×
SCB Omnibus Fund 2024

โควิด-19 ไม่สะเทือน! เศรษฐี 500 อันดับแรกของโลกมีสินทรัพย์เพิ่ม 54.3 ล้านล้านบาท ผลักดันเก็บภาษีมั่งคั่งลดเหลื่อมล้ำ

02.01.2021
  • LOADING...

แม้ว่าตลอดทั้งปี 2020 ที่ผ่านมา โรคระบาดโควิด-19 จะทำให้หลายคนต้องประสบกับปัญหาทางการเงิน และวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ส่งผลให้พวกเขาเหล่านั้นต้องสูญเงินจำนวนมหาศาล แต่ดูเหมือนว่าโรคระบาดดังกล่าวจะไม่สามารถทำอะไรเหล่ามหาเศรษฐีที่มีมูลค่าทรัพย์สินในครอบครองสูงลิ่วเป็นทุนเดิมได้เลย

 

Bloomberg ได้เปิดเผยข้อมูลดัชนีมหาเศรษฐี Bloomberg Billionaires Index ในช่วงตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา โดยพบว่า เจฟฟ์ เบโซส์ และอีลอน มัสก์ เศรษฐีอันดับที่หนึ่งและสองของโลก ณ เวลานี้ตามลำดับ คือสองอภิมหาเศรษฐีที่มีมูลค่าทรัพย์สินครอบครองเพิ่มสูงสุดตลอดปีที่ผ่านมา 

 

โดยเบโซส์ได้รับอานิสงส์จากแพลตฟอร์ม Amazon ที่ขายดิบขายดีในช่วงที่ล็อกดาวน์จากผลกระทบโควิด-19 เมื่อต้นปี ส่งผลให้ ณ เวลานี้ (2 มกราคม) เขามีสินทรัพย์สูงกว่า 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 5.73 ล้านล้านบาทแล้ว เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีที่แล้วราว 7.54 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.27 ล้านล้านบาท

 

ส่วนซีอีโอของ Tesla ก็ไม่น้อยหน้า เพราะจากกระแสตอบรับที่ดีที่มีต่อรถยนต์ไฟฟ้าของพวกเขา ส่งผลให้หุ้นของ Tesla ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา จนมัสก์มีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีที่แล้วที่ 1.42 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4.28 ล้านล้านบาท และมีมูลค่าสินทรัพย์โดยรวมที่ 1.7 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 5.12 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่า ปีที่แล้วทั้งปีเขามีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมากถึงกว่า 507% เลยทีเดียว

 

ทั้งนี้เมื่อมองในสถานการณ์เชิงภาพรวมจะพบว่า เศรษฐี 500 อันดับแรกของดัชนี Bloomberg Billionaires Index มีมูลค่าทรัพย์สินในปี 2020 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นที่ราว 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 54.3 ล้านล้านบาท และมีสินทรัพย์ในครอบครองรวมกันสูงกว่า 7.6 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ 31% ซึ่งนับเป็นมูลค่าการเพิ่มขึ้นที่สูงที่สุดในรอบ 8 ปีของดัชนี Bloomberg เลยก็ว่าได้

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่การเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สินที่เหล่ามหาเศรษฐีมีในครอบครองเท่านั้น เนื่องจากหลายฝ่ายเริ่มเห็นช่องว่างทางความเหลื่อมล้ำที่นับวันก็ยิ่งขยายถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

นั่นจึงทำให้บรรดานักเคลื่อนไหว ฝ่ายนิติบัญญัติ และนักวิชาการในเยอรมนี สหราชอาณาจักร รวมถึงรัฐหลายรัฐ เช่น แคลิฟอร์เนียและวอชิงตัน เริ่มมองถึงความเป็นไปได้ในการผลักดันนโยบายการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งกับเหล่ามหาเศรษฐี เพื่อนำมาเป็นงบประมาณสำหรับกองทุนให้กับรัฐบาลหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19

 

ชัค คอลลินส์ (Chuck Collins) ผู้อำนวยการโครงการความเหลื่อมล้ำและสามัญสำนึกที่ดีประจำสถาบัญการศึกษาด้านนโยบาย ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่า “การที่เหล่ามหาเศรษฐีมีมูลค่าความมั่งคังที่เพิ่มขึ้นได้สร้างบาดแผลและความเจ็บปวดให้กับผู้คนจำนวนหลายล้านคนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก พบเจอกับประสบการณ์ด้านสุขภาพ ความมั่งคัง และความเป็นอยู่ที่แย่ลง

 

ที่แย่ไปกว่านั้นคือ มันยังได้บั่นทอนความรู้สึกหรือแนวคิดที่ว่าเราจะต้องเผชิญวิกฤตและความยากลำบากที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไปด้วยกัน (ต่างคนต่างมีสถานะความมั่งคั่งและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักเบาไม่เท่ากัน)”

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising