×

6 องค์กรวิชาชีพสื่อยื่น กสม. ตรวจสอบการใช้กฎหมายของรัฐในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำกัดเสรีภาพประชาชนและสื่อ

โดย THE STANDARD TEAM
31.07.2021
  • LOADING...

วานนี้ (30 กรกฎาคม) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ปรีดา คงแป้น, ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี, ศยามล ไกยูรวงศ์, ปิติกาญจน์ สิทธิเดช และ วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รับเรื่องร้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting) จากผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กรณีขอให้ตรวจสอบการคุกคามการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชนโดยรัฐ สืบเนื่องจากกรณีที่รัฐบาลประกาศใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 27 และ ฉบับที่ 29 ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งระบุมาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยองค์กรวิชาชีพสื่อเห็นว่า ข้อกำหนดฯ ทั้ง 2 ฉบับ เป็นการให้อำนาจรัฐใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวางในการควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนตลอดจนการใช้สื่อออนไลน์ของประชาชนทั่วไป อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกอย่างชัดแจ้ง

.

ในการนี้ กสม. ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับองค์กรวิชาชีพสื่อ โดยมีความห่วงกังวลต่อการบังคับใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 27 และฉบับที่ 29 ซึ่งไม่เพียงจะกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ โดยก่อนหน้านี้ กสม. เคยออกมาย้ำเตือนรัฐบาลให้ทบทวนข้อกำหนด ฉบับที่ 27 โดยเฉพาะข้อที่ 11 แล้ว อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังประกาศใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ตามมาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมีสาระให้อำนาจรัฐครอบคลุมไปถึงการกำกับดูแลสื่ออินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวด และเมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรการการจัดการข่าวปลอม หรือ Fake News ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัวให้แต่ละหน่วยงานแก้ไขปัญหา และแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในการเผยแพร่ข่าวปลอมด้วยนั้น ยิ่งอาจทำให้การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชนต้องตกอยู่ในภาวะถูกคุกคาม และไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิดร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ซึ่ง กสม. จะได้ตรวจสอบและจัดทำรายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในประเด็นดังกล่าวเสนอรัฐบาลต่อไป

.

“ในภาวะวิกฤต การรับรู้และส่งต่อข้อมูลข่าวสารอาจมีความคลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้องได้ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง อย่างไรก็ดี การจำกัดการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนและประชาชนอย่างเคร่งครัด อาจยิ่งไม่เป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศ” ประธาน กสม. กล่าว

.

ทั้งนี้ ในการพูดคุยกับผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ กสม. ยังได้หารือถึงแนวทางในการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย เช่น การส่งเสริมความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ไม่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) หรือละเมิดสิทธิผู้อื่น เสรีภาพในการสื่อสารและการแสดงออกของประชาชน และการกำกับดูแลกันเองของสื่อเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising