วันนี้ (8 มกราคม) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อถามของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต กลับมาแล้ว โดยกฤษฎีกาบอกว่า ทำได้ตามอำนาจของคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
อย่างไรก็ตาม กฤษฎีกาได้ข้อสังเกตใน 3 ประเด็นที่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ได้แก่
- มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่ระบุว่า การกู้เงินเพิ่มเติมต้องเกิดสถานการณ์วิกฤต หรือต้องใช้กรณีจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น
- มาตรา 57 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่ระบุว่า การกู้เงินเพิ่มเติมจะกระทำได้แต่เฉพาะเพื่อใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม
- ต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งรัฐบาลต้องกลับมาดูว่าจะต้องทำกลไกเพิ่มเติมอย่างไร เช่น ต้องรับความคิดเห็นจากประชาชนหรือส่วนงานอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่
โดยจุลพันธ์ยังเชื่อมั่นว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทำต่อได้ โดยระบุว่า “ด้านรัฐบาลเรายืนยันอยู่แล้วว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยค่อนข้างเปราะบาง พี่น้องประชาชนกำลังเดือดร้อน และเราติดหล่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ณ ขณะนี้ เป็นสถานการณ์ที่หลายฝ่ายเรียกร้องตรงกันว่าต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้แล้ว”
สำหรับกระบวนการหลังได้ข้อสังเกตจากคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้ว จุลพันธ์ระบุว่า จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฯ และรัฐบาล ในการหาคำตอบและรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อชี้แจงต่อสังคมให้ครบถ้วน รวมไปถึงเป็นหน้าที่ของส่วนงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นไปตามกรอบของกฎหมายหรือไม่ อย่างไร โดยคาดว่าการประชุมคณะกรรมการฯ ควรจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์หน้า
“ณ ขณะนี้ ไม่มีใครเป็นผู้ชี้ว่าเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่วิกฤต เพราะฉะนั้นจะเป็นหน้าที่ของส่วนงานกระทรวงการคลังและคณะกรรมการฯ ที่จะช่วยกันหาคำตอบและได้ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าตอนนี้เป็นสถานการณ์ที่วิกฤตหรือไม่ อย่างไร” จุลพันธ์กล่าว