×

สำรวจ ‘7 หุ้น IPO’ จ่อเข้าเทรดภายในครึ่งปีแรก นักลงทุนรายใหญ่มองกระแส IPO สดใสตามตลาดหุ้น แต่ขอดูพื้นฐานระยะยาว

15.02.2022
  • LOADING...
7 หุ้น IPO

กระแสหุ้น IPO ปี 2565 ยังสดใสต่อเนื่องหลังจากที่มีหุ้นเข้าซื้อขายใน SET และ mai ไปแล้ว 4 บริษัทตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน และยังมีหลายบริษัทที่อยู่ระหว่างเตรียมตัวเพื่อเสนอขายหุ้น IPO เพื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดย THE STANDARD WEALTH สำรวจพบว่า ภายในครึ่งปีแรกปี 2565 น่าจะมีหุ้น IPO เสนอขายหุ้นและเข้าจดทะเบียนประมาณ 7 บริษัท 

 

7 บริษัทจ่อขาย IPO และเข้าซื้อขายภายในครึ่งปีแรก

โดยจากการสำรวจพบว่า 7 บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้น IPO และเข้าซื้อขายใน SET และ mai ภายในครึ่งปีแรกปี 2565 ประกอบด้วย

  

  1. บมจ.ฑีฆาก่อสร้าง หรือ TEKA เตรียมขายหุ้น IPO ไม่เกิน 75 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของทุนจดทะเบียนหลัง IPO โดย TEKA เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ โดยเป็นผู้รับเหมาหลักของโครงการ ซึ่งครอบคลุมงานตั้งแต่งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม และงานระบบประกอบอาคาร 

 

  1. บมจ.โชติวัฒน์อุตสาหกรรม หรือ CMCF เตรียมขายหุ้น IPO จำนวน 187.5 ล้านหุ้น คิดเป็น 30% ของทุนจดทะเบียนหลัง IPO ทั้งนี้ CMCF เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องและถุงสุญญากาศ ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการแปรรูปอาหารทะเล และผลิตภัณฑ์อื่นๆ

 

  1. บมจ.เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป หรือ ACOM เตรียมเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 1,942.42 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 40% ของทุนจดทะเบียนหลัง IPO โดย ACOM เป็น Holding Company ลงทุนในบริษัทย่อยทั้งในและต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการสนับสนุนการประกอบธุรกิจด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) อย่างครบวงจรรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

  1. บมจ.ชิค รีพับบลิค หรือ CHIC จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 360 ล้านหุ้น คิดเป็น 26.47% ของหุ้นทั้งหมดหลัง IPO ทั้งนี้ CHIC เป็นศูนย์รวมจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ สินค้าตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้าน ที่นอนและเครื่องนอน อย่างครบวงจร (One Stop Shopping) ในรูบแบบ Stand Alone ภายใต้ชื่อ ชิค รีพับบลิค (CHIC) และ รีน่า เฮย์ (Rina Hey)

 

  1. บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ หรือ TGE จะเสนอขายหุ้นไม่เกิน 600 ล้านหุ้น คิดเป็น 27.3% ของทุนชำระแล้วหลัง IPO โดย TGE ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

 

‘TLI – BBGI’ เข้าข่าย IPO ไซส์ใหญ่สุดรอบนี้

  1. บมจ.ไทยประกันชีวิต หรือ TLI มีแผนเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 2,384.31 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 20.6% ของหุ้นทั้งหมดหลัง IPO ประกอบด้วย
  • หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัท ไม่เกิน 1,000 ล้านหุ้น
  • หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม (บริษัท วี.ซี.สมบัติ จำกัด) ไม่เกิน 1,218.81 ล้านหุ้น
  • หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม (Her Sing (H.K.) Limited) ไม่เกิน 165.50 ล้านหุ้น

ทั้งนี้ อาจพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment) จำนวนไม่เกิน 322.54 ล้านหุ้น (คิดเป็นไม่เกิน 13.50% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด)

 

TLI ดำเนินธุรกิจประกันชีวิตแห่งแรกในประเทศไทย ที่เป็นของคนไทยและก่อตั้งโดยคนไทย ภายใต้แบรนด์ไทยประกันชีวิต มีผลิตภัณฑ์ที่ครบวงจร ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ประเภทบุคคลและประเภทกลุ่ม

 

  1. บมจ.บีบีจีไอ หรือ BBGI เตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 433.20 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 30% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลัง IPO โดย BBGI อาจพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment) จำนวนไม่เกิน 43.32 ล้านหุ้น (คิดเป็นไม่เกิน 10% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด)

 

ทั้งนี้ BBGI เป็น Holding Company ที่ประกอบธุรกิจดังต่อไปนี้

  1. ธุรกิจหลักคือธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-Based Product) ประเภทผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ได้แก่ เอทานอล ไบโอดีเซล และผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้
  2. ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (High Value Bio-Based Products) ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลและส่งเสริมสุขภาพ (Health and Well-Being Products) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

 

BBGI จ่อเปิดจองซื้อหุ้น IPO ต้นเดือนมีนาคม

บุษราภรณ์ จันทร์ชูเชิด รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บล.กรุงไทย ซีมิโก้ จํากัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ BBGI กล่าวว่า จะสามารถเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ BBGI ให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 433.20 ล้านหุ้น ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2565 หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นับหนึ่งแบบไฟลิ่งแล้ว โดย BBGI จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 

 

นักลงทุนรุ่นใหญ่มอง IPO ขึ้น-ลงตามตลาด

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) กล่าวว่า กระแสหุ้น IPO มักจะขึ้นอยู่กับบรรยากาศการซื้อขายในตลาดรวม โดยหากตลาดหุ้นอยู่ในทิศทางขาขึ้น มีสภาพคล่องสูง มีการเก็งกำไรสูง หุ้น IPO ส่วนมากจะปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างสูง ในทางกลับกัน หากตลาดหุ้นรวมซบเซา สภาพคล่องน้อย หุ้น IPO ก็จะปรับตัวต่ำลงจากราคาจองซื้อ

 

นอกจากนี้ ขนาดของหุ้น IPO และภาพรวมอุตสาหกรรมก็จะมีผลต่อความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น IPO ช่วงที่เข้าซื้อขายแรกๆ ด้วยเช่นกัน 

 

“ส่วนตัวมองหุ้น IPO ว่าเป็นหุ้นที่มีแรงเก็งกำไรค่อนข้างมาก ซึ่งสะท้อนว่าราคาหุ้นไม่ได้อยู่ในระดับที่ถูก แม้ว่าจะมีการกำหนดราคาจากที่ปรึกษาทางการเงินและให้ส่วนลดเอาไว้แล้ว แต่ทันทีที่เข้าซื้อขายและมีการเก็งกำไร ราคาหุ้นก็ไม่ได้สะท้อนพื้นฐานอีกต่อไป” ดร.นิเวศน์กล่าว

 

แนะมองพื้นฐานระยะยาวก่อนเข้าลงทุน

วิชัย วชิรพงศ์ หรือ เสี่ยยักษ์​ หนึ่งในนักลงทุนรุ่นใหญ่ของตลาดหุ้นไทย กล่าวว่า เมื่อภาพรวมตลาดหุ้นดี มีสภาพคล่องสูง หุ้น IPO มักจะมี Performance ที่ดีด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาแนวโน้มธุรกิจและการเติบโตของอุตสาหกรรมด้วย เพราะหากไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ท้ายสุดแล้วราคาหุ้น IPO นั้นๆ ก็ปรับลดลงท้ายที่สุด

 

สำหรับภาพรวมตลาดหุ้นไทยตอนนี้ ส่วนตัวยังมีความกังวล เพราะที่ผ่านมาดัชนีปรับเพิ่มขึ้นรวดเร็วจากแรงหนุนของ Fund Flow ต่างประเทศเป็นหลัก แต่ภาพเศรษฐกิจจริงของไทยอาจจะไม่ได้ฟื้นตัวรวดเร็วเหมือนที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เพราะบาดแผลทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิดนั้นค่อนข้างรุนแรง และเท่าที่ติดตามข่าวสารปัจจุบัน พบว่าหลายภาคส่วนยังไม่ได้รับการเยียวยาดูแล จึงคาดหวังถึงการฟื้นตัวได้ยาก ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้ยังไม่ได้สะท้อนอยู่ในดัชนีหุ้นไทยในปัจจุบันเลย

 

“หุ้น IPO กระแสจะดีถ้าตลาดหุ้นอยู่ในสภาวะขาขึ้นชัดเจน ด้วยข้อได้เปรียบจากราคา IPO ที่มักจะมีส่วนลดจากราคาตลาดประมาณ 10-20% และเมื่อเข้าซื้อขายแล้วก็จะมีแรงเก็งกำไรเข้ามาหนุนราคาให้ปรับเพิ่มขึ้นไปอีกในระยะแรกๆ แต่ส่วนตัวยังมีความกังวลเรื่องสภาพคล่องและพื้นฐานเศรษฐกิจจริงของไทยอยู่ และถ้าภาพรวมตลาดเริ่มรับรู้ความกังวลเรื่องบาดแผลทางเศรษฐกิจและเริ่มปรับฐานลง กระแสหุ้น IPO ก็จะกลับทิศไปด้วย” เสี่ยยักษ์กล่าว

 

7 หุ้น IPO

สำรวจความพร้อมหุ้น IPO พบ 7 หุ้นเตรียมเสนอขาย IPO และเข้าซื้อใน SET และ mai ภายในครึ่งปีแรก ปี 2565 โดยหุ้นไทยประกันชีวิตและบีบีจีไอ มีขนาดใหญ่สุดและจัดสรรหุ้นส่วนเกินไว้รองรับความต้องการนักลงทุน

 

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X