×

‘6 หุ้นโรงไฟฟ้า’ ติดชาร์ตร่วงแรงสุดกลุ่ม SET100

26.10.2020
  • LOADING...
หุ้นโรงไฟฟ้า ร่วง SET100

HIGHLIGHTS

4 mins read
  • 15 อันดับแรกของหุ้นในกลุ่ม SET100 ที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เข้าสู่ครึ่งหลังของปีนี้ พบว่าเป็นหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าถึง 6 บริษัท 
  • 3 ปัจจัยหลักที่กดดันหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าคือ ‘อุปสงค์ไฟฟ้าต่ำกว่าคาด – บอนด์ยีลด์ขาขึ้น – แนวโน้มปรับลดค่าไฟฟ้า’

หุ้นในกลุ่ม SET100 ตั้งแต่เข้าสู่ครึ่งหลังของปีนี้ ภาพรวมยังคงติดลบอยู่ราว 15% โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวลดลงและกดดันดัชนีมากที่สุดคือ ‘กลุ่มโรงไฟฟ้า’ ซึ่งพบว่า 15 อันดับแรกของหุ้นที่ร่วงแรงสุดในกลุ่มมีหุ้นโรงไฟฟ้าถึง 6 บริษัท ได้แก่ บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) -32.49%, บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) -31.17%, บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) -27.55%, บมจ.บีซีพีจี (BCPG) -25%, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) -24.50% และ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) -23.36%



ขณะที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมเป็นอีกกลุ่มที่ปรับตัวลดลงแรงเช่นกัน โดยมีหุ้นอย่าง บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) -24.70% และ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) -24.68%

 

หุ้น SET100 ที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด 15 อันดับแรก ในช่วงครึ่งหลังปี 2563 อินโฟกราฟฟิก

 

ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่าหุ้น ‘กลุ่มโรงไฟฟ้า’ ถูกกดดันจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) ซึ่งอาจจะมีการทบทวนและปรับแผนอีกครั้ง เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศอาจจะน้อยกว่าที่คาดไว้ รวมถึงการเลื่อนประมูลโครงการโรงไฟฟ้าค้างท่อไปเป็นปี 2564 จากเดิมที่คาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในปีนี้

 

นอกจากนี้ปัจจัยที่เข้ามากดดันหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าคือ ‘การเพิ่มขึ้นของ Bond Yield’ หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณจากในสหรัฐฯ ทำให้หุ้นกลุ่ม Defensive อย่างกลุ่มโรงไฟฟ้ามักจะถูกลดน้ำหนักการลงทุนลง ประกอบกับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดแรงขายทำกำไรบางส่วนออกมา

 

ขณะที่หุ้น ‘กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม’ ปรับตัวลดลงมาด้วยปัจจัยทางการเมืองและเรื่องโควิด-19 โดยเฉพาะประเด็นการเมืองที่น่าจะเป็นปัจจัยกดดันหลัก ทำให้อนาคตของหุ้นกลุ่มนี้มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น โดยเฉพาะส่วนของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็อาจจะทำให้นโยบายต่างๆ ไม่ต่อเนื่องหรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงได้

 

ส่วนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักลงทุนต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาลงทุนไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้เหมือนช่วงปกติ และถึงแม้ว่าจะมีการผ่อนคลายสำหรับการเดินทางประเภทพิเศษ แต่ด้วยการแพร่ระบาดที่ยังคงสูงอยู่ในต่างประเทศ ทำให้หุ้นกลุ่มนี้ยังคงอ่อนแออยู่เช่นกัน

 

“โดยภาพรวมมองว่าหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าหลังจากที่ราคาหุ้นลดลงมาต่อเนื่องสามารถทยอยเข้าซื้อได้เพื่อลงทุนในระยะกลางถึงยาว ส่วนกลุ่มนิคมฯ หากเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยอาจจะหลีกเลี่ยงไปก่อนเพื่อรอประเมินทิศทางการเมืองว่าจะมีทางออกอย่างไร แต่หากการเมืองมีความชัดเจนแล้ว หุ้นกลุ่มนิคมฯ ก็น่าจะฟื้นตัวได้เร็ว และได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการลงทุนออกจากประเทศจีนของบางธุรกิจ”

 

สำหรับหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่าน่าสนใจที่จะเข้าซื้อคือ GPSC ด้วยราคาปัจจุบันที่มีค่า P/E 16 เท่า อิงกับกำไรปี 2564 และธุรกิจของ GSPC ที่มีส่วนผสมทั้งจากโรงไฟฟ้าดั้งเดิม โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และแบตเตอรี่

 

ด้าน บล.บัวหลวง ระบุว่าในปี 2564 เป็นปีที่ท้าทายสำหรับหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งจะมีประเด็นด้านลบที่ต้องพิจารณา เช่น

 

1. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น (ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ) ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงที่ราคาเป้าหมายของหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ส่วนใหญ่ใช้วิธีประเมินมูลค่าแบบกระแสเงินสดคิดลด (DCF) อาจถูกปรับประมาณการลง

 

2. อุปสงค์ไฟฟ้าในปีหน้า ถึงแม้จะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ แต่คาดว่าจะไม่มากจนกระทั่งต้องมีการออก PPA ใหม่

 

3. การปรับลดค่าไฟฟ้า (FT) จะกดดันอัตรากำไรของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ในปีหน้า

 

ด้วยปัจจัยต่างๆ รุมเร้า มองว่าจะต้องเลือกหุ้นลงทุนเป็นรายตัวสำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้า โดยเราเลือก GULF เพราะมีโรงไฟฟ้าที่จะสร้างเสร็จและเริ่มขายไฟ อีกทั้งฐานทุนที่แข็งแกร่งหลังเพิ่มทุนช่วยเพิ่มโอกาสขยายการลงทุนไปต่างประเทศ

 

‘วิกรม กรมดิษฐ์’ เก็บหุ้น AMATA เพิ่ม ถือรวม 25.3872%
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับแบบรายงานการได้มาของหุ้น AMATA โดย วิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ AMATA ซึ่งเป็นการได้มาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 คิดเป็นสัดส่วน 2.748% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ทำให้สัดส่วนการถือครองภายหลังการได้มารวมเป็น 25.3872% ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้อนุมัติผ่อนผันให้วิกรมไม่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทโดยอาศัยมติประชุมผู้ถือหุ้น โดยมีผลเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2563

 

ผู้บริหาร WHAUP มองธุรกิจสาธารณูปโภคฟื้นตัวช่วงไตรมาส 4/63
ด้าน นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยผ่านเอกสารเผยแพร่ถึงภาพรวมธุรกิจสาธารณูปโภคในประเทศช่วงโค้งสุดท้ายปี 2563 มีทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้นจากสถานการณ์ภัยแล้งที่คลี่คลายและการกลับเข้าสู่การดำเนินการผลิตปกติของผู้ใช้น้ำ อีกทั้งการเริ่มประกอบการและการขยายกำลังการผลิตของลูกค้าปัจจุบันจะส่งผลให้การใช้น้ำมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าและปิโตรเคมีซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้ารายหลัก มีแนวโน้มการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ GULF SRC ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 2,500 เมกะวัตต์ และจะมีความต้องการใช้น้ำสูงสุดประมาณ 18 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เมื่อเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทุกหน่วยภายในปี 2565 และบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมิคอล (ประเทศไทย) ผู้ประกอบการในกลุ่มปิโตรเคมีในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) อยู่ระหว่างการขออนุญาตขยายกำลังผลิต ซึ่งจะส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มอีกประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ถือเป็นการส่งสัญญาณการเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

 

ล่าสุด บริษัท ดับบลิวเอชเอวอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ WHAUP ได้ลงนามในสัญญาน้ำปราศจากแร่ธาตุ เฟสที่ 2 กับ GPSC เพื่อจำหน่ายน้ำปราศจากแร่ธาตุเพิ่มอีกประมาณ 1.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีอายุสัญญา 15 ปี คิดเป็นมูลค่าตามสัญญาประมาณ 1 พันล้านบาท โดยจะเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนธันวาคม 2563 เป็นต้นไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X