×

‘6 ส.ส. ก้าวไกล’ อภิปรายร่างกฎหมายยุติซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ชี้พอกันทีจารีตนครบาลซ่อนรูป ต้องคุ้มครองประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
16.09.2021
  • LOADING...
อภิปรายร่างกฎหมายยุติซ้อมทรมาน-อุ้มหาย

เมื่อวานนี้ (15 กันยายน) ในการพิจารณาวาระรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงความสำคัญของกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งหมด 6 คน มีรายละเอียดน่าสนใจดังนี้

 

ไทยอันดับ 3 อาเซียนประชาชนถูกอุ้มหาย

ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงสถานการณ์การซ้อมทรมานและอุ้มหายในประเทศไทยว่า จากรายงานอย่างเป็นทางการของสหประชาชาติ พบว่า มีคนที่ถูกบังคับสูญหายในประเทศระหว่างปี 2523-2561 อย่างน้อย 86 คน มากเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นกรณีการสูญหายของ ทนง โพธิ์อ่าน, ทนายสมชาย นีละไพจิตร, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, พอละจี รักจงเจริญ, กมล เหล่าโสภาพันธ์, พ่อเด่น คำแหล้ ตลอดจน วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น  

 

ในส่วนการซ้อมทรมาน เฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ที่มีรายงานเป็นทางการใน 2 ช่วงคือ จากศูนย์ทนายความมุสลิม ปี 2550-2557 มีข้อร้องเรียนเรื่องการทรมาน 364 เรื่อง ยุคต่อมาคือหลังการรัฐประหารของ คสช. ข้อมูลจากกลุ่มทำด้วยใจ, เครือข่ายสิทธิฯ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมปี 2557 ถึงปัจจุบัน พบว่ามีข้อร้องเรียนเรื่องการทรมาน 250 เรื่อง เช่น กรณีการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวในค่ายทหารของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ, กรณีของ อิหม่ามยะผา กาเซ็ง และกรณีของครอบครัวชื่นจิต ที่มายื่นหนังสือในวันนี้หลังต่อสู้เรื่องนี้มาแล้ว 12 ปี

 

เปิดทางให้ กสม. เป็นผู้เสียหายร้องแทนกรณีไม่ปรากฏผู้เสียหาย

ต่อมา พลตำรวจตรี สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า สิ่งสำคัญที่อยากเสนอเพิ่มเติมคือ นิยามของผู้เสียหาย ซึ่งไม่ควรมีแค่ บิดา มารดา บุตร ภรรยา หรือผู้สืบสันดานเท่านั้น

 

ในกรณีไม่ปรากฏผู้เสียหาย ควรให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นผู้เสียหายเพื่อร้องแทนได้ด้วย สำหรับผู้กระทำ อย่าคิดว่ามีเพียงตำรวจเท่านั้น แต่ยังมีทหารและผู้ใช้อำนาจรัฐอื่นๆ ที่มีอำนาจควบคุม จับกุม สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้เช่นกัน รวมไปถึงราชทัณฑ์ก็เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่รัฐ การใช้รูปแบบจารีตนครบาลควรต้องหายไป ต้องไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเอาไปขึ้น ฮ. แล้วถีบลง ไม่มีการเอาถุงคลุมหัวหมุนโม่แล้วเอาปืนยัดมือผู้ถูกกระทำให้เหนี่ยวไกใส่ตัวเอง ต้องไม่มีการจับให้ไปนอนกอดน้ำแข็ง ไม่มีการเอาไฟฟ้าช็อตอวัยวะ 

 

“สิ่งที่เจ้าพนักงานของรัฐเรียนรู้ ลักจำมาผิดๆ ต้องเลิกให้หมด รวมถึงเจตนาที่ผิดและเจ้านายที่มีส่วนรู้เห็นคือบ่อเกิดของการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ต้องมีกองทุนเพื่อสนับสนุนกฎหมายนี้ เพราะต้องใช้เงินในการดูแลคนที่ให้ข้อมูลครอบคลุมไปถึงญาติของผู้มาร้องเรียน สุดท้ายขอเสนอให้คดีเหล่านี้ต้องไม่มีอายุความ ส่วนคดีเก่าอย่างยาเสพติดที่ถูกคลุมถุงดำ ต้องโอนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทำ” 

 

พอกันทีจารีตนครบาลซ่อนรูป 

ด้าน อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สำหรับคนที่ต้องลาจากครอบครัวโดยไม่ได้ร่ำลา คงไม่สามารถจินตนาการถึงความเจ็บปวดอย่างนั้นได้เลยหากไม่ได้ประสบเหตุด้วยตัวเอง แต่เรากลับอยู่ในประเทศแบบนี้ต่อเนื่องมาหลายสิบปีโดยไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ที่เป็นเช่นนี้เกิดมาจากวัฒนธรรมอำนาจนิยม ซึ่งประเทศนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสงสัยแต่ไม่มีคำตอบ 

 

“จารีตนครบาล การตอกเล็บบีบขมับถูกยกเลิกไปแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เรายังทำอยู่บนโรงพักใน พ.ศ. นี้ เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการมาเป็นการใช้ถุงดำ หรือการใช้ผ้าชุบน้ำห่อตัวแล้วทุบตีเพื่อไม่ให้เกิดบาดแผลภายนอกแต่ช้ำในตาย ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีต่อต้านการซ้อมทรมานมา 44 ปีแล้ว ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็มีข้อห้ามในการซ้อมทรมาน มีภาคประชาสังคม เช่น แอมเนสตี้ ที่พยายามผลักดันเสนอกฎหมายป้องการการซ้อมมทรมานและอุ้มหายมากว่า 10 ปี แต่ก็ไม่เกิดผล กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ในอดีตเคยมีการพิจารณาวาระหนึ่งไปแล้วถึง 4 ครั้ง แต่ว่าแต่ละครั้งกลับถูกปัดตกด้วยอุปสรรคต่างๆ นานา จึงยังไม่มีกฎหมายนี้เสียที จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ดิฉันต้องยืนขึ้นเพื่อสนับสนุนร่างของกรรมาธิการในครั้งนี้ การปกป้องประชาชนให้ปลอดภัยจากการซ้อมทรมานและสูญหายเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐ รวมไปถึงการติดตามช่วยเหลือ สอบสวน เยียวยา ก็เป็นหน้าที่ของรัฐเช่นกัน ถ้าอยากเป็นสภาที่ทรงเกียรติ กฎหมายนี้มีเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน จึงหวังว่าร่างนี้จะผ่านวาะแรก”

 

เครื่องมือปกป้องผดุงความยุติธรรม

มานพ คีรีภูวดล ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา คนไทยถูกบังคับสูญหายและถูกทรมานจำนวนมาก ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น กรณี ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ ซึ่งเป็นผู้ต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน แต่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ควบคุมตัวไปบริเวณผืนป่าแก่งกระจาน จากนั้นจึงไม่มีใครพบตัวอีก สิ่งที่พบคือ เจ้าหน้าที่กระทำการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีการแทรกแซงกระบวนการสืบสวนสอบสวนโดยไม่มีอิสระ 

 

“เพราะยังมีคนตัวเล็กตัวน้อยที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมายนี้จึงสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประชาชน เพื่อให้คนตัวเล็กตัวน้อย คนที่ต่อสู้กับความอยุติธรรม คนที่ออกมาบอกความจริง คนที่เปิดเผยความไม่ถูกต้อง ได้รับความคุ้มครอง และกฎหมายนี้ก็จะเป็นเครื่องมือที่ปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐในการผดุงความยุติธรรมด้วย”  

 

พ.ร.บ. นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดวงจรอุบาทว์

ขณะที่ รังสิมันต์ โรม อภิปรายว่า ขอสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับที่เสนอเข้ามาโดยภาคประชาชน ซึ่งต่อมามีการแก้ไขเพิ่มโดยคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน การอภิปรายนี้ขอให้ถือว่าเป็นการคารวะต่อผู้ถูกซ้อมทรมานและอุ้มหายในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา เฉพาะยุค คสช. มีผู้ที่ถูกอุ้มหายไปอย่างน้อย 9 คน ส่วนใหญ่คือผู้ที่ต้าน ซึ่งจำเป็นต้องเอ่ยชื่อ ได้แก่ อิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮ, วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ สุรชัย แซ่ด่าน, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ สหายภูชนะ, ไกรเดช ลือเลิศ หรือ สหายกาสะลอง, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ ลุงสนามหลวง, กฤษณะ ทัพไทย หรือ สหายยังบลัด, สยาม ธีรวุฒิ หรือ สหายข้าวเหนียวมะม่วง และ เด่น คำแหล้ เป็นแกนนำชาวบ้านที่ต่อต้านนโยบายทวงคืนผืนป่าที่รังแกคนจนของ คสช. ซึ่งในจำนวน 9 คนนี้มี 3 คนที่ถูกพบว่าเสียชีวิตแล้ว โดยถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม เอาเสาปูนยัดท้องและลอยมาติดริมแม่น้ำโขง ส่วนผู้ที่ถูกซ้อมทรมานก็มักเป็นกลุ่มบุคคลที่รัฐมองพวกเขาอย่างมีอคติ เช่น เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 เกิดกรณี อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่บาดเจ็บสาหัสขณะถูกสอบสวนในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี แต่เจ้าหน้าที่กลับอ้างว่าเข้าลื่นล้มในห้องน้ำ และท้ายที่สุดก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา

 

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ทั้งหลายนี้ ทำให้เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ภาคประชาชน ทั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนครอบครัวของเหยื่อผู้ถูกกระทำ ได้ร่วมกันยื่นร่าง พ.ร.บ. การซ้อมทรมาน ต่อ กมธ. การกฎหมายสภาฯ ที่ในขณะนั้นมี ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมมีมติให้แต่ละพรรคเสนอกฎหมายโดยไม่แบ่งแยกฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แต่เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 เกิดกรณีอุ้มหาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีประวัติต่อต้าน คสช. กมธ. กฎหมายฯ จึงเร่งดำเนินการ โดยนำร่างของประชาชนมาแก้ไขเพิ่มเติมให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเสนอต่อสภาฯ แล้ว โดย ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมกันลงชื่อ

 

“สาระสำคัญของร่างดังกล่าวคือ การกำหนดให้การซ้อมทรมานและการอุ้มหายเป็นความผิดตามกฎหมาย โดยผู้มีความผิดรวมถึงผู้มีส่วนร่วมที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลยและผู้กระทำผิดนอกราชอาณาจักรด้วย และให้ผู้เสียหายหมายความรวมถึงคู่ชีวิต บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้ถูกกระทำด้วย และให้มีการตั้งคณะกรรมการป้องกันการซ้อมทรมาน มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย และรวมถึงการป้องกันมิให้มีการปกปิดการควบคุมตัวบุคคล และกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวบุคคลต้องบันทึกและรายงานข้อมูลผู้ถูกคุมตัวโดยญาติของผู้ถูกคุมตัวหรือคณะกรรมการมีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล หากมีการปฏิเสธก็มีสิทธิ์ร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งให้เปิดเผยข้อมูลได้ หรือหากมีข้อร้องเรียนการกระทำผิดเกิดขึ้น คณะกรรมการสามารถร้องขอศาลเพื่อให้สั่งยุติการกระทำได้

 

“เมื่อเทียบกับร่างฉบับ ครม. แล้ว ร่างของ กมธ. กฎหมาย ยังมีการเพิ่มความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือการกระทำที่ทำให้เกิดอันตรายแก่ กาย จิตใจ หรือลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลเข้ามา และให้ความผิดทั้งหมดตามร่าง พ.ร.บ. นี้ไม่มีอายุความ เนื่องจากเป็นความผิดที่ใช้เวลายาวนานในการรวบรวมหลักฐานและพิจารณาข้อเท็จจริง และกำหนดให้มีการสืบสวนสอบสวนคดีอุ้มหายที่เกิดขึ้นก่อนที่ร่าง พ.ร.บ. นี้จะบังคับใช้ด้วย เพื่อค้นหาความจริงและคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ถูกกระทำในอดีต จึงหวังว่าการรับหลักการร่าง พ.ร.บ. นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดวงจรอุบาทว์ที่ประชาชนเห็นต่างจากรัฐจนบาดเจ็บล้มตายหรืออุ้มหายไร้ร่องรอย” 

 

รังสิมันต์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า จะเห็นว่าร่างของ กมธ. มีความเข้าใจและคุ้มครองผู้ถูกกระทำมากกว่าร่างของรัฐบาลที่ยื่นประกบเข้ามาภายหลัง และได้ยื่นไปนานแล้ว แต่มักถูกบรรจุเป็นวาระไว้ท้าย ส่วนกฎหมายด่วนที่เสนอมาโดยคณะรัฐมนตรีมักได้รับการพิจารณาก่อนเสมอ ต้องรอให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้อมผู้ต้องหาจนเสียชีวิตอีกครั้ง ซึ่งก็คือกรณีผู้กำกับ สภ.นครสวรรค์ จึงมาได้พิจารณาร่างนี้ในวันนี้ อย่างไรก็ตาม อย่าปล่อยให้มีครอบครัวไหนทุกข์ทรมานแบบนี้อีก อย่าปล่อยให้ทุรชนหน้าไหนกระทำแบบนี้อีกแล้วลอยนวลพ้นผิดไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสที่สภาจะได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องเสียที

 

เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างแท้จริง

ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ประเด็นที่อยากฝากหากร่างกฎหมายนี้ผ่านวาระหนึ่งและมีการพิจารณาในชั้น กมธ. ต่อไปคือ กรณีที่พบเหตุฉุกเฉิน จะให้มีคณะกรรมการสักชุดหนึ่งสามารถมีอำนาจสั่งตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระงับเหตุทันทีได้หรือไม่ เพราะการรอหลักฐานหรือร้องต่อศาลอาจช้าเกินไปหากมีเหตุเกิดขึ้นและมีการร้องเข้ามา ส่วนกรณีที่มีการขัดขวาง ก็ให้มีความผิดที่หนักขึ้น เพื่อให้กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างแท้จริง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X