สำนักเลขาธิการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จับมือกับลอริอัล (ประเทศไทย) เผยรายชื่อนักวิจัยหญิงที่มีผลงานดีเด่นประจำปี 2561
รายชื่อดังกล่าวแบ่งเป็น 2 สาขาด้วยกัน โดยสาขาแรก คือ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ซึ่ง ดร.จันทร์เจ้า ล้อทองพานิชย์ จากศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ได้รับ จากผลงานวิจัยหัวข้อ ‘การเพิ่มอัตราการผลิตเกล็ดเลือดจากเซลล์ต้นกำเนิด เพื่อประโยชน์ทางการรักษาผู้ป่วยเกล็ดเลือดพร่อง’
รวมถึง ผศ.ภกญ.ดร.วริษา พงศ์เรขนานนท์ จากภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับที่ติดโผจากงานวิจัยหัวข้อ ‘การศึกษาบทบาทของโปรตีน CAMSAP ต่อความรุนแรงของเซลล์มะเร็งปอด’ และ ดร.วิรัลดา ภูตะคาม จากห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ที่ติดในสาขานี้เช่นกัน จากผลงานวิจัย ‘การศึกษากระบวนการตอบสนองของปะการังต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเล และการประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในน่านน้ำไทย เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ท้องทะเลอย่างยั่งยืน’
ด้านสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ นักวิจัยหญิงที่มีรายชื่อติดโผคือ ดร.จุฬารัตน์ วัฒนกิจ จากสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี กับผลงานวิจัย ‘การสังเคราะห์สารอิแนนทิโอเมอร์ และการแยกไครัลโมเลกุลด้วยเทคนิคทางเคมีไฟฟ้าบนขั้วโลหะเคมีไฟฟ้า’ และ ผศ.ดร.สุรภา เทียมจรัส จากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูและอำนวยความสะดวก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จากงานวิจัยหัวข้อ ‘ระบบเซนเซอร์อัจฉริยะสำหรับสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย’
ซึ่งนักวิจัยหญิงทั้ง 5 คน จะได้รับทุนจากโครงการทุนวิจัยเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ (For Women in Science) ประจำปี 2561 ซึ่งจัดติดต่อกันเป็นปีที่ 16 เพื่อสานต่อการสนับสนุนงานด้านการค้นคว้าและวิจัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ทั้งยังเชิดชูผู้หญิงเก่งในสายงานด้านวิทยาศาสตร์อีกด้วย
โดยผลงานวิจัยที่ได้รับคัดเลือกนั้นพิจารณาจากความยั่งยืนต่อสังคมและประเทศชาติเป็นหลัก รวมถึงคุณค่าจากงานวิจัยที่ต้องเอื้อประโยชน์แก่สังคม มีจริยธรรมในแง่ของการทำงานฐานะนักวิจัย และเป็นที่ยอมรับในวงการนักวิจัย โดยผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์จากสาขาต่างๆ ในไทย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล