×

รู้จักฮีโร่กว่า 50 หน่วยงาน ร่วมช่วย 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง

โดย THE STANDARD TEAM
10.07.2018
  • LOADING...

เข้าสู่วันที่ 18 แล้ว (10 ก.ค.) สำหรับภารกิจช่วยชีวิตทีมฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายและโค้ช รวม 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย

 

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือแข่งกับเวลา รวมแล้วไม่น้อยกว่า 50 หน่วยงาน มีจำนวนคนหมุนเวียนมาช่วยเหลือในพื้นที่แล้วนับหมื่นคน หรือวันละประมาณ 4 พันคน

 

เขาเหล่านี้แม้ไม่มีพลังวิเศษ แต่ก็เปรียบได้กับ ‘ฮีโร่’ ในชีวิตจริงที่ต่างคนต่างทำงานอย่างหนักทั้งวันทั้งคืน โดยมีเดิมพันเป็นความปลอดภัยของทั้ง 13 ชีวิตที่กำลังรอคอยความช่วยเหลือ

 

ฮีโร่เหล่านี้เป็นใครกันบ้าง THE STANDARD รวบรวมมาให้คุณรู้จักกัน

 

 

  • THE STANDARD ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของจ่าเอก สมาน กุนัน อดีตนักทำลายใต้น้ำจู่โจม รุ่น 30 อายุ 38 ปี ‘ฮีโร่’ คนสำคัญที่เสียสละชีวิตตัวเองเพื่อภารกิจครั้งนี้

 

  • อีลอน มัสก์ ซีอีโอบริษัท The Boring Company นำทีมพร้อมอุปกรณ์แคปซูลดำน้ำมาช่วยเหลือการลำเลียงทีมหมูป่าออกจากถ้ำ พร้อมลงพื้นที่สำรวจถ้ำจริง และทิ้งอุปกรณ์ช่วยเหลือดังกล่าวไว้กับทีมปฏิบัติการ

 

 

  • ดร.ริชาร์ด แฮร์ริส วิสัญญีแพทย์ชาวออสเตรเลีย หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำนานาชาติ เดินทางมาพร้อมกลุ่มนักดำน้ำในถ้ำผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นตำรวจออสเตรเลียอีก 6 คน ทำหน้าที่เป็นทีมตรวจและประเมินสุขภาพของทีมหมูป่าทั้ง 13 คน ว่าสามารถดำน้ำออกมาเองได้หรือไม่

 

  • ทีมเก็บรังนกนางแอ่นจากเกาะลิบง จ.ตรัง ทำหน้าที่สำรวจหาโพรงถ้ำ เหนือบริเวณถ้ำหลวง

 

  • มูลนิธิสยามรวมใจแม่สาย หรือกู้ภัยแม่สาย

 

  • ทีมกู้ภัยในจังหวัดเชียงราย

 

 

  • นายเวิร์น อันสเวิร์ธ ผู้ที่เคยสำรวจถ้ำ

 

  • นายกมล คุณงามความดี อดีตเจ้าหน้าที่วนอุทยานถ้ำหลวงฯ

 

 

  • มณฑลทหารบกที่ 37 (มทบ.37) ส่งคนเข้าไปดำน้ำหาในช่วงแรก พร้อมตั้งกองอำนวยการร่วมกับกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) จังหวัดเชียงราย และมูลนิธิต่างๆ

 

  • หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ 3 กองกำลังผาเมือง (ฉก.ม.3 กล.ผาเมือง)

 

  • หน่วยพัฒนาเคลื่อนที่เร็ว 35 (นพค.35) ส่งเจ้าหน้าที่ร่วมประเมินสถานการณ์ พร้อมสนับสนุนเครื่องมือให้กับหน่วยซีล

 

  • กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ค่ายเพชรบุรีราชสิรินธร (ร.11 พัน 3 รอ.)

 

 

  • หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) จำนวน 3 นาย เข้าไปสมทบในถ้ำ เพื่อค้นหาและช่วยเหลือผู้ที่สูญหาย (ช่วงแรกการค้นหา)

 

  • หน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจม (หน่วยซีล) หน่วยที่ขึ้นชื่อว่าอึดที่สุดของทหารเรือ ส่งเจ้าหน้าที่ 18 นายเป็นแนวหน้า ค้นหาเด็กติดถ้ำ ซึ่งทุกคนได้ฝากความหวังไว้กับหน่วยนี้ว่าจะค้นหาเด็กๆ และครูจนพบ

 

  • สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) หรือ สบอ.15 ส่งเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ตรวจสอบ และสอบถามข้อมูลจากผู้ปกครองของเด็กๆ และส่งชุดเดินเท้า 19 นาย เข้าสำรวจโพรงถ้ำ

 

  • กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ช่วยด้านข้อมูลและสำรวจโพรงถ้ำ

 

 

  • หน่วยช่วยเหลือด้านการแพทย์ ประกอบด้วย โรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช, โรงพยาบาลพญาเม็งราย, สำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่สาย, โรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์ และโรงพยาบาลแม่จัน ส่งหมอ พยาบาล และอุปกรณ์ทางการแพทย์คอยช่วยเหลือทุกคนในภารกิจนี้ รวมถึงเตรียมพร้อมในการดูแลรักษาเด็กๆ และครู หากเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือออกมาได้

 

  • สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 อำนวยความสะดวกและช่วยเหลือเจ้าหน้าที่

 

  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงราย อำนวยความสะดวกทีมช่วยเหลือ ซึ่งล่าสุดได้ส่งท่อลมขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มออกซิเจนในถ้ำ

 

  • กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยด้านข้อมูลและสำรวจโพรงถ้ำ

 

  • เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย อบจ.เชียงราย เทศบาลนครเชียงราย เจ้าหน้าที่อาสาสมัครในพื้นที่แม่สาย ระดมกำลังช่วยเหลือในทุกๆ ด้านตามความสามารถอย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

  • ค่ายมือถือของประเทศไทย ประกอบด้วย AIS, DTAC, True, CAT และ TOT ที่ช่วยขยายสัญญาณโทรศัพท์ ด้วยการประสานงานจาก กสทช.

 

  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นำหุ่นยนต์ดำน้ำ (ROV) จำนวน 1 เครื่อง โดรนติดกล้องจับความร้อน สำหรับบินสำรวจหาอีก 2 ลำ ลำเลียงผ่านเครื่องบิน C-130 ของกองทัพอากาศ เพื่อร่วมค้นหา

 

  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งต้องใช้ไฟในการค้นหาในหลายส่วน

 

  • กรมชลประทาน ส่งทีมจากสำนักเครื่องจักรกล นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 10 เครื่อง เดินทางไปสนับสนุนการช่วยเหลือ

 

  • ประเทศลาว ได้ส่งนักประดาน้ำชาวลาว จากมูลนิธิกรมการกู้ภัยแห่งชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ 1623 เข้าร่วมภารกิจกับหน่วยกู้ภัย ของไทย เพื่อค้นหาผู้สูญหาย

 

 

  • สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ส่งกองกำลังสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิก (USPACOM) ได้ส่งทีมค้นหาและกู้ภัย เพื่อช่วยตามหาผู้สูญหาย ตามคำขอของรัฐบาลไทย

 

  • กทม. ส่งเจ้าหน้าที่พร้อมสายสูบน้ำดับเพลิงระยะไกล

 

  • บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ส่งทีมงานพร้อมโดรนและหุ่นยนต์เข้าร่วมปฏิบัติการค้นหา ซึ่งโดรน 3 ลำ ที่สามารถระบุสภาพใต้ดินว่ามีโพรงเชื่อมต่อกับถ้ำได้หรือไม่ และสามารถตรวจจับความร้อนใต้พื้นดินได้ด้วย

 

  • กรมทางหลวงขนหินละเอียดหลายสิบคัน เข้าถมพื้นที่บริเวณลานด้านหน้าศูนย์ประสานช่วยเหลือ และกรมทางหลวงชนบทร่วมกับกรมทางหลวงในการขนส่งวัสดุและเกลี่ยปรับพื้นที่ ซ่อมและสร้างเส้นทางเพื่อสนับสนุนภารกิจค้นหาและกู้ภัย โดยมีจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมทางหลวง 50 คน และเจ้าหน้าที่จากกรมทางหลวงชนบทจำนวน 20 คน รวมทั้งสิ้น 70 คน

 

 

  • เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ 3 คน จากองค์กร Derbyshire Cave Rescue Organisation ซึ่งเดินทางมาจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

 

  • ศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมปฐพี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วยข้อมูลเรื่องเจาะผนังถ้ำหลวง

 

  • บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ได้เชื่อมต่อสาย Fiber Optic เพื่อให้มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตภายในถ้ำ และทำการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ด้านใน

 

  • จิตอาสาโรงทาน

 

  • ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำจากประเทศญี่ปุ่น ได้เดินทางมาที่ถ้ำหลวง เตรียมช่วยในปฏิบัติการระบายน้ำออกจากถ้ำ

 

  • นายศักดิ์ฉลาด ศรีวิชา ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1 ลำปาง

 

  • เจ้าหน้าที่ของทางการจังหวัดท่าขี้เหล็ก จังหวัดชายแดนฝั่งพม่าที่ติดกับ อำเภอแม่สาย ทำการค้นหาโพรงที่อาจเชื่อมกับถ้ำหลวง ซึ่งอาจใช้เป็นเส้นทางในการค้นหาเด็กๆ และโค้ช 13 ชีวิต และพร้อมส่งทีมกู้ภัยเข้าร่วมค้นหากับฝ่ายไทย

 

  • องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น 2 คน ไปจังหวัดเชียงราย เพื่อร่วมสนับสนุนและให้คำปรึกษาแก่คณะเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน ในการปฏิบัติการระบายน้ำออกจากพื้นที่บริเวณโดยรอบถ้ำหลวง อย่างมีประสิทธิภาพและเร่งด่วน รวมถึงการประเมินความเป็นไปได้ ในการนำเทคโนโลยีล่าสุด จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ความช่วยเหลือลำดับถัดไป

 

  • รัฐบาลจีนส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาและกู้ภัยถ้ำ จำนวน 6 คน ชุดแรกจากมูลนิธิปักกิ่งพีซแลนด์ (Beijing Peaceland) พร้อมหุ่นยนต์ใต้น้ำ อุปกรณ์ดำน้ำ สเปกโทรมิเตอร์สามมิติ เป็นต้น

 

  • นักดำน้ำผู้เชี่ยวชาญ นำทีมโดย นรินทร ณ บางช้าง ส่งทีมเข้าช่วยเหลือภารกิจค้นหาตั้งแต่วันแรกๆ พร้อมบริจาคอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ในภารกิจ

 

  • ทีมพญานาคของ ‘ชลอยกกระบัตร’ นำเครื่องสูบน้ำและเครื่องปั่นไฟกำลังแรง 3 เครื่องมาช่วยในภารกิจตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นมา

 

  • นายกสมาคมน้ำบาดาล นำทีมพร้อมอุปกรณ์ขุดเจาะน้ำบาดาลร่วมภารกิจการค้นหาและช่วยชีวิตทีมหมูป่า

 

  • และสุดท้ายคือคนไทยทุกคนที่ช่วยกันติดตามข่าว ส่งกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ และภาวนาให้ทั้ง 13 ชีวิตอออกมาจากถ้ำอย่างปลอดภัย
FYI
  • หากมีการตกหล่นความช่วยเหลือจากหน่วยงานใด ทางทีมงาน THE STANDARD ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ และยินดีเพิ่มเติมหากมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือต่อไป
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X