เมื่อรัฐบาลประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ผ่านการประกาศพื้นที่ควบคุมพิเศษใน 28 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อการค้า การท่องเที่ยว รวมถึงประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ ต้นปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยจึงส่งหนังสือเวียนเรื่องมาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำสำหรับโควิด-19 ระลอกใหม่
สัปดาห์ที่ผ่านมา (11-15 มกราคม) ฝั่งธนาคารรัฐออกมาตรการช่วยเหลือไปแล้ว และสัปดาห์นี้ 7 ธนาคารพาณิชย์จึงประกาศมาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำให้ลูกค้ารายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจ เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อจำนำทะเบียน ฯลฯ
ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่าธนาคารแห่งประเทศไทยออกแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ใน 2 ข้อหลัก ได้แก่
1. ขยายเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยสมัครรับความช่วยเหลือได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 จากเดิมที่ครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563
2. เปิดให้นายจ้างหรือเจ้าของกิจการสมัครขอรับความช่วยเหลือแทนลูกจ้างหรือพนักงานที่เป็นลูกหนี้ธนาคารได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง
ขณะที่ลูกค้ากลุ่มอื่นๆ อย่างเอสเอ็มอีและลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ทางธนาคารพาณิชย์จะให้ความช่วยเหลือและผ่อนปรนเงื่อนไขตามความเหมาะสม โดยธนาคารพร้อมสนับสนุนลูกค้าทุกกลุ่มในการปรับโครงสร้างหนี้
ทั้งนี้ มี 7 ธนาคารพาณิชย์ที่ประกาศขยายมาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยจากโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต และธนาคารทิสโก้ โดยมีเงื่อนไขที่เหมือนกัน ได้แก่ การลดอัตราดอกเบี้ย และอัตราผ่อนขั้นต่ำในบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด รวมถึงลูกหนี้ต้องไม่มีสถานะเป็น NPL (ค้างชำระมามากกว่า 90 วัน) และขยายเวลาการสมัครเข้ารับความช่วยเหลือ ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละธนาคาร
ขณะที่ทุกธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือที่ไม่ต้องลงทะเบียน ได้แก่ การลดอัตราดอกเบี้ย และการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด รวมถึงสินเชื่อรถ แต่ในกรณีความช่วยเหลือ เช่น พักชำระเงินต้นสินเชื่ออื่นๆ จะมีตัวเลือกให้พักชำระเงินต้น จ่ายดอกเบี้ย หรือลดค่างวดลง รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ ต้องมีการขอรับความช่วยเหลือและขึ้นอยู่กับธนาคารพิจารณา โดยเปิดให้สมัครเข้ารับความช่วยเหลือได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
โดยธนาคารที่ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสูงสุดคือธนาคารกรุงศรีอยุธยา (กรุงศรีคอนซูมเมอร์) ที่ให้ระยะเวลาสูงสุด 99 เดือน จากขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้ระยะเวลา 48 เดือน
ด้านสินเชื่อผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ธนาคารพาณิชย์จะเปิดให้ปรับโครงสร้างหนี้ โดยจะมีเงื่อนไขมาตรการช่วยเหลือที่แตกต่างกัน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดให้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือน และเปิดให้ขอวงเงินสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน)
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์