×

‘6 ตุลาและขวาพิฆาตซ้าย’ เมื่อความรุนแรงจากรัฐไม่ได้เกิดขึ้นโดยไร้เหตุผล

05.10.2023
  • LOADING...
6 ตุลาและขวาพิฆาตซ้าย

วันนี้ 6 ตุลาคม 2566 ครบรอบ 47 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา THE STANDARD ชวนย้อนอ่านข้อมูลจากเสวนา ‘45 ปี 6 ตุลาและขวาพิฆาตซ้าย’ ที่จัดโดยสำนักพิมพ์มติชน โดยมี ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ศิบดี นพประเสริฐ อาจารย์อักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เขียนหนังสือ ขวาพิฆาต(?)ซ้าย: อนุรักษนิยมไทยบนทางสองแพร่งของการเมืองโลกยุคสงครามเย็น เข้าร่วมเสวนาเพื่อพูดคุยในประเด็นเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2519 โดยมี รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ดำเนินรายการ

 

รากฐานแห่งการเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา เมื่อ 45 ปีก่อน

 

กนกรัตน์กล่าวว่า สำหรับคนรุ่นใหม่ เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา จะนึกถึงภาพเก้าอี้ที่ฟาดบนตัวคนที่ท้องสนามหลวง และความหมายที่ไปไกลกว่าการฟาดเก้าอี้คือการฆ่าสังหารหมู่ที่มีเยาวชนมากมายนอนราบบนพื้น และมีภาพการยิงเข้าไปในรั้วธรรมศาสตร์ ที่มาของภาพนั้นเราจะเห็นการขยายตัวของนักศึกษาฝ่ายซ้ายที่ประสบความสำเร็จในการโค่นล้มเผด็จการเมื่อ 14 ตุลา แต่พบว่ารัฐบาลเวลานั้นแก้ปัญหาในสภาไม่ได้ และการขยายตัวขององค์กรฝ่ายซ้ายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เช่น ฝ่ายซ้ายแบบจีน มีการจัดนิทรรศการจีนในหอประชุมธรรมศาสตร์ ชนชั้นนำไทยจึงเห็นการเติบโตของคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดด้านสังคมนิยมมากขึ้น

 

“ในเวลานั้นชนชั้นนำไทยได้เห็นภาพชนวนของการล่มสลายลงของสถาบันกษัตริย์ใน สปป.ลาว เขมร เวียดนาม ซึ่งล้มกันเป็นโดมิโน ประเทศไทยจึงถูกจับตาว่าจะเป็นโดนิโนตัวที่ 4 อย่างแน่นอน ดังนั้น 6 ตุลาจึงเป็นภาพการปะทะกัน และจบลงด้วยการพ่ายแพ้ของนักศึกษา ประชาชน ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง” กนกรัตน์สรุป

 

บรรยากาศการเมืองทั้งในและนอกประเทศก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา

 

ศิบดีเสริมว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้สร้างบรรยากาศเสรีนิยมและประชาธิปไตย ทำให้เกิดการฟื้นตัวของภาคการเมือง หลังจากที่ไทยอยู่ภายใต้เผด็จการอำนาจนิยมเป็นเวลานาน ภาคประชาสังคม เช่น กลุ่มแรงงาน ขบวนการนิสิตนักศึกษา เริ่มมีบทบาทและเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาทางสังคมที่รัฐบาลยุคเผด็จการทหารละเลยไป โดยมีการเคลื่อนไหว เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาแก้ไขสังคม และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเหล่านี้มีบทบาทในอีกมิติหนึ่งที่คนทั่วไปอาจไม่ได้นึกถึง นั่นคือเรื่องนโยบายต่างประเทศ เช่น การออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ ที่เริ่มส่งสัญญาณว่าไม่ไหวและถอนกำลังทหารจากสงครามเวียดนาม ขณะที่บรรยากาศทางการเมืองในประเทศ ภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตยเบ่งบาน แนวความคิดเรื่องสังคมนิยมที่ถูกรัฐเผด็จการห้ามมานาน กลับมาได้รับความสนใจในยุคนี้ ขบวนนิสิตนักศึกษาเองก็รับเอาแนวคิดแบบสังคมนิยมเป็นธงนำในการต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง รวมทั้งเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมและด้านการต่างประเทศ ความมั่นคงไทย เรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกไปจากดินแดนไทย และทำให้เกิดบรรยากาศความกลัวคอมมิวนิสต์ในสังคมไทย ทำให้ชนชั้นนำ กลุ่มอนุรักษนิยมหวาดกลัว เพราะพวกเขามองว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคาม เพราะการคงอยู่ของกองทัพสหรัฐฯ คือหลักประกันว่าไทยจะได้รับการคุ้มครองดูแลจากสหรัฐฯ

 

“แต่เมื่อสหรัฐฯ ถอนทหารออกไปจริงๆ เมื่อต้นปี 2519 ทำให้ภาพขบวนการนักศึกษายิ่งแข็งแรงมากยิ่งขึ้น บรรยากาศภายในประเทศก็มีความโน้มไปทางซ้าย ดังนั้น ชนชั้นนำหรือกลุ่มฝ่ายขวาจึงรู้สึกว่าไม่อาจอยู่นิ่งได้ จึงหาทางตอบโต้ ทั้งการต่อต้านขบวนการนิสิตนักศึกษา การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อทำลายภาพลักษณ์ของขบวนการนิสิตนักศึกษา หรือขบวนการสามประสาน คือ เกษตรกร แรงงาน และนักศึกษา และปลุกกระแสชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่งเพลงปลุกใจ ไม่ว่าจะเพลง หนักแผ่นดิน เพลงพระราชนิพนธ์ ‘เราสู้’ เป็นต้น ทั้งยังใช้สื่อมวลชนของรัฐเพื่อโต้ตอบกลับ และมีชมรมแม่บ้าน กลุ่มกระทิงแดงต่างๆ ที่เป็นฝ่ายขวาเช่นกัน” ศิบดีกล่าว

 

ในประเด็นนี้ กนกรัตน์เสริมว่า กองทัพสหรัฐฯ เองก็เข้าไทยมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ซึ่งแบ่งเป็น 2 ขั้ว คือ ปีกสหรัฐฯ กับปีกฝั่งรัสเซียกับจีน และสู้กันผ่านรัฐตัวแทน ไทยเองเป็นประเทศตรงกลางของอินโดจีน อันเป็นพื้นที่ที่ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียพยายามเข้ามาขยายอิทธิพล ขณะที่ไทยเองก็มีแนวโน้มที่จะเอนเอียงไปทางสหรัฐฯ อันจะเห็นได้จากนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยก็เปิดพื้นที่ให้กองทัพสหรัฐฯ เข้ามา การที่สหรัฐฯ เข้ามาในไทย ส่งผลให้ปีกทหารเผด็จการในไทยเข้มแข็งมากขึ้น เพราะสหรัฐฯ สนับสนุนรัฐบาลทุกรูปแบบที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ จึงจับมือกับรัฐบาลเผด็จการของไทย คือช่วงยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพล ถนอม กิตติขจร และจอมพล ประภาส จารุเสถียร อันจะเห็นได้จากกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายในช่วงนั้น

 

บริบทสงครามเย็นที่สั่นสะเทือนมายังการเมืองไทยก่อน 6 ตุลา

 

“ภายใต้บรรยากาศของสงครามเย็นภายใต้สามมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ รัสเซีย และจีนแดง ที่ผ่านมาโซเวียตกับจีนแดงก็มีสัมพันธ์อันดีต่อกัน และพยายามแสวงหาพันธมิตรเพื่อพยายามถ่วงดุลฝ่ายตรงข้าม และในเวลาต่อมาทั้งสองประเทศเกิดทะเลาะกัน ทั้งจากการตีความอุดมการณ์แตกต่างกันออกไป” ศิบดีกล่าว และในปี 2512 จีนแดงกับโซเวียตเกิดการปะทะกันทางการทหารขึ้น ทำให้จีนเริ่มมองว่าสหภาพโซเวียตเป็นภัยคุกคาม จึงต้องการอีกมหาอำนาจหนึ่งเข้ามาเป็นพันธมิตรเพื่อคานอำนาจของโซเวียต ขณะที่อีกด้าน สหรัฐฯ ที่กำลังติดหล่มอย่างหนักในสงครามเวียดนาม เพราะรู้สึกว่าไม่น่าเอาชนะได้ จึงต้องการถอนตัวออกจากสงครามเวียดนาม แต่ต้องการไม่ให้ดูว่าเป็นฝ่ายแพ้ สหรัฐฯ จึงมองประเทศที่สำคัญที่ทำให้ถอนตัวออกจากสงครามเวียดนามได้คือ จีน เป็นเสมือนผลประโยชน์แห่งชาติของทั้งสองประเทศที่ลงตัวกันพอดี เพราะจีนก็ต้องการมหาอำนาจมาคานอำนาจกับโซเวียต สหรัฐฯ ก็ต้องการให้จีนเป็นตัวช่วยให้สหรัฐฯ ลงจากหลังเสือ เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวจากสงครามเวียดนาม ประเทศไทยจึงรู้สึกตื่นตระหนกเพราะใกล้ชิดกัน ประจวบเหมาะกับที่ประเทศในอินโดจีนเวลานั้นเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์กันหมด โดยเฉพาะ สปป.ลาวที่เปลี่ยนเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัว รวมถึงการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ยิ่งทำให้ชนชั้นนำหรือกลุ่มฝ่ายขวาในไทยรู้สึกหวาดหวั่น

 

“ช่วง 2516-2519 นโยบายต่างประเทศของไทยและนโยบายด้านความมั่นคงสวนทางกัน เพราะช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน พรรคการเมืองที่ได้ขึ้นเป็นรัฐบาลในเวลานั้นมีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ขณะที่นโยบายต่างประเทศที่แม้ยังไม่เอาคอมมิวนิสต์แต่สร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ มีนโยบายอยู่ร่วมกันโดยสันติกับประเทศที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน เช่น ที่มีภาพ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปจับมือกับจีนแดง จึงมีการพยายามปรับนโยบายต่างประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับบรรยากาศทางการเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไปแล้ว” ศิบดีสรุป

 

‘ผีคอมมิวนิสต์’ ความน่ากลัวของคอมมิวนิสต์ที่รัฐปลุกปั่น

 

กนกรัตน์กล่าวว่า บรรยากาศการทำให้คอมมิวนิสต์น่ากลัวเกิดขึ้นมาก่อน 14 ตุลาเสียอีก เพราะประชาชนรับรู้ความน่ากลัวของคอมมิวนิสต์หลายมิติมาก แม้ว่าชนชั้นกลางในยุคแรกๆ ของ 14 ตุลาจะให้การสนับสนุนนักศึกษาในการเรียกร้องประชาธิปไตย โดยที่ตัวเองก็มีพื้นฐานการเกลียดคอมมิวนิสต์อยู่แล้ว แต่ในเวลาต่อมา เมื่อรัฐบอกว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ มีการซ่องสุมอาวุธ จึงมีการปลุกความเกลียดชังต่อนักศึกษาขึ้นมา

 

“นอกจากนี้ อย่าลืมว่าในเวลานั้นการเลือกตั้งและประชาธิปไตยเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยแทบไม่มีการเลือกตั้งเลย ทั้งในเวลาต่อมายังมีภาพรัฐบาลจากการเลือกตั้งไปจับมือกับจีนแดง ประชาชนฝ่ายขวาจึงรู้สึกว่าประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเป็นเรื่องน่ากลัว บวกรวมกับความน่ากลัวของคอมมิวนิสต์ที่รัฐวาดภาพไว้ ทำให้ฝ่ายขวาไม่พอใจทั้งนักศึกษา ทั้งระบบการเลือกตั้ง และประชาธิปไตย” กนกรัตน์กล่าว

 

ด้านศิบดีเสริมประเด็นว่า ในอดีตก่อนหน้ายุคตุลา รัฐก็มีการรณรงค์ให้คนภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในฐานะที่เป็นสถาบันที่สืบเนื่องมาจากอดีต และในช่วงปี 2516-2519 ความเป็นอนุรักษนิยมในไทยหรือฝ่ายขวาก็มีความแตกต่าง มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนฝ่ายขวาในยุคก่อนหน้า เพราะคนที่จะถูกจัดให้เป็นอนุรักษนิยมช่วง 2516-2519 ได้นั้นต้องต่อต้านคอมมิวนิสต์ นิยมสหรัฐฯ รวมถึงการเรียกร้องหรือมีท่าทีให้สหรัฐฯ ดำรงฐานทัพอยู่ในไทยต่อไปด้วย

 

คน 6 ตุลามาถึง ‘เยาวชนยุคปัจจุบัน’ อุดมการณ์และความแตกต่างของการรวมตัว

 

กนกรัตน์กล่าวว่า ความคล้ายคลึงระหว่างเยาวชนยุค 6 ตุลา และเยาวชนปี 2564 จะเห็นว่าการรวมตัวกันของคนในช่วงเดือนตุลานั้น คือเป็นโครงสร้างองค์กรที่มีความเป็นทางการ มีการรวมตัวอย่างมีเอกภาพ โดยเฉพาะหลัง 14 ตุลาที่เริ่มมีการสร้างโครงสร้างกระบวนการนักศึกษาล้อไปกับขบวนการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งองค์กรความเคลื่อนไหวของนักศึกษาค่อนข้างมีความเข้มแข็งมาก แต่ในปัจจุบัน ภาพที่เราเห็นนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา กระบวนการนักศึกษาโบขาวมีลักษณะ Network Movement ซึ่งไม่มีแกนนำ 1 คน แล้วสามารถนำคนหลายแสนคนได้ ทุกกลุ่มแบ่งออกเป็นกลุ่มขนาดเล็กๆ 20-30 คน ไม่ว่าจะเป็นธรรมศาสตร์และการชุมนุม, Free YOUTH, กลุ่มปลดแอก ฯลฯ มารวมตัวกันบ้างในบางช่วง ขณะที่คนเดือนตุลาเวลามองมามักจะมองว่า มันไม่เป็นเอกภาพเลย ไม่มีการจัดตั้งองค์กรใดๆ เลย แต่ปัจจุบันกลับแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ทุกกลุ่มต่างคนต่างทำงานของตนไป

 

“ในแง่หนึ่ง การรวมตัวของคนยุคปัจจุบันอาจจะถูกมองว่าไม่เข้มแข็ง แต่ในอีกด้าน ภายใต้รัฐที่ใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสลายการชุมนุม และที่สำคัญคือการระดมจับอย่างกว้างขวางในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ในกรณีของม็อบดินแดง มีเยาวชนและคนที่ถูกจับไป 300-400 คนแล้ว ถ้าเป็นเครือข่ายที่แข็งตัวตายตัวแบบเดิม ถ้าจับคนนำ ทุกอย่างก็จบ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่ ไม่ว่าตำรวจจะจับไปเท่าไรก็ไม่หมด ยังไม่นับกลุ่มจากปีที่แล้วที่รอกลับมาหลังโควิด ทำให้กลุ่มในปัจจุบันแม้ไม่รวมตัว ไม่ชัดเจน แต่มันจะไม่มีวันตาย เพราะไม่ว่าจะจับกลุ่มไหนไป กลุ่มอื่นๆ ก็พร้อมจะกลับมารวมตัวกันเสมอ มันจึงเห็นภาพที่มีพลวัตเปลี่ยนแปลงอย่างมาก” กนกรัตน์สรุป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X