ก่อนที่รองเท้ารุ่น Stan Smith จะกลายเป็นหนึ่งในรองเท้าระดับไอคอนิกที่อยู่ในใจของเหล่าสนีกเกอร์เฮดทุกยุคทุกสมัย นักเทนนิสชาวอเมริกันคือเจ้าของแชมป์เทนนิสรายการพิเศษกรังด์ปรีซ์ มาสเตอร์ส เมื่อปี 1970 มาก่อน
รายการนี้เป็นรายการที่ถูกจัดอยู่ในลำดับขั้นที่เป็นรองเพียงแค่การแข่งขันในระดับแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการเท่านั้น และมีสถานะพิเศษ เพราะเป็นรายการที่จะรวบรวมเอาเหล่าสุดยอดนักเทนนิสในการทัวร์ปีนั้นมาดวลกันเป็นพิเศษ เรียกได้ว่าเป็นรายการรวมดาราอย่างแท้จริง มีเงินรางวัลมากมาย เพียงแต่จะไม่มีผลในการจัดอันดับเท่านั้น
เจ้าของไอเดียคือ แจ็ค คราเมอร์ อดีตนักเทนนิสและผู้จัดการแข่งขัน ที่คิดหาทางในการที่จะรักษาเหล่านักเทนนิสระดับชั้นนำของตัวเองเอาไว้ไม่ให้ไปเซ็นสัญญากับคู่แข่งในเวลานั้นอย่างทัวร์นาเมนต์ เวิลด์ แชมเปียนชิป เทนนิส โดยแนวคิดอีกอย่างคือการเดินทางจัดการแข่งขันไปรอบโลก
จากปีแรก สแตน สมิธ เอาชนะ ร็อด เลเวอร์ คู่แข่งชาวออสเตรเลีย ได้ในการแข่งขันที่กรุงโตเกียว ก่อนที่รายการนี้จะเปลี่ยนสถานที่จัดไปเรื่อยตั้งแต่ปารีส, บาร์เซโลนา, บอสตัน, เมลเบิร์น, สตอกโฮล์ม, ฮุสตัน, นิวยอร์ก, แฟรงก์เฟิร์ต, ฮันโนเวอร์, ลิสบอน, ซิดนีย์ และเซี่ยงไฮ้
จะมีบางช่วงที่รายการนี้ลงหลักปักฐานยาวนาน เช่นที่นิวยอร์ก 13 ครั้ง (1977-1989) หรือล่าสุดคือกรุงลอนดอน ที่เริ่มเป็นเจ้าภาพตั้งแต่มีการปรับชื่อรายการใหม่เป็น ‘ATP World Tour Finals’ มาตั้งแต่ปี 2009 (ก่อนจะเหลือแค่ ATP Finals เมื่อปี 2017) และการแข่งขันในปี 2020 จะเป็นปีที่ 12 และเป็นปีสุดท้ายที่จะแข่งขันกันในสนามโอทู อารีนา
หลังจากนี้การแข่งขันจะย้ายสถานที่ไปจัดกันที่ตูริน ประเทศอิตาลี เป็นเวลา 5 ปี ที่สนามปาลา อัลปิตัวร์ สเตเดียม ซึ่งเคยใช้เป็นสนามแข่งขันฮ็อกกี้น้ำแข็งในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อปี 2006
แม้ความจุของสนามแห่งนี้จะมีแค่ 15,000 ที่นั่ง น้อยกว่าที่โอทู อารีนา ราว 5,000 ที่นั่ง แต่ก็นับเป็นสนามกีฬาในร่มที่ใหญ่ที่สุดของอิตาลี
ท่ามกลางความรู้สึกที่หลากหลายของผู้คน หนึ่งในคนที่เห็นชอบกับการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดการแข่งขันคือ เจ้าของแชมป์รายการนี้ 5 สมัยอย่าง โนวัค ยอโควิช
“ผมอยากเห็นการแข่งขัน World Tour Finals มีการเดินทางมากกว่านี้” ยอโควิชกล่าว “ลอนดอนและโอทู อารีนา นั้นเป็นสนามที่ยอดเยี่ยม แต่ยังมีอีกหลายเมืองทั่วโลกที่อยากจะจัดรายการในระดับนี้ ผมรู้สึกว่าการจัดที่ใดที่หนึ่งสัก 3-4 ปี ก็ควรจะพอแล้ว มันน่าจะเป็นการโปรโมตที่ดีที่สุดสำหรับ ATP และวงการเทนนิสชาย”
สิ่งที่น่าเศร้าเพียงอย่างเดียวสำหรับลอนดอนและโอทู อารีนา คือการแข่งขันในปีนี้จะไม่มีผู้ชมจากสถานการณ์ของโรคระบาด ทำให้ทัวร์นาเมนต์สั่งลาครั้งนี้เป็นไปอย่างเงียบๆ
เงินรางวัลของนักกีฬาเองก็ลดลงจาก 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือเพียง 5.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แชมป์รายการนี้จะได้เงินรางวัลเดี่ยวไป 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ยังถือว่ามากกว่าที่ สแตน สมิธ เคยได้เมื่อ 50 ปีที่แล้วมาก โดยครั้งนี้นักเทนนิสระดับตำนานคนนี้ได้เงินรางวัลไปแค่ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ
สิ่งที่น่าเสียดายต่อมาอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่มี โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ในการแข่งขันปีนี้ เนื่องจากยอดนักเทนนิสชาวสวิสต้องการเตรียมตัวให้พร้อมที่สุดสำหรับการแข่งขันในรายการออสเตรเลียน โอเพ่น ในช่วงต้นปีหน้า หลังจากที่ตัดสินใจจะเข้ารับการผ่าตัดรักษาอาการบาดเจ็บที่เข่าที่ทำให้ต้องพักรักษาตัวยาวมาตั้งแต่แพ้ยอโควิชในรอบรองชนะเลิศออสเตรเลียน โอเพ่น เมื่อต้นปี ซึ่งเป็นรายการเดียวที่เขาลงแข่งขันในปีนี้
แต่อย่างน้อยยังมียอโควิช และยังมี ราฟาเอล นาดาล ที่ได้สิทธิ์ลงแข่งขันรายการนี้มา 15 ปีติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2005 เพียงแต่ ‘เอล มาทาดอร์’ ไม่เคยคว้าแชมป์ในรายการนี้ได้เลย
นาดาลยอมรับว่า เขามีปัญหากับการแข่งขันในช่วงปลายปีที่อ่อนล้าหลังกรำศึกหนักมาตลอดทั้งปี “มันเป็นส่วนหนึ่งของเกม มันจะมีบางที่ที่เราประสบความสำเร็จมากกว่า และบางที่ที่ประสบความสำเร็จน้อยกว่า ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงที่ในการแข่งช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผมมักจะมาด้วยร่างกายและจิตใจที่อ่อนล้า สำหรับการแข่งแบบอินดอร์ ผมจำเป็นต้องสดและมีสภาพพร้อมจริงๆ”
นอกจาก Big Three ยังมีสายเลือดใหม่อย่าง สเตฟานอส ซิตซิปาส แชมป์เก่าเมื่อปีกลาย, อเล็กซานเดอร์ ซเวเรฟ แชมป์เมื่อปี 2018 รวมถึง โดมินิก ธีม ที่ปลดล็อกตัวเองด้วยการคว้าแชมป์ยูเอส โอเพ่น ได้สำเร็จเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา Next Gen เหล่านี้มีโอกาสไม่น้อยไปกว่าคนอื่น
แต่คนที่ดีใจที่สุดในการได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันรายการนี้อาจจะเป็น ดีเอโก ชวาร์ตซ์แมน หนึ่งในสองนักเทนนิสที่ได้สิทธิ์ลงแข่งรายการนี้เป็นครั้งแรกร่วมกับ อังเดร รูเบลฟ
จากคนที่เคยดูการแข่งขันรายการนี้ในบ้านเกิดที่บัวโนสไอเรส มาถึงการได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันจากผลงานในรายการปารีส มาสเตอร์ส มันเป็นหนึ่งในฝันที่เป็นจริงสำหรับเขา
อย่างไรก็ดี ใครจะได้เป็นแชมป์ในปีนี้ และเราจะมีโอกาสได้ชมการแข่งขันที่เข้มข้นเหมือนการต่อสู้ระหว่าง อิวาน เลนเดิล และ บอริส เบ็กเกอร์ เมื่อปี 1988 หรือในการดวลกันระหว่างซิตซิปาสและธีมเมื่อปีกลาย เพื่อให้เป็นการสั่งลาลอนดอนที่ดีหรือไม่นั้น
“มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับใครก็ตาม เป็นช่วงเวลาที่น่าเศร้าสำหรับโลกใบนี้ ผมแค่จะพยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อนำความสุขมาให้ทุกคนด้วยเทนนิสของผม” ชวาร์ตซ์แมนให้คำมั่นไว้
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- https://www.nytimes.com/2020/11/14/sports/tennis/atp-finals-london.html
- https://en.wikipedia.org/wiki/ATP_Finals
- https://www.bbc.com/sport/tennis/54893307