×

ปากคำ ‘ช่างภาพ-สื่อมวลชน’ ประจักษ์พยาน ในประวัติศาสตร์บาดแผล ‘6 ตุลา 19’

05.10.2022
  • LOADING...
6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

THE STANDARD เข้าร่วมชมนิทรรศการ ‘6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ’ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 วันเปิดงาน ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้เข้าร่วมงานได้พบกับช่างภาพของหนังสือพิมพ์ต่างๆ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมกับชมนิทรรศการ ‘ภาพข่าว’ ขณะพวกเขาอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กับสนามหลวง และเป็นผู้บันทึกภาพเหตุการณ์ความรุนแรงในวันนั้น 

 

โดยมีทั้งภาพที่เคยได้รับการเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ไปแล้ว และภาพที่ยังไม่เคยได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อใดมาก่อน เนื่องจากผู้จัดนิทรรศการนี้ได้รับฟิล์มจากช่างภาพโดยตรง ซึ่งอนุเคราะห์ให้นำมาเผยแพร่ด้วยเหตุผลเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ จึงมีทั้งภาพที่หลายคนเคยเห็นแล้วผ่านสื่อต่างๆ และภาพที่ทุกคนยังไม่เคยเห็น 

 

6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

 

สุภาภรณ์ อัษฎมงคล อดีตผู้สื่อข่าวในช่วงปี 2533-2555 ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้จัดนิทรรศการ โดยเป็นผู้สืบค้นข้อมูล คัดสรรภาพ ทำคำบรรยาย และประสานงาน กล่าวถึงเบื้องหลังการประสานงาน เพื่อให้ได้ ‘ข้อมูลใหม่’ ในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ว่า เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2564) เห็นคุณสายัณห์ พรนันทารัตน์ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์ โพสต์ภาพ ‘เหตุการณ์เดือนตุลา’ ทาง Facebook โดยมีภาพที่ช่างภาพคนหนึ่งคือ คุณไกรทิพย์ พันธุ์วุฒิ ขณะนั้นเป็นช่างภาพสำนักข่าว UPI ถูกยิงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จึงติดต่อสอบถามเกี่ยวกับภาพเหตุการณ์ ได้ทราบข้อมูลว่าภาพที่มีคุณไกรทิพย์ พันธุ์วุฒิ ถูกยิงนี้เป็นภาพที่ถ่ายโดย คุณสมบูรณ์ เกตุผึ้ง อดีตช่างภาพสยามรัฐ และได้รับคำแนะนำให้ติดต่อคุณสมบูรณ์ 

 

จนกระทั่งได้พบคุณสมบูรณ์ปลายปี 2564 และได้รับฟิล์ม 13 ม้วนจากคุณสมบูรณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เป็นภาพที่ถ่ายโดยกลุ่มช่างภาพในเหตุการณ์ รวมถึงภาพที่ถ่ายโดยคุณสมบูรณ์ด้วย จากนั้นได้นำฟิล์มมาทำสำเนาและได้ดูภาพจากไฟล์ดิจิทัล กลางปี 2565 พบว่ามี 400 กว่าภาพจากฟิล์ม 13 ม้วน แต่ละม้วนจะมีภาพประมาณ 36-40 ภาพ 

 

ต่อมาได้รับคำแนะนำจากคุณสายัณห์และคุณสมบูรณ์ให้ติดต่อคุณปรีชา การสมพจน์ อดีตช่างภาพเดลินิวส์ ผู้ถ่ายภาพนิสิตจุฬาฯ ถูกตอกอกที่สนามหลวงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จากนั้นจึงได้ติดต่อ และพบกับคุณปรีชาเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2565

 

สุภาภรณ์กล่าวว่า นิทรรศการ ‘6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ’ มีธีมนิทรรศการ​นี้​คือ​ ปิศาจอยู่​ในรายละเอียด​ (The​ devil is​ in​ the​ detail​s.)​ โดยในวันที่ 1 ตุลาคม ได้เชิญช่างภาพในเหตุการณ์ 5 ท่าน เพื่อให้สื่อมวลชนอาวุโสทั้ง 5 ท่าน มาเป็นผู้เปิดประตูเข้านิทรรศการในวันเปิดนิทรรศการวันแรก 

 

โดยมี 1 ใน 5 ท่านเป็นทั้งช่างภาพและผู้สื่อข่าวในเหตุการณ์ และปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ (กิเลน ประลองเชิง)

 

6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

 

ผู้จัดงานตั้งใจใช้คำว่า ‘เปิดประตูนิทรรศการ’ ไม่ใช้คำว่า ‘พิธีเปิด’ เพราะคำว่าเปิดประตู นอกจากมีความหมายถึง ช่างภาพเป็นผู้เปิดประตูนิทรรศการจริงๆ ด้วยตัวเองแล้ว ยังมีความหมายว่า ภาพซึ่งเป็นผลงานการทำงานของช่างภาพ เป็นประตูที่เปิดให้คนรุ่นหลังได้เห็นรายละเอียดของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ด้วย

 

สำหรับสื่อมวลชนอาวุโสทั้ง 5 ท่านประกอบด้วย (จากซ้ายไปขวาในภาพ)

 

ประกิต หลิมสกุล (กิเลน ประลองเชิง)

 

สมบูรณ์ เกตุผึ้ง อดีตช่างภาพสยามรัฐ

 

ปรีชา การสมพจน์ อดีตช่างภาพเดลินิวส์ ผู้ถ่ายภาพตอกอก

 

ปวิตร โสรจชนะ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์

 

สายัณห์ พรนันทารัตน์ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์

 

นอกจากนี้ยังมีสื่ออาวุโสอีกท่านที่มาร่วมงาน พร้อมนำอาหาร-ขนมมาฝากผู้จัดงานด้วย คือ คุณสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ 

 

สุภาภรณ์ให้ข้อมูลว่า ในนิทรรศการสามารถชมผลงานภาพที่กดชัตเตอร์โดยคุณสมบูรณ์และคุณปรีชา ซึ่งเป็นผลงานภาพที่สามารถระบุตัวช่างภาพได้ ขณะที่ภาพอื่นๆ อีกหลายภาพยังไม่สามารถระบุตัวช่างภาพได้ เนื่องจากเป็นฟิล์มจากกลุ่มช่างภาพ ซึ่งผ่านเวลามา 46 ปี 

 

6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

 

สายัณห์ พรนันทารัตน์ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์ และ สมบูรณ์ เกตุผึ้ง อดีตช่างภาพสยามรัฐ

 

ส่วนบุคคลที่อยู่ในภาพนิทรรศการนี้ จะมี 3 ใน 5 ช่างภาพอาวุโสที่มาร่วมเปิดประตูนิทรรศการ ประกอบด้วย 2 ภาพคือ

 

  1. ภาพตัวคุณปรีชาอยู่ในเฟรมเดียวกับภาพที่คุณไกรทิพย์ถูกยิง และภาพนี้ถ่ายโดยคุณสมบูรณ์

 

  1. ภาพตัวคุณสายัณห์และคุณปวิตร ซึ่งเป็นภาพขยายใหญ่ให้เห็นเหตุการณ์ ในชั้น 1 ของอาคารที่จัดนิทรรศการ

 

สุภาภรณ์กล่าวว่า ภาพประวัติศาสตร์เหล่านี้ เมื่อช่างภาพจากยุคนั้นมาดูภาพก็ได้ช่วยให้รายละเอียดแก่ผู้จัดงานและผู้ศึกษาข้อมูลได้รับข้อมูลที่จะนำไปสู่การอธิบายเรื่องราวที่หลากหลายขึ้น รวมถึงภาพที่ยังไม่ได้รับการเผยแพร่มาก่อนสามารถนำมาประกอบการทำความเข้าใจเพิ่มเติมได้

 

6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

 

เมื่อถามว่าภาพไหนมีความหมายต่อคุณสุภาภรณ์ที่สุด ในฐานะผู้จัดนิทรรศการ 

 

สุภาภรณ์พาเดินขึ้นไปชมภาพที่อยู่ชั้นบนสุดของอาคารที่ใช้จัดนิทรรศการ คือ ชั้น 4 พร้อมกับเล่าว่า ภาพนี้สื่ออารมณ์ความรู้สึกว่า แม้ไม่เห็นหน้าคนในภาพ แต่มี ‘ความกลัว’ ปรากฏอยู่ในภาพ เราเห็นแค่ข้างหลังเขา แต่ท่าทีของการที่ปรากฏอยู่ตรงนี้ ให้ความรู้สึกว่ามีความกลัวอยู่ภายในภาพนี้ รวมถึงแสงเงาของภาพด้วย 

 

แล้วเป็นภาพที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเกี่ยวกับ ‘6 ตุลา 19’ นี่เป็นครั้งแรกๆ ที่เราได้ดูสำเนาฟิล์มชุดนี้ คือเห็นในปีนี้ 2565 หลังขอฟิล์มมาทำสำเนา พอเป็นไฟลล์ดิจิทัล ก็ดูในคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ไม่เคยเห็นเผยแพร่ในสื่ออื่นมาก่อน เป็นภาพที่ได้รับจากช่างภาพโดยตรง 

 

น่าจะเป็นภาพในธรรมศาสตร์ แต่ไม่รู้มุมที่ชัดเจน กำลังสงสัยว่า ใช่ข้างๆ หอประชุมใหญ่หรือไม่ เพราะมีภาพ 2-3 ช็อตใกล้ๆ กัน พยายามจะเทียบ จึงยังไม่สามารถเจาะจงว่าเป็นหอประชุมใหญ่ แต่น่าจะเป็นข้างอาคารแห่งหนึ่ง

 

6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

 

สุภาภรณ์กล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าเฟรมไหนถ่ายตรงไหน มีเบื้องหลังการถ่ายภาพอย่างไร ยกเว้นภาพที่พิเศษอย่างของคุณปรีชา ผู้ถ่ายภาพตอกอก

 

เนื่องจากในฟิล์ม 13 ม้วน ที่ได้รับจากคุณสมบูรณ์เป็นภาพของทีมช่างภาพหนังสือพิมพ์ จึงไม่สามารถเคลมได้ว่าเป็นของคนใดคนหนึ่ง และคุณสมบูรณ์ที่มอบฟิล์มให้มาทำสำเนา ก็ไม่ได้เคลมว่าเป็นของเขาทั้งหมด แต่แน่นอนถ้าภาพไหนที่เขาถ่าย เขาจะจำได้ ขณะที่บางรูปไม่สามารถระบุลงไปได้ขนาดนั้น ประกอบกับผ่านเวลามาแล้ว 46 ปี 

 

6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

 

อดีตแกนนำนักศึกษา เข้าร่วมชมนิทรรศการ

 

กฤษฎางค์ นุตจรัส หนึ่งในแกนนำนักศึกษายุค ‘6 ตุลา 19’ เข้าร่วมชมวันเปิดนิทรรศการด้วย

 

กฤษฎางค์เป็น ‘นายกสโมสรนักศึกษาธรรมศาสตร์’ ในปีการศึกษา 2521 ตำแหน่งนี้มีเพียงปีเดียว เป็นตำแหน่งคล้าย อมธ. แต่เนื่องจากบรรยากาศทางการเมืองหลัง 6 ตุลา 19 ผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้มีสภานักศึกษา และ อมธ. จึงมีตำแหน่งดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หลังจากปีนั้นจึงมี อมธ. ตามปกติ 

 

ปัจจุบันกฤษฎางค์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดงานรำลึก 6 ตุลา 19 ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีคำสั่งแต่งตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วยศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และผู้บริหารมหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดงานรำลึก 6 ตุลา ต่อเนื่องทุกปี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และเขายังเป็นทนายความของนักเคลื่อนไหวหลายคนในปัจจุบันด้วย 

 

6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

 

กฤษฎางค์กล่าวว่า ได้รับเชิญจากผู้จัดงานให้ไปชมนิทรรศการ ผู้จัดงานแจ้งว่ามีภาพเหตุการณ์ที่ยังไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน และมีช่างภาพที่บันทึกเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา 19 ไปร่วมงานด้วย 

 

เมื่อเข้าชมนิทรรศการแล้วรู้สึกเข้าใกล้ความเป็นจริงในเหตุการณ์ เนื่องจากมีการขยายเป็นภาพใหญ่ จึงทำให้เห็นแววตานักศึกษาที่ถูกทำร้าย เห็นตำรวจ เห็นกลุ่มมวลชนซึ่งมีทั้งมวลชนจัดตั้งและมวลชนที่ถูกปลุกปั่น 

 

กฤษฎางค์กล่าวว่า อยากชวนทุกคนไปชมนิทรรศการ เพราะจัดโดยผู้จัดชุดเดียวกันกับงานครบรอบ ‘44 ปี 6 ตุลา 19’ ในปี 2563 แต่มีความใหม่เพิ่มขึ้น สร้างบรรยากาศเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงเหตุการณ์จริง มีการล้อมของฝ่ายขวาและตำรวจ มีภาพเหตุการณ์ที่เราไม่เคยเห็นและเพิ่งเห็นวันนั้น เช่น ภาพการไล่ตีผู้ชุมนุมบางมุม ภาพมวลชนจากลานพระบรมรูปทรงม้า คืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ก่อนจะมาถึงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่สนามหลวง ได้เห็นภาพบุคคลผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่อเหตุ ซึ่งบางคนเสียชีวิตไปแล้ว และบางคนยังมีชีวิตอยู่ 

 

6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

สายัณห์ พรนันทารัตน์ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์

 

ไม่แน่ใจว่าจะมีการยึดฟิล์มหรือเปล่า 

 

สายัณห์เปิดประตูนิทรรศการแล้วเดินเข้าไปชี้ภาพขนาดใหญ่ที่อยู่บนผนังชั้น 1 จากการจัดนิทรรศการทั้งหมด 4 ชั้น 

 

โดยเป็นภาพขณะสายัณห์ทำหน้าที่สื่อมวลชน ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ขณะอยู่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 

 

ส่วนภาพที่สายัณห์ถ่ายในวันนั้น หลายภาพได้รับการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในวันรุ่งขึ้น ก่อนที่รัฐบาลจะสั่งปิดหนังสือพิมพ์ 2 วันหลัง 6 ตุลาคม 2519

 

สายัณห์เล่าว่า ตอนเกิดเหตุการณ์เข้าไปถ่ายข้างใน ก็ทยอยเอาฟิล์มออกมาทีละ 1-2 ชุด เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีการยึดฟิล์มหรือเปล่า กลัวจะมีการเซ็นเซอร์ภาพจากช่างภาพหนังสือพิมพ์ ก็เลยรวมภาพของช่างภาพ 7-8 คน เข้ามาจุดหนึ่งก่อน มาส่งที่ออฟฟิศ

 

นอกจากระวังว่าจะถูกยึดฟิล์มแล้ว ก็ต้องระวังกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย เพราะบางคนอาจจะไม่ชอบช่างภาพ กลัวว่าถ่ายไปแล้วจะเป็นหลักฐานให้เขาถูกจับกุม อะไรทำนองนั้น คือทำงานก็ต้องระวังตัวด้วย เป็นการทำงานข่าวที่อยู่ระหว่างความขัดแย้ง มีการขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งบวชอยู่วัดบวรนิเวศฯ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาขึ้นมา 

 

เหตุการณ์บานปลาย หลังมีการจัดแสดงละครแขวนคอที่ลานโพธิ์ ธรรมศาสตร์ เป็นละครจากข่าวเหตุการณ์คนถูกแขวนคอที่ จ.นครปฐม 

 

‘ฝ่ายที่ต้องการจะให้ยุติการชุมนุม’ ก็ต้องหาช่องทางว่าจะยุติอย่างไรถึงจะได้จบ บังเอิญมีภาพที่แขวนคอคล้ายองค์รัชทายาทในขณะนั้น (ภาพในหนังสือพิมพ์ดาวสยาม) ซึ่งจะจงใจหรือไม่ เราไม่ทราบ กับทางสถานีวิทยุยานเกราะโฆษณาว่า หมิ่นองค์รัชทายาท จากภาพหนังสือพิมพ์ดาวสยาม จึงมี ‘ฝ่ายที่ต้องการจะให้ยุติการชุมนุม’ มารวมตัวกันที่สนามหลวง แล้วก็มาขับไล่กลุ่มผู้ชุมนุม แล้วก็มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเคลียร์ในธรรมศาสตร์ เราก็ต้องระวังตัว ต้องวางแผนว่าจะอยู่ตรงไหนถึงจะปลอดภัย ส่วนใหญ่จะอยู่หลังเจ้าหน้าที่ เพราะเจ้าหน้าที่มีอาวุธร้ายแรงครบมือ ส่วนในธรรมศาสตร์ก็มีเสียงปืน ไม่รู้มาจากไหนบ้าง ไม่รู้ใครเป็นใคร ที่ตึกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถูกยิงเสียหายมาก กระจกแตก

 

6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

 

ระบบจัดเก็บฟิล์ม ไม่คิดถึงประวัติศาสตร์ 

 

สายัณห์กล่าวว่า การจัดเก็บรักษาฟิล์มของระบบหนังสือพิมพ์บ้านเราไม่คิดถึงประวัติศาสตร์ ฟิล์มจึงมีอยู่น้อย ส่วนใหญ่จะเป็นภาพถ่ายมากกว่า การเก็บฟิล์มสมัยก่อนต้องมีผู้รู้ควรจะเก็บห้องแบบไหน และส่วนใหญ่ขณะนั้นจะเป็นฟิล์มขาว-ดำ

 

เราอยู่ในเหตุการณ์ ก็ไม่อยากให้เหตุการณ์เกิดขึ้น ฟิล์มสำคัญเราก็เก็บไว้ทั้งภาพและฟิล์ม เพราะถ้าไว้ที่ออฟฟิศก็ไม่มีใครสนใจ การเก็บไม่มีมาตรฐาน การเก็บภาพไม่เหมือนปัจจุบันที่เก็บในฮาร์ดดิสก์ 

 

ผลประโยชน์ขัดกันก็บรรลัย 

 

เมื่อถามว่าในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 การทำหน้าที่สื่อมวลชนท่ามกลางความขัดแย้ง ต้องวางตัวอย่างไร 

 

สายัณห์กล่าวว่า สื่อมวลชน (ภาคสนาม) เราเป็นกลาง ส่วนทิศทางของแต่ละสำนักข่าวเป็นเรื่องของข้างใน กอง บ.ก. ข่าวแบบไหน ลงไปแล้วถ้าใครชอบก็ชอบใจ ส่วนใครเสียผลประโยชน์เป็นอีกฝั่ง ก็ไม่พอใจ ปัจจุบันการเมืองเรื่องผลประโยชน์ก็ยังมีอยู่ ซึ่งควรจะพัฒนาสอนให้ลูกหลานช่วยกันพัฒนาบ้านเมือง 

 

ส่วนอดีตถึงปัจจุบันก็ยังมีความขัดแย้ง มีฝ่ายสอนให้ลูกหลานทะเลาะกัน ไม่ใช่อะไรหรอก เพราะผลประโยชน์ ผลประโยชน์ขัดกันก็บรรลัย

 

การเมืองตอนนั้นมีการแบ่งฝ่ายเป็น ‘เผด็จการ-ประชาธิปไตย’ ผ่านมา 40-50 ปีก็ยังได้ยิน 2 คำนี้ ‘เผด็จการ-ประชาธิปไตย’ ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเพราะผลประโยชน์และพวกพ้อง 

 

ตอนนั้นไม่ถูกยึดฟิล์ม แต่พร้อมเอาฟิล์มออกจากพื้นที่ก่อน ทำงานสมัยก่อนลำบาก ไม่เหมือนสมัยนี้ที่พอถ่ายปุ๊บก็ส่งทางอินเทอร์เน็ตได้เลย สมัยก่อนต้องเอาฟิล์มออกมาก่อน

 

6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

สมบูรณ์ เกตุผึ้ง อดีตช่างภาพสยามรัฐ

 

สมบูรณ์ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับการติดต่อจาก เปิ้ล-สุภาภรณ์ อัษฎมงคล ด้วยเหตุผลที่ฟังได้ จึงนำฟิล์มมาอนุเคราะห์ให้จัดงาน เราอยู่ในเหตุการณ์ พอเล่าได้ไม่มากก็น้อย เป็นวิทยาทานให้เด็กรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่จะได้ศึกษา

 

จึงส่งมาให้ผู้จัดนิทรรศการ 13 ม้วน ฟิล์มเคยถูกเก็บที่โรงพิมพ์ทิ้งระเกะระกะ บางทีก็ย้ายไปย้ายมา ไม่เห็นคุณค่าในการเก็บรักษา 

 

สมบูรณ์บอกด้วยว่า นิทรรศการนี้จัดได้โอเค ดีมาก 

 

6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

 

หน้าที่เราคือสื่อมวลชน 

 

เมื่อถามว่าในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 การทำหน้าที่สื่อมวลชนท่ามกลางความขัดแย้ง ต้องวางตัวอย่างไร 

 

สมบูรณ์กล่าวว่า นึกเสียว่าทุกคนต้องถ่ายภาพให้ได้ ถ่ายเหตุการณ์ให้ได้ดีที่สุด การจะวางตัวไปอยู่ข้างหนึ่งข้างใดเป็นไปไม่ได้ เพราะหน้าที่เราคือสื่อมวลชน ต้องทำได้ อยู่ซ้ายอยู่ขวาไม่ได้ เรามีหน้าที่ส่งเข้ากอง บ.ก. แล้วกอง บ.ก. เป็นผู้ตัดสินใจ 

 

ใครเสียผลประโยชน์จากข่าวที่ลงไปก็โกรธพวกเรา มีการแบ่งฝ่าย ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ 

 

6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

 

นำชมภาพช่างภาพถูกยิง และภาพผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่สั่งถอดเสื้อ 

 

สมบูรณ์นำชมภาพถ่ายที่เขาเป็นผู้กดชัตเตอร์ด้วยตัวเอง เป็นภาพ ‘ไกรทิพย์ พันธุ์วุฒิ’ ช่างภาพ ถูกยิงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งไกรทิพย์ผู้นี้เป็นช่างภาพผู้ถ่ายภาพตำรวจคาบบุหรี่เล็งปืนในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

 

สมบูรณ์บรรยายภาพถ่ายผู้ชุมนุมที่ต้องถอดเสื้อนอนคว่ำบนพื้น ซึ่งเขาเป็นผู้กดชัตเตอร์ด้วยตัวเองเช่นกันว่า เหตุการณ์ขณะนั้นคือ เจ้าหน้าที่สั่งผู้ชุมนุมให้ถอดเสื้อ คว่ำหน้า แล้วยกมือ ในภาพจะเห็นว่าเป็นผู้หญิงสวมเสื้อยกทรง ถูกสั่งให้ถอดเพื่อไม่ให้มีการซุกซ่อนอาวุธ ผู้ชายก็ต้องถอดเสื้อเพื่อให้เห็นว่าปราศจากอาวุธ

 

6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

ปรีชา การสมพจน์ อดีตช่างภาพเดลินิวส์ ผู้ถ่ายภาพตอกอก

 

ภาพรางวัลอิศรา อมันตกุล ประจำปี 2519 

 

ปรีชาเล่าเหตุการณ์ขณะถ่ายภาพในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ว่า ตอนแรกถ่ายอยู่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วพบว่ามีการทุบตีนักศึกษาที่ถูกจับจากหอประชุม แล้วเขาลากไปทางสนามหลวง ตีแล้วลากออกมา มีประมาณ 4-5 คนที่หายไปจากตรงนั้น 

 

เราก็สงสัยว่าหายไปไหน จึงเดินตามไปดู ก็เห็นเหตุการณ์ภาพนี้ (ภาพตอกอก) บริเวณกลางสนามหลวง ด้านหน้าศาลฎีกา ในภาพนี้มีอาจารย์ท่านหนึ่ง (พวงทอง ภวัครพันธุ์) ถามว่าทำไมบางศพจึงมีผ้าห่อศพ เพราะถ้ามาจากหน้าหอประชุมจะไม่มีผ้าห่อศพ แสดงว่ามีการนำศพจากจุดอื่นมาเผาด้วย 

 

ถ่ายจุดนี้ 2 ภาพ แล้วไม่แน่ใจในความปลอดภัย พอแอบถ่าย 2 ภาพตรงนี้แล้วก็วกเข้าไปที่สนามฟุตบอล ธรรมศาสตร์ ซึ่งเขากำลังจับนักศึกษาที่ตึกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีให้มานอนกลางสนามบอล 

 

หลังจากถ่ายภาพตอกอกแล้ว ทราบภายหลังว่าเขานำศพไปแขวนคอที่ต้นมะขาม แล้วเผา คนในภาพคือ วิชิตชัย อมรกุล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในขณะนั้น

 

ลำดับเหตุการณ์คือ นิสิตนักศึกษาถูกตำรวจับจากหอประชุมใหญ่ พอถึงหน้าหอประชุม ‘คน’ (ที่ประท้วงด้านนอกธรรมศาสตร์) ก็ฮือเข้าไปแย่งตัวมา ใช้เก้าอี้ ใช้ขวดทุบตี 

 

หลังจาก 6 ตุลา รัฐบาลสั่งเก็บหนังสือพิมพ์หมด ห้ามพิมพ์ 2 วัน ให้หยุดพิมพ์ ภาพจึงได้เผยแพร่น้อยมาก 

 

ปรีชากล่าวถึงสถานการณ์สื่อมวลชนขณะนั้นว่า ต้องทำตามคำสั่งคณะปฏิวัติ เขาสั่งให้หยุดก็ต้องหยุด เขามีสิทธิปิดหนังสือพิมพ์ได้ ให้หยุดก็ต้องหยุด 

 

อย่างภาพส่งประกวด มีบางคนไม่ยอมให้ส่งประกวด กลัวจะมีปัญหา เราบอกให้ส่งไปก่อน 

 

ภาพตอกอกได้รางวัลอิศรา อมันตกุล ปี 2519 เป็นรางวัลพูลิตเซอร์สื่อมวลชน โดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย

 

ปรีชากล่าวว่า เราได้รางวัล ไม่ใช่ว่าเราเก่ง แต่เป็นจังหวะ โอกาส และเวลา อยู่ถูกที่ ถูกเวลา และอยู่ที่เรากล้าแค่ไหนที่จะเข้าไปเก็บภาพ 

 

มันก็เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของเรา ที่ได้จารึกไว้จนถึงปัจจุบันนี้ 46 ปีแล้ว 

 

เงื่อนไขความรุนแรง 

 

เมื่อถามว่า เรื่อง 6 ตุลา 19 ในอดีตมีการเล่าถึงตัวเอก-ตัวร้ายอย่างไร 

 

ปรีชากล่าวว่า เงื่อนไขความรุนแรงที่ทำให้เกิด 6 ตุลา คือ วิทยุยานเกราะ พ.ท. อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เขาบิลด์มากให้คนรู้สึกว่า นักศึกษาพวกนี้ทำลายสถาบันฯ เป็นคอมมิวนิสต์ และอีกอันคือ หนังสือพิมพ์ดาวสยาม มี 2 ส่วนนี้ที่กระตุ้นความรู้สึกของคนให้มาต่อต้านนักศึกษา เพราะนักศึกษาหลายๆ มหาวิทยาลัยมารวมกันชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ส่วนข้างนอกมีกลุ่มกระทิงแดง

 
6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

 

นโยบายของหนังสือพิมพ์ขึ้นอยู่กับเจ้าของหนังสือพิมพ์ และกอง บ.ก. 

 

เมื่อถามว่า ในมุมสื่อมวลชนภาคสนามในยุคนั้น ได้เจอนักข่าว ช่างภาพดาวสยามหรือไม่ 

 

ปรีชากล่าวว่า เพื่อนเรารู้จักกันหมด เราทำงานในพื้นที่ก็รู้จักกันหมด แต่นโยบายของหนังสือพิมพ์ขึ้นอยู่กับเจ้าของหนังสือพิมพ์ และ บ.ก. หรือคอลัมน์นิสต์ เป็นสำคัญ ส่วนคนที่ทำงานในพื้นที่อย่างนักข่าวจะรู้จักกันหมด ไปทำหน้าที่กัน และเมื่อข่าวเข้าโรงพิมพ์แล้วนี่แหละ หัวหน้าข่าวพาดหัวอย่างไร จับประเด็นอย่างไร หรือคอลัมนิสต์เขียนวิจารณ์อย่างไร แล้วแต่ว่าใครชอบใคร 

 

เรารายงานสิ่งที่เห็นเข้าไปข้างในทั้งหมด ส่วนข้างในกอง บ.ก. มีหัวหน้าข่าว มีรีไรเตอร์ นักข่าวอยู่ข้างนอกโทรศัพท์เข้าไปข้างใน รีไรเตอร์เขียนข่าว ข้างในคัดข่าวไหนขึ้นหัว พาดหัว นั่นคือข่าวหน้า 1 ส่วนคอลัมนิสต์มีอิสระในการเขียน จะวิจารณ์ใครก็ได้ บางทีหนังสือพิมพ์เล่มเดียวกัน คอลัมนิสต์อาจจะเห็นไม่ตรงกันก็มี 

 

6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

 

สื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง 

 

ปรีชากล่าวว่า สื่อก็มีทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายที่นิยมประชาธิปไตยกับฝ่ายเชียร์เผด็จการ มีทั้ง 2 ฝ่าย สมัยนี้โลกโซเชียลมีเดียมันไวนะ เรารู้ ชาวบ้านก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ดีขึ้น แต่ว่าก็ไม่สามารถทำอะไรได้ 

 

ส่วนความขัดแย้ง ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ เพียงแต่รอวันว่าจะรุนแรงเหมือนเดิมหรือเปล่า ก็น่ากลัวอยู่ อย่างพวกทหารเขาก็ยังไม่ละทิ้งที่จะมีอำนาจ สังเกตได้ เขาพยายามทุกวิถีทาง ทีนี้เวลาทหารจะทำอะไร เขาจะสร้างความขัดแย้งก่อน สังเกตไหม การปฏิวัติทุกครั้งจะสร้างความขัดแย้งรุนแรงขึ้นมาก่อน 

 

ปรีชากล่าวถึงความสำคัญของสื่อในการนำเสนอข้อเท็จจริงว่า สมัยนี้ก็ดีขึ้น เสนอข้อเท็จจริงได้มากขึ้น แต่สมัยก่อนไม่ได้ เพราะถูกจำกัด อีกอย่างมีอิทธิพลทั้งจากทหาร สื่อถูกควบคุม ถูกเซ็นเซอร์ หรือมีผู้ใหญ่รู้จักกับเจ้าของโรงพิมพ์ ซึ่งต้องรักษาผลประโยชน์เรื่องรายได้การขายหนังสือ ก็มีส่วนเยอะ ขอเจ้าของโรงพิมพ์ไม่ให้นำเสนอ ทั้งที่เป็นข่าวที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน

 

6 ตุลา 19 ในรอบ 46 ปี 

 

ปรีชากล่าวว่า “ผมไม่แน่ใจว่าทำไม 6 ตุลา จบไปง่ายๆ ทั้งที่หลักฐานต่างๆ มีอยู่เยอะแยะมาก มีการฆ่ากัน แต่ก็ไม่มีการรื้อฟื้น ทุกอย่างจบ เหมือนภารกิจเสร็จ เขาได้เป็นรัฐบาลก็จบแล้ว 

 

“ก็ดีใจที่นิทรรศการวันนี้มารื้อฟื้น 6 ตุลาขึ้นมา เป็นอะไรที่คนไม่ค่อยรู้ ทั้งที่เหตุเกิดกับนักศึกษาเกือบทั้งหมด ขณะที่ 14 ตุลา 16 เหตุเกิดกับคนทั่วๆ ไปด้วย

 

“หลังเหตุการณ์แล้ว ‘6 ตุลา 19’ ก็ยังเงียบมากเป็นสิบปี เขาอาจจะไม่ต้องการให้นักศึกษารวมตัวกันได้อีก ผมไม่แน่ใจ”

 

ปรีชากล่าวว่า ไม่มีใครพูดถึง 6 ตุลาเท่าไร พูดถึงน้อยมาก นอกจากมีการจัดงานแบบนี้ 40 กว่าปีมาแล้วสถานการณ์ที่ฝ่ายเผด็จการทำกับนักศึกษา ผู้รักประชาธิปไตยก็รูปแบบเดิมๆ การสร้างสถานการณ์การก่อหวอดเพื่อความรุนแรงก็เหมือนเดิมทุกอย่าง 

 

หลังๆ มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในยุคทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยกเว้นตอนนี้ที่เริ่มกลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว หลังรัฐประหาร ยิ่งยุคนี้ยิ่งแยบยลกว่าเดิม มีกระบวนการที่จับนักศึกษาเข้าคุก ไม่ให้ประกัน ตอนนี้เขาคุมทุกจุด

 

6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

ปวิตร โสรจชนะ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์

 

ฟ้องด้วยภาพ 

 

ปวิตรให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนั้นเป็นช่างภาพสายอาชญากรรม การเมือง สังคม เมื่อมีเหตุการณ์ก็ไปถ่ายภาพ ถ่ายเสร็จแล้วเราจะไปล้างฟิล์มเอง เลือกรูปขยายเอง เพราะเรารู้ว่ารูปนี้มีความหมายอย่างไร ขยายเสร็จแล้วก็ส่งเข้ากอง บ.ก. กอง บ.ก. ก็ไปเลือกรูปว่ารูปไหนลงหน้า 1, 2, 3, 4 

 

ปวิตรเล่าว่า ภาพที่ถ่ายวันนั้นได้เผยแพร่ในบางกอกโพสต์ แต่รัฐบาลสั่งเก็บหนังสือพิมพ์ พอเขาสั่งให้หนังสือพิมพ์หยุดก็ต้องหยุด ไม่อย่างนั้นเขาจะปิดหนังสือพิมพ์

 

เวลาถ่ายภาพ เราไม่อยู่ประจำที่ ตรงไหนมีเสียงเฮ เสียงปืน เราก็ไป เพื่อเอารูปเอาเหตุการณ์ต่างๆ มาให้คนข้างนอกดูว่านี่คืออะไร เกิดอะไรขึ้น ใครเป็นคนทำ เราก็พยายามฟ้องด้วยภาพ

 

6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

ประกิต หลิมสกุล (กิเลน ประลองเชิง) สื่อมวลชน

 

นักข่าวคนเดียวในจุดนั้น ท่าพระจันทร์

 

ประกิตเล่าว่า สมัยนั้นเขียนข่าวด้วยถ่ายรูปด้วย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไปท่าพระจันทร์เพราะไม่มีช่างภาพตรงนั้น จึงเป็นคนเดียวที่อยู่ท่าพระจันทร์ ซึ่งมีการเก็บเชลยเป็นผู้ชุมนุมนอนราบกับพื้นจำนวนมาก ตั้งแต่แถวท่าพระจันทร์ไปถึงท่าช้าง 

 

เป็นสื่อคนเดียวที่อยู่ตรงนั้น ถ่ายภาพขึ้นหน้า 1 ในจุดที่ได้ภาพคนเดียว คือ ด้านท่าพระจันทร์ อยู่ตรงนั้นช่วงเวลา 06.00-07.00 น. เป็นคนเดียวที่อยู่ตอน สุธรรม แสงประทุม เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ถูกต้อนขึ้นรถ รูปนั้นก็เป็นคนเดียวที่ถ่ายได้

 

ฝ่ายเจ้าหน้าที่สื่อสารกับสุธรรม จะพาไปพบ เสนีย์ ปราโมช นายกฯ เพื่อจะเคลียร์ แต่จริงๆ จับไปเข้าคุก 

 

ภาพที่ถ่ายวันนั้นส่งเข้าโรงพิมพ์ ได้ขึ้นหน้า 1 แต่หลังจากนั้น (ฟิล์ม) ถูกขโมยไปทำหนังสือเฉพาะกิจ หาต้นตอไม่ได้ ถ้าหาได้จะได้ภาพของเดลินิวส์มาแสดงนิทรรศการในวันนี้ รูปนั้นเป็นรูปเด่นขึ้นหน้า 1 

 

6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ

 

ช่างภาพรางวัล

 

ประกิตเล่าถึงการทำงานในสมัยนั้นว่า สื่อมวลชนเราจะชิงวิ่งหามุม ปีนขึ้นสูง ลงต่ำ เพื่อหาเหลี่ยมภาพ แล้วต้องยอมรับว่าคนที่เป็นที่หนึ่งคือ สายัณห์ พรนันทารัตน์ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์ 

 

ประกิตเล่าว่า สายัณห์ขยัน มุมดี เจอจะรู้ทางกัน (พร้อมยกนิ้วโป้งให้) และเล่าต่อด้วยว่า ช่างภาพที่มาในงานนิทรรศการวันนี้มีช่างภาพรางวัลอิศรา อมันตกุล ถึง 3 คน ตั้งแต่รางวัลประจำปี 2517-2519 

 

สายัณห์ พรนันทารัตน์ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์ ได้รางวัลปี 2517

 

ประกิต หลิมสกุล (กิเลน ประลองเชิง) ได้รางวัลปี 2518

 

ปรีชา การสมพจน์ อดีตช่างภาพเดลินิวส์ ผู้ถ่ายภาพตอกอก ได้รางวัลปี 2519

 

เมื่อถามว่า ตอนนั้นนักข่าวต้องระวังตัวอย่างไร 

 

ประกิตเล่าว่า อยากได้รูป ไม่ต้องระวังตัว ก็ลุย เสียงปืนปังๆ เราไม่เคยหนี เราก็วิ่งไปดู 

 

ตอนนั้นถูกมองเป็นซ้าย สมัยนั้นมีฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา ไม่ใช่แดง-เหลือง

 

เมื่อถามว่าในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 การทำหน้าที่สื่อมวลชนท่ามกลางความขัดแย้ง ต้องวางตัวอย่างไร 

 

ประกิตกล่าวว่า ตอนนั้นมีฝ่ายซ้าย มีฝ่ายขวา ในโรงพิมพ์ก็แยกกัน ไม่ใช่ ‘แดง-เหลือง’ นะ เป็น ‘ซ้าย-ขวา’ ก็ถูกมองเป็นฝ่ายซ้าย ก็ไม่ระวังตัว ซ้ายรู้สึกภูมิใจที่อยู่กับคนจน นึกออกไหม 

 

“พอ 6 ตุลา มีการกวาดต้อนเข้าป่า โรงพิมพ์ก็ส่งพี่ไปอยู่กรมตำรวจ ยังนึกในใจ เขาเก็บตัวเราหรือเปล่า คล้ายๆ ว่า เอ็งซ้ายนี่หว่า ไปอยู่ใกล้ๆ ตำรวจ เผื่อเขาจะจับเข้าคุกก็จับไป นี่เรื่องจริง” 

 

กว่าจะมาเป็น ‘กิเลน’ วันนี้ไม่ใช่ฟลุก 

 

ประกิตเล่าว่า ขณะนั้นมีคอลัมน์รายวัน-รายสัปดาห์ และเป็นนักข่าวเมื่อถูกเรียกไปทำข่าวเหตุการณ์ต่างๆ ก็ไป เช่น ข่าวเขาพระวิหารที่ จ.ศรีสะเกษ ก็เขียนคอลัมน์มา กว่าจะมาเป็น ‘กิเลน’ วันนี้ไม่ใช่ฟลุก แต่เป็น ‘ของจริงๆ’ ฉะนั้น การทำหน้าที่ใน 6 ตุลา ก็เช่นเดียวกัน ต้องเข้าไปเขียน 

 

วันนี้มาดูนิทรรศการ มาดูความหลัง และคิดถึงเพื่อนทุกคน ปรีชา เจ้าของภาพตอกอก ก็เป็นเพื่อนกัน ภาพนี้คือแรงสุด ไฮไลต์สุด (ภาพตอกอก ในนิทรรศการ)

FYI

นิทรรศการ ‘6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ | 6 October: Facing Demons’ ณ Kinjai Contemporary

 

จัดโดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา – October 6 Museum Project ร่วมกับมูลนิธิคณะก้าวหน้า – Progressive Movement  และ Common School

 

ชมนิทรรศการได้ตั้งแต่

1 ตุลาคม – 13 พฤศจิกายน 2565

เวลา 11.00-21.00 น. (ปิดทำการทุกวันจันทร์)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising