×

7 ประเด็นที่ต้องจับตาในการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่นอกเหนือจากเรื่อง ‘เมียนมา’

26.10.2021
  • LOADING...
ประชุมสุดยอดอาเซียน

แน่นอนว่าประเด็นเรื่องของ ‘การลดชั้น’ ที่สมาชิกอาเซียนมีมติไม่ให้ฝ่ายการเมืองของเมียนมา พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน เพื่อเป็นการตอบโต้กับการไม่ยอมปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อในการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพในเมียนมา จะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายทั้งในภูมิภาคและทั่วโลกจับตามองมากที่สุดกับการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 38 และ 39 ที่จะเกิดขึ้นผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีประเทศบรูไนเป็นเจ้าภาพ เพราะนี่คือเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นความท้าทายต่อการบูรณาการภูมิภาค ที่มีความพยายามในการยกระดับของบทบาทของประเทศสมาชิกในการร่วมกันเข้าไปจัดการกับประเด็นที่เป็นกิจการภายในของแต่ละประเทศสมาชิก ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศสมาชิกอื่นๆ รวมทั้งยังเป็นเรื่องเปราะบางที่สมาชิกอาเซียนทั้งหมดไม่ได้คิดวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกัน

 

หากแต่การประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคม 2021 ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ต้องจับตามองและให้ความสนใจด้วยดังนี้

 

  1. ผู้นำอาเซียนจะร่วมกันพิจารณาเอกสารกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานระดับสูง (High Level Task Force: HLTF) ว่าด้วยการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2025 (ASEAN Community’s Post-2025 Vision) ซึ่งจะกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และการเดินหน้าการบูรณาการภูมิภาคของอาเซียนในทุกมิติ โดยเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับประเทศไทย เพราะไทยเองคือผู้ผลักดันให้เกิดการทำงานของ Economic Research Institute for ASEAN and East Asia หรือ ERIA ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยทางนโยบายของอาเซียนให้ทำการศึกษาวิสัยทัศน์อาเซียน 2025-2040 มาตั้งแต่ปี 2017 และเผยแพร่ผลการวิจัยนี้ในปี 2019 ที่ไทยเป็นประธานอาเซียน และได้รับการสานต่อการทำงานอย่างต่อเนื่อง จนกำลังจะเปิดคณะทำงานระดับสูงเพื่อเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปอย่างจริงจัง วิสัยทัศน์นี้จะเป็นอีกหนึ่งมรดกของไทยในการร่วมกำหนดทิศทางการเดินหน้าประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะในประเด็น Collective Leadership ที่จะวางโครงสร้างให้อาเซียนสามารถทำงานร่วมกัน ทั้งในเรื่องกิจการภายในและกิจการที่ต้องไปมีปฏิสัมพันธ์กับประชาคมโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวสูงขึ้น

 

  1. Bandar Seri Begawan Roadmap และ Development of Consolidated Strategy on the Fourth Industrial Revolution (4IR) for ASEAN ซึ่งจะเป็นแผนงานในการเดินหน้าอาเซียนในการปรับตัวเข้าและพัฒนาไปสู่ ASEAN Digital Transformation ซึ่งนี่คือเรื่องที่สิงคโปร์ผลักดันมากเป็นพิเศษตั้งแต่ปี 2018 ที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ และยกประเด็นเรื่อง Smart City Network และการสร้างอาเซียนให้เท่าทันกับการปรับตัวในโลกยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งถ้าอาเซียนไม่มีความพร้อมในเรื่องดังกล่าว การปรับตัวเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก (Global Value Chains: GVCs) ของอาเซียนก็จะมีปัญหาในระยะยาว ซึ่งเมื่อโรดแมปนี้ออกมาใช้งาน นั่นก็หมายความว่าหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยก็ต้องมีการปรับตัว เพื่อให้ไทยสามารถรองรับการทำธุรกรรมต่างๆ ในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าการปรับตัวย่อมหมายถึงต้นทุนในการปรับตัวที่ทุกฝ่ายต้องพิจารณาอีกด้วย และอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญในมิตินี้คือ สหรัฐอเมริกา ที่กำลังจะร่วมออกแถลงการณ์ผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ ว่าด้วยการพัฒนาด้านดิจิทัล

 

  1. สถานการณ์ในภาคพื้นมหาสมุทรที่ยังต้องจับตามองต่อไป แน่นอนว่าเหตุการณ์การเคลื่อนไหวกองทัพเรืออย่างไม่ปกติในทะเลจีนใต้ ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ และพันธมิตรในการปิดล้อมการขยายอิทธิพลของจีนในภาคพื้นมหาสมุทร ความพยายามของอาเซียนในการประกาศจุดยืนของตนเองผ่านเอกสารสำคัญ คือ ASEAN Outlook on the Indo-Pacific (AOIP) ซึ่งลงนามไปในคราวที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี 2019 ความพยายามในการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานในภาคพื้นมหาสมุทร ทั้งจากจีนผ่านความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI), จากสหรัฐฯ ผ่านโครงการ Build Back Better World (B3W) หรือของญี่ปุ่นที่พูดถึง Quality Infrastructure Development in the Indo-Pacific ที่อาเซียนต้องการให้สอดคล้องกับแผนการของอาเซียนที่เรียกว่า Master Plan on ASEAN Connectivity ในขณะที่อินเดียเองก็ยังคงเดินหน้าสนับสนุน Blue Economy เศรษฐกิจภาคพื้นมหาสมุทร ดังนั้น ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ เราจะต้องพิจารณาความร่วมมือและแนวทางการเดินหน้าในแถลงการณ์ร่วมของอาเซียน-อินเดีย ว่าด้วยความร่วมมือต่อมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ซึ่งจะถือว่าอินเดียเป็นชาติที่ 4 ที่จะยอมรับและร่วมกันกำหนดท่าทีต่างๆ ร่วมกับอาเซียนในภูมิภาคนี้ ต่อจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

 

  1. ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีน ที่ถือเป็นมหาอำนาจที่มีทำเลที่ตั้งใกล้ชิดอาเซียนมากที่สุด และในปีนี้ก็จะมีการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์อาเซียน-จีนอย่างเป็นทางการ จีนและอาเซียนก็จะร่วมกันสร้างแผนงานที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกันในการสนับสนุนกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework: ACRF) จากผลกระทบของโควิด โดยเฉพาะในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการส่งเสริม SMEs ซึ่งแน่นอนว่าการออกแถลงการณ์ร่วมกันระหว่างจีนกับผู้นำอาเซียนก็จะถูกตีความว่าเป็นการขยายอิทธิพลของจีนในอาเซียนได้

 

  1. ส่วนสหรัฐฯ ซึ่งความสัมพันธ์กันอาเซียนค่อนข้างตกต่ำมาอย่างต่อเนื่องในสมัยของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ที่ไม่ให้เกียรติอาเซียน โดยการไม่เคยเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ เลยแม้แต่ครั้งเดียวตลอดช่วงของการดำรงตำแหน่ง และยังส่งผู้แทนที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเข้ามาพบกับผู้นำอาเซียนอีกด้วย เที่ยวนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนผู้นำใหม่เป็นประธานาธิบดีไบเดน ก็ต้องจับตาดูว่าไบเดนจะดำเนินนโยบายอย่างไร และใครจะเป็นผู้มาเข้าร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียน

 

  1. ในขณะที่รัสเซียเองก็จะยกระดับความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาเซียนมากยิ่งขึ้น ผ่านแผนปฏิบัติการฉบับครอบคลุมเพื่อดำเนินความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ระหว่างอาเซียน-รัสเซีย, แถลงการณ์อาเซียน-รัสเซีย ว่าด้วยการสร้างภูมิภาคที่เป็นปึกแผ่น มั่นคง และยั่งยืน และแถลงการณ์อาเซียน-รัสเซีย ว่าด้วยความร่วมมือในด้านการรับมือและต่อต้านปัญหายาเสพติดโลก นั่นเท่ากับว่ารัสเซียเองก็แสดงบทบาทเชิงรุกมากยิ่งขึ้นในความสัมพันธ์กับอาเซียน ซึ่งก็จะส่งผลไม่น้อยต่อความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรปซึ่งค่อนข้างชะงักงันในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีในระดับภูมิภาคอาเซียน-สหภาพยุโรป ถูกลดระดับลงเป็นระดับทวิภาคีระหว่างสหภาพยุโรปกับแต่ละประเทศอาเซียน และสหภาพยุโรปเองก็ยังมีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและลดระดับความสัมพันธ์กับรัสเซียอีกด้วย อีกเรื่องที่ต้องจับตามองก็คือ การขยายบทบาทความร่วมมือทางการทหารและการสนับสนุนคณะ State Administration Council (SAC) ที่นำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่กุมอำนาจอยู่ในเมียนมาในเวลานี้

 

  1. ประเด็นสำคัญประเด็นสุดท้ายที่ต้องจับตาคือ ความศักดิ์สิทธิ์ของวิถีอาเซียน (ASEAN Way) ที่จะเกิดขึ้นในรูปแบบของการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำที่เกิดขึ้นในลักษณะของการจับเข่าคุยกัน เปิดใจ และยอมรับให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาภายในของแต่ละประเทศ เพื่อร่วมกันแสวงหาทางออกอย่างสันติ ก่อนที่จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมอย่างเป็นทางการ คำถามที่ต้องจับตาคือ เมื่อการประชุมเปลี่ยนรูปแบบเป็นการประชุมทางไกล (Online) ที่ทำให้การประชุมแบบนอกรอบไม่เป็นทางการ ใช้ความเป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้องของผู้นำประชาคมอาเซียนแต่ละประเทศในแต่ละระดับที่ทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างสะดวกเหมือนการประชุมแบบพบหน้า (On-site) อาเซียนจะมีกลไกใดหรือไม่ในการเดินหน้าประชาคมในการแสวงหาทางออกในปัญหาที่มีความละเอียดอ่อน เช่น ประเด็นเมียนมา ประเด็นการขยายอิทธิพลของมหาอำนาจในภูมิภาค ฯลฯ ได้อย่างยั่งยืน

 

ภาพ: Pavlo Gonchar / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising