ผลสำรวจเผย คนไทย 64.3% ไม่ได้ยื่นภาษี สาเหตุหลักคือมีความรู้ความเข้าใจต่ำ จนถึง ‘ไม่รู้เลย’ พบ Gen X เป็นเจเนอเรชันที่อยู่ในเกณฑ์ยื่นแบบ แต่ไม่ได้ยื่นมากที่สุด ขณะที่กว่า 75% ของคนไทยมองว่าการจัดเก็บภาษีเงินได้ปัจจุบันมีความเป็นธรรมปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ
วันนี้ (27 พฤษภาคม) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยผลการสำรวจที่ทำร่วมกับบริษัท ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด (SAB) พบว่าคนไทย 64.3% ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2565 หรือมีผู้ที่ยื่นแบบ 35.7% เท่านั้นจากกลุ่มตัวอย่าง
โดยจำนวนกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบนี้ 50.5% เป็นผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ต้องยื่น ส่วนอีก 13.8% ไม่เข้าข่ายต้องยื่นภาษี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือเป็นผู้ว่างงาน/อยู่ระหว่างการศึกษาที่ไม่มีเงินได้
ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นเมื่อปี 2566 โดยมีกลุ่มตัวอย่างคือประชาชนอายุ 25 ปีขึ้นไป จำนวน 3,846 คน ใน 14 จังหวัด ทุกภูมิภาค
รู้จักประชากรไทยกลุ่มที่ยื่นแบบในปี 2565
- 60.0% เป็นกลุ่ม Gen Y
- 53.6% จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป
- ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่มีเงินเดือนประจำ
- 45.5% พนักงานบริษัทเอกชน
- 22.2% ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/พนักงานรัฐ
- รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 27,827 บาท/คน/เดือน
- 80.8% มีสถานะทางการเงินที่รายได้เพียงพอกับรายจ่าย
รู้จักกลุ่มคนที่อยู่ในเกณฑ์ต้องยื่นแบบ ‘แต่ไม่ยื่น’ ในปี 2565
- กระจายอยู่ในกลุ่ม Gen X (37.6%), Gen Y (30.1%) และ Baby Boomer (26.3%)
- 94.0% มีระดับการศึกษาไม่เกิน ม.ปลาย/ปวช.
- 92.9% เป็นแรงงานนอกระบบ
- รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 12,115 บาท/คน/เดือน
- ส่วนใหญ่มีสถานะการเงินที่ไม่มั่นคงนัก
- 55.5% มีรายได้เท่ากับรายจ่าย
- 31.3% มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้
เปิดระดับความรู้ความเข้าใจในการยื่นภาษีของคนไทย
โดย 57.9% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ‘ไม่รู้ข้อมูลเลย’ จนถึง ‘มีความรู้ระดับต่ำ’ ขณะที่กลุ่มที่ยื่นแบบในปี 2565 มีความรู้ ‘ปานกลาง’ เท่านั้น
ทั้งนี้ การรับรู้น้อยมาก อาทิ ไม่ทราบว่าจะมีภาระทางภาษีเพิ่มเติมหากไม่จ่ายภาษีตามกำหนด และมีโทษปรับหรือจำคุกในกรณีที่ไม่ยื่นแบบเพื่อเลี่ยงภาษี
ขณะที่ 65.6% ไม่ทราบว่า ‘การยื่นแบบไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสียภาษี’
ทัศนคติต่อความเป็นธรรมของระบบภาษีเงินได้ไทย
ผลสำรวจยังพบว่า มากกว่า 75% ของคนไทยคิดว่าระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้มีความเป็นธรรมปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ โดย 51.7% เห็นว่ามีความเป็นธรรมปานกลาง ขณะที่ 24.1% เห็นว่ามีความเป็นธรรมในระดับน้อย
โดยจากการสัมภาษณ์เพิ่มเติมในกลุ่มที่มองว่า ‘ไม่เป็นธรรม’ มองว่าเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีต่ำเกินไป ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพปัจจุบัน และผู้มีรายได้สูงบางกลุ่มอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในการหลบเลี่ยงภาษีเพื่อให้มีภาระในการจ่ายภาษีน้อยลง
นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่า 70.9% เต็มใจที่จะยื่นแบบหากได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้นหรือมากขึ้น โดย 57.5% ของคนกลุ่มนี้มองว่าสวัสดิการที่รัฐจัดให้ในปัจจุบันยังไม่คุ้มค่ากับภาษีที่ต้องจ่าย
อ้างอิง: