×

พริษฐ์เสนอเพิ่มงบ 5 หมื่นล้านสร้างแพลตฟอร์มทักษะแห่งชาติ เป็นทั้งเทรนเนอร์ส่วนตัว แนะนำคอร์ส และตลาดงาน

โดย THE STANDARD TEAM
20.06.2024
  • LOADING...
พริษฐ์ วัชรสินธุ

วันนี้ (20 มิถุนายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระแรก ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในประเด็นของการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลในด้านการศึกษา

 

พริษฐ์กล่าวในช่วงต้นว่า การยกระดับทักษะมีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของ World Economic Forum ของ McKinsey ชี้ว่า 50% ของพนักงานทั่วโลกต้องการการฝึกอบรมใหม่ภายในปี 2025 ในประเทศไทยเอง การสำรวจของกระทรวงแรงงานไทยระบุว่า 60% ของแรงงานไทยยังขาดทักษะที่จำเป็นในยุคดิจิทัล การยกระดับทักษะไม่เพียงช่วยลดอัตราการว่างงานเท่านั้น แต่ยังเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน

 

“ข้อความทั้งหมดที่ผมอภิปรายเมื่อครู่นี้ผมไม่ได้เขียนเอง แต่ ChatGPT เขียนให้ผมภายในเวลาแค่ 10 นาทีของเช้าวันนี้ก่อนผมมาประชุมสภาผู้แทนราษฎร การเข้ามาของเทคโนโลยี AI ไม่ได้แปลว่าพวกเราจะตกงาน แต่สะท้อนความจำเป็นของเราทุกคนในการใช้ทักษะใหม่ๆ” พริษฐ์กล่าว

 

พริษฐ์ชี้ว่า ประเทศไทยเวลานี้เรากำลังเผชิญวิกฤตทักษะตั้งแต่เกิดจนแก่ จากคำพูดแล้ว รัฐบาลนี้ดูเหมือนจะให้ความสำคัญ แต่การกระทำจะสะท้อนผ่านการจัดสรรงบประมาณ โดยพบว่างบด้านการศึกษา การเรียนรู้ และการยกระดับทักษะ มีวงเงิน 5.1 แสนล้านบาท กระจายไปถึงกว่า 175 หน่วยรับงบประมาณใน 14 กระทรวง แต่เมื่อแบ่งงบประมาณตามช่วงวัยของประชาชนก็พบว่ามีปัญหาในทุกส่วน

 

จากรายละเอียด พริษฐ์ระบุว่า ปัญหาแรกคืองบ ‘เรียนรู้’ ที่ไม่เน้นเรียนรู้ ซึ่งก็คืองบประมาณที่ตั้งชื่อและวัตถุประสงค์ไว้ดูดี แต่ความจริงเป็นการลงทุนไปกับกิจกรรมที่ไม่น่าส่งเสริมการศึกษาได้จริง เช่น นำไปใช้กับการปรับปรุงอาคาร

 

ปัญหาที่ 2 คือ การลงทุนแบบต่างคนต่างทำจนเกิดความซ้ำซ้อนและเดาไม่ออกว่าเป็นงบประมาณของหน่วยงานใด เช่น แพลตฟอร์มการเรียนรู้ของหน่วยงานรัฐที่มีอยู่มากมาย แต่ทุกแพลตฟอร์มขาดการเชื่อมโยงบูรณาการ ที่ต้องลงทะเบียนไม่รู้กี่ครั้งกว่าจะดูสักคลิปเดียว

 

ปัญหาที่ 3 คือ การลงทุนในลักษณะที่ผู้เรียนไม่ได้เลือก ผู้เลือกไม่ได้เรียน เพราะมีทั้งกระทรวงที่คิดแทนโรงเรียนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และรัฐบาลที่คิดแทนตลาดในการยกระดับทักษะแรงงาน เช่น การจัดสรรงบลงทุนไปตามโรงเรียนแต่ละแห่งก็ขึ้นอยู่กับส่วนกลาง ไม่สามารถเปลี่ยนงบประมาณมาตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริงได้ เช่นเดียวกับการอบรมต่างๆ ที่ตัวชี้วัดเน้นดูว่า ‘เสร็จ’ หรือไม่ มากกว่า ‘สำเร็จ‘ หรือไม่

 

พริษฐ์เสนอ ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ ฉบับก้าวไกล 3 ข้อ ประการแรกคือ การอัดฉีดงบให้ท้องถิ่นมาดูแลเด็กใน 1,000 วันแรก เพราะเด็กในช่วงอายุ 3 เดือน – 2 ปี ถูกรัฐละเลยมากที่สุด เพราะช่วง 3 เดือนจะหมดสิทธิ์ลาคลอดของผู้ปกครอง แต่จะฝากไว้ที่ศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งก็จะรับเด็ก 2 ขวบขึ้นไป จึงมีความจำเป็นต้องปลดล็อกให้ท้องถิ่นมารับภารกิจดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบด้วยความมั่นใจและมีประสิทธิภาพ

 

โดยมีแนวทางอัดฉีดงบประมาณให้ท้องถิ่นสามารถขยายวันและเวลาเปิดศูนย์เด็กเล็กที่มีอยู่แล้วให้เปิดถึงเย็นและเปิดตลอดปี รวมถึงขยายช่วงอายุเด็กจากงบอุดหนุนจากส่วนกลาง ใช้วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

 

ตัวเปลี่ยนเกมที่ 2 คือ กระจายงบการศึกษาให้ถึงมือโรงเรียนและครู กระทรวงควรเปลี่ยนจากวิธีส่งงบเป็น 5 ส่วนให้โรงเรียน เป็นการส่งไปส่วนเดียวโดยไม่กำหนดวัตถุประสงค์ ให้โรงเรียนตัดสินใจเองว่าจะใช้งบอย่างไร และควรระเบิดงบอบรมครูส่วนกลางให้กลายเป็นคูปองให้ครูแต่ละโรงเรียนเลือกกันเองว่าจะใช้งบเพื่อวัตถุประสงค์ใด เช่นเดียวกับงบคูปองเปิดโลก ให้นักเรียนเลือกกิจกรรมนอกห้องเรียนที่เหมาะสมกับตัวเอง

 

ตัวเปลี่ยนเกมที่ 3 ลงทุนในเมกะโปรเจกต์ เพิ่มวงเงินเป็น 5.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วถือว่าไม่ได้มากเกินไป และจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีลงทุนแบบเบี้ยหัวแตก แต่ต้องรวมพลังอัดฉีดงบไปที่โครงการเดียว แล้วดึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน และเปลี่ยนจากการอุดหนุนแบบรัฐคิดแทนมายิงตรงให้ผู้เรียนเลือกเอง

 

พริษฐ์ยังอธิบายถึงแพลตฟอร์มทักษะแห่งชาติที่ทำหน้าที่แบบ 3 in 1 คือ ต้องเป็นทั้ง Netflix คือ รวบรวมคอร์สที่มีอยู่แล้วในตลาดทั้งออนไลน์และสถานที่ พร้อมมีรีวิวจากผู้เรียนอื่นๆ และคัดกรองคอร์สที่มีคุณภาพ, Garmin คือเทรนเนอร์ส่วนตัว ทำความเข้าใจผู้เรียน วัดความคืบหน้า และบันทึกผลการเรียน ด้วยเทคโนโลยี AI ที่สามารถแนะนำผู้เรียนได้ตรงจุด, Tinder คือตลาดจับคู่หางานระหว่างผู้เรียนที่กำลังหางานที่ชอบกับผู้ประกอบการที่กำลังหาคนที่ใช่

 

นอกจากนี้พริษฐ์ยังเสนอแนวทางของโครงการอุดหนุนคูปองฝึกทักษะ 3 รูปแบบ คือ ทักษะพื้นฐาน ทักษะเชิงลึก และทักษะชีวิต ที่ครอบคลุมทุกรูปแบบการเรียนรู้และทุกช่วงวัย 

 

“ถ้าเปรียบเป็นการซ่อมเรือ เร่งให้คนไปหาปลา แต่เราไม่เคยให้เบ็ดตกปลาที่มีประสิทธิภาพกับพวกเขา เบ็ดที่ทันยุคทันสมัย เท่าทันต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่พรรคก้าวไกลอยากเสนอให้รัฐบาลคือ ลงทุนในเบ็ดที่มีชื่อว่า งบบูรณาการการเรียนรู้และยกระดับทักษะตลอดชีวิต เพื่อติดอาวุธทักษะให้ทุกคนตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” พริษฐ์ทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising