×

จับตา 6 ปัจจัย! ชี้ชะตา ‘เทรนด์ขาขึ้นของตลาดหุ้นโลก’ จะยังเดินหน้าต่อไปได้อีกหรือไม่

18.07.2023
  • LOADING...
ตลาดหุ้นโลก

การปรับตัวขึ้นเกือบ 10 ล้านล้านดอลลาร์ของตลาดหุ้นทั่วโลกในปีนี้ กำลังจะเผชิญกับฤดูแห่งการประกาศผลประกอบการในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่จะชี้ชะตาอนาคตของตลาดหุ้นทั่วโลก พร้อมด้วยปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ยังคงต้องพิจารณาเพิ่มเติมต่อจากนี้

 

  1. ฤดูประกาศงบกำลังมาเยือน

บริษัทต่างๆ ในดัชนี S&P 500 มีแนวโน้มว่าจะมีกำไรลดลง 9% ในไตรมาสที่ 2 นับเป็นไตรมาสที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่ปี 2020 จากข้อมูลที่รวบรวมโดย Bloomberg Intelligence ขณะที่ตลาดหุ้นในยุโรปอาจย่ำแย่กว่านั้น โดยมีการประเมินว่ากำไรจะดิ่งลงถึง 12% แต่ด้วยระดับกำไรที่ต่ำอยู่แล้ว และปัจจัยบางอย่างที่บ่งชี้ว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวในปีหน้า ทำให้นักกลยุทธ์มีมุมมองแตกออกเป็นสองฝั่ง 

 

Evgenia Molotova ผู้จัดการอาวุโสด้านการลงทุนของ Pictet Asset Management ไม่มั่นใจว่าบริษัทต่างๆ จะยังสามารถรักษาระดับกำไรที่แข็งแกร่งไว้ได้ในไตรมาสนี้หรือไม่ การเติบโตในระดับสูงและความมั่นคงของอัตรากำไรจะเป็นกุญแจสำคัญในการระบุว่า ผลกำไรจะสามารถฟื้นตัวได้หรือไม่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

 

ประเด็นสำคัญนอกเหนือจากการประกาศงบไตรมาสที่ 2 สำหรับนักลงทุน ได้แก่ ผลกระทบของค่าเงินดอลลาร์ที่ตกต่ำซึ่งส่งผลต่อบริษัทขนาดใหญ่ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ กระแสปัญญาประดิษฐ์ที่ขับเคลื่อนการขึ้นของหุ้นในปีนี้ และการจับตาบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้นและการหดตัวของภาคครัวเรือน 

 

  1. กระแส AI จะนำพาตลาดหุ้นได้อีกนานแค่ไหน?

ความคลั่งไคล้ในตลาดเกี่ยวกับ AI กระตุ้นให้ดัชนี Nasdaq 100 ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนแนวโน้มของหุ้นเทคโนโลยี สร้างผลตอบแทนอย่างโดดเด่นในครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม นักลงทุนกำลังมองหาหลักฐานที่สะท้อนถึงรายได้ที่มาจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ AI ของบริษัทต่างๆ 

 

Aneeka Gupta ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของ WisdomTree กล่าวว่า หาก AI ไม่สามารถสร้างรายได้ให้แก่บริษัทเทคโนโลยีอย่างเพียงพอ อาจทำให้เกิดแรงขายหุ้นและกดดันให้ตลาดปรับตัวลงอย่างน้อยในระยะสั้น 

 

ข้อมูลจาก Bloomberg Intelligence คาดว่า บรรดาหุ้นเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดอย่าง Apple, Microsoft, Amazon, NVIDIA และ Google จะมีการเติบโตของรายได้ที่ดีที่สุดในบรรดาบริษัทต่างๆ ของสหรัฐฯ ในไตรมาสนี้ 

 

  1. ปัญหาเงินเฟ้อที่แม้ทุเลาลง แต่ใช่ว่าจะคลี่คลาย

สัญญาณของอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงกระตุ้นให้ตลาดมองในแง่ดีว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ แต่สำหรับภาคธุรกิจ ข่าวนี้อาจไม่ใช่ปัจจัยบวก เนื่องจากต้นทุนแรงงานและต้นทุนอื่นๆ ยังคงสูงขึ้น ในขณะที่บริษัทต้องดิ้นรนโดยการขึ้นราคาให้แก่ลูกค้าต่อไป

 

Rob Haworth นักยุทธศาสตร์การลงทุนอาวุโสของ U.S. Bank Wealth Management เผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวเร็วกว่าค่าจ้าง แม้สามารถช่วยผู้บริโภคได้ แต่ก็กระทบต่ออัตรากำไรของบริษัท โดยบริษัทจะเฝ้าดูความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของค่าจ้างกับอัตราเงินเฟ้อ ว่าธุรกิจยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันหรือไม่

 

  1. การบริโภคจะยัง ‘แบกรับ’ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อไปได้หรือไม่

นักลงทุนกำลังจับตาไปที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคและยอดขายรถยนต์ รวมทั้งการเดินทางและการเข้าถึงบริการสุขภาพ นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญอีกประการคือ ภาระหนี้ของบริษัทและแผนการรีไฟแนนซ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทที่มีงบดุลที่อ่อนแอ

 

Ross Mayfield นักวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุนของ Baird ระบุว่า ผู้บริโภคได้กระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ มาหลายเดือนแล้ว โดยได้รับแรงกระตุ้นจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและการออมที่มากเกินไป ดังนั้น หลักฐานใดที่อาจบ่งบอกถึงการรัดกุมของผู้บริโภคอาจเป็นยอดการซื้อ-ขาย หรือการใช้จ่ายด้านบริการที่ลดลง

 

เมื่อปรับตามอัตราเงินเฟ้อแล้ว การใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เริ่มหยุดชะงักหลังจากพุ่งขึ้นในช่วงต้นปี ซึ่งสัญญาณเริ่มต้นจากการที่บริษัทต่างๆ เริ่มทำยอดขายได้ไม่ค่อยดีนัก ผู้ผลิตชิปหน่วยความจำ Micron Technology คาดว่าตลาด PC และสมาร์ทโฟนจะหดตัว ขณะที่ BASF ยักษ์ใหญ่ด้านเคมีภัณฑ์ของเยอรมนีอาจมีผลกำไรลดลง โดยกล่าวโทษไปยังความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลกที่ชะลอตัว

 

ดังนั้น Michael Wilson นักยุทธศาสตร์จาก Morgan Stanley ชี้ว่า การคาดการณ์ที่ว่ากำไรจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปีหน้าอาจดูเกินจริง ซึ่งจะทำให้หุ้นมีความเสี่ยงที่จะถูกเทขาย หากบริษัทต่างๆ ยังคงดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง

 

  1. ตลาดยุโรปเจ็บหนักต่อไป แต่นักลงทุนบางรายมองว่าเป็นของ ‘ถูก’ 

รายงานของนักยุทธศาสตร์จาก Barclays พบว่า ผลกำไรในยุโรปคาดว่าจะลดลงมากกว่าในสหรัฐฯ เนื่องจากความอ่อนแอในภาคการผลิต ผู้ส่งออกรายใหญ่กำลังเผชิญกับอุปสรรคเพิ่มเติมเนื่องจากสกุลเงินต่างๆ รวมทั้งยูโรและฟรังก์สวิสเริ่มแข็งค่าขึ้น ผู้ผลิตนาฬิกา Swatch Group ซึ่งเป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนคงที่สูงที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ เตือนว่าการเปลี่ยนแปลงของสกุลเงินจะส่งผลกระทบต่อยอดขายในปีนี้

 

ตลาดหุ้นเริ่มสะท้อนความท้าทายของยุโรปในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน เมื่อดัชนี STOXX 600 มีประสิทธิภาพต่ำกว่าดัชนี S&P 500 ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ แต่การประเมินมูลค่าที่ถูกกว่าทำให้หุ้นยุโรปเริ่มมีความน่าสนใจอีกครั้งสำหรับนักลงทุนบางราย ขณะที่นักลงทุนคนอื่นๆ เชื่อว่าการขาดแคลนหุ้นเทคโนโลยีในตลาดอาจทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวไม่ชัดเจน

 

  1. การฟื้นตัวที่น่าผิดหวังของเศรษฐกิจจีน

ตลาดหุ้นจีนนับเป็นหนึ่งในไม่กี่ตลาดที่พลาดกระแสตลาดหุ้นขาขึ้นทั่วโลกในปีนี้ ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ความกังวลที่ยังคงดำเนินในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการว่างงานของเยาวชนจีนที่เพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ผลประกอบการของผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศจีนยังเป็นบวก เนื่องจากยอดขายในประเทศและการส่งออกเริ่มฟื้นตัว ในขณะที่ผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีอาจอ่อนแอเนื่องจากตลาดชิปทั่วโลกยังมีปัญหา

 

การเดิมพันยังคงสูงในบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในจีน เช่น ยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าหรูหราของยุโรป Burberry Group กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า อุปสงค์ในจีนช่วยชดเชยความอ่อนแอในสหรัฐฯ ด้าน LVMH และ Kering ซึ่งเริ่มแสดงรอยร้าวเมื่อต้นปีนี้ ก็จะถูกพิจารณาจากผลประกอบการในเอเชียเช่นกัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X