×

50 คณาจารย์นิติศาสตร์ ออกจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องคืนสิทธิปล่อยชั่วคราว แก่ผู้ต้องหา-จำเลยในคดีการเมือง

โดย THE STANDARD TEAM
27.01.2023
  • LOADING...

วันนี้ (27 มกราคม) คณาจารย์จำนวน 50 คน จากคณะนิติศาสตร์ หลายมหาวิทยาลัย ร่วมกันลงชื่อเพื่อออกจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลอาญา และอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อเรียกร้องให้คืนสิทธิในการได้รับการปล่อยชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมือง โดยมีรายละเอียดในจดหมายระบุว่า

 

จากกรณีที่ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จากกรณีไลฟ์หน้าสหประชาชาติ ก่อนเวลาที่ขบวนเสด็จจะผ่านถนนราชดำเนินนอก และจากการทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ได้ยื่นคำร้องขอถอนประกันตัวเอง และศาลได้มีคำสั่งรับคำร้องและอนุญาตให้ถอนประกัน เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2566 ทั้งสองมีข้อเรียกร้อง 3 ประการ 

 

ข้อเรียกร้องที่สำคัญคือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และการคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมือง และภายหลังจากที่ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนอง ทำให้ทั้งสองตัดสินใจอดอาหารและน้ำมาเป็นเวลากว่า 7 วัน จนร่างกายเข้าขั้นวิกฤตตามที่ปรากฏเป็นข่าวแล้วนั้น และจากการที่ศาลอนุญาตให้ถอนประกันตัวทั้งสองคนนั้น ทำให้ในขณะนี้มีผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองที่ถูกควบคุมตัวทั้งก่อนและระหว่างพิจารณาในชั้นศาล เป็นจำนวนกว่า 15 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

 

การใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดคำถามในประเด็นสำคัญ ดังนี้

 

​1. รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้รับรองหลักการพื้นฐานที่สำคัญเอาไว้คือ ‘ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้’ และ ‘การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี’ จากหลักการดังกล่าว การควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยจึงเป็นเพียงข้อยกเว้น และต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งมาตรา 108 และ 108/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้กำหนดเหตุในการสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวเอาไว้ ดังนั้น ในการพิจารณาสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวของศาลจึงต้องคำนึงถึงหลักกฎหมาย และปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งว่ามีเหตุที่ศาลจะสามารถสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญาจะได้รับการเคารพและปฏิบัติตาม

 

​2. เมื่อการควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในระหว่างดำเนินคดีต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ปรากฏในมาตรา 108 และ 108/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น เมื่อศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวแล้วย่อมแสดงว่าไม่มีเหตุที่จะคุมขังบุคคลทั้งสองไว้แต่อย่างใด การที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยสมัครใจยื่นขอถอนประกันตัวเองไม่อาจเป็นเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะถอนประกันได้ อีกทั้งในกรณีของทั้งสองคนก็ไม่ได้กระทำการที่ผิดเงื่อนไขการประกันตัวแต่อย่างใด กรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่ปัญหาว่าทั้งสองสมัครใจหรือสละสิทธิ์ในการประกันตัว และศาลต้องมีคำสั่งอนุญาตถอนประกันตามที่ร้องขอ หากแต่เป็นประเด็นในเรื่องเงื่อนไขการใช้อำนาจรัฐในการควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายตามหลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของรัฐ ดังนั้น ในกรณีของทั้งสอง ศาลจึงจำเป็นต้องพิจารณาการไม่ปล่อยชั่วคราวตามเงื่อนไขและเหตุที่กำหนดในมาตรา 108 และ 108/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการควบคุมตัว มิใช่พิจารณาแต่เพียงการสมัครใจถอนประกันของทั้งสองคน

 

​3. แม้ศาลสามารถกำหนดภาระหน้าที่หรือเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวต้องปฏิบัติได้ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่อย่างไรก็ตาม การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวต้องไม่เกินความจำเป็น และไม่ขัดกับหลักการพื้นฐานที่ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา การปล่อยชั่วคราวในคดีการเมืองหลายคดี ศาลมักจะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องปฏิบัติตามด้วย เช่น การใส่กำไล EM เพื่อติดตามตัว ห้ามออกนอกเคหสถานตลอดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว หรือห้ามกระทำการในลักษณะเดิมซ้ำ เป็นต้น ซึ่งเงื่อนไขที่ศาลกำหนดดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้นนี้ มีปัญหาหรือข้อสงสัยในทางกฎหมายได้ว่าสอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วน และเป็นเงื่อนไขที่ปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยในฐานะผู้บริสุทธิ์หรือไม่

 

​ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ดังมีรายนามแนบท้าย จึงขอเรียกร้อง ดังนี้

 

​1. ขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนคำสั่งถอนประกันตัวของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ อรวรรณ ภู่พงษ์ เพื่อให้ทั้งสองได้รับอิสรภาพโดยเร็วที่สุดก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

 

​2. ขอให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองทุกคดีตามหลักกฎหมาย เพื่อธำรงไว้ซึ่งนิติรัฐและหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา

 

​3. ขอให้ศาลพิจารณายกเลิกกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วน และขัดต่อหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา

 

ในสถานการณ์ความขัดแย้งของสังคมอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางความคิด การใช้อำนาจตุลาการอย่างเป็นธรรมและสอดคล้องกับกฎหมายและรัฐธรรมนูญจะเป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกฝ่าย และทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งไม่ลุกลามบานปลาย องค์กรตุลาการที่ใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมย่อมสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของสันติภาพในสังคม และย่อมได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญจากปวงชน แต่หากองค์กรตุลาการใช้อำนาจโดยปราศจากการคำนึงถึงหลักกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแล้ว ประวัติศาสตร์ก็จะจดจำท่านในอีกแบบหนึ่ง 

 

ก่อนที่จะลงท้ายในจดหมายว่า ด้วยความเชื่อมั่นในนิติรัฐและประชาธิปไตย

 

สำหรับรายชื่อ 50 คณาจารย์ ได้แก่ 

 

  1. กรรภิรมย์ โกมลารชุน

 

  1. กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. กิตติภพ วังคำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. ขรรค์เพชร ชายทวีป คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

  1. เขมชาติ ตนบุญ

 

  1. คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน

 

  1. จารุประภา รักพงษ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. ฉัตรชัย เอมราช

 

  1. ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล

 

  1. ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. ณัฏฐพร รอดเจริญ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  1. ณัฐดนัย นาจันทร์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 

  1. ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

  1. ธนรัตน์​ มังคุด​ คณะนิติศาสตร์​ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์​

 

  1. ธวัช ดำสอาด

 

  1. ธีรวัฒน์ ขวัญใจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

  1. นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. นัทมน คงเจริญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

  1. ศักดิ์ชาย​ จินะวงค์ คณะนิติศาสตร์​ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

  1. นิฐิณี ทองแท้

 

  1. นิติ จันจิระสกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

  1. บุญญภัทร์​ ชูเกียรติ

 

  1. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. ปิยากร เลี่ยนกัตวา

 

  1. ผจญ คงเมือง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

  1. พงษ์พันธ์ บุปเก

 

  1. พัชร์​ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์​ จุฬา​ลงกรณม​หาวิทยาลัย​

 

  1. พัชราภรณ์ ตฤณวุฒิพงษ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. ภัทรพงษ์ แสงไกร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. มุนินทร์ พงศาปาน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. ยศสุดา หร่ายเจริญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. ยอดพล เทพสิทธา

 

  1. ฤทธิภัฏ กัลยาณภัทรศิษฏ์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 

  1. ลลิล ก่อวุฒิกุลรังษี

 

  1. วริษา องสุพันธ์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. วิทูรย์ ตลุดกำ

 

  1. ศรัณย์ จงรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

 

  1. ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. ศุภกร ชมศิริ สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์

 

  1. สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

  1. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

  1. สุรพี โพธิสาราช

 

  1. สุรินรัตน์ แก้วทอง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

  1. สุวิทย์ ปัญญาวงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

 

  1. อัษฎายุทธ ผลภาค คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

  1. อำนาจ ตั้งคีรีพิมาน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. เอมผกา เตชะอภัยคุณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

  1. อุดม งามเมืองสกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X