วันนี้ (14 กันยายน) 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วม 6 องค์กรวิชาชีพ เรื่อง การรายงานข่าวในสถานการณ์การชุมนุม โดยมีรายละเอียดระบุว่า
ตามที่มีสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มประชาชน นิสิตนักศึกษา และนักเรียนในช่วงที่ผ่านมา และกำลังจะมีการชุมนุมใหญ่วันที่ 19 กันยายน 2563 นั้น 6 องค์กรวิชาชีพได้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดและมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ โดยได้รับการสะท้อนปัญหาจากสื่อมวลชนผู้ปฏิบัติหน้าที่ภาคสนามในการเข้าพื้นที่การชุมนุมเพื่อรายงานข่าว จึงมีข้อเรียกร้องต่อทุกฝ่ายดังนี้
1. องค์กรวิชาชีพขอยืนยันหลักการเสรีภาพของสื่อมวลชนตามหลักสากลที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จึงไม่ควรตกเป็นเป้าและเงื่อนไข ต้องได้รับอิสระในการรายงานข่าวเพื่อความครบถ้วนรอบด้านตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ ปราศจากการกดดันคุกคามในทุกรูปแบบ จึงเรียกร้องให้ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่สื่อมวลชนที่จะเข้าไปรายงานข่าวในพื้นที่
2. ขอให้กำลังใจกับสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง และขอให้ยึดมั่นในหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพในการรายงานข่าวที่ครบถ้วนรอบด้าน พร้อมกับเปิดพื้นที่ให้การรายงานข่าวทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับสังคมอย่างสันติ ปราศจากความรุนแรง
3. ขอให้กองบรรณาธิการของสำนักข่าวทุกแขนงดูแลสวัสดิภาพและสวัสดิการที่เหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ เพื่อให้การประสานงานระหว่างสื่อมวลชนกับฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจึงได้จัดตั้ง ‘ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม’ (ศปสช.) เพื่อทำหน้าที่ประสานงานด้านการรักษาความปลอดภัยและด้านอื่นๆ ที่จำเป็น โดยมีที่ตั้งอยู่ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (ถนนสามเสน ตรงข้ามโรงพยาบาลวชิระ) พร้อมกับจัดทำ ‘ปลอกแขนสัญลักษณ์’ ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรายงานข่าวการชุมนุม
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: