สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ตลาดหุ้นและบอนด์ในเอเชียกำลังเผชิญกับภาวะเงินทุนไหลออกที่รุนแรงมากกว่าวิกฤตการเงินในครั้งก่อนๆ และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้น
ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมากองทุนระดับโลกได้เทขายสินทรัพย์จากตลาดหุ้นของ 7 ประเทศและดินแดนในเอเชีย ประกอบด้วยอินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และไทย รวมกันกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นแรงเทขายในรอบ 3 เดือนที่มากที่สุดนับจากปี 2007 และสูงกว่าช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2008, การประกาศลดวงเงิน QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในปี 2013 และการขึ้นดอกเบี้ยสู่จุดสูงสุดของ Fed ในปี 2018
ตลาดหุ้นไต้หวัน เกาหลีใต้ และอินเดีย เป็นประเทศและดินแดนที่มีเงินทุนไหลออกมากที่สุด โดยในไตรมาสที่ผ่านมามีเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไต้หวัน อินเดีย และเกาหลีใต้สุทธิ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์, 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และ 9.6 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ ขณะที่ตลาดบอนด์ของอินโดนีเซียต้องเผชิญกับแรงเทขายครั้งใหญ่ราว 3.1 พันล้านดอลลาร์จากนักลงทุนต่างชาติ
การปรับขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและแรงเพื่อจัดการเงินเฟ้อของ Fed เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ผู้จัดการกองทุนทั่วโลกนำเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยง โดยมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ปัญหาซัพพลายดิสรัปชันในยุโรป และการที่จีนยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากโควิดเป็นปัจจัยหนุน
“ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันนักลงทุนจะยังระมัดระวังการลงทุนในประเทศที่มีความผันผวนและพึ่งพาการส่งออกสูง เรามองว่าการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคทั่วโลกขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยที่เพิ่มขึ้น” Pruksa Iamthongthong ผู้อำนวยการด้านการลงทุนอาวุโสของ abrdn plc ในสิงคโปร์ ระบุ
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP