×

5G ประเทศไทย ‘เร็วไป’ ไม่ได้แปลว่าดี

23.08.2019
  • LOADING...
สมชัย เลิศสุทธิวงค์

นาทีนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่า 5G เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังพุ่งเป้าให้ความสนใจกันอึกทึกครึกโครม

 

ที่ AIS เอง เราเริ่มทดสอบสัญญาณ 5G ครั้งแรกในประเทศไทยไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จัดโชว์เคสต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก และได้ทำการทดสอบอีกหลายครั้ง เช่นต้นปีนี้ที่ได้ทดสอบ 5G กับหุ่นยนต์ช่วยกายภาพบำบัด กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนในเดือนสิงหาคมก็เพิ่งทดสอบ 5G กับรถยนต์ไร้คนขับในการเคลื่อนที่จริงกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพราะในมุมมองเทคโนโลยี ผมมองว่าเราในฐานะผู้ให้บริการจำเป็นจะต้องศึกษามันอย่างละเอียดและต่อเนื่อง

 

อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ ผมพบว่า 5G มีข้อดีทั้งหมด 3 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย

 

1. ความเร็ว (Speed): จากเดิมในยุค 4G ที่เราเคยใช้งานอินเทอร์เน็ตรับส่งข้อมูลที่ความเร็วหลักร้อย Mbps ใน 5G จะเพิ่มขึ้นไปเป็นระดับ Gbps (ระดับ 1000 Mbps ขึ้นไป) อย่างไรก็ดี ในเชิงการใช้งานทั่วไป ผมมองว่าความเร็วอาจจะไม่ได้มีนัยสำคัญมาก เพราะความเร็วของ 4G ที่ใช้งานกันทุกวันนี้ก็ค่อนข้างลื่นไหลอยู่แล้ว

 

2. ความหน่วงต่ำ (Low Latency): นี่คือความพิเศษที่สุดของ 5G ที่เหนือปัจจัยความเร็ว สมมติว่าเรานำไปใช้งานจริงกับระบบรถยนต์ไร้คนขับ เทคโนโลยี 5G จะช่วยให้การรับส่งข้อมูลของตัวรถทำได้ทันที ไม่มีความหน่วงเกิดขึ้น หมายความว่าตัวรถสามารถตัดสินใจที่จะหักหลบหรือเบรกได้แบบเรียลไทม์เมื่อตรวจพบวัตถุและสิ่งกีดขวาง นอกจากนี้ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยเฉพาะ ‘การผ่าตัดทางไกล’ ได้ด้วย

 

3. การเชื่อมต่อที่หลากหลาย (Mass Connectivity): ทุกวันนี้ เมื่อโอเปอเรเตอร์ไปตั้งเสาสัญญาณ 4G จำนวน 1 เสา ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่ง แม้ในเชิงทฤษฎีจะบอกว่าการเชื่อมต่อสัญญาณกับอุปกรณ์ต่างๆ สามารถทำได้เป็นหลักแสนเครื่อง แต่ในเชิงการใช้งานจริงอาจจะได้แค่หลักหมื่นเครื่อง เช่น ตามคอนเสิร์ตต่างๆ ที่มีฝูงชนรวมตัวกันหนาแน่น เราก็จะพบว่าสัญญาณโทรศัพท์มือถือกลับใช้การไม่ได้เสียอย่างนั้น ปัญหานี้ก็จะหมดไปเช่นกันเพราะ 5G บอกว่า แต่ละจุดในทางทฤษฎีจะใช้ได้เป็นหลักล้านเครื่อง นั่นหมายความว่า ทางปฏิบัติ หลักแสนเครื่องน่าจะรองรับได้สบายๆ

 

ที่สำคัญยังทำให้ IoT (Internet of Things) สามารถใช้งานได้จริงแบบเต็มประสิทธิภาพ เชื่อมต่อทุกอุปกรณ์ในระบบเข้าด้วยกันแล้วทำงานได้อย่างลื่นไหล ไม่ว่าจะมีอุปกรณ์มากมายแค่ไหนก็ตาม ซึ่ง IoT ก็คือหัวใจของ Smart City นั่นเอง

 

แต่ในมุมของการดำเนินงานและการนำไปใช้งานจริงในชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานทั่วๆ ไป ผมเชื่อว่าเราอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 2 ปีกว่าจะสามารถใช้งาน 5G ได้จริง บอกไปแบบนี้หลายคนอาจจะรู้สึกประหลาดใจ แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศว่าปี 2563 นี้ ประเทศไทยเรากำลังจะมี 5G แล้วก็ตาม

 

เหตุผลที่ต้องรออีก 2 ปีก็เพราะว่าการที่เอกชนจะลงทุนนั้น จำเป็นที่จะต้องมีองค์ประกอบหลายๆ อย่าง อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเกิดภาพความเป็นจริงและความเป็นไปได้ที่ชัดเจนเสียก่อน 

 

ถูกต้องที่ว่า ทุกวันนี้เราในฐานะโอเปอเรเตอร์สามารถทดสอบการใช้งานตัวสัญญาณเพื่อไม่พลาดการเรียนรู้เทคโนโลยี เพราะเราไม่มีปัญหาเรื่องการลงทุนด้านเน็ตเวิร์กหรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่จะลงทุนได้ก็ต่อเมื่อมี ‘ความพร้อม’ ทั้งการเกิดยูสเคสที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงแบบเห็นประโยชน์ชัดเจน 

 

นอกจากนี้ก็ต้องมี ‘ระบบนิเวศ’ ที่เป็นรูปธรรม มีอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งาน 5G ในตลาดด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ ทุกวันนี้มีการนำเข้าสมาร์ทโฟนมาจำหน่ายในไทยปีละประมาณ 20 ล้านเครื่อง ในจำนวนนี้กลับมีสมาร์ทโฟนที่ใช้งาน 5G ได้ไม่ถึงหลักหมื่นเครื่องด้วยซ้ำ ผมเลยเช่ือว่าเราควรต้องรอให้เกิดความพร้อมทั้งด้านยูสเคสและอุปกรณ์ที่จะรองรับการใช้งานให้ได้เป็นอันดับแรก

 

มองออกไปยังประเทศอื่นๆ ในสเกลระดับโลก จีนและเกาหลีใต้คือสองประเทศที่แข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยี 5G ดุเดือดและเดินหน้าไปไกลมากๆ สาเหตุก็เพราะพวกเขามีผลประโยชน์ต่อเนื่องจากตัวเทคโนโลยี ทั้งซัมซุง (Samsung) ที่เตรียมวางจำหน่ายสมาร์ทโฟนรองรับการใช้งาน 5G หรือหัวเว่ย (Huawei) ซึ่งพร้อมทั้งด้านการเป็นผู้วางจำหน่ายเน็ตเวิร์ก อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และสมาร์ทโฟน

 

ในมุมมองของผม ผมไม่กังวลว่าประเทศไทยจะมี 5G ช้ากว่าประเทศอื่น ตรงกันข้าม ผมกลัวการมี 5G ที่เร็วเกินไปมากกว่า เพราะอาจจะทำให้เราเสียโอกาสได้ ประเทศไทยเราอยู่ในโพสิชันของการเป็น ‘ผู้ใช้-ผู้บริโภค’ ถ้าวันนี้ยูสเคสหรือความเป็นไปได้ของการนำไปใช้งานจริงยังไม่พร้อม ‘เราอาจจะเสียมากกว่าได้’ ไหนจะต้องมาซื้ออุปกรณ์ที่รองรับระบบในราคาสูง เอามาแล้วจะใช้ประโยชน์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยไหมก็ไม่มีใครรู้

 

ในงานแถลงวิสัยทัศน์ AIS Vision ผมเคยพูดไว้ว่า เรากำลังติดกับดักจากการที่ไทยมี 3G และ 4G ช้าไปนานกว่า 10 ปี ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของความล่าช้าในการประมูล หรือเหตุผลอื่นๆ ก็ดี แต่วันนี้เรากำลังจะติดกับดักอีกรูปแบบ นั่นคือการเร่งให้เกิด 5G เร็วเกินไป พอเร็วเกินไป ทีนี้คนที่ลำบากก็คือคนไทยทั้งหมด ต้องอุปโภคของแพง ซื้อมาแล้วใช้งานได้ไม่เต็มที่

 

ผมเคยมีโอกาสได้หารือในประเด็นนี้ร่วมกับรัฐบาลอยู่เหมือนกัน ซึ่งเขาก็เข้าใจเพียงแต่รัฐมองว่าการผลักดันให้เกิด 5G ได้เร็วจะทำให้ประเทศชาติไปได้เร็วกว่า เป็นการผลักดันภาพของประเทศไทย 4.0 ให้ชัดมากขึ้น ในอีกมุมหนึ่งก็รวมถึงเงินประมูลคลื่นที่จะเข้าประเทศด้วย

 

อีกประเด็นที่สำคัญคือ การออกกฎระเบียบกติกาข้อบังคับต่างๆ (Regulation) ซึ่งมาถึงวันนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ และมันกระทบกับอุตสาหกรรมและธุรกิจของผู้ให้บริการแต่ละรายมากๆ 

 

เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่า คลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติ และต้องนำออกมาประมูลเท่านั้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะจีนหรือเกาหลีใต้ที่รู้อยู่เต็มอกว่ายูสเคสการใช้งาน 5G จริงยังไม่ค่อยมีมากนัก และผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องลงทุนอีกมหาศาลเพื่อผลักดันให้เกิด 5G ขึ้น รัฐบาลเขาให้คลื่นความถี่ไปใช้กันฟรีๆ เลย หรือบางประเทศก็ให้ไปด้วยราคาถูกๆ ไม่ต้องมาประมูลแข่งกัน  

 

ตัวผมเองเรียกร้อง Regulators ในบ้านเรามาตลอดเวลาว่า Regulators จะต้องบาลานซ์ 3 ส่วนให้เกิดความสมดุล การหาเงินเข้ารัฐบาลจะต้องคำนึงถึงเอกชนและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับด้วย หากสามารถบาลานซ์ 3 ส่วนได้ลงตัว ก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างเกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย 

 

สิ่งที่ผมอยากจะบอกให้ทุกฝ่ายสบายใจได้ก็คือ อะไรที่โลกนี้มี ประเทศไทยก็ต้องมี ผู้ให้บริการ โอเปอเรเตอร์ทุกค่าย เราเห็นความสำคัญของ 5G อยู่แล้ว ไม่มีใครยอมกันแน่นอน เราพร้อมจะเดินหน้าลงทุน 

 

เพียงแต่รอเวลาที่เหมาะสมเท่านั้นเอง

 

THE LEADER คือคอลัมน์ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้นำองค์กรหรือสถาบันระดับประเทศ มาแสดงวิสัยทัศน์เพื่อจุดประกายความคิดให้กับผู้อ่าน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising