“งานแต่งที่ใด เป็นได้แค่แขกรับเชิญ” เรายังคงได้อ่านเนื้อเพลงใต้รูปบนฟีดของอินสตาแกรมเพื่อนเจ้าสาวอยู่เสมอ และบ่อยครั้งที่ชุดเพื่อนเจ้าสาวจะออกมาพังไม่เป็นท่าเพราะเนื้อผ้า หรือสีที่ได้ไปมันยากเกินกว่าจะแครี่ไหว แต่เรื่องพวกนี้จริงๆ มันง่ายมาก เพียงแค่เราเริ่มจากความไม่พยายามจะต้องตามรูปแบบของเพื่อนเจ้าสาวที่เรามักเห็นกันอยู่ดาษดื่นตามรูปถ่ายหลังงานแต่ง
ถึงจุดนี้เราตามเพียงแค่สไตล์ที่เหมาะกับเราเท่านั้นก็จบ คุณไม่จำเป็นต้องสวยหวานตามแบบฉบับ ‘เพื่อนเจ้าสาว’ แต่ก็ควรมีสไตล์ในแบบไม่รบกวนความโดดเด่นของ ‘เจ้าสาว’ คุณเจ้าสาวเองก่อนจะเลือกผ้าก็ลองปรึกษาเพื่อนสาวสักหน่อย ให้เขาได้ช่วยตัดสินใจกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
1. ศึกษาเนื้อผ้าก่อนตัด
สิ่งแรกที่เราจะได้จากเจ้าสาวนั้นคือผ้าพับเดียวกันทั้งกลุ่ม สัมผัสมันซะก่อนให้รู้ว่าเป็นผ้าลักษณะแบบไหน ผ้าเนื้อแข็ง เนื้อนิ่ม ทิ้งตัว หรือว่าพลิ้วตามลม เมื่อเราทำความเข้าใจแล้วจะนึกออกว่าผ้าเหล่านี้เหมาะจะนำไปทำอะไรได้บ้าง เช่น ผ้าเนื้อแข็งก็ไม่ควรจะนำมาทำเป็นชุดเดรสยาวทรงตรงให้แข็งทื่อเดินลำบาก ผ้าเนื้อนิ่มก็ไม่เหมาะที่จะนำมันมาตัดเป็นชุดที่อยากให้มีสตรักเจอร์ชัดๆ เพราะยากที่จะทำให้มันเป็นทรง (แต่ถ้าจับแล้วยังนึกอะไรไม่ออก ลองปรึกษากับช่างตัดเย็บ)
2. หาสไตล์ที่เหมาะกับตัวเอง
เรื่องนี้สำคัญมาก เมื่อไรที่คิดจะใส่ชุดเพื่อนเจ้าสาวที่ต้องมาในแพตเทิร์นเดิมๆ อย่างที่คนทั่วไปชอบใส่ เมื่อนั้นก็จบ เพราะสไตล์ของคุณจะถูกกลืนกิน อย่างแรกลองมองในตู้เสื้อผ้าก่อนว่า ชุดไหนที่เราใส่แล้วสวยที่สุด ใส่บ่อยที่สุด ชุดเพื่อนเจ้าสาวไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบกระโปรงบานหวานๆ อย่างเดียว มันสามารถเป็นได้ทั้งเสื้อเปิดไหล่แมตช์กับกระโปรงทรงดินสอ เสื้อคอเต่ากับกางเกงทรงตรง หรือจะเป็นชุดสูทโอเวอร์ไซส์ก็ยังได้ เพราะฉะนั้นลองจับสไตล์ของตัวเองก่อน และอย่าลืมคุยกับเพื่อนคนอื่นๆ ว่าชุดของแก๊งเราควรจะเป็นอย่างไร เผื่อคุณจะได้แชร์ไอเดียร่วมกับเพื่อนคนอื่น
3. ส่งตัดให้ถูกร้าน
อันนี้ต้องใช้ความรู้รอบตัวส่วนหนึ่ง ร้านที่ตัดชุดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทิ้งไม่ได้ เพราะถ้าส่งชุดผิดร้าน ชีวิตก็เปลี่ยน ลองมองหาร้านที่เหมาะกับชุดที่เรากำลังจะตัด อย่าเลือกเวย์สะดวกประเภทส่งร้านใกล้บ้านเพราะผลงานอาจจะออกมาหลุดลุ่ย ชุดกระโปรงง่ายๆ ก็ใช่ว่าจะง่ายตามความเข้าใจ ลองปรึกษากับช่างตัดก่อนว่าทำได้จริงไหม ชุดสูทก็ใช่ว่าทุกร้านจะตัดออกมาได้เนี้ยบเข้ารูปสวยเหมาะกับสรีระของเรา หาร้านตัดสูทดีๆ สักร้าน เชื่อว่าจบจากงานนี้คุณยังสามารถเอามันไปใส่ต่อในชีวิตประจำวันได้อย่างแน่นอน
4. ฟิตติ้งให้ดี
มาถึงขั้นตอนที่เกือบจะสมบรูณ์แบบ ติดแค่เวลาฟิตติ้งน้อยเกินไป หลายครั้งเราชอบเจอช่วงเวลาอันแสนยากลำบาก นั่นคือช่างตัดฟิตติ้งช้าและทำให้แก้งานไม่ทัน เพราะฉะนั้นไม่ใช่ความผิดช่างฝ่ายเดียว เราเองก็ควรจะสอบถามอยู่เป็นระยะ “อีก 2 วันเดี๋ยวเข้าไปฟิตติ้งนะคะ” ลองเป็นประโยคบอกเล่าง่ายๆ น่ารักๆ และเมื่อเข้าไปฟิตติ้งแล้วก็อย่ากลัวและเกรงใจช่างในการแก้ ในเมื่อเราเลือกที่จะฟิตติ้ง นั่นหมายถึงต้องมีการแก้ ใครโชคดีเจอช่างที่ตัดเป๊ะเข้ารูปพอดีก็สบายใจ แต่ใครจะรู้ว่าวันวัดตัวกับวันฟิตติ้งคุณอาจจะฟิตหุ่นจนเอวเล็กกว่าเก่าก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นอย่าให้เวลาคุณเสียเปล่า ฟิตติ้งเอาเข้ารูปเข้าทรงอย่างที่คุณต้องการที่สุดจะดีกว่า
5. รองเท้าที่ฆ่าคน
เรื่องสำคัญที่คนส่วนใหญ่ชอบพลาด คือรองเท้าที่เลือกจะใส่ไปงาน ได้โปรดอย่าอ้างว่าต้องเดินเยอะ ต้องวิ่งโน่นวิ่งนี่ รองเท้าที่สวยและสวมใส่สบายมีมากมาย ไปหาซื้อที่เข้ากับชุด รองเท้าคู่โปรดที่ใส่บ่อยๆ ถ้ามันเข้ากับชุดก็โอเค แต่ถ้ามันไม่เข้าอย่าฝืน หาคู่ใหม่ซะ ใครอยากสวย ดูดี และมีความอดทนที่จะสวยก็แนะนำ Pump Shoes ส้นสูงหัวแหลม (แต่แอบพกรองเท้าผ้าใบไปเผื่ออาฟเตอร์ปาร์ตี้ด้วยก็ดี ไม่งั้นน่องแข็งแน่ๆ) ฉะนั้นสวยมาทั้งชุดแล้วจะมาตายตอนจบไม่ได้ ท่องไว้ว่าต้องทำให้ดีที่สุด ใครจะไปรู้ว่าเราจะเจอเนื้อคู่ตอนไหน คุณอาจจะกลายเป็นเจ้าสาวคนต่อไปหลังจากจบงานนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นสวยซะ!
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์