×

เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ (พ.ศ. 2566) เมืองป่วน คนป่วย ชีวิตห่วยแตก และฝันเปียกถึงบอลโลก

11.09.2023
  • LOADING...
เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ข้อที่น่าพูดถึงจริงๆ จังๆ เกี่ยวกับ เรื่องตลก 69 เวอร์ชันหนังก็คือ มันถูกสร้างในช่วงที่วิกฤตต้มยำกุ้ง (พ.ศ. 2540) ยังอาละวาดไม่เลิก และดูเหมือนว่าเป็นเอกใช้พล็อตที่ผูกขึ้นอย่างพิลึกพิลั่นเป็นเสมือนข้ออ้างในการกะเทาะความบิดเบี้ยวของสังคมช่วงเวลานั้นได้เจ็บปวดแสบสันต์ 
  • ข้อได้เปรียบของการเป็นซีรีส์หลายตอนจบ ได้แก่ การที่มันเอื้ออำนวยให้คนทำหนังได้จินตนาการถึงหลายๆ สถานการณ์ ที่สมมติเป็นหนังฉายโรง 2 ชั่วโมง คงถูกตัดทิ้งไปแน่ๆ และผู้กำกับสามารถขยี้มุกโน่นนี่นั่นได้ละเอียดและถี่ถ้วน
  • ความน่าสนุกของการติดตามดูหนังของเป็นเอก รวมถึงซีรีส์เรื่องนี้ด้วย อีกทั้งน่าจะเป็นสไตล์เฉพาะตัวที่ใครก็ลอกเลียนได้ยาก ก็ตรงที่เขาเป็นนักเล่าเรื่องที่ชั้นเชิงในการถ่ายทอดแพรวพราวจริงๆ หลายครั้งเขาสามารถทำให้สถานการณ์ที่สุดแสนราบเรียบกลับดูพิเศษหรือสะดุดความรู้สึกของคนดูอย่างเฉียบพลัน

อย่างที่น่าจะรู้กันว่า เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ เป็นผลงานรีเมกหนังตัวเองของ เป็นเอก รัตนเรือง ซึ่งออกฉายครั้งแรกช่วงปลาย พ.ศ. 2542 และความแตกต่างเบื้องต้นในเชิงโครงสร้างก็มองเห็นได้ชัดแจ้ง เรื่องหนึ่งเป็นหนังฉายโรงความยาว 2 ชั่วโมง อีกเรื่องเป็นซีรีส์ 6 ตอน (ตอนละ 40 กว่านาทีโดยประมาณ ยกเว้นตอนสุดท้ายที่ยาว 1 ชั่วโมงเศษ) และสตรีมทาง Netflix 

 

เรื่องตลก 69 (2542)

ภาพ: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) 

 

ข้อที่น่าพูดถึงจริงๆ จังๆ เกี่ยวกับ เรื่องตลก 69 เวอร์ชันหนังก็คือ มันถูกสร้างในช่วงที่วิกฤตต้มยำกุ้ง (พ.ศ. 2540) ยังอาละวาดไม่เลิก และดูเหมือนว่าเป็นเอกใช้พล็อตที่ผูกขึ้นอย่างพิลึกพิลั่นเป็นเสมือนข้ออ้างในการกะเทาะความบิดเบี้ยวของสังคมช่วงเวลานั้นได้เจ็บปวดแสบสันต์ ทั้งวิธีการที่นายจ้างเลย์ออฟคนทำงานซึ่งดูบ้าบอคอแตกมากๆ ความห่อเหี่ยวสิ้นหวังของผู้คนที่ถูกพิษเศรษฐกิจเล่นงานอย่างน่าเวทนา ข้อสำคัญ ใครจะสามารถลืมวรรคทองของเพื่อนนางเอกที่พูดว่า “เศรษฐกิจยิ่งเหี้- คนมันยิ่งแรด” ซึ่งแฝงฝังข้อเท็จจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้

 

ประเด็นก็คือ ความผันผวนทางเศรษฐกิจครั้งกระนั้นอาจจะผ่านไปแล้วแสนนาน แต่ถ้าประมวลจากสิ่งที่บอกเล่าในฉบับสตรีมมิง ซึ่งสอดแทรกสิ่งละอันพันละน้อยที่ย้ำเตือนคนดูเป็นระยะๆ ถึงโลกความเป็นจริง ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน สามสิ่งที่สรุปได้ก็คือ สังคมไทยก็ยังคงบิดเบี้ยว (ด้วยการทุจริตและคอร์รัปชัน) เศรษฐกิจก็ยังคงเหี้- (ผลพวงจากโรคระบาดและอีกหลายปัจจัย) ข้อสำคัญ ระดับความ ‘แรด’ (หรือจะใช้คำว่า ‘พล่าน’ ก็น่าจะได้) ของผู้คนก็หนักข้อยิ่งกว่าเดิม

 

6ixtynin9: The Series. Mai Davika Hoorne (ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่) as Tum(ตุ้ม)

ภาพ: Netflix

 

โดยปริยาย เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การเอาหนังเก่ามาเล่าใหม่ภายใต้ยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไปเท่านั้น ทว่าดูประหนึ่งคนทำหนังใช้โอกาสที่เปิดกว้างเป็นช่องทางในการพูดเรื่องสารพัดสารพันที่เขาอยากพูดเกี่ยวกับความเจ็บไข้ได้ป่วยหรือแม้กระทั่งวิกลจริตของสังคม ด้วยน้ำเสียงเยาะเย้ย ถากถาง และแดกดัน และสำหรับใครที่ติดตามหนังของเป็นเอกมาตั้งแต่ต้น ความยียวนกวนประสาทของเป็นเอกก็ยังคงเป็นทั้งลายเซ็นและเครื่องหมายการค้าเสมอต้นเสมอปลาย และวัยที่เพิ่มมากขึ้นก็ไม่ได้ทำให้เขาดูอ่อนโยนลงแต่อย่างใด 

 

และไหนๆ ก็ไหนๆ ข้อได้เปรียบของการเป็นซีรีส์หลายตอนจบ ได้แก่ การที่มันเอื้ออำนวยให้คนทำหนังได้จินตนาการถึงหลายๆ สถานการณ์ ที่สมมติเป็นหนังฉายโรง 2 ชั่วโมง คงถูกตัดทิ้งไปแน่ๆ และผู้กำกับสามารถขยี้มุกโน่นนี่นั่นได้ละเอียดและถี่ถ้วน (เช่น การให้ความสำคัญกับบรรดาลิ่วล้อของทั้งครรชิตและเสี่ยโต้ง หรือบทคุณป้าชุดขาวที่รับลงทะเบียนแรกเข้าสำหรับคนที่เพิ่งเดินทางมาถึงปรโลก ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป) แต่กลับกัน บางครั้งหรือหลายครั้ง ส่วนที่เพิ่มเข้ามาก็ค่อนข้างย้วยหรือเหมือนจะเป็นเพียงไขมันส่วนเกิน เช่น ฉากที่หนังพรรณนาถึงวัยเด็กของนางเอก ซึ่งไม่ทำงานในเชิงดรามาติกเท่าที่ควร หรือบางเหตุการณ์ก็ค่อนข้างงุ่มง่าม

 

6ixtynin9: The Series. Mai Davika Hoorne (ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่) as Tum(ตุ้ม)

ภาพ: Netflix

 

ข้อสังเกตส่วนตัวอีกอย่างหนึ่งที่สรุปได้จาก​สิ่งที่บอกเล่าใน เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ (ซึ่งอาจจะผิดก็ได้) ก็คือ แพลตฟอร์มสตรีมมิงดูเหมือนจะเป็นสนามที่ให้เสรีภาพในการแสดงออกทั้งภาพ เสียง และเนื้อหาอย่างถึงลูกถึงคนมากกว่าหนังฉายโรง และ เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ ก็เป็นซีรีส์ที่เป็นเอก ‘เล่นเกือบเต็มพื้นที่’ จริงๆ ทั้งฉากเซ็กซ์ที่ค่อนข้างดุเดือดเลือดพล่าน การฆ่าแกงและนำเสนอความรุนแรงทางเพศ หรือฉากที่ตัวละครเล่นยากันอย่างโจ่งครึ่ม ไปจนถึงการถ่ายทอดภาพของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่อาจไม่ได้จาบจ้วง แต่ก็ดูเป็นตัวตลกที่น่าสมเพช (แต่จริงๆ ตัวละครทุกคนก็น่าสมเพชทั้งหมดนั่นแหละ) ขณะที่เนื้อหาที่ว่าด้วยการประท้วงของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและคณะราษฎรอาจจะไม่ได้สุ่มเสี่ยงหรือล่อแหลมเท่าไรนัก แต่ยังไม่พบเห็นว่ามีหนังฉายโรงแตะต้องเรื่องอ่อนไหวนี้

 

น่าสงสัยว่าถ้าหาก ‘ของแสลง’ พวกนี้ไปอยู่ในหนังฉายโรง มันจะมีปัญหากับกรรมการจัดเรตติ้งบ้านเรามากน้อยเพียงใด เพราะจนแล้วจนรอด Netflix ซึ่งมีระบบจัดการเรื่องอายุคนดูเป็นของตัวเองก็ยังให้ เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ ได้เพียงแค่เรต 16+ ซึ่งไม่ใช่อัตราเร่งสูงสุดด้วยซ้ำ

 

6ixtynin9: The Series. Pen-Ek Ratanaruang (เป็นเอก รัตนเรือง)

เป็นเอก รัตนเรือง

ภาพ: Netflix

 

พูดถึงในส่วนเนื้อหา เค้าโครงหรือจุดปะทุของ เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ ก็คล้ายคลึงกับฉบับฉายโรงนั่นเอง ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจนำพาให้สาวออฟฟิศชื่อ ตุ้ม (ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่) ที่สุดแสนอับโชค ถูกบริษัทบอกเลิกจ้าง และขณะที่เจ้าตัวยังไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรต่อกับชีวิตวันนี้วันพรุ่ง ซึ่งดูวี่แววแล้วมองไม่เห็นความเป็นไปได้ จู่ๆ หญิงสาวก็พบว่ามีใครก็ไม่รู้นำกล่องพัสดุใส่เงินสดเป็นล้านมาวางหน้าห้องพักเบอร์ 6 ของเธอ และภายหลังต่อสู้กับความว้าวุ่นสับสนในห้วงคิดคำนึง ตุ้มก็ตัดสินใจเก็บลาภลอยนี้ไว้กับตัวเอง และแทบจะทันทีที่ได้ข้อสรุปแบบนั้น ความฉิบหายวายป่วงแทบทุกรูปแบบก็ถาโถมใส่ตัวละครแบบไม่ทันให้ตั้งตัวและอย่างสะบักสะบอม

 

ว่าไปแล้วความน่าสนุกของการติดตามดูหนังของเป็นเอก รวมถึงซีรีส์เรื่องนี้ด้วย อีกทั้งน่าจะเป็นสไตล์เฉพาะตัวที่ใครก็ลอกเลียนได้ยาก ก็ตรงที่เขาเป็นนักเล่าเรื่องที่ชั้นเชิงในการถ่ายทอดแพรวพราวจริงๆ หลายครั้งเขาสามารถทำให้สถานการณ์ที่สุดแสนราบเรียบกลับดูพิเศษหรือสะดุดความรู้สึกของคนดูอย่างเฉียบพลัน (เชื่อว่านี่คงเป็นทักษะจากการเป็นคนทำหนังโฆษณาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม) และตัวอย่างมีให้ยกมาสนับสนุนนับไม่ถ้วน หนึ่งในนั้นได้แก่ตอนที่ตุ้มไปหาซื้อลังหวายจักสานขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ในอีพี 3 และวิธีการที่เป็นเอกใช้ในการบอกเล่าก็ทั้งตลกขบขัน เหนือความคาดหมาย และประสาทเสีย อีกทั้งคนดูยังล่วงรู้โดยอัตโนมัติถึงหนทางแก้ ‘ปัญหาเฉพาะหน้า’ ของนางเอกอย่างทันท่วงที 

 

หรือพล็อตย่อยที่ตัวละครเสี่ยโต้งตระเวนหาลูกน้อง 3-4 คนซึ่งถูกเลย์ออฟไปแล้ว เพื่อซ้ำเติมคนเหล่านั้นด้วยข้อเสนอที่ดูผิวเผินแล้วเปี่ยมไปด้วยความเมตตา ก็เป็นฉากที่เน้นย้ำความบัดซบของระบอบทุนนิยมที่เหยียบย่ำความเป็นมนุษย์อย่างเลือดเย็น

 

6ixtynin9: The Series. Mai Davika Hoorne (ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่) as Tum(ตุ้ม)

ภาพ: Netflix

 

อีกอย่างหนึ่งที่เป็นเหมือนไม้ตายของเป็นเอกมาโดยตลอด ได้แก่ บรรดาตัวละครที่ถูกนำเสนอในมิติที่ดูเป็นผู้เป็นคนมากๆ หรืออย่างน้อยหลบเลี่ยงบุคลิกแบบเหมารวม อันส่งผลให้ชีวิตน้อยใหญ่ในซีรีส์เรื่องนี้ล้วนแล้วมีวงโคจรเป็นของตัวเอง มีด้านมืดและสว่าง รัก โลภ โกรธ หลงแบบมนุษย์มนา ที่แน่ๆ หัวหน้าค่ายมวยที่ชื่อ ครรชิต (อมรเอก มิเกลลี่) รู้ว่าตัวเขายืนฟากไหนในความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างม็อบเด็กกับรัฐบาลเผด็จการ หรือรสนิยมทางเพศของ เสี่ยโต้ง (อภิวิชญ์ รินทพล) ก็ไม่ได้ถูกคนทำหนังหยิบยกขึ้นมาพิพากษา ส่วนลูกน้องครรชิตคนที่เป็นใบ้ ก็ยังอุตส่าห์มี ‘บทพูด’ ที่เรียกเสียงหัวเราะจากคนดู และฉากที่ ซอนนี่ (ธ เทพ ไชยชาญบุตร) นักค้ายารายใหญ่ เลกเชอร์เรื่องอิทธิพลของหนังต่อพฤติกรรมรุนแรงของเด็กๆ ก็มีเหตุผลที่พอรับฟังได้

 

กลายเป็นว่าตัวละครที่หยั่งไม่ได้ง่ายๆ เพราะใครคนนี้เก็บงำความรู้สึกตัวเองค่อนข้างมิดชิดก็คือตุ้มนั่นเอง เป็นไปได้หรือไม่ว่าชีวิตตามลำพังในเมืองหลวงทำให้เธอเป็นคนเฉยเมยและเย็นชา และหญิงสาวแทบจะไม่แสดงออกว่ายินดีหรือยินร้ายกับเรื่องต่างๆ นานาที่เข้ามาปะทะ ตั้งแต่ฉากเริ่มต้นที่รถยนต์บุโรทั่งของเธอถูกล็อกล้อ หรือฉากที่เจ้าตัวต้องรับมือกับโทรศัพท์ลามกซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่หนังให้เห็น เธอคุ้นชินกับมันเสียแล้ว ทั้งหมดทั้งมวลยังไม่ต้องเอ่ยถึงรูปร่างที่ผ่ายผอมของตัวละคร และไม่ว่าใครๆ จะพูดถึงความสะสวยของตุ้มอย่างไร ยิ่งเวลาผ่านพ้นไป สีหน้าสีตาตลอดจนการแสดงออกของตัวละครก็ดูใกล้เคียงกับผีดิบมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

แต่บางทีอะไรๆ ที่หนังบอกเล่าเกี่ยวกับตุ้มก็ไม่บั่นทอนความรู้สึกคนดูเท่ากับการที่พวกเราถูกกำหนดให้ติดตามตัวละครที่แทบไม่มีแต้มต่อหรือความได้เปรียบใดๆ ในชีวิต พบเจอกับบททดสอบทางศีลธรรมอย่างแสนสาหัสทีเดียว และเทียบกับฉบับฉายโรง ชะตากรรมของตุ้มเวอร์ชันนี้ก็เหมือนกับไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ยิ่งเมื่อคำนึงว่าฉบับซีรีส์มีการ ‘เช็กชื่อ’ อย่างถี่ถ้วนว่าใครอยู่ใครตาย สถานการณ์ของตุ้มในท้ายที่สุดซึ่งอาจเรียกว่า ‘กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง อยู่ต่อไม่ไหว’ ก็น่าจะนำพาให้เธอกลายสภาพไม่ต่างจากภูตผีที่หาหลักแหล่งให้กับตัวเองไม่เจอ

 

ภาพ: Netflix

 

ไหนๆ พูดถึงฉากเช็กชื่อก็ขอขยายความต่ออีกนิด ฉากหลังความตายที่มีคุณป้าชุดขาว (วีรพร นิติประภา) คอยตรวจสอบชื่อและนามสกุลของคนที่ชีวิตถึงฆาตด้วยน้ำเสียงดุๆ และทัศนคติเบื่อหน่ายกับงานที่สุดแสนจำเจซ้ำซาก ก็นับเป็นทั้งตลกร้ายและจินตนาการที่แห้งผากของผู้กำกับ เพราะประมวลจากสิ่งที่ซีรีส์บอกเล่า นี่คือการบริหารจัดการที่ตกยุคตกสมัยมากๆ ตั้งแต่ระบบโลจิสติกส์ของปรโลกที่ใช้รถตู้ซอมซ่อขนส่งผู้วายชนม์ อีกทั้งสีหน้าสีตาของทั้งเจ้าหน้าที่ในรถตู้รวมถึงพลขับก็ล้วนแล้วบอกบุญไม่รับ พวกเขาไม่แม้กระทั่งห้ามปรามไม่ให้คนตายมีปากเสียงกัน (ทำนองว่าไม่ใช่หน้าที่) หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ตกรุ่นที่คุณป้าใช้ก็น่าจะอัปเดตระบบปฏิบัติการไม่ได้แล้ว ขณะที่ตัวคุณป้าเองก็คงถูกระบบกลืนกินจนแทบไม่เหลือสามัญสำนึกหรือความสามารถในการริเริ่มส่วนบุคคล และฉากที่เธอแสดงออกอย่างเงอะๆ เงิ่นๆ ในตอนที่เธอถูกใครบางคน ‘ไฮแจ็ก’ โต๊ะทำงาน ก็น่าจะเรียกเสียงหัวเราะได้อย่างครื้นเครง

 

ไม่รู้คนอื่นว่าอย่างไร ตอนที่ดูฉากเหล่านี้กลับไม่ได้นึกว่านี่คือโลกหลังความตาย แต่รู้สึกว่ามันคือระบบราชการ 0.4 ที่พวกเราไม่ต้องสิ้นลมไปก่อนก็สามารถเข้ารับบริการที่น่าประทับใจนี่ได้ไม่ยากเย็น

 

เรื่อง: เรื่อง ตลก 69 เดอะซีรีส์ (พ.ศ. 2566)

กำกับ: เป็นเอก รัตนเรือง

ผู้แสดง: ดาวิกา โฮร์เน่, อมรเอก มิเกลลี่, อภิวิชญ์ รินทพล, ภัทร เอกแสงกุล ฯลฯ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising