วันนี้เมื่อ 50 ปีก่อน คือวันที่เหล่านิสิต นักศึกษา และประชาชน รวมตัวกันกว่า 500,000 คนที่ถนนราชดำเนิน เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญเต็มใบภายใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรี จอมพล ถนอม กิตติขจร และกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยในนาม ‘14 ตุลา 2516’ โดยรากฐานของการประท้วงมาจากการที่ประชาชนหมดความอดทนกับรัฐบาลทหารของ จอมพล ถนอม และมองว่าประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการมาร่วม 15 ปี นับตั้งแต่สมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยเกิดเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังผลให้มีผู้เสียชีวิต 77 รายและบาดเจ็บ 857 ราย
เหตุการณ์นั้นลงเอยที่รัฐบาลทหารของ จอมพล ถนอม ลาออก มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากภาคประชาชนหลายภาคส่วน และร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่เพื่อเตรียมเลือกตั้งในปี 2518 และในเวลาต่อมา เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ได้ถูกจดจำในฐานะวันเวลาที่ประชาชนเป็นฝ่ายชนะและประชาธิปไตยกำลังผลิบาน เกิดกระแสตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพมากมาย นำไปสู่การเลือกตั้งด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช …ก่อนจะถูกรัฐประหารโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ จากเหตุโศกนาฏกรรมที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยในนาม 6 ตุลา 2519
หากวัดจากช่วงเวลาแห่งประชาธิปไตยที่เบ่งบานในปี 2516 ผ่านการปักหมุดหมายทางการเมืองต่างๆ มาแล้วมากมาย ทว่ามาจนถึงตอนนี้ ประเทศไทยอยู่ตรงไหนบ้างแล้ว
ในวันที่ 5 ตุลาคม 2516 หรือเวลาเพียง 10 วันก่อนหน้าการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ตุลา นิสิตนักศึกษารวมตัวกันเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และมีตัวแทนราว 10 คนออกมาแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ดังนี้
- เรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว
- จัดหลักสูตรสอนอบรมรัฐธรรมนูญสําหรับประชาชน
- กระตุ้นประชาชนให้สํานึกและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพ
รวมทั้งมีการเดินแจกใบปลิวที่มีข้อความเรียกร้องประชาธิปไตยต่างๆ เช่น ‘จงคืนอํานาจแก่ปวงชนชาวไทย’ และ ‘จงปลดปล่อยประชาชน ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญ’ เป็นต้น
ยังผลให้ผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมแจกใบปลิวในครั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนิสิต นักศึกษา หรือนักหนังสือพิมพ์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนับสิบคนด้วยข้อหา มั่วสุมชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมือง ขณะที่ในวันที่ 9 ตุลาคม 2516 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีผืนผ้าขนาดใหญ่เขียนว่า ‘เอาประชาชนคืนมา’ และ ‘เราเรียกร้องรัฐธรรมนูญเป็นกบฏหรือ’ พร้อมกับเรียกร้องให้ปล่อยผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม
หากเรามองมายังปัจจุบันที่การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนในปี 2563 เรื่อยมาจนถึงปี 2564 นี้ เราพบว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเมื่อ 50 ปีก่อนอยู่ในหลายมิติ โดยเฉพาะมิติของการเรียกร้องให้มีประชาธิปไตยและกดดันให้ผู้นำที่มีฐานอำนาจมาจากเผด็จการลาออก ซึ่งผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้องดังนี้ คือ
- พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพต้องลาออก
- เปิดประชุมวิสามัญ เพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
- ปฏิรูปสถาบันให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย
และในเวลานี้ ยังมีผู้ชุมนุมถูกจับกุมด้วยข้อหาต่างๆ นานาโดยไม่ได้อนุญาตให้รับประกัน เช่น อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ เป็นต้น
วันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันชี้ขาดนั้น มีประชาชนมารวมตัวกันราว 500,000 คน และเกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจที่บริเวณหน้าสวนจิตรลดาตั้งแต่เช้าตรู่ นักหนังสือพิมพ์ เชิดสกุล เมฆศรีวรรณ บันทึกไว้ว่า ตำรวจมีไม้พลอง โล่และปืนยิงแก๊สน้ำตา รวมถึงหมวกกันน็อกป้องกันตัว ขณะที่ประชาชนก็ตอบโต้ด้วยการขว้างปาของใกล้มือใส่ตำรวจ โดยเชิดสกุลยังบันทึกไว้ด้วยว่า ในการปะทะกันครั้งนั้น ตำรวจใช้กระบอกหวดเข้าใส่ฝูงชน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้หญิง ยังผลให้มีนักเรียนถูกเบียดจนตกคลอง ส่วนอีกคนถูกแก๊สน้ำตาจนล้ม อันส่งผลให้ประชาชนโกรธแค้นมากขึ้น
การปะทะกันดังกล่าวกินเวลานานหลายชั่วโมง กว่าที่ จอมพล ถนอม กิตติขจร จะประกาศลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลา 18.10 น. วันนั้น
เทียบกันกับปัจจุบัน อ้างอิงจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ในระยะเวลา 85 วันนับจากวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2563 มีการชุมนุมอย่างน้อย 246 ชุมนุม และยังไม่นับการชุมนุมใหญ่ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการใช้แก๊สน้ำในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 กับผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธประมาณ 2,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่จำนวนมาก โดยในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจยังใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่องในการชุมนุมอีกหลายครั้ง ตลอดจนมีใช้กระสุนยาง จนปัจจุบันมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหลายสิบคน โดยมีบันทึกว่าผู้ชุมนุมที่แยกดินแดงซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ถูกกระสุนยางได้รับบาดเจ็บตามร่างกายเป็นจำนวนมาก เช่น ที่คิ้ว ใบหน้าหรือแผ่นหลัง เป็นต้น นอกจากนี้ ลูกนัท-ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ทายาทเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ก็ถูกกระสุนยางยิงใส่จนดวงตาข้างขวาบอด
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการเรียกร้องประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงเวลานี้ พล.อ. ประยุทธ์ ก็ยังไม่ลาออกจากตำแหน่งแต่อย่างใด ทั้งยังยืนยันว่าจะไม่มีการยุบสภาอย่างแน่นอน
ภายหลังขวบปีที่ประชาธิปไตยเบ่งบานจากการเรียกร้องในวันที่ 14 ตุลา 2516 จนเกิดการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2518 อีกเพียง 1 ปีหลังจากนั้นก็ถูกรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวงในช่วงเช้า ตกเย็นเวลา 18.00 น. จึงมีการรัฐประหาร โดยคณะรัฐประหารอ้างว่าไม่อาจควบคุมสถานการณ์ให้กลับไปสู่ความสงบเรียบร้อยได้ จึงต้องยึดอำนาจการปกครองไว้ รวมทั้งออกประกาศควบคุมสื่อมิให้เผยแพร่ภาพและเนื้อหาที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นเวลา 3 วัน
การรัฐประหารครั้งนั้นเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 9 ของประเทศไทย ก่อนจะเกิดซ้ำอีกครั้งในอีกปีถัดมา ซึ่งนำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ เช่นเดิม เพื่อยึดอำนาจ ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งเมื่อปี 2519 โดยคณะรัฐประหารอ้างว่าธานินทร์ปฏิรูปประเทศได้ล่าช้า มิหนำซ้ำยังจัดการให้ประเทศกลับมาสงบดังเดิมไม่ได้ จึงต้องทำการรัฐประหารซ้ำ หรือก็เป็นการรัฐประหารตัวเองภายในเวลาเพียง 1 ปี จึงนับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 10 ในประเทศไทย
ทั้งนี้นั่นไม่ใช่การรัฐประหารครั้งสุดท้าย เพราะอีกหลายปีถัดมา รวมทั้งปีล่าสุดคือปี 2557 ที่คณะรัฐประหารของ พล.อ. ประยุทธ์ ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ซึ่งเข้ามาปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี หลังจากที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง และ พล.อ. ประยุทธ์ ได้ดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 7 ปีเต็มจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี หากเรามองย้อนกลับไปในกงล้อประวัติศาสตร์ น่าเสียดายอย่างยิ่งที่วันเวลาแห่งการผลิดอกออกผลของประชาธิปไตยในขวบปีที่ 2516 นั้นกลับไม่ได้เบ่งบานได้เนิ่นนานนัก อันเนื่องมาจากการเข้ามายึดอำนาจโดยคณะทหารและชนชั้นนำอยู่บ่อยครั้ง สร้างบาดแผลฉกรรจ์ให้หน้าการเมืองไทยอย่างที่ไม่อาจลบออก นำมาซึ่งการเสียเลือดเสียเนื้อของประชาชนในอีกหลายวาระ
หากแต่การอุบัติขึ้นของ 14 ตุลา และการเรียกร้องประชาธิปไตยในครั้งต่อๆ มาก็ยังทำให้เรามีความหวังในการจะยังสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพที่เราพึงมีตั้งแต่แรก และแม้หนทางจะยังยากลำบาก แต่ถึงเวลานี้ประชาชนก็ได้ออกเดินแล้ว และเดินมาไกลมากแล้วด้วยเช่นกัน เพียงแต่ยังไม่ถึงเส้นชัยเท่านั้นเอง
อ้างอิง:
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, เกิดอะไรใน 14 ตุลา ก่อนมาสู่ชัยชนะสำคัญของประชาชนลุกฮือต้าน คณาธิปไตย, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2541 (https://www.silpa-mag.com/history/article_40175)
- รุ่งนภา พิมมะศรี, ทบทวนประวัติศาสตร์ อ่านข้อเรียกร้อง ม็อบนักศึกษา จากอดีตถึงปัจจุบัน, ประชาชาติธุรกิจ, 28 กันยายน 2563 (https://www.prachachat.net/d-life/news-528775)
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, คณะราษฎร 2563: ชวนทบทวน ที่สุด ของการชุมนุมและหมุดหมายใหม่ของการเปลี่ยนแปลง, 5 มกราคม 2564 (https://tlhr2014.com/archives/24803)