องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières: MSF) เผยรายงานชิ้นใหม่ที่พบว่า ชาวมุสลิมโรฮีนจามากกว่า 6,700 ราย รวมถึงเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีอย่างน้อย 730 ราย ถูกสังหารในช่วงเวลาเดือนแรกหลังเหตุความรุนแรงในรัฐยะไข่เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา
“เราได้ยินรายงานมาว่า บางครอบครัวเสียชีวิตทั้งบ้าน เพราะบ้านถูกไฟเผาขณะที่พวกเขาถูกขังอยู่ข้างใน” ดร.ซิดนีย์ หว่อง ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของ MSF กล่าว
รายงานระบุข้อมูลว่า สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากการถูกยิง 69% ถูกเผาและสาเหตุอื่นๆ 9% และถูกซ้อมจนเสียชีวิต 5% นอกจากนี้ในบรรดาเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีสาเหตุเสียชีวิตจากกับระเบิด 2% ด้วย
หว่องเปิดเผยถึงรายงานอีกว่า “มีความเป็นไปได้ว่ายอดผู้เสียชีวิตที่ประมาณการยังต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเราสำรวจข้อมูลที่ค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ ซึ่งไม่ได้รวมถึงอีกหลายครอบครัวที่ยังติดอยู่ในเมียนมา”
ตามข้อมูลของรายงานยอดผู้เสียชีวิตระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม ถึง 24 กันยายน อาจสูงถึง 13,759 ราย โดยมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีอย่างน้อย 1,000 ราย
ทีมสำรวจได้ลงพื้นที่สอบถาม 2,434 ครอบครัว โดยสอบถามหัวหน้าแต่ละครัวเรือนว่าสมาชิกในครอบครัวรายใดบ้างที่เสียชีวิตลงในช่วงมีนาคมถึงตุลาคมปีนี้ และด้วยสาเหตุใด ทางทีมงานจึงนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์
คนไร้รัฐ
ชาวโรฮีนจาถือเป็นมุสลิมชนกลุ่มน้อยไร้รัฐในเมียนมา คาดการณ์ว่ามีชาติพันธุ์นี้อยู่ในรัฐยะไข่ราว 1 ล้านคน แต่ทางการไม่ได้ยอมรับพวกเขาในฐานะพลเรือน และไม่รับรองฐานะกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศด้วย
ประชากร 647,000 คนของชนกลุ่มน้อยนี้ได้ลี้ภัยเข้าสู่บังกลาเทศหลังเหตุการณ์ในรัฐยะไข่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้เข้าเผาหมู่บ้านโรฮีนจาหลายร้อยแห่ง และยังถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุข่มขืนเด็กและผู้หญิงด้วย
ภาพถ่ายดาวเทียมที่องค์กรสิทธิมนุษยชนสากลหลายแห่งได้รวบรวมและชี้ให้เห็นว่า หมู่บ้านโรฮีนจาในรัฐยะไข่หลายแห่งถูกเผาทิ้ง
หลายประเทศตะวันตกได้ออกมาประณามสถานการณ์นี้ในฐานะการฆ่าล้างชาติพันธุ์ แต่เมียนมาปฏิเสธต่อข้อกล่าวหานี้ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลออกมาชี้ความผิดว่ามาจากกองกำลังก่อการร้ายสุดโต่งของโรฮีนจา
ริช เวียร์ นักวิจัยประจำเอเชียขององค์กร Human Rights Watch แสดงความคิดเห็นว่า “รายงานล่าสุดเข้าไปเสริมข้อมูลของ Human Rights Watchที่ รวบรวมจากผู้ลี้ภัยโรฮีนจาที่หลบหนีจากการฆ่าล้างชาติพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในรัฐยะไข่
“ตัวเลขนี้ควรจะทำให้ประชาคมระหว่างประเทศตระหนักและกระตุ้นให้พวกเขาลงมือทำอะไรบางอย่าง คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบ และจะต้องมีการคว่ำบาตรพวกที่อยู่เบื้องหลังความป่าเถื่อนนี้”
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมียนมาและบังกลาเทศตกลงร่วมกันที่จะส่งชาวโรฮีนจากลับสู่รัฐยะไข่ จนทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนออกมาวิจารณ์ถึงความอันตรายต่อชนกลุ่มน้อยนี้
“ในตอนนี้ผู้คนยังคงหลบหนีออกจากเมียนมาเข้าบังกลาเทศ และบางคนที่ข้ามพรมแดนไปได้ก็ยังตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในช่วงหลายสัปดาห์นี้” ผู้อำนวยการหว่องกล่าว “ด้วยสาเหตุที่มีกลุ่มช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพียงน้อยนิดที่สามารถเข้าถึงพื้นที่ในยะไข่ได้ เรารู้สึกหวั่นเกรงต่อชะตากรรมชาวโรฮีนจาที่ยังอยู่ในนั้น”
ถึงวันนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าชะตากรรมที่ชาวโรฮีนจาต้องเผชิญในอนาคตต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร
Photo: AFP
อ้างอิง: