×

ย้อนรอย ‘ดาวสยาม’ แผลเป็นของสื่อมวลชนผู้จุดชนวน 6 ตุลา

06.10.2021
  • LOADING...
6 October 1976 massacre

เดือนตุลาคมหวนกลับมาอีกครั้งพร้อมย้ำเตือนถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทยอันร้อนระอุและน่าเศร้าโศก หนึ่งในกรณีอันเป็นที่สะเทือนขวัญคงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ การนองเลือดครั้งใหญ่ของประเทศไทย จากการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทว่าปราศจากการจับกุมผู้ลงมือสังหาร 

 

ทิ้งไว้เพียงแค่ภาพถ่ายอันเป็นภาพจำของเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 อย่างศพที่ถูกแขวนใต้ต้นไม้และถูกโบยตีด้วยเก้าอี้ หรือภาพของเด็กชายที่ยิ้มหัวเราะมองการประหารกลางกรุงอย่างเลือดเย็น 

 

และที่ขาดไปไม่ได้เลยคือ ‘สื่อมวลชน’ หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังประวัติศาสตร์ดังกล่าว ที่ในช่วงเวลานั้นไม่ได้เป็นเพียงพยานร่วมเหตุการณ์ หากแต่เป็นชนวนที่จุดให้เกิดการนองเลือดนี้ขึ้น จนทำให้ชื่อของหนังสือพิมพ์ ‘ดาวสยาม’ กลายเป็นแผลเป็นครั้งใหญ่ของสื่อมวลชนไทยจวบจนถึงปัจจุบัน

 

THE STANDARD ได้สรุปเหตุการณ์สำคัญที่นำมาสู่การปราบปรามประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม และบทบาทของสื่อในการเป็นส่วนหนึ่งของผู้จุดชนวนความเกลียดชัง ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญของสื่อมวลชนไว้ดังนี้

 

KEY MESSAGES:

  • ก่อน 6 ตุลา จะมาถึง
    • 7 กันยายน 2519 เกิดการอภิปรายในหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังมีข่าวการกลับมาของ จอมพล ถนอม ผู้นำเผด็จการที่ถูกประชาชนขับไล่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จนต้องหนีออกจากประเทศไทย โดยคาดกันว่าเป็นหนึ่งในแผนการก่อรัฐประหาร
    • 19 กันยายน 2519 จอมพล ถนอม กลับเข้าประเทศ และเข้าบวชเป็นภิกษุในวัดบวรนิเวศวิหาร โดยสถานีวิทยุยานเกราะได้ตักเตือนให้นักศึกษาห้ามก่อความวุ่นวาย มิฉะนั้นอาจจะเกิดการประหารสัก 3 หมื่นคน เพื่อให้ชาติบ้านเมืองรอดพ้นจากภัย ทำให้ขบวนการนักศึกษาและประชาชนเริ่มเคลื่อนไหว
    • 24 กันยายน 2519 พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดนครปฐม สมาชิกแนวร่วมประชาชนจำนวน 2 รายถูกซ้อมและสังหารก่อนจะนำศพไปแขวนคอในตำบลพระประโทน ระหว่างออกติดโปสเตอร์ต่อต้าน จอมพล ถนอม กลางดึก
    • 4 ตุลาคม 2519 เกิดการรณรงค์ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์งดสอบเพื่อร่วมการประท้วงขับไล่ จอมพล ถนอม และจัดการแสดงละครที่มีฉากของพนักงานการไฟฟ้าผู้ถูกแขวนคอ จนกระทั่งการชุมนุมจุดติด ทำให้เกิดการประท้วงข้ามคืนต่อเนื่องถึงวันที่ 5 ตุลาคม
    • ช่วงเช้าของวันที่ 5 ตุลาคม 2519 หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ลงภาพการแสดงละครแขวนคอของนักศึกษาประกอบข่าวแถลงการจับกุมคนร้ายผู้สังหารพนักงานการไฟฟ้า

  • จากการขับไล่เผด็จการ สู่การถูกตีตราเป็นคอมมิวนิสต์ล้มล้างสถาบัน
    • ช่วงบ่ายของวันที่ 5 ตุลาคม 2519 หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ได้ตีพิมพ์รูปภาพของนักศึกษาที่เป็นนักแสดงในบทแขวนคอ ในมุมที่คล้ายคลึงกับเจ้าฟ้าชาย ลงในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ด้วยพาดหัวข่าวตัวหนา ‘แขวนคอหุ่นเหมือนเจ้าฟ้าชาย แผ่นดินเดือด! ศูนย์ฯ เหยียบหัวใจไทยทั้งชาติ’ และโจมตีว่าขบวนการนักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต้องการทำลายสถาบัน และเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์
    • ในเวลาต่อมา สถานีวิทยุทหารออกข่าวเกี่ยวกับกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อต่อต้านกลุ่มนักศึกษา
    • สถานีวิทยุยานเกราะกระจายเสียงเรียกร้องให้ทำลายคอมมิวนิสต์ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีการใช้คำพูดอย่าง ‘ฆ่ามัน’ และ ‘ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์’

  • ใจกลางกรุงกลายเป็นทุ่งสังหาร
    • เช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน และประชาชนผู้ต่อต้านการชุมนุมของนักศึกษาเข้าล้อมทางเข้าออกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พร้อมอาวุธครบมือ เป็นการเปิดฉากใช้อาวุธสงคราม ทั้งปืน ระเบิด และรถถังเข้าปราบปรามผู้ประท้วง 
    • เหตุการณ์ 6 ตุลา ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิต (อย่างเป็นทางการ) อย่างน้อย 40 ราย บาดเจ็บ 145 ราย และถูกจับ 3,094 ราย เป็นชาย 2,432 คน และหญิง 662 คน ในขณะที่แหล่งข่าวอ้างอิงจากการเก็บศพของเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูระบุว่ามีประชาชนชนเสียชีวิต 530 คน

  • สื่อมวลชนกับการสร้างความชอบธรรมให้เผด็จการ
    • ในช่วงเที่ยงของวันเดียวกัน รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ว่าเจ้าหน้าที่จำรวจได้เข้าควบคุมสถานการณ์การปะทะในมหาวิทยาลัย และปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด รวมทั้งจับกุมผู้ที่หมิ่นประบรมเดชานุภาพได้แล้ว 6 คน 
    • ต่อมาในเวลา 18.00 น. พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ด้วยการให้เหตุผลว่าเป็นการปราบปรามนักศึกษาผู้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ายึดครองประเทศไทย 
    • การเข้ายึดอำนาจของเผด็จการในครั้งนี้มาพร้อมกับประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 ประกาศให้ปิดหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ทำให้หลังจากนั้นทิศทางของการนำเสนอข่าวต้องหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X