทยยุคปัจจุบัน อย่างฝรั่งเศสเอง การกำหนดให้ผู้มีอายุ 30 ปีขึ้นไปเท่านั้นถึงจะมีสิทธิเลือกตั้ง ก็เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้วตั้งแต่ก่อนปี 2391 และหลังจากนั้นก็มีการเรียกร้องจนนำไปสู่การปรับลดอายุไทยในศตวรรษที่ 21 กลับดันเพดานอายุขึ้น แถมเขย่งกันด้วยกับกรณีอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สส.

 

4. ถ้าบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของคุณ สมัครชิง สว. คุณจะหมดสิทธิมีผู้แทน

 

ปัญหานี้เกิดจากการที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นลักษณะต้องห้ามว่า ห้ามมิให้ผู้สมัคร สว. เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตร ของผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ในคราวเดียวกัน จึงทำให้คนในครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ดังกล่าวต้องชั่งใจ เพราะกฎหมายได้ตัดโอกาสเอาไว้ ซึ่งส่งผลให้หากคนหนึ่งอยากเข้าไปเลือก สว. โดยการจำยอมสมัครชิง สว. เพียงเพราะต้องการมีสิทธิเลือก ก็มีผลเป็นการสกัดคนรอบตัวที่มีความสัมพันธ์ดังกล่าวที่จะอยากเข้าไปมีส่วนร่วม

 

คาดว่ากลไกนี้ออกแบบมาเพื่อไม่ต้องการให้เกิดการใช้โอกาสในความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว

 

แต่นั่นก็เป็นปัญหามาก อันเนื่องมาจากการเอาเรื่องอยากเลือกผู้แทนไปปนกับเรื่องอยากเป็นผู้แทนนั่นเอง และไปเกรงว่าเขาจะเลือกคนในครอบครัวเขาขึ้นมา โดยอาจจะลืมไปว่า หากระบบนี้เปิดโอกาสแก่ประชาชนในวงกว้าง การที่บุคคลนั้นจะได้มาเป็น สว. ก็ไม่น่าจะได้น้ำหนักเสียงจากคนในครอบครัว หากแต่ได้คะแนนจากประชาชนทั่วไปเป็นหลัก

 

กรณีระบบการเลือกตั้ง สส. ไม่ได้มีปัญหานี้ เพราะต่อให้พ่อคุณสมัครเป็น สส. คุณก็เข้าคูหาไปเลือกใครสักคนซึ่งอาจจะไม่ใช่พ่อคุณก็ได้อยู่ดี

 

5. จะเลือกผู้แทนต้องจ่ายเงิน 2,500 บาท

 

ไม่เคยมีการใช้สิทธิเพื่อได้มาซึ่งผู้แทนครั้งใดในไทยที่การเข้าไปใช้สิทธิออกเสียงหรือโหวตเลือกคนต้องจ่ายเงิน แต่กลไกครั้งนี้บังคับให้ต้องจ่ายเงิน 2,500 บาท

 

เงินจำนวนดังกล่าวคือค่าสมัครลงชิงตำแหน่ง ซึ่งถูกนำเอาไปผูกกับสิทธิในการออกเสียงเลือกดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ถ้าไม่ลงสมัครชิงตำแหน่ง ก็ไม่มีสิทธิโหวตออกเสียง ซึ่งเป็นความพิลึกของระบบนี้

 

การที่ประชาชนต้องควักเงินจ่ายเป็นเหมือนค่าผ่านทางของการมีส่วนร่วมในการมีผู้แทนถือว่าเป็นเรื่องที่แย่มาก เนื่องจากเป็นการนำเอาเรื่องทรัพย์สินที่รัฐจะได้รับเป็นเงื่อนไขแลกกับการเข้าไปใช้สิทธิของประชาชน วิธีคิดทำนองนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้วในอดีต ที่เฉพาะกลุ่มผู้เสียภาษีตามจำนวนที่รัฐยอมรับได้เท่านั้นถึงจะมีสิทธิมีผู้แทน แต่วิธีคิดแบบนี้ก็ถูกต่อต้านและยกเลิกไปแล้ว

 

ระบบที่ออกแบบให้พลเมืองยอมจ่ายเงิน 2,500 บาทถึงจะมีสิทธิโหวต จึงเป็นเรื่องที่ประชาคมโลกรู้ย่อมต้องตกใจ

 

6. ผู้แทนกลุ่มแบบลวงๆ

 

บางคนคิดว่าการแบ่งกลุ่มออกเป็น 20 กลุ่ม ก็จะทำให้ได้ สว. ที่มีสถานะเป็นผู้แทนแต่ละกลุ่ม

 

ความคิดนี้ผิดถนัด เนื่องจากระบบการได้มาซึ่ง สว. หนนี้ไม่ได้จำกัดวงการคัดสรรเพื่อให้ได้เป็น สว. ในแต่ละกลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มเป็นผู้เลือก สว. ภายในกลุ่มของตัวเอง หากแต่ใช้วิธีการที่เรียกว่า ‘เลือกไขว้’ โดยการสร้างกลไกให้เลือกข้ามสายหรือกลุ่มของตน

 

สรุปแล้วย่อมไม่มีทางเรียกได้ถนัดปากว่า กลไกนี้สามารถจัดให้มีการเลือกผู้แทนของแต่ละกลุ่มอย่างแท้จริง เพราะออกแบบให้เกิดการเลือกกันปนเปข้ามกลุ่ม

 

7. จะเป็นผู้แทนประชาชน แต่ประกาศคำอาสาและมีปฏิสัมพันธ์ต่อสาธารณชนไม่ได้

 

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้าว่า คนไทยจะมีผู้แทน แต่คนสมัครชิงตำแหน่งผู้แทนไม่สามารถประกาศต่อสาธารณชนเกี่ยวกับนโยบายที่ตนจะผลักดันหรือหน้าที่ที่ตนจะบรรลุผลให้สาธารณชนทราบ และไม่สามารถที่จะขึ้นเวที ร่วมอภิปราย แม้กระทั่งให้สัมภาษณ์ ได้อย่างเต็มที่

 

เมื่อการประกาศคำอาสาและการมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนเจ้าของประเทศถูกจำกัด ทำได้แต่สิ่งที่เรียกว่า ‘การแนะนำตัว’ ซึ่งถูกตีกรอบว่านี่ไม่ใช่การหาเสียงและห้ามหาเสียงต่อประชาชน คำถามคือ การเลือกเข้าไปเป็นผู้แทนจะมีประโยชน์อะไร

 

หลายคนให้ข้อสังเกตว่า กลไกการได้มา สว. ด้วยระบบนี้ ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการได้มาซึ่งผู้แทนน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น

 

ตัวผู้เขียนเองเห็นว่า กลไกหนนี้ถูกสร้างมาให้ผลลัพธ์ที่น่าวิตกต่อสถาบันการเมืองไทยและอุดมการณ์เรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยผ่านทางผู้แทน

 

กติกากฎหมายที่ถูกสร้างขึ้นนี้สร้างกลไกที่ผู้เขียนคิดว่า ตัวมันเองกำลังยืนยันปัญหาเกี่ยวกับระบบการได้มาซึ่ง สว. ในหนนี้ได้อย่างไม่ต้องลังเล เพราะคนที่จะมาเป็นผู้แทนควรที่จะต้องสามารถสื่อสารถึงอนาคตที่อยากให้เป็นในประเทศของเราได้ สาธารณชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยน ซักถาม หรือแนะนำกับบุคคลดังกล่าวได้ และพร้อมที่จะถูกเลือกจากประชาชนโดยทั่วไปได้

 

ความสามารถในการนำพาเจตจำนงของประชาชนเป็นอัตลักษณ์ของการจะมีฐานะเป็นผู้แทน เรื่องนี้สำคัญมากสำหรับระบอบประชาธิปไตย แต่ระบบที่เป็นอยู่นี้กำลังก่อให้เกิดปัญหา

 

ข้อสันนิษฐานการพยายามรักษาไว้ซึ่งการมี สว. และก้าวต่อไป

 

ไทยเรามี สว. มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2489 (สมัยนั้นยังเรียกว่า สมาชิกพฤฒสภา) แต่ถ้าลองพิจารณาถึงที่มาของ สว. ตลอดห้วงเวลาของการเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะพบว่า คนไทยต้องอยู่กับ สว. ที่มาจากการแต่งตั้งหลายปีมาก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่คนไทยอยู่กับ สว. ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยสูงอย่าง สว. ที่มาจากการเลือกตั้ง

 

แต่ไหนแต่ไร ในความเห็นของผู้เขียน คนไทยถูกอธิบายเรื่องความจำเป็นของการมี สว. ดังนี้

 

  1. ข้ออ้างว่า ผู้แทนอย่างพวก สส. ต้องมีพี่เลี้ยงเป็น สว. ในมุมนี้คือความพยายามที่จะสร้างสถานะความเป็นผู้เชี่ยวชาญกว่าหรือมีวุฒิภาวะสูงกว่าในทางการเมือง

 

คำถามคือ นั่นจริงหรือ

 

  1. ข้ออ้างในทำนองว่า จำเป็นต้องมีสถาบันทางการเมืองที่ปลอดการเมืองหรือผ่องผุดในทางการเมืองมากกว่า

 

คำถามคือ นั่นจริงหรือ

 

จากข้อ 1. และ 2. นำไปสู่ข้อเสนอถัดไปว่า เช่นนั้นแล้วเมื่อจำเป็นต้องมี สว. ก็ต้องพยายามหากลไกวิธีการได้มาที่ไม่ซ้ำแบบกับกรณี สส. (เพราะถ้ากลไกได้มาเหมือนหรือคล้าย สส. ก็เคยเกิดประเด็น)

 

ท้ายสุดผู้เขียนคิดว่า ทุกครั้งเวลาพูดถึงความสำคัญของการมีอยู่ของ สว. ในไทย อาจจะต้องคิดถึงความจำเป็น กลไกที่มา และความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แบบไม่หลอกตัวเองเกี่ยวกับการมีอยู่ของ สว. แม้กระทั่งหนนี้

 

นอกจากนั้น กลไกการได้มาซึ่ง สว. หนนี้ก็ยากที่จะอธิบายว่าสอดคล้องกับ ICCPR ข้อ 25 ที่ได้เกริ่นมาตอนต้น ซึ่งผู้เขียนไม่มั่นใจนักว่า การออกแบบระบบครั้งนี้ได้หวนรำลึกถึงพันธกรณีระหว่างประเทศที่เป็นมาตรฐานสากลในเรื่องการเลือกตั้งผู้แทนดังกล่าวหรือเปล่า

 

ปัจจุบันคนไทยอาจจะต้องตามกระแสกลไกที่ระบบรัฐธรรมนูญนี้วางไว้ แต่วันหนึ่งขอให้คำนึงว่า การมีอยู่ของ สว. เช่นนี้ สังคมไทยได้ประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน

 

สำหรับผู้เขียนมีคำตอบในใจส่วนตัวแล้วว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ อย่าไปมีเลย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X