6 ตุลาคม 2564 นี้จะเป็นวันครบรอบ 45 ปีของเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐสังหารหมู่นักศึกษาที่สนามหลวง อันเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘เหตุการณ์ 6 ตุลา’ ซึ่งหากเรามองย้อนกลับไปในสายธารประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย คงพบข้อขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนมากมายหลายครั้ง ที่น่าตระหนกคือ ในการปะทะที่ผ่านมานั้น แทบไม่มีครั้งใดเลยที่เจ้าหน้าที่รัฐผู้ใช้ความรุนแรงได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็เป็นหนึ่งในหน้ากระดาษที่ตัวละครผู้กระทำยังลอยนวล… และน่าเศร้าที่ไม่ใช่เหตุการณ์เดียวด้วย
จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม เจ้าของหนังสือเรื่อง ‘ถังแดง: การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย’ ซึ่งดัดแปลงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของเธอ จับจ้องไปยังเหตุการณ์อื้อฉาวอันเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘ถีบลงเขา เผาลงถังแดง’ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐจับประชาชนที่ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มาซ้อมทรมานด้วยการถีบให้ตกจากเฮลิคอปเตอร์ลงมาจนเสียชีวิต หรือเผาร่างเหยื่อในถังโลหะสีแดง ทิ้งไว้เพียงความทรงจำซึ่งแหลกละเอียดของคนในพื้นที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นต้นธารความรุนแรงนั้นยังคงลอยนวลต่อไป
เหตุการณ์ถังแดง เรื่อยมาจน 6 ตุลา 2519 โยงมาถึงการปราบปรามผู้ชุมนุมในปี 2553 หรือแม้กระทั่งการใช้ความรุนแรงจากภาครัฐต่อผู้ชุมนุมในปัจจุบัน ที่ยังคงไม่มีการชำระล้างบาดแผล โดยนำตัวเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำผิดมาลงโทษ ล้วนเกิดขึ้นภายใต้กรอบวัฒนธรรมอย่างหนึ่งนั่นคือ การลอยนวลพ้นผิด อันเป็นต้นธารของการลอยนวลจากรัฐหลังก่ออาชญากรรมต่อประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า
มองความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากรัฐ นับตั้งแต่เหตุการณ์ถังแดง มาจน 6 ตุลา และถึงปัจจุบันอย่างไร
ตอนถังแดงราวปี 2514 ตอนนั้นมันมีเอกสารเรียกว่า ‘หนังสือปล่อยตัว’ ของชาวบ้านที่เขาเก็บไว้เป็นหลักฐานว่าถูกจับไปอยู่ในค่าย ซึ่งหนังสือปล่อยตัวก็ระบุวันเวลาชัดเจน ที่ผ่านมามันไม่เคยมีหลักฐานชัดเจนว่าเหตุการณ์ถังแดงมันมีจริงหรือเปล่า มันมีแต่คำบอกเล่าของชาวบ้าน ทีนี้คำบอกเล่าของชาวบ้านในทางหลักฐานมันอาจใช้ไม่ได้ แต่ว่ามันมีคนหายไปจากหมู่บ้าน คนก็อธิบายไม่ได้ว่าเขาหายไปไหนกัน ยิ่งเมื่อปี 2518 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 นิสิตนักศึกษาเริ่มเข้ามาทำงานในชุมชน ในพื้นที่ ก็เริ่มปรากฏว่ามีกรณีคนหายดังกล่าว
ตอนนั้นฝ่ายรัฐเองก็ยอมรับว่ามันมีเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนแต่ก็หายไป คือไม่มีใครเอาเรื่องราวเหล่านี้มาทำให้กระจ่าง การตั้งกรรมการสอบสวนในตอนนั้นคือการตั้งขึ้นมาเพื่อให้บอกว่า ตั้งแล้วนะ แล้วสุดท้ายรัฐก็อธิบายว่า อ๋อ มันเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ มันจึงจำเป็นต้องทำแบบนี้ แล้วในภาวะสงครามแบบนี้ถ้าเทียบจำนวนแล้วมีคนตายไปบ้าง และมีคำอธิบายอีกอย่างคือ ถ้าเปิดเผยความจริงหรือเอาเจ้าหน้าที่มาสอบสวน จะทำให้คนที่เป็นเจ้าหน้าที่ไม่มีกำลังใจในการทำงาน เพราะในนามความมั่นคงของรัฐ รัฐต้องพยายามไม่ให้ระบบ ระบอบที่มีอยู่มันผิดเพี้ยนหรือถูกตั้งคำถาม แล้วในกระบวนการยุติธรรมมันต้องมีการสาวไส้ การหาความจริงในรายละเอียดต่างๆ มันก็จะทำให้ความมั่นคงแข็งแกร่งของรัฐถูกตั้งคำถามแล้วอาจนำไปสู่การรื้อระบอบ ซึ่งรัฐก็คงรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องปกป้องไว้
จริงๆ ต้องตั้งคำถามต่อวิธีการที่รัฐทำหลังจากใช้ความรุนแรงด้วย ในกรณีของสังคมไทย วิธีที่รัฐใช้ความรุนแรงมันชัดเจนมากนะ เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519, การปราบผู้ชุมนุมเมื่อปี 2553 มันชัดเจนมาก แล้ววิธีที่รัฐจัดการคือใช้วิธีนิรโทษกรรมผู้คนที่ทำความผิด ฉะนั้นวิธีที่รัฐทำงานมันจึงทำอย่างเปิดเผย แล้วจัดการด้วยความคิดที่ว่า เดี๋ยวคนก็ลืม
มันมีความเชื่อว่าคนไทยลืมง่ายด้วย ตรงนี้มันไปเอื้อต่อสิ่งที่รัฐทำไหม หรือจริงๆ มันเป็นผลลัพธ์จากสิ่งที่รัฐพยายามปลูกฝังมาโดยตลอด
อาจจะเป็นไปได้ว่ามันอยู่ในวัฒนธรรมของสังคมไทยไปแล้ว บางคนก็เรียกว่าวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด หรือที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ (นักวิชาการประวัติศาสตร์) เรียกว่า ‘รัฐลอยนวล’
เอาเข้าจริง มันมี 2-3 เหตุผล หนึ่งในนั้นคือ ผู้มีอำนาจรัฐ คนที่กระทำความรุนแรงยังคงดำรงอยู่ในรัฐนั้นต่อไป ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐบาล แต่เขาก็ยังมีอำนาจในทางการเมืองอยู่ ยังสามารถมีชีวิตได้อย่างปกติ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษนั้นเป็นเรื่องยาก
เหตุผลที่สองคือ พอรัฐอนุญาตโดยไม่มีการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ มีการนิรโทษกรรมตลอดมา เลยมักมีคำอธิบายที่ใช้กันบ่อยๆ ว่า ‘เขาอยู่ในอำนาจก็ต้องมีหนักบ้างเบาบ้างเป็นธรรมดา เขากำลังทำหน้าที่ในการพิทักษ์ ปกป้องความมั่นคงของรัฐ’ ฉะนั้นการจัดการกับคนที่รัฐคิดว่าเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยวิธีใช้ถังแดง หรือการจัดการกับผู้ชุมนุม เขาจึงพยายามอธิบายว่าคนเหล่านี้เป็นคนที่พยายามก่อจลาจลทางการเมือง หรือเป็นอริราชศัตรูกับรัฐไทย ยกตัวอย่างเช่น กรณีภาคใต้ การปราบปรามคนที่ก่อความไม่สงบ ซึ่งอาจจะมีเรื่องการใช้ความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย แต่วิธีที่รัฐไม่เคยนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ มันยิ่งทำให้ความรู้สึกของชาวบ้านยิ่งเจ็บปวดนะ เพราะเขารู้สึกว่ารัฐไม่เคยจัดการผู้ทำผิด หรือนำคนเหล่านั้นมาลงโทษเลย
วัฒนธรรมแบบนี้จึงเป็นวัฒนธรรมที่ทำให้คนที่กระทำผิด สามารถกระทำผิดซ้ำๆ ได้อีก หรือรู้สึกว่าเดี๋ยวก็จัดการได้ แล้วบางคนก็บอกว่าคนไทยลืมง่าย แต่คนที่เป็นผู้ถูกกระทำหรือเป็นเหยื่อ เขาไม่ได้ลืมหรอก เพียงแต่เขาไม่รู้ว่าพูดออกมาแล้วมีแต่จะทำให้ตัวเองเจ็บ บางคนน่ะอยากจะลืมด้วยซ้ำ เพราะมันไม่เคยมีความจริงปรากฏเลย มันเป็นบาดแผล (Trauma) ในชีวิตเขา
คนที่ตกเป็นเหยื่อจากการใช้ความรุนแรงของรัฐ เขาจัดการกับความทรงจำหรือความรู้สึกของตัวเองอย่างไร
มีหลายแบบเลยนะคะ มีทั้งแบบที่เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเหยื่อจากรัฐเพราะเป็นคนที่ถูกกระทำ พวกเขาหนีเข้าป่าไปไม่ได้ด้วยเหตุผลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ตั้งแต่แรก มีคนจำนวนมากที่ถูกรังแก เช่น ชาวบ้านเขาขับรถอยู่ในหมู่บ้านแล้วปรากฏว่ามีการตั้งด่าน แล้วถูกริบบัตรประชาชน โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าถ้าอยากได้คืนให้ไปเอาในค่ายทหาร คนก็กลัวว่าถ้าเราเข้าไปในค่ายนั้นจริงๆ แล้วจะรอดกลับมาไหม แล้วเมื่อกลัวพวกเขาก็ตัดสินใจหนีเข้าป่า
แล้วคนที่หนีเข้าป่า คนที่ญาติพี่น้องหายไป เขาก็มีความโกรธแค้นและรู้สึกว่ารัฐมาทำแบบนี้ทำไม โดยเฉพาะเมื่อคนที่ถูกจับลงถังแดงไม่ใช่คนที่เข้าป่า แต่เป็นญาติพี่น้องของคนที่เข้าป่า ต้องถูกคนจากรัฐไปรีดนาทาเร้น พูดง่ายๆ ว่าถูกซ้อมเพราะรัฐจะเอาข้อมูลว่าคนที่เข้าป่าหนีไปไหน ทำอะไรอยู่ แล้วคนเหล่านี้ที่โดนซ้อมเขาก็ไม่รู้เรื่องหรอก หรือบางทีนะ จับคนผิดก็มี
กล่าวรวมๆ คือคนที่ต้องเจอเหตุการณ์ถังแดง เป็นญาติ เป็นคนบริสุทธิ์ที่ไม่ได้ทำอะไรผิดเลยใช่ไหม
บางคนถูกจับไปเพราะชื่อเหมือนกันก็มี คือสมัยก่อนชื่อก็ซ้ำๆ นายไข่ นายเขียว นายแดง หรือภาคใต้เวลาติดหมายจับหรือมีประกาศชื่อต่างๆ เช่น ชื่อ อับดุลเลาะห์ ซึ่งก็มีเป็นร้อยคนแล้ว คนเลยตั้งคำถามว่าสิ่งที่รัฐทำมันมากไปไหมกับชีวิตญาติพี่น้องของเขา มีคนหนึ่งเขาบอกเราว่า เขาเหมือนเป็นลูกไก่ในกำมือของรัฐ จะบีบก็ตายจะคลายก็รอด
ดังนั้นคนเหล่านี้จะรู้สึกว่าไปทำแบบนี้กับชาวบ้านทำไม หรืออย่างคนที่สามีเขาเสียชีวิตจากเหตุการณ์ถังแดง ซึ่งอันนี้เก็บเรื่องหลักฐานไว้ส่วนหนึ่งนะ แต่ว่ามันมาจากข้อเท็จจริงบางอย่างที่เขาคิดว่า สามีเขาถูกอุ้มสูญหาย เขาบอกว่าจนถึงวันนี้เขายังไม่ได้คำตอบเลยว่าสามีเขาทำอะไรผิด ฉะนั้นไอ้ความรู้สึกของเขาที่มีต่อเหตุการณ์ถังแดงมันจึงเจ็บปวดมาก
แต่ก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มที่ถูกฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์เองเล่นงาน เช่น เจ้าหน้าที่รัฐในสมัยนั้น ถูก พคท. เล่นงานเพราะไปอยู่ฝ่ายรัฐ ก็ไม่มีคำตอบเหมือนกันว่าทำไมถึงทำแบบนั้นกับเขา
แต่ถ้าพูดในมุมของฝ่ายรัฐอย่างเดียว แน่นอนว่าชาวบ้านเขาเจ็บปวดอยู่แล้ว แต่ก็น่าสนใจ เพราะถ้าถามเขาว่าอยากกลับไปรื้อเรื่องนี้ขึ้นมาคุยหรือไม่ เช่น เอาเข้ากระบวนการยุติธรรม เขาก็จะบอกว่าอย่าดีกว่า เขาจะรู้สึกว่าปล่อยให้เขาอยู่ไปแบบนี้ อยู่แบบเงียบๆ โดยที่ไม่ต้องมายุ่งกัน
การที่หลายคนพยายามลืมความทรงจำเหล่านี้สะท้อนภาวะอะไรในสังคมบ้าง
เราเขียนถึงรูปแบบเหล่านี้ไว้ในวิทยานิพนธ์ 6 แบบ แต่หลักๆ คือมีคนที่อยากจะสู้ อยากจะเปลี่ยนวิธีคิดที่ว่าเป็นเหยื่อให้กลายเป็นผู้กระทำ ฉะนั้นการจัดตั้งอนุสาวรีย์ถังแดง โดยที่เอาตัวอุปกรณ์ที่เป็นอาวุธในการสังหารขึ้นไปเป็นสัญลักษณ์ของอนุสรณ์สถานถังแดง (ที่อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง) ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายสถานะของรัฐเหมือนกัน เพราะถ้าเราไปดูอนุสาวรีย์อื่นๆ มันจะเป็นอนุสาวรีย์ฮีโร่ เป็นคนที่สู้รบชนะ แต่อันนี้คือเอาอุปกรณ์ที่ใช้ในการสังหารคนขึ้นไปตั้งอยู่บนแท่นที่สูงมาก มันจึงเป็นความพยายามจะท้าทายรูปแบบหนึ่ง เป้าหมายหลักของคนกลุ่มนี้คืออยากให้สังคมไทยมีบทเรียนว่า มันไม่ควรมีการใช้ความรุนแรงอีกต่อไป
อีกแบบหนึ่งคือ คนที่ไม่อยากยุ่งกับมัน ไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้แล้ว ยกตัวอย่างตอนไปเก็บข้อมูลสนาม เราไปจอดมอเตอร์ไซค์ที่ปั๊มน้ำมัน แล้วถามคนแถวนั้นว่าเคยได้ยินเรื่องถังแดงไหม คนอื่นที่กำลังเติมน้ำมันก็ขับมอเตอร์ไซค์หนีไปเลย ไม่อยากคุยด้วย ไม่อยากรื้อฟื้น
หลังทำธีสิสจบไปได้หลายปี เมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อนเราก็กลับไปที่พัทลุงอีก ความที่ตอนนี้เราทำงานเรื่องสามจังหวัดภาคใต้ แล้วเวลาคนในพื้นที่สามจังหวัดเขาพูดเรื่องความทรงจำในอดีต เราก็จะนึกถึงวิธีการจัดการบางอย่าง เช่น การจัดการกับอดีต เราก็คิดว่ามันน่าจะมีกระบวนการที่เอาความจริงขึ้นมาให้ปรากฏ แล้วจะได้จัดการกับความรู้สึกต่างๆ ที่เราต้องเจอ แล้วคนในพื้นที่ก็บอกว่าเขาอยากจะตายไปกับความทรงจำแบบนี้ ไม่อยากไปรื้อฟื้น เพราะเขาไม่อยากซวย เขาไม่รู้ว่าวันหนึ่งจะโดนอะไรอีกถ้ารัฐรู้ว่าเขาพูดเรื่องนี้ออกไป
ได้คุยกับเจ้าหน้าที่รัฐบ้างไหม
ก็มี เราก็พยายามสัมภาษณ์ทหาร แต่เขามักปฏิเสธและไม่อยากพูดถึงมันอีก เท่าที่เห็นปฏิกิริยาของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งก็อาจไม่ได้เยอะ แต่เป็นคนในพื้นที่ ก็พบว่าพวกเขาก็กระอักกระอ่วนนะคะ ในฐานะที่เขาเป็นผู้รับคำสั่ง เขาอาจรู้สึกว่าอาจมีความย้อนแย้งอยู่ในใจเหมือนกัน แต่เราก็ไม่รู้ไง
แล้วถ้าไปดูงานศึกษาของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล (นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เจ้าหน้าที่รัฐบางคนก็จะบอกว่า ทำถูกแล้ว คือไม่ใช่แค่กรณีถังแดง แต่กรณี 6 ตุลา เจ้าหน้าที่รัฐหรือขบวนการกระทิงแดง (ขบวนการฝ่ายขวาที่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง) เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองทำถูกแล้วเพราะว่านี่เป็นหน้าที่ เขามีหน้าที่ในการปกป้อง พิทักษ์ความมั่นคงของรัฐ คนอื่นคือศัตรู คือคนที่จะมาก่อกวน ฉะนั้นเขาจึงต้องทำสิ่งเหล่านี้
จากเหตุการณ์ถังแดง ซึ่งกระทำกับเหยื่ออย่างรุนแรงมาก เรื่อยมาจนถึง 6 ตุลา ที่มีการทำลายศพเหยื่อ มองว่าอะไรทำให้รัฐผลักการใช้ความรุนแรงไปถึงขั้นนั้น
เวลามองอีกฝั่งหนึ่งว่าเขาไม่ใช่มนุษย์ มันก็อาจนำไปสู่การทำอะไรได้โดยง่าย คือการมองว่าเขาเป็นคนอื่น เป็นปีศาจ เป็นคอมมิวนิสต์ที่จะมาล้มล้างทำลายความเป็นชาติไทย ก็ทำให้พวกเขาพร้อมที่จะทำอะไรไปไกลกว่าที่เราจินตนาการได้ เช่น การทำลายศพใน 6 ตุลา หรือการจัดการกับร่างกายของคนที่เป็นเหยื่อ มันจึงเต็มไปด้วยการมองว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ใช่มนุษย์แล้ว ซึ่งสิ่งนี้แหละที่อันตราย เพราะมันจะทำให้เกิดความโหดเหี้ยม ทารุณได้
เงื่อนไขอะไรทำให้รัฐสามารถก่ออาชญากรรมซ้ำๆ ได้
พอมันทำไปในนามความสงบของรัฐ สำหรับรัฐไทย ความเป็นชาติมันใหญ่มาก มันไม่ได้มองว่าคนที่อยู่ในชาติหรือประชาชนเป็นส่วนประกอบสำคัญ เขามองว่าความเป็นชาติไทยเป็นสิ่งที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ รวมไปถึงสิ่งที่อยู่ในนามของคำว่าความสงบด้วย ทุกวันนี้ภาคใต้ที่ยืดเยื้อเป็นสิบปี ก็ทำไปในนามของความสงบทั้งนั้น
เพราะความมั่นคงของรัฐมันใหญ่กว่าชีวิตประชาชน รัฐไม่เคยเห็นว่าชีวิตประชาชนสำคัญ เราเลยรู้สึกว่าเอาเข้าจริงแล้วรัฐไทยสนใจอะไรกันแน่ มันสนใจความมั่นคงของรัฐมากกว่าความมั่นคงของประชาชน แล้วคนรุ่นใหม่ก็ตั้งคำถามเยอะว่าทำไมรัฐจึงทำแบบนี้ ทำไมไม่สามารถเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ เพียงแต่คนที่อยู่ในอำนาจรัฐตอนนี้ก็ยังเป็นคนรุ่นเก่าในรัฐบาลแบบนี้ที่ยังรู้สึกว่าต้องทำให้รัฐสงบให้ได้
เรื่องที่ว่าทำไมคนยอมให้รัฐกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก สำหรับคนส่วนใหญ่รวมทั้งข้าราชการมอง ‘ความสงบ’ มาก่อน การใช้ความรุนแรงของรัฐเป็นแค่ความผิดพลาดไปบ้างของรัฐ แค่ให้เงินเยียวยาก็น่าจะพอแล้ว แต่ไม่เคยอยากเอาความจริงขึ้นมาให้ปรากฏเพราะกลัวจะสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐ
ทั้งนี้ เอาเข้าจริง รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยเองก็ใช้วิธีการคล้ายๆ กัน คือมีการทำนิรโทษกรรม สังคมไทยไม่อยากเผชิญหน้า เพราะเมื่อไรก็ตามที่เอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ มันจะต้องรื้อลงไปในรายละเอียด ต้องไปขุดค้นว่าใครกระทำ มีช่องโหว่ตรงไหน ทำไมมันจึงเกิดขึ้นได้ พอมันถูกตั้งคำถามก็ทำให้เกิดความสั่นคลอน ความมั่นคงที่รัฐพิทักษ์ไว้มันจะคลอนแคลน รัฐจึงไม่อยากให้มีการตั้งคำถาม ฉะนั้นวิธีเดียวคือ เมื่อทำไปแล้วก็หาเหตุผลอธิบายว่า ทำไปในนามความมั่นคงของรัฐ แล้วจบกันไป กระบวนการค้นหาความจริงก็ถูกเก็บใส่ลิ้นชัก มันเลยจบลงแบบนี้
การที่บอกว่าคนไทยลืมง่าย หรือปล่อยให้คนลืมๆ ไปเอง มันจึงทำให้คนเคยชินกับสิ่งแบบนี้ และสังคมไทยไม่อยากเผชิญหน้า เพราะสังคมนี้มันถูกบอกมาว่าเป็นสังคมที่ไม่มีความขัดแย้ง มีความสงบ รักสงบ รบไม่ขลาด แล้วความ ‘ไทยนี้รักสงบ’ มันก็อธิบายวัฒนธรรมบางอย่างในตัวของมันเอง คำว่ารักสงบแปลว่าอะไร แปลว่าคนห้ามเถียงกันหรือเปล่า การที่เราตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ก็ถูกบอกว่าทำไม่ได้ ไม่ควรเถียง แล้ววัฒนธรรมการถกเถียง ถ้าเรายอมรับเรื่องการมีความขัดแย้งโดยที่มันไม่นำไปสู่ความรุนแรงได้ มันก็จะเป็นวิธีการทำให้สังคมไทยกล้าเผชิญหน้ากับความจริงบางอย่าง
ส่วนตัวรู้สึกว่าที่สังคมเยอรมนีให้เด็กอนุบาลเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยการไปดูค่ายกักกัน เพื่อเป็นบทเรียนจากการกระทำของนาซี เป็นเพราะมันคือการยอมรับว่าครั้งหนึ่งเคยผิดพลาด และการที่คนในสังคมกล้าตั้งคำถามมันก็ทำให้เกิดการถกเถียงแล้วนำไปสู่การแก้ปัญหา แต่บ้านเรา เวลาอยากตั้งคำถามอะไรบางอย่าง ก็จะมีคนบอกว่าไม่ต้องถามเรื่องนี้หรอก ปล่อยมันไปเถอะ มันเลยเป็นแบบนี้
ความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นผลมาจากเหตุการณ์ลอยนวลต่างๆ ของภาครัฐในอดีต มันนำไปสู่อะไรบ้าง
อันนี้รวมไปถึงตากใบและ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ (ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง จังหวัดชายแดนใต้) ที่เรื่องเข้าไปยังสภาฯ แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้มีการจัดการใดๆ เกิดขึ้น กระบวนการยุติธรรมที่มีช่องโหว่คงต้องไปดูในรายละเอียด แต่ผลลัพธ์คือมันทำให้คนไม่เชื่อมั่น แล้วเมื่อคนไม่เชื่อมั่น คนก็ไม่ไว้ใจรัฐ
ยกตัวอย่างง่ายๆ กรณีสามจังหวัดภาคใต้ต่อความไม่ไว้ใจในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ 17 ปีของเหตุการณ์ความรุนแรง มีคนตาย 7,000 คน บาดเจ็บเป็นหมื่น แต่ถามว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐถูกลงโทษไหม ไม่มีเลยนะ เป็นศูนย์ ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือประชาชนซึ่งตกเป็นผู้ถูกกระทำหรือเป็นเหยื่อของความรุนแรงก็จะรู้สึกว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาก็ไม่ไว้ใจรัฐบาล และเมื่อรัฐบอกให้ฉีดวัคซีน ก็ไม่อยากฉีด ไม่ใช่เรื่องหลักการทางศาสนาอย่างเดียว อันนั้นยกไว้เรื่องหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อยด้วย แต่ส่วนใหญ่คือคนไม่มั่นใจวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามา เราไม่เหลือความเชื่อมั่นใดๆ กับรัฐบาลแบบนี้อีกแล้ว ฉะนั้นรัฐจะให้ทำอะไร จัดหาอะไรมาให้ประชาชน คนก็จะตั้งคำถามต่อทุกสิ่ง
มองภาพรวมแล้วดูเป็นรัฐที่ไม่เคยพยายามทำความเข้าใจประชาชนเลย ถ้ารัฐบาลที่มาจากฐานคิดที่ว่าเขามาจากประชาชน เขาอาจเห็นประชาชนมากกว่านี้ แต่ถ้ารัฐที่ไม่ได้มาจากประชาชนตั้งแต่แรก มันก็ไม่รู้สึกหรอกว่าต้องทำตามความเรียกร้องของประชาชน มีความ Arrogant ไม่รู้สึกว่าต้องแคร์ประชาชน เพราะมาจาก ส.ว. แต่ถ้ามาจากระบอบประชาธิปไตย เขาก็ต้องแคร์แล้วว่าถ้าเขาทำไม่ดีเขาก็จะไม่ถูกเลือกอีกต่อไปนะ
ความเป็นรัฐบาลมันต้องมาจากฐานเสียงของประชาชน โดยหน้าที่แล้วก็ต้องฟังประชาชน เงินที่ใช้ก็ภาษีเราทั้งนั้น
ผ่านมาถึงวันนี้ เรายังพอมีความหวังเรื่องการหยุดยั้งวัฒนธรรมรัฐลอยนวลพ้นผิดบ้างไหม
เรามองว่าการผ่านร่าง พ.ร.บ. ทรมานและอุ้มหาย (ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …) ในวาระที่ 1 น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการตรวจสอบการกระทำของฝ่ายรัฐ แต่ก็ต้องลุ้นในรายละเอียดของ พ.ร.บ. ต่อไป