×

สรุปภาพรวมหลังประมูล 5G อ่านเกมก้าวต่อไปของผู้ให้บริการแต่ละเจ้า

18.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS. READ
  • การประมูล 5G ในประเทศไทยทั้ง 3 ย่านความถี่ 700 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 100,521.17 ล้านบาท
  • การที่ AIS เลือกประมูลความถี่ได้ครบทุกย่านความถี่ 700 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz นอกจากจะช่วยเพิ่มขุมกำลังในการให้บริการแล้ว ยังเป็นการทำการตลาดที่ชาญฉลาดมากๆ ส่วนกรณีของ dtac อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินพวกเขาว่าเดินเกมผิด   
  • การเปลี่ยนผ่านจาก 4G มายัง 5G ผลกระทบอันดับแรกของผู้บริโภคคือจะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์หรือสมาร์ทโฟนให้รองรับการใช้งานเทคโนโลยี 5G ได้ด้วย ส่วนเรื่องการกำหนดราคาแพ็กเกจ นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย แต่อาจจะไม่น่ากังวลว่าจะสูงเกินจับต้องได้

การประมูล 5G ในประเทศไทยทั้ง 3 ย่านความถี่ 700 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 กุมภาพันธ์) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 100,521.17 ล้านบาท (ราคายังไม่รวม VAT) โดยกระบวนการต่อจากนี้ ทาง กสทช. จะจัดประชุมวาระพิเศษ เพื่อรับรองผลการประมูลในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ก่อนจะเปิดให้เริ่มรับใบอนุญาตในลำดับถัดไป

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การประมูล 5G ครั้งนี้มีความสำคัญหรือพิเศษกว่าการประมูลคลื่นความถี่ 3G หรือ 4G ครั้งที่ผ่านๆ มาอย่างไร การที่แต่ละค่ายผู้ให้บริการ (โอเปอเรเตอร์) เลือกประมูลความถี่ในแต่ละย่านกำลังบอกอะไรกับเรา 

 

แล้วในมุมของผู้บริโภคทั่วๆ ไป เราจะเริ่มได้ใช้งาน 5G เมื่อไร มีผลกระทบกับชีวิตประจำวันของเรามากน้อยแค่ไหน

 

THE STANDARD สรุปประเด็นที่น่าสนใจจากการประมูล 5G ครั้งนี้มาฝากให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันอีกครั้ง

 

ภาพรวมการประมูล 5G ประเทศไทยที่ ‘(จบ)เร็ว’ กว่า 4G 

การประมูล 5G ที่ผ่านมา นอกจากจะมีการประมูลย่านคลื่นความถี่และใบอนุญาตมากที่สุดเท่าที่ กสทช. เคยจัดการประมูลมาแล้ว ยังถือเป็นการประมูลที่จบลงเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้อีกด้วย โดยใช้ระยะเวลาในการประมูลรวมทั้งสิ้นประมาณ 5 ชั่วโมง 35 นาที ต่างจากการประมูล 4G ที่กินเวลาข้ามวันข้ามคืน 

 

สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะทาง กสทช. ได้นำการประมูลแบบ ‘Clock Auction’ เข้ามาใช้ จึงทำให้การประมูลในแต่ละรอบลื่นไหลและจบลงเร็วกว่าการประมูลแบบเก่า วิธีการคือให้ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอจำนวนใบอนุญาต (ล็อตคลื่นความถี่) ที่ต้องการ (พร้อมจำนวนเงินที่ปรับเพิ่มขึ้นในแต่ละรอบเคาะการประมูล) 

 

หากการเสนอคลื่นความถี่ของผู้ประมูลในรอบนั้นๆ มีจำนวนความต้องการต่ำกว่าจำนวนใบอนุญาตที่ทาง กสทช. เสนอขาย การประมูลก็จะจบลงทันทีในรอบนั้น ตัวอย่างเช่น การประมูลคลื่นความถี่ 26 GHz ที่จบลงในรอบแรก เพราะผู้ประมูลเสนอความต้องการใบอนุญาตรวมกันที่ 26 ใบเท่านั้น (กสทช. จัดให้ประมูลที่ 27 ล็อตความถี่ (ใบละ 100 MHz))

 

แต่หากผู้ประมูลมีดีมานด์ความต้องการใบอนุญาตสูงกว่าจำนวนที่ กสทช. จัดให้ประมูล การประมูลก็จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้บทสรุปที่ลงตัว เช่น การประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz ที่กินเวลามากถึง 2 ชั่วโมง 30 นาที เนื่องจากตั้งแต่รอบที่ 2-19 มีผู้ยื่นประมูลเสนอความต้องการใบอนุญาตคงที่ที่ 4 ใบ (กสทช. จัดให้ประมูลที่ 3 ล็อตความถี่ (ใบละ 2×5 MHz))

 

ก่อนที่การประมูลจะจบลงในรอบที่ 20 เนื่องจากอาจจะมีผู้เข้าร่วมประมูลรายใดรายหนึ่งถอนตัว หรืออาจจะลดจำนวนความต้องการคลื่นความถี่ลงจนเหลือรวม 3 ใบพอดี (ผลสรุปสุดท้ายเป็น CAT และ AIS ที่คว้าไปรายละ 2 และ 1 ใบตามลำดับ)

 

อีกเทคนิคพิเศษคือ ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถกดปุ่มจบการประมูลพร้อมๆ กันได้เพื่อเร่งเวลาให้การประมูลรอบนั้นๆ จบลงเร็วขึ้นกว่าเดิม จากปกติที่การประมูลแต่ละรอบจะมีระยะเวลาให้ที่ 20 นาที หากผู้ประมูลพอใจการเสนอจำนวนประมูลล็อตความถี่ในรอบนั้นๆ แล้ว ก็สามารถเลือกกดปุ่มดังกล่าวเพื่อให้การประมูลดำเนินไปสู่รอบต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องรอให้ครบ 20 นาที

 

นั่นจึงทำให้ 5G ในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ตัวสัญญาณจะเร็วแรงและมีความหน่วงต่ำกว่า 4G เท่านั้น แต่การจบการประมูลก็ยังเร็วกว่าอีกด้วย

 

 

‘700 MHz’ แรร์ไอเท็มที่ใครก็อยากได้ จนการประมูลยืดเยื้อไปถึงรอบที่ 20 

เป็นที่ทราบกันดีว่า 700 MHz คือคลื่นความถี่ย่านต่ำที่สุดที่ทาง กสทช. นำมาให้โอเปอเรเตอร์แต่ละรายได้ร่วมกันประมูลในครั้งนี้ แต่คำถามก็คือ อะไรทำให้ CAT, AIS และ True ต้องยืดเยื้อแข่งกันจนถึงรอบที่ 20 และทำให้ราคาพุ่งมากถึง 95% มาอยู่ที่ 51,460 ล้านบาท

 

THE STANDARD มีโอกาสได้พูดคุยกับ สืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยได้คำตอบที่น่าสนใจว่า ความถี่ 700 MHz เปรียบเสมือน ‘แรร์ไอเท็ม’ ของชุดย่านความถี่ทั้งหมด 

 

เนื่องจากย่านความถี่ต่ำในปัจจุบันไม่ค่อยเหลือแล้ว เพราะถูกนำไปใช้ในหลายกิจการ เช่นเดียวกับทั้ง 3 ล็อตความถี่ที่นำมาประมูลในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการนำคลื่นที่ใช้ในการทำทีวีดิจิทัลมาประมูล

 

บวกกับโดยพื้นฐานแล้ว คุณสมบัติของคลื่นความถี่ 700 MHz คือความสามารถในการส่งสัญญาณออกไปยังพื้นที่บริเวณไกลๆ ไม่ได้จำกัดแค่ในเมืองหลวง เหมาะกับการทำบนถนนหลวง หรือตามพื้นที่ห่างไกล ต่างจังหวัด 

 

เมื่อรวมเหตุผลของการที่ตัวคลื่นสามารถให้บริการได้ครอบคลุมในพื้นที่วงกว้าง และความยากในการได้มาซึ่งตัวคลื่นความถี่ย่านต่ำ จึงไม่น่าแปลกใจที่โอเปอเรเตอร์ต่างก็ต้องการความถี่ในย่านนี้มาเสริมพอร์ตความถี่ที่ตัวเองมีอยู่ในมือ

 

ซึ่งเมื่อไปย้อนดูคลื่นความถี่ต่ำที่ CAT มีในมือก่อนหน้านี้ก็จะพบว่า พวกเขามี 850 MHz อยู่ในครอบครองที่ 20 MHz การได้มาซึ่ง 700 MHz (2 ล็อตความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 MHz) จึงช่วยให้มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการให้บริการโทรคมนาคมกับพื้นที่ในวงกว้างได้มากขึ้น

 

ขณะที่ AIS เดิมที่มี 700 MHz อยู่แล้วที่ 20 MHz การประมูลในครั้งนี้จึงช่วยให้มีจำนวนล็อตความถี่ย่านต่ำเพิ่มมาเป็น 30 MHz นั่นเอง (ประมูล 5G คลื่น 700 MHz ได้เพิ่มอีกหนึ่งใบ (2×5 MHz))

 

 

อ่านเกมผู้ให้บริการแต่ละราย เมื่อ AIS คว้าครบทุกย่าน แล้วทำไม dtac ถึงเลือก 26 GHz ย่านเดียว

สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดจากการประมูล 5G ที่เพิ่งจบลงไป คือการที่ผู้คนต่างก็พากันชื่นชม AIS และเกิดความรู้สึกอยากเปลี่ยนมาใช้บริการ เนื่องจาก AIS หรือในที่นี้คือ ‘บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด’ กลายเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่สามารถคว้าคลื่นความถี่ 5G มาครองได้ครบและครอบคลุมที่สุดทั้ง 3 คลื่นความถี่ที่มีการประมูล ประกอบด้วย 700 MHz (1 ใบ = 2×5 MHz), 2600 MHz (10 ใบ = 100 MHz) และ 26 GHz (12 ใบ = 1200 MHz)  

 

ขณะเดียวกันผู้ใช้งาน dtac จำนวนไม่น้อยก็พากันโอดครวญ และแสดงความรู้สึกผิดหวังไปตามๆ กัน ทันทีที่ทราบว่าผู้ให้บริการของพวกเขาตัดสินใจประมูล 5G คลื่นความถี่ 26 GHz มาครองแค่ 2 ใบเท่านั้น

 

แต่คำถามก็คือ ความเชื่อเช่นนั้นคือส่ิงที่ถูกต้องจริงหรือเปล่า แล้วการที่โอเปอเรเตอร์แต่ละรายเลือกประมูลแต่ละย่านความถี่กำลังบอกอะไรเรากันแน่

 

(หมายเหตุ: การที่ผู้ให้บริการแต่ละเจ้าจะให้บริการ 5G ได้อย่างเหมาะสม อย่างน้อยที่สุดคลื่นความถี่ 2600 MHz ควรจะมีจำนวนที่ 80 MHz ขึ้นไป และสำหรับ 26 GHz ควรจะมีจำนวนที่ 100 MHz ขึ้นไป)

 

 

หมายเหตุ: บริเวณกรอบไฮไลต์ส้มคือคลื่นที่ได้มาใหม่จากการประมูล 5G ในครั้งนี้
(เดิม AIS มี 700 MHz อยู่แล้ว 20 MHz หรือ 2 ใบอนุญาต)

 

  1. AIS: (AWN: บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด)

ปัจจุบัน AIS เป็นผู้ให้บริการที่มีจำนวนฐานผู้ใช้งานมากที่สุดนำเป็นอันดับ 1 ที่ 42 ล้านราย การได้มาซึ่งคลื่นความถี่ในการทำ 5G ทั้งสามย่าน เมื่อรวมกับของเดิมที่มีอยู่ จะช่วยให้พวกเขาสามารถให้บริการลูกค้าได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น 

 

ซึ่งในประเด็นนี้สืบศักดิ์เชื่อว่า การที่ AIS เลือกประมูล 5G มาครองได้ครบทุกย่านความถี่ และมีจำนวนล็อตความถี่รวมสูงสุด ไม่เพียงแต่จะเป็นการเติมความสามารถในการให้บริการเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ภาพลักษณ์ของพวกเขาในฐานะผู้นำตลาดชัดเจนมากไปด้วย

 

เรียกง่ายๆ ว่างานนี้ AIS ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เติมอาวุธให้ตัวเองแถมยังทำการตลาดและเสริมสร้างแบรนดิ้งองค์กรให้ดูดีได้พร้อมๆ กัน

 

 

  1. True: บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด

ฝั่ง True แม้การประมูลครั้งนี้จะดูนิ่งๆ ไม่หวือหวา และถึงจะไม่ได้รับการจัดสรรการประมูลคลื่นความถี่ 5G ย่าน 700 MHz ในการประมูลรอบนี้ แต่ถ้าดูจากคลื่นความถี่ 700 MHz ของเดิมที่มีอยู่ในมือที่ 2 ใบ (20 MHz) นั่นหมายความว่าพวกเขาก็ไม่ได้เสียหายอะไร

 

ในทางตรงกันข้าม การประมูล 2600 MHz มาครองที่ 9 ใบอนุญาต (90 MHz) และ 26 GHz ที่ประมูลได้มา 8 ล็อตความถี่ (800 MHz) ซึ่งเป็นจำนวนที่มากพอต่อความต้องการขั้นต่ำในการให้บริการ 5G ทั้งคู่ก็สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาสามารถทำตามเป้าหมายของตัวเองได้อย่างเหมาะสม 

 

 

  1. dtac: บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด

ด้าน dtac ดูจะเป็นผู้ให้บริการรายเดียวที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดจากการประมูลครั้งนี้ เพราะประมูลคลื่นความถี่ 5G มาครองได้แค่ย่านเดียวคือ 26 GHz ที่ 2 ล็อตคลื่นความถี่หรือ 200 MHz เท่านั้น

 

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่รวมถึงผู้เขียนยังมองว่า ‘เร็วเกินไป’ ที่จะตัดสิน dtac จากการประมูลในครั้งนี้ เพราะถ้ายึดจากเกณฑ์ขั้นต่ำการให้บริการ 5G ที่เหมาะสม การได้คลื่น 26 GHz มาที่ 200 MHz ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

 

ยิ่งไปกว่านั้น หลายฝ่ายยังเชื่อกันอีกด้วยว่า จริงๆ แล้วสาเหตุที่ทาง dtac เลือกไม่ประมูลความถี่ย่าน 2600 MHz แต่แรก รวมถึงไม่ได้บู๊แหลกเอา 26 GHz มาเยอะๆ เป็นเพราะอาจจะมีความต้องการคลื่น 3500 MHz มากกว่า ซึ่งคลื่นดังกล่าวเป็นคลื่นย่านความถี่ที่ทางบริษัทแม่ (Telenor Group) ก็ใช้งานและให้บริการอยู่ในหลายๆ ประเทศเช่นเดียวกัน 

 

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า ผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2600 MHz ยังมีเงื่อนไขที่ต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่ EEC ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรใน Smart City ภายใน 4 ปี

 

ประกอบกับมีความเป็นไปได้สูงที่ทาง กสทช. อาจจะนำคลื่น 3500 MHz ออกมาจัดประมูลในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้เมื่อพินิจพิเคราะห์จากความเหมาะสมในการลงทุนแล้ว รวมถึงการดำเนินตามกลยุทธ์ของบริษัทแม่ dtac อาจจะรอทุ่มใหญ่ครั้งเดียวเลยก็เป็นได้ เพื่อความคุ้มค่า แถมในปัจจุบันคลื่นความถี่ในแต่ละย่านที่พวกเขามีอยู่ในครอบครองก็ไม่ได้ขี้เหร่เลยด้วยซ้ำ

 

เกมในครั้งนี้ของ dtac จึงต้องตามดูกันยาวๆ

 

 

  1. CAT และ TOT: บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

กรณีของ CAT และ TOT เป็นเคสที่น่าสนใจมากๆ เพราะถึงแม้ในเชิงความเป็นจริง ผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจทั้งสองรายจะออกมายืนยันว่าไม่มีการพูดคุยหรือวางแผนร่วมกัน แต่จากที่พวกเขาเลือกแยกกันประมูล โดยให้ CAT ลงมาประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz และ 2600 MHz ส่วน TOT ขึ้นไปประมูล 26 GHz ก็น่าจะฉายภาพให้เห็นได้ว่าความตั้งใจลึกๆ ของพวกเขาคืออะไรกันแน่

 

ถ้าย้อนไปเมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการควบรวมกิจการระหว่าง CAT และ TOT ให้เป็นบริษัทเดียวกันในชื่อ NT  (National Telecom: บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ) ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 6 เดือนหรือมากกว่านั้นในการควบรวมกิจการแล้วเสร็จ

 

กลับมาดูที่ผลการประมูล 5G ครั้งนี้ และชุดคลื่นความถี่เดิมที่ทั้ง CAT และ TOT มีอยู่ก็พอจะเห็นว่า พวกเขาไม่มีคลื่นความถี่ที่ทับซ้อนกันเลย ตรงกันข้าม เมื่อร่วมกันแล้วจะทำให้ NT กลายเป็นผู้ให้บริการอีกหนึ่งรายที่แข็งแกร่งมากๆ เนื่องจากมีย่านความถี่ที่ค่อนข้างครอบคลุมและเพียงพอต่อการให้บริการ

 

สอดคล้องกับที่ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สัมภาษณ์ไว้กับสื่อมวลชน โดยบอกว่าผลการประมูลในครั้งนี้เป็นที่น่าพึงพอใจ และทั้ง CAT และ TOT เมื่อควบรวมกันแล้วก็น่าจะทำให้ศักยภาพในการแข่งขันกับผู้ให้บริการเอกชนทั้ง 3 รายอยู่ในเกณฑ์ ‘สมน้ำสมเนื้อ’ และน่าจะเป็นอีกหนึ่งในทางเลือกการให้บริการกับประชาชนที่น่าสนใจ

 

 

โดยสรุปก็คือ แต่ละเจ้าล้วนแล้วแต่มีแผนและกลยุทธ์การขยับตัวประมูลในแบบฉบับของตัวเอง ขั้นตอนจากนี้คงต้องมาตามลุ้นกันต่อว่าผู้ให้บริการแต่ละรายจะมีความสามารถในการชำระการประมูล ซึ่งยังต้องบวกรวมกับค่าภาษีและการลงทุนติดตั้งอุปกณ์ ฯลฯ ตลอดจนให้บริการผู้บริโภคได้เหมาะสมเพียงไร โดยที่ไม่ส่งผลกระทบเชิงลบกับธุรกิจของตัวเอง

 

 

 

5G กระทบกับเราอย่างไร ราคาค่าบริการจริงจะแพงขึ้นไหม

เป็นคำถามที่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่อยากรู้มากที่สุด 5G จะมาเมื่อไร เมื่อให้บริการแล้วจะกระทบกับเรามากน้อยเพียงไร ราคาค่าบริการจะแพงขึ้นจริงๆ หรือไม่

 

ก่อนอื่นถ้ายึดตามการประมาณการจากทาง กสทช. ก่อนหน้านี้เชื่อกันว่าคนไทยน่าจะได้ใช้งาน 5G อย่างเป็นทางการในช่วงราวเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ดี กสทช. ออกมาบอกแล้วว่าโอเปอเรเตอร์รายใดที่มีความพร้อมมารับใบอนุญาต (พร้อมชำระค่าประมูลตามเงื่อนไข) และมีความพร้อมในการให้บริการ ก็สามารถเริ่มให้บริการ 5G ได้ทันที

 

แต่มุมมองจากนักวิเคราะห์หลายภาคส่วนมองว่า การให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบอาจจะไม่ง่ายและเร็วขนาดนั้น เนื่องจากยังมีเงื่อนไขการติดตั้งอุปกรณ์ของคลื่นความถี่ 2600 MHz และ 26 GHz เพิ่มเติม ซึ่งอาจจะกินระยะเวลาพอสมควร ประกอบกับความพร้อมของผู้บริโภคที่เราจะกล่าวถึงในลำดับถัดไป

 

แล้วถามว่าเมื่อ 5G ให้บริการจริงจะกระทบกับเราอย่างไร 

 

อันดับแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่า Device หรืออุปกรณ์ที่รองรับการใช้งาน 5G ในวันนี้ยังมีจำนวนที่จำกัดมากๆ เช่น ณ ปัจจุบัน (18 กุมภาพันธ์) ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ใดของ Apple ที่รองรับการใช้งาน 5G ได้เลย 

 

ส่วนผู้ใช้งานทั่วๆ ไปก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนสมาร์ทโฟนให้รองรับ 5G ด้วย ในกรณีที่ต้องการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่ง ณ วันนี้ค่ายผู้ผลิตสมาร์โฟนหลายรายก็มีโปรดักต์ที่รองรับการใช้งาน 5G วางจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว เช่น Samsung (Galaxy S10 5G, Galaxy S20, Galaxy Note 10 5G, Galaxy Fold 5G, Galaxy A90 5G), Huawei (Mate 20 X 5G, Mate 30 5G, Mate X), Oppo (Reno 5G) และ Xiaomi (Mi 10, Mi 9 Pro, Mi Mix 3 5G) เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าการซื้อมือถือมาใช้งาน 5G โดยเฉพาะ จำเป็นสำหรับคุณจริงๆ หรือเปล่า

 

ในเชิงการใช้งาน สิ่งที่เราทราบ ณ วันนี้คือ 5G เป็นเทคโนโลยีที่มีความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ (Low Latency) การใช้งานกับผู้บริโภคทั่วไปจึงน่าจะค่อนไปในทางการใช้เสพคอนเทนต์สตรีมมิง ฯลฯ มากกว่า โดยที่ก่อนหน้านี้ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทาง MegaFon และ Huawei ก็เคยมีการทดสอบเชิงทฤษฎีแล้วว่า 5G สามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 35Gbps

 

ส่วนการใช้งานโดยทั่วไป และจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยทดสอบการใช้งาน 5G ที่เกาหลี มีความเป็นไปได้สูงว่าความเร็วมาตรฐานโดยทั่วไปของการใช้งาน 5G น่าจะอยู่ที่ราวๆ 500 Mbps ถึง 1.5 Gbps ซึ่งเร็วกว่าความเร็ว 4G ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันมหาศาล

 

ด้านราคาค่าให้บริการ นักวิเคราะห์ประเมินว่าอย่าเพิ่งกังวลว่าราคาค่าบริการ 5G จะสูงเกินที่ผู้ใช้งานจะเอื้อมถึง เนื่องจากฝั่งผู้ให้บริการเองก็คงต้องทำแพ็กเพจราคาให้เหมาะสมกับดีมานด์ในท้องตลาดด้วย เพื่อเร่งให้ถึงจุดคุ้มทุนและดึงดูดผู้ผู้ใช้บริการมาใช้งานแพ็กเกจ 5G ของพวกเขา

 

ขณะที่ในฝั่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ น่าจะต้องเตรียมพร้อมรับมือแรงสั่นสะเทือนจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ 5G ให้ดี โดยคำแนะนำที่สืบศักดิ์ชี้ให้เห็นก็คือ ผู้ประกอบการธุรกิจแต่ละรายควรจะต้องประเมินผลกระทบจากการมาของเทคโนโลยี 5G ที่จะเกิดกับธุรกิจของตัวเองให้ดี รวมถึงมองความคุ้มค่าในการเปลี่ยนอุปกรณ์ ระบบในโรงงาน เครื่องจักร ฯลฯ ให้รองรับ 5G ด้วยว่าจะสร้างผลกระทบเชิงบวกแค่ไหน

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แต่เดิมในยุค 2G หรือ 3G เราจะเห็นจำนวนสตาร์ทอัพหรือผู้ให้บริการธุรกิจประเภทที่น่าสนใจเกิดขึ้นมาน้อยมาก ตรงข้ามกับ 4G ที่มีส่วนสำคัญเร่งให้ตลาดแอปพลิเคชันโตขึ้นอย่างมีนัย รวมถึงมีส่วนผลักดันให้โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอย่างมากมาย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้ได้อย่างชาญฉลาด เช่น แอปฯ ส่งอาหารฟู้ดเดลิเวอรี, แชตแอปพลิเคชัน และผู้ให้บริการ Ride Sharing เป็นต้น

 

ซึ่งการขยับจาก 4G ไป 5G ก็น่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการเกิดขึ้นของโมเดลธุรกิจใหม่ๆ แน่นอน ที่ง่ายที่สุดก็คือเราอาจจะได้เห็นรถยนต์ไร้คนขับ หรือการใช้ประโยชน์จากระบบ Automation หุ่นยนต์อัจริยะ และการผลักดันเมืองไปสู่การเป็น Smart City ในเร็วๆ นี้แน่นอน

 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X